ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความ “อาคารทรงไทยบนป้อมขัณฑ์เขื่อนเพ็ชร มาอย่างไร ไปอย่างไร ใครตอบที” โดย ประสงค์ ไม่ออกนาม ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2549 ได้เปิดเผยหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของป้อมกำแพงล้อมพระบรมมหาราช ที่ครั้งหนึ่งเคยมี อาคารทรงไทย หลังเล็กๆ ตั้งอยู่ด้านบนของป้อมก่อนที่จะถูกรื้อทิ้งไป
หลักฐานชิ้นนั้นคือ รูปถ่ายที่เคยจัดแสดงในงาน “ภาพถ่ายโดยพระบรมราชานุญาต รัชสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5” ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 เป็นภาพถ่ายพระบรมมหาราชวังด้านทิศเหนือ ตรงข้ามกับวังท่าพระหรือมหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบัน
นอกจากนี้แล้ว ภาพอาคารทรงไทยยังปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร และพระอุโบสถวัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา อันเป็นภาพเขียนเกี่ยวกับพระราชพิธี 12 เดือน ที่มีฉากหลังเป็นภาพพระบรมมหาราชวัง
ปรากฏภาพ อาคารทรงไทย หลังเล็กๆ บนหลังคาป้อมบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเมื่อนำมาเชื่อมโยงกัน จากหลักฐานทั้งหมดสามารถอุปไมยได้ว่าจิตรกรที่วาดจิตรกรรมฝาผนังที่วัดทั้ง 2 แห่งนั้น น่าจะวาดภาพจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสมัยนั้น ไม่ได้มีการสรรแต่งจากจินตนาการแต่อย่างใด
ปุจฉา อาคารทรงไทย หลังนี้ถูกสร้างขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ใด และเพราะเหตุใดจึงมีอยู่เฉพาะที่ป้อมขัณฑ์เขื่อนเพ็ชรเท่านั้น???
ศาสตรจารย์ ม.ร.ว. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง ผู้เขียนหนังสือพระอภิเนาว์นิเวศน์ หนังสือสถานที่ตั้งส่วนต่างๆ ของสิ่งปลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 และหนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง อันกล่าวถึงที่มาและสถานที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ ในเขตพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน ได้ตั้งข้อสันนิษฐานจากตำแหน่งที่ตั้งไว้ว่า มีความเป็นไปได้ที่อาคารทรงไทยหลังนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เกิดขึ้น ณ ท้องสนามหลวง หรือทุ่งพระเมรุในสมัยนั้น ซึ่งตามรูปถ่ายที่ปรากฏจะเห็นวัวที่กำลังกินหญ้าอยู่ ซึ่งวัวนั้นน่าจะสื่อความหมายสำคัญถึงพิธีแรกนาขวัญ
ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่โปรดจะทอดพระเนตรพระนครในระยะไกลๆ อันเห็นได้จากหอนาฬิกาตรงบริเวณพระที่นั่งภูวดลทัศไนย ซึ่งในหนังสือพระอภิเนาว์นิเวศน์ ได้กล่าวเกี่ยวกับหอสูงนี้ว่า
“พระที่นั่งภูวดลทัศไนย เป็นพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ที่จะมีหอสูงสำหรับพระราชวังที่ทรงสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ เป็นสถานที่ที่จะได้ทอดพระเนตรพระนครไปได้ไกลหรือเป็นหอสังเกตุการณ์ถ้ามีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น เพลิงไหม้”
เช่นเดียวกับในหนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง ที่กล่าวถึงพระที่นั่งไชยชุมพลว่า
“…พระที่นั่งไชยชุมพลยังตั้งอยู่ตรงกับถนนบำรุงเมือง และสามารถมองทะลุไปถึงเสาชิงช้าได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่พระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวายและการฝึกทหาร”
ฉะนั้นหากพิจารณาตามพระราชนิยมข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าอาคารทรงไทยหลังนี้ก็อาจจะเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชนิยม ที่สร้างไว้เพื่อทอดพระเนตรพื้นที่ทางด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง เช่น พิธีแรกนาขวัญ เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยโบราณนั้น พระมหากษัตริย์มิได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี พระองค์จึงอาจจะใช้อาคารทรงไทยหลังนี้ทอดพระเนตรพิธีต่างๆ ในทุ่งสนามหลวงก็เป็นได้
แต่อย่างไรก็ตาม อาคารทรงไทย หลังเล็กๆ นี้ได้ถูกรื้อทิ้งในปลายรัชกาลที่ 5 เหตุที่เข้าใจเช่นนี้ก็เพราะว่า ภาพถ่ายมุมที่ใกล้เคียงกัน ไม่ปรากฏภาพอาคารดังกล่าวแล้วในรัชกาลต่อมา
อ่านเพิ่มเติม :
- จากวัดสู่พระบรมมหาราชวัง การเปลี่ยนแปลงที่เก็บพระบรมอัฐิและพระอัฐิ
- ชื่อ “ประตูวิเศษไชยศรี” ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งเพราะ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” ผ่านประตูนี้?
- “หอพระเจ้า” หอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
อ้างอิง :
ประสงค์ ไม่ออกนาม. “อาคารทรงไทยบนป้อมขัณฑ์เขื่อนเพ็ชร มาอย่างไร ไปอย่างไร ใครตอบที.” ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2549. หน้า 38-41.
หมายเหตุ : สรุปความโดย จุฑารัตน์ อัศววัชรินทร์
ปรับปรุงเนื้อหาและเผยแพร่ลงระบบออนไลน์เมื่อ 30 พฤษภาคม 2566