ชื่อ “ประตูวิเศษไชยศรี” ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งเพราะ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” ผ่านประตูนี้?

พระบรมมหาราชวัง มี ประตูวิเศษไชยศรี
ภาพถ่ายทางอากาศพระบรมมหาราชวัง (ภาพจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง สำนักราชเลขาธิการ พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2513)

ประตูวิเศษไชยศรี เป็นหนึ่งในประตูพระบรมมหาราชวังที่คนไทยพอจะคุ้นชื่อกัน เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึงยุคแรกเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เป็นที่รู้กันว่า ทรงย้ายพระราชวังมาตั้งทางฝั่งตะวันออก โดยพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ แทบจะสร้างตามแบบพระราชวังหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นมาก็มีการแก้ไขปรับปรุงปลูกสร้างหลายครั้ง จนทำให้เกิดคำถามว่า แรกเริ่มแล้ว พระบรมมหาราชวังในชั้นแรกมีประตูอะไรบ้าง มี “ประตูวิเศษไชยศรี” แล้วหรือไม่ และสร้างขึ้นเมื่อใด

ก่อนจะไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับประตู คงต้องยกข้อมูลโดยคร่าวของพระบรมมหาราชวังมาเป็นภูมิหลังก่อน ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายให้มาสร้างพระราชวังมาตั้งทางฝั่งตะวันออก พระราชวังหลวง (นามที่เรียกว่า “พระบรมมหาราชวัง” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญญัติขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4) ที่สร้างขึ้นในกรุงเทพฯ เรียกได้ว่า สร้างตามแบบพระราชวังหลวงในกรุงศรีอยุธยาแทบทุกประการ โดยสร้างชิดแม่น้ำ หันหน้าวังขึ้นเหนือน้ำ ลำน้ำอยู่ฝั่งซ้ายวังแบบเดียวกัน กำแพงเมืองด้านข้างแม่น้ำเป็นกำแพงพระราชวังชั้นนอกแบบเดียวกัน ไปจนถึงรายละเอียดการวางพระราชมณเฑียรที่เรียงแบบเดียวกัน และสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามตรงกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยา

สำหรับวัสดุที่ใช้ก่อสร้างในชั้นแรกล้วนเป็นเครื่องไม้ พระราชมณเฑียร และป้อมปราการรอบพระราชวังก็เป็นเครื่องไม้ ตามความคิดเห็นของ ส. พลายน้อย เชื่อว่า เป็นเพราะสร้างแบบเร่งด่วน ในภายหลังจึงเริ่มเปลี่ยนพระมหาปราสาท พระมหามณเฑียร และป้อมปราการเป็นเครื่องก่ออิฐถือปูนที่แข็งแรงขึ้น

พื้นที่ของพระราชวังในสมัยรัชกาลที่ 1 แตกต่างจากอาณาเขตในปัจจุบัน โดยในสมัยรัชกาลที่ 2 มีการขยายเขตพระราชวังทางด้านใต้ออกไป และสร้าง ประตูพิทักษ์บวร ประตูสุนทรทิศา กั้นระหว่างกำแพงพระราชวังชั้นในกับกำแพงเมือง ซึ่งเรียกกันว่า “ประตูแดง”

สำหรับประตูรอบกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอก ส. พลายน้อย บรรยายว่า ประตูพระบรมมหาราชวังในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำเป็นประตูยอดด้วยเครื่องไม้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นใหม่ โดยทำเป็นประตูก่ออิฐถือปูน เปลี่ยนรูปทรงเป็นประตูซุ้มฝรั่งตามแบบประตูยอดปรางค์ แต่ก็ไม่ได้แก้ทั้งหมด

ในบรรดาประตู 13 จุด มีประตูที่เป็นที่ถกเถียงกันคือเรื่อง ประตูวิเศษไชยศรี และ ประตูพิมานไชยศรี ซึ่งมีข้อมูลจากหนังสือ ราชูปโภค โดย เทวาธิราช ป. มาลากุล เล่าว่า เมื่อ พ.ศ. 2327 มีชาวประมงพบพระแสงขรรค์ขณะทอดแหในทะเลสาบนครเสียมราฐ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ให้ข้าราชการนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย

วันที่พระแสงขรรค์มาถึงก็มี “อสนีบาต” ในพระนคร 7 แห่ง มีตกที่ประตูวิเศษชัยศรี เมื่อพระแสงขรรค์ผ่านประตูทั้งสอง จึงทำให้มีสร้อยตามหลังเป็นคำว่าชัยศรี เพื่อเป็นอนุสรณ์

อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ไม่มีปรากฏในจดหมายเหตุใด และไม่ปรากฏที่มาในพระราชพงศาวดาร ส. พลายน้อย นำวันที่ในบันทึกข้างต้นไปเปรียบเทียบกับเนื้อหาในพระราชพงศาวดารเรื่องพระแสงขรรค์ ซึ่งในพระราชพงศาวดารบรรยายว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2326 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้พระยาพระเขมรนำ “พระขรรค์ชัยศรี” เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย วันนั้นเองมีพายุใหญ่ ฝนตก ฟ้าผ่าลงศาลาลูกขุนใน

เมื่อดู พ.ศ. ที่ระบุ จะเห็นว่า ปีที่นำพระแสงขรรค์เข้ามานั้นก็แตกต่างจากบันทึกของ ป. มาลากุล ที่ยกมาข้างต้น

สำหรับเรื่องอสุนีบาตตกในพระบรมมหาราชวังนั้น มีปรากฏในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 1 โดยตกต้องพระที่นั่งอมรินทรมหาปราสาท วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2332 ฟ้าผ่าลง 2 ครั้งที่มหาปราสาทและซุ้มประตูพระราชวัง แต่ พ.ศ. ที่เกิดเหตุนั้น ห่างจากเรื่องเล่าถึง 4-5 ปี

นอกจากนี้ หลักฐานสำคัญอีกประการที่ ส.พลายน้อย หยิบยกมาอธิบายคือ สำเนาร่างหมายรับสั่งฉบับหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพบและถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นหมายรับสั่งเรื่องยกประตูพระบรมมหาราชวัง ในเนื้อหาระบุฤกษ์ยกประตูในพระราชวังไว้เป็นวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2325 และปรากฏชื่อ ประตู “วิเศษไชยศรี” ด้วย

นั่นหมายความว่า มีชื่อก่อนพระแสงขรรค์เข้ามา (พระราชพงศาวดารระบุว่า เข้ามาใน พ.ศ. 2326) และเนื้อหาย่อมขัดกันกับเรื่องเล่าว่า นาม “ไชยศรี” ต่อท้ายประตูเพราะได้เชิญพระแสงขรรค์ชัยศรีผ่านประตูทั้งสอง

สำหรับประตูในพระบรมมหาราชวัง มีแนวโน้มว่าน่าจะถูกแก้ไขในภายหลังอีก เมื่อพิจารณาจากบัญชีกลาโหม ที่นำทูลเกล้าฯ ถวายในสมัยปลายรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2350 อันบรรยายว่า ย่อยทองปืนมหาเศวตรัตน์รวม 6 กระบอกมาหล่อครกสากบานประตูรอบพระราชวัง เชื่อว่า อาจมีการทำบานประตูใหม่ในช่วงเวลานั้นด้วย

ในปัจจุบัน ประตูวิเศษไชยศรี เป็นประตูสำคัญเนื่องจากเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระมหามณเฑียร โดยเฉพาะเมื่อมีการสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“‘ไล่ที่ทำวัง’ เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ”. ใน ศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2525. คัดจากประชุมพงศาวดารภาคที่ 26 เรื่องตำนานวังเก่า พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอกหม่อมราชวงศ์เล็ก งอนรถ พ.ศ. 2513

ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก ฉบับสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์. 2555

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. สถาปัตยกรรม พระบรมมหาราชวัง เล่ม 1. 2531


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 16 พฤษภาคม 2562