26 กุมภาพันธ์ 2492: ปรีดีกับพวกใช้กำลังหวังยึดอำนาจจากคณะปฏิวัติ แต่เหลว ตกเป็นกบฏ

ปรีดี พนมยงค์
ปรีดี พนมยงค์ (ภาพจาก AFP FILES / STR)

26 กุมภาพันธ์ 2492 “กบฏวังหลวง” : “ปรีดี” กับพวกใช้กำลังหวังยึดอำนาจจากคณะปฏิวัติ แต่เหลว ตกเป็นกบฏ

ปรีดี พนมยงค์ ได้รับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2489 หลังการลาออกของ ควง อภัยวงศ์ แต่เหตุการณ์สวรรคตกระทันหันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในที่บรรทมอย่างเป็นปริศนาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนปีเดียวกัน ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะผู้พิทักษ์บัลลังก์ของปรีดีเป็นปัญหา และตัวเขาเองก็ถูกนำไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย เพื่อรักษาอิทธิพลทางการเมืองเอาไว้ ปรีดีจึงตัดสินใจลาออก ให้พลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เข้ารับตำแหน่งแทน

แต่รัฐบาลใหม่ของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก็อยู่ได้ไม่นาน พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านได้โจมตีรัฐบาลถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการที่ไม่สามารถคลี่คลายกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ได้ หลังถูกอภิปรายในสภานาน 7 วัน แม้รัฐบาลจะได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจ แต่หลวงธำรงฯ ก็ตัดสินใจลาออกเพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งหลวงธำรงฯ ก็ยังคงได้เป็นผู้นำรัฐบาลดังเดิมและสามารถอยู่ในอำนาจได้ราว 5 เดือน ก่อนถูกจอมพลผิน ชุณหะวัณกับพวกทำรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

หลังการรัฐประหารกองทัพบกได้เชิญตัว ควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรีเข้ามารับตำแหน่งอีกครั้งในรัฐบาลชั่วคราว เพื่อป้องกันข้อครหาว่ายึดอำนาจเพื่อ “ครอบครองอำนาจ” เสียเอง หลังการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2491 ควง ได้รับเสียงข้างมากรับรองให้ครองตำแหน่งนายกฯ ต่อไป แต่เขาก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียงถึงเดือนเมษายนปีเดียวกันเมื่อผู้นำคณะรัฐประหารได้ “จี้บังคับ” ให้ควงลาออก เพื่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ด้าน ปรีดี หลังการรัฐประหารในปี 2490 เขาได้หลบหนีออกนอกประเทศและพยายามรวบรวมกำลังเพื่อรอจังหวะยึดอำนาจคืนอีกครั้ง ขณะที่คณะรัฐประหาร (2490) ก็ได้เตรียมความพร้อมรับมือการรัฐประหารซ้อนอย่างแข็งขัน โดยอ้างว่ามีผู้เตรียมนำรถถังออกมายึดอำนาจพวกตน จึงได้ประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 และได้มีการซ้อมรบหลายครั้ง

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ระหว่างการซ้อมรบของกองทัพบกและกองทัพเรือ ฝ่ายของปรีดีได้บุกยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการ และอีกส่วนได้บุกยึดสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ออกประกาศปลด จอมพล ป. จากทุกตำแหน่ง และให้ดิเรก ชัยนามรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันลูกน้องอีกส่วนของปรีดีก็ได้เข้ายึดพระบรมมหาราชวังและเตรียมการต่อสู้กับกองทัพบก

อย่างไรก็ดี แผนการที่จะก่อให้เกิดจลาจลในจังหวัดต่างๆ เพื่อเรียกให้กองทัพเรือจากสัตหีบเข้ากรุงเทพฯ ต้องล้มเหลว เมื่อผู้นำเสรีไทยส่วนใหญ่ในภาคอีสานถูกกองทัพบกจับตัวไว้ได้ก่อน ขณะที่กำลังเสริมของกองทัพเรือก็มาไม่ถึงเนื่องจาก “เรือเกยตื้น” อยู่ที่บางปะกงเพราะน้ำลง

พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้รับมอบหมายให้ปราบกบฏ ซึ่งสฤษดิ์ทำหน้าที่ได้อย่างรวดเร็วเฉียบขาด เขาสั่งให้รถถังปิดล้อมพวกของปรีดีซึ่งยึดพระราชวังอยู่ และใช้กำลังทหารบุกเข้าตีกลุ่มกบฏแตกพ่ายไป ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกเรียกขานกันว่าเป็น “กบฏวังหลวง”

หลังจากนั้นการปราบปรามกลุ่มอิทธิพลของปรีดีเป็นไปอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2492 สี่รัฐมนตรีประกอบด้วย ถวิล อุดล (ผู้นำเสรีไทยประจำร้อยเอ็ด) ทองเปลว ชลภูมิ์ (เลขานุการของปรีดี) จำลอง ดาวเรือง (ผู้นำเสรีไทยมหาสารคาม) และทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (ผู้นำเสรีไทยอุบลราชธานี) ถูกสังหารระหว่างการเคลื่อนย้ายเรือนจำขณะอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทางตำรวจโดย เผ่า ศรียานนท์ ได้ออกมาอ้างว่าเป็นฝีมือของฝ่ายเสรีไทยเองที่พยายามชิงตัวนักโทษ

ด้านปรีดี หลังพ่ายแพ้ในการยึดอำนาจในครั้งนี้ทำให้เขาต้องหลบหนีออกจากประเทศอีกครั้งอย่างถาวร (โดยลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน 21 ปี และเดินทางไปลี้ภัยต่อที่ประเทศฝรั่งเศสจนถึงแก่กรรม รวมเวลาที่ลี้ภัยนานถึง 34 ปี)

ทั้งนี้ ปรีดี เองมองว่าการเรียกขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ว่า “ขบถวังหลวง” หรือ “กบฏวังหลวง” นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะพวกเขามีวัตถุประสงค์ที่จะรื้อฟื้นประชาธิปไตยคืนจากฝ่ายรัฐประหาร 2490 ซึ่งเป็นรัฐบาลนอกกฎหมาย และรัฐธรรมที่รู้จักกันในชื่อ “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” (ฝ่ายรัฐประหาร 2490 ได้ทำรัฐธรรมและซ่อนไว้ใต้ตุ่มจึงทำให้ได้ชื่อนี้มา) นอกจากจะมีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นโมฆะเพราะขาดผู้มีอำนาจลงรายมือชื่อรับรอง

ข้อสังเกตอีกประการคือ การยึดวังหลวงในขณะนั้น ในหลวงมิได้ประทับอยู่ในประเทศไทย การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นภยันตรายต่อพระมหากษัตริย์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ โดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย โดย คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, และชีวประวัติย่อของ นายปรีดี พนมยงค์ เรียบเรียงโดย ปรีดี พนมยงค์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2561