เกิดอะไรขึ้นเมื่อ “เบญจมินทร์” ร้องเพลงพร้อมชี้หน้าจอมพลสฤษดิ์ “ประภาส-ถนอม” อยู่ด้วย

(ซ้าย) เบญจมินทร์ ภาพจาก หนังสือ ไทยลูกทุ่ง. มติชน, 2538 (ขวา) จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภาพจาก AFP

เพลงลูกทุ่งในสมัยที่ยังมีขุนพลนักร้องโด่งดังมากหน้าหลายตา เบญจมินทร์ เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่มีชื่อเสียงถึงขั้นจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยากพบตัว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนักร้องรายนี้ก็เข้าพบจอมพลสฤษดิ์ถึงบ้านพัก การเข้าพบครั้งนั้นเป็นที่เล่าต่อกันมาว่า เกิดขึ้นขณะจอมพล สฤษดิ์ กินเหล้าร่วมกับ ประภาส จารุเสถียร และ ถนอม กิตติขจร เหตุการณ์ครานั้นกลายเป็นจุดหักเหของนักร้องรายนี้ด้วย

เบญจมินทร์ มีชื่อจริงว่า ตุ้มทอง โชคชนะ (23 พฤษภาคม 2464 – 10 มีนาคม 2537) พื้นเพเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี เข้ามาร้องเพลงในกรุงเทพฯ จนมีชื่อเสียง ความสามารถที่โดดเด่นคือร้องเพลงรำวง เพลงที่นิยม อาทิ โปรดเถิดดวงใจ, ปรารถนา, ในฝัน และอีกมากมาย

อีกหนึ่งเพลงที่ชาวไทยหลายท่านน่าจะพอคุ้นหูกันนั่นคือ “เสียงครวญจากเกาหลี” (หรือที่คนมักพูดกันว่า เพลงอารีดัง เพลงเกาหลีแห่งความหลัง เพลงรักแท้จากหนุ่มไทย เป็นต้น) ซึ่งปรากฏขึ้นหลังจากนักร้องไปร่วมรบในสงครามเกาหลี อันที่จริงแล้ว การเข้าร่วมสงครามเกาหลีก็มีที่มาที่ไปจากเหตุการณ์ซึ่งเบญจมินทร์ ต้องเข้าพบจอมพลสฤษดิ์

เข้าพบจอมพลสฤษดิ์

การเข้าพบครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2499 วันเกิดของจอมพล สฤษดิ์ ในวัย 48 ปี ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ส่วนเบญจมินทร์ อ่อนกว่าจอมพล สฤษดิ์ 9 ปี ช่วงเวลานั้น เบญจมินทร์ มีชื่อเสียงเรื่องการร้องเพลง ชื่อเบญจมินทร์ ก็กระทบหูของจอมพล สฤษดิ์ แต่บุคคลที่เป็นผู้ประสานให้ทั้งสองได้พบกันกลับเป็นล้อต๊อก ศิลปินตลกชื่อดัง

เลิศชาย คชยุทธ นักเขียนผู้คลุกคลีกับวงการลูกทุ่งมายาวนานบอกเล่าคำให้สัมภาษณ์ของเบญจมินทร์ เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้นในบทความที่เผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2536 โดยเบญจมินทร์ เล่าจุดเริ่มต้นไว้ว่า

“วันหนึ่งผมกําลังร้องเพลงสลับละครอยู่ที่โรงละครศรีอยุธยา ล้อต๊อกเขาก็เล่นละครอยู่ เขาก็มาพบผมที่หลังโรงละคร เขาบอก เฮ้ย…ตุ้ม (ชื่อของเบญจมินทร์) ผมถามว่า อะไรวะ เขาบอกว่า จอมพล สฤษดิ์ อยากจะพบ ผมถามว่าพบเรื่องอะไร เขาก็เล่าให้ฟังบอกว่า จอมพล สฤษดิ์บอกว่า ไอ้เบญจมินทร์มันเป็นใครวะ มันร้องเพลงดีว่ะ อยากจะรู้จักมัน

ผมก็เลยถามล้อต๊อกว่า แล้วจะไปพบท่านได้ยังไง ผมกลัวครับ เพราะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชื่อเสียงเวลานั้นไม่มีใครกล้าเล่น ล้อต๊อกบอกไปสิไปด้วยกัน วันที่ 16 มิถุนายน วันเกิดท่าน ผมบอก เอา ไปก็ไป ไปที่ไหน เขาบอกไปที่ฝั่งธนฯ บ้านท่านอยู่ฝั่งธนฯ ผมบอกเค้าไปก็ไป ก็ไปกับล้อต๊อก ไปถึงที่บ้าน ที่บ้านเขาจัดงาน มีร้านอาหารเล็กๆ น้อยๆ แต่เล็กๆ น้อยๆ มันก็อักโขอยู่”

“ทหารก็ชี้ไปที่บ้าน ท่านนั่งอยู่บ้านริมน้ำที่บางพูน นั่งกินเหล้าอยู่กับ พล.ต. ประภาส จารุเสถียร แล้วก็ พล.ท. ถนอม กิตติขจร แล้วก็ พล.ต. ขาบ กุญชร ณ อยุธยา ล้อต๊อกบอกไปเถอะ ผมก็ตามล้อต๊อกไป ล้อต๊อกเข้าไปข้างใน ท่านกําลังจะเดินออกมา ล้อต๊อกยืนทําความเคารพแล้วชี้มาที่ผม บอก นี่ละครับท่าน ไอ้คนที่ชื่อเบญจมินทร์มาแล้ว ผมทรุดตัวลง ยกมือไหว้ ท่านหันหลัง เดินกลับ ผมก็เดินตามท่านไป ท่านก็หันมา ผมก็มองดู”

(กระทั่งไปถึงบ้านริมน้ำ) “มึงเหรอ ร้องเพลงรําวงเก่งนัก” เสียงทักทายของจอมพล สฤษดิ์ ซึ่งผู้เขียนเล่าว่า ดังสมกับบุคลิกที่สูงใหญ่และมากด้วยอํานาจบารมี แต่ก็แฝงไว้ด้วยความพึงพอใจ เบญจมินทร์ยิ้มรับ ทําใจดีสู้เสือ

เพื่อให้ได้อรรถรสของเรื่องราวโดยสมบูรณ์ จึงต้องคัดเนื้อหาที่เลิศชาย บอกเล่าถึงคำให้สัมภาษณ์มาให้อ่านโดยตรง ดังนี้

“เฮ้ย ร้องเพลงซิ” เจ้าของบ้านเอ่ยปาก

“ตายละกู ไอ้ห่… เหล้ายังไม่ได้กินเลย จะร้องได้ยังไง หน้ายังไม่ด้าน ร้องได้ยังไง” เบญจมินทร์คิดในใจ

“เฮ้ย ไอ้ต๊อก มันกินเหล้าไหม” เจ้าของเสียงที่ดูมีอํานาจหันมาถามล้อต๊อก

“เก่งครับ” ล้อต๊อกตอบสั้น ๆ ทําเอาจอมพล สฤษดิ์ อมยิ้ม

“งั้นเอาเหล้ามากิน” เจ้าของบ้านสั่งทหารรับใช้ทันที เพียง ชั่วไม่ถึงอึดใจ เหล้าก็ถูกรินเสร็จเรียบร้อย

“เอากับแกล้มด้วยไหม”

“ผมไม่กินกับแกล้มครับ”

“ทําไมล่ะ ลองเหล้าฝรั่งหน่อยไหม มันหอมดีนะ และกินดีด้วย” จอมพล สฤษดิ์ถาม

“กินดีก็อยู่กับท่านสิครับ ออกจากท่านไปแล้ว ผมไม่มีเงินซื้อกินจะทำยังไง” คําตอบของเบญจมินทร์ที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันและมีปฏิภาณที่ว่องไวเรียกเสียงหัวเราะจากจอมพล สฤษดิ์

“แล้วมึงจะกินอะไร”

“ผมกินแม่โขงครับ”

“เฮ้ย ! ทหารโว้ย เอาเหล้าแม่โขงมาให้มันกินทีซิ”

เมื่อเบญจมินทร์รับแก้วเหล้าแม่โขงก็ยกขึ้นดื่มพรวดเดียวหมดแก้ว เหลือแต่แก้วเปล่า ๆ พอเหล้าหมดแก้ว เริ่มมีอาการมึนงง ทําท่าจะร้องเพลงไม่ไหว

“เอ้า ! ร้องเพลงให้กูฟังซิ”

สิ้นเสียงของจอมพล สฤษดิ์ เบญจมินทร์ก็เริ่มร้องเพลง ซึ่งมีเนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า ต้นเดือนกินเป็ดกินไก่ ชอกช้ำใจเพราะเขามีเงินเดือน…

ใช่แต่ปากจะร้องเปล่าๆ แต่เบญจมินทร์ยังชี้ไม้ชี้มือไปที่จอมพล สฤษดิ์ ประกอบให้เข้ากับบทเพลงเพื่อเป็นการต่อว่าต่อขานคนร่ำรวยมีเงินมีทอง

“เฮ้ย ไอ้ตุ๊ ไอ้ห่านั่นมันชี้หน้ากูด้วย” จอมพล สฤษดิ์ เอาศอกกระทุ้ง พล.ต. ประภาส

“เวลาร้องเพลงต้องออกท่าทางด้วยครับ” เบญจมินทร์ แก้ตัวได้อย่างมีเหตุมีผล

เมื่อร้องจบ รางวัลที่เบญจมินทร์ได้รับจากจอมพลเจ้าของบ้านคือเสียงปรบมือ พร้อมกับเรียกเบญจมินทร์เข้าไปใกล้ๆ และถามชีวิตส่วนตัว ซึ่งเบญจมินทร์ตอบว่าขณะนี้ร้องเพลงสลับละครอยู่ รายได้ก็พอเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย

“มึงอยากเป็นทหารไหม”

“เป็นทหารที่ไหนครับ”

“อยู่กับกู”

“เป็นสิครับ” เบญจมินทร์ตอบโดยไม่ลังเล

“มึงเคยเป็นทหารมาไหม”

“ผมเคยรับราชการตํารวจมาครับ”

“ดีแล้ว พรุ่งนี้ไปหาคุณประภาส ไปรายงานตัวเขา”

เป็นทหาร

เช้าวันรุ่งขึ้น เบญจมินทร์ไปรายงานตัวต่อ พล.ต. ประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ใช้เวลารายงานตัวไม่ถึง 5 นาที เบญจมินทร์ก็แต่งฟอร์มทหารทันที แล้วรีบเดินทางออกจากกองพลที่ 1 มายังบ้านสี่เสาเทเวศร์ เข้ารายงานตัวต่อจอมพล สฤษดิ์

“ผมเป็นทหารแล้วครับ” เบญจมินทร์ยืนตัวตรง เท้าชิดกัน มือขวายกขึ้นตะเบ๊ะทําความเคารพเจ้านาย

“เอ้อ ดีแล้ว อยู่กับกู ไปประจําที่กองดุริยางค์ทหารบก” จอมพล สฤษดิ์ ออกคําสั่ง

“ครับผม”

การเป็นทหารของเบญจมินทร์ไม่มียศเหมือนทหารคนอื่น ๆ ซึ่งเบญจมินทร์เล่าว่า หลวงสุทธิสารรณกรเคยบอกกับจอมพล สฤษดิ์ ให้ยศนายสิบกับเบญจมินทร์ แต่จอมพล สฤษดิ์ ก็ปฏิเสธ อ้างว่าให้ยศนายสิบไม่ได้เพราะทหารเงินเดือนน้อย ถ้าให้เป็นนายสิบแล้วเงินจะเฟ้อ ก็เลยได้เป็นแค่พลทหาร

ระหว่างรับใช้เจ้านาย พลทหารเบญจมินทร์ยังคงร้องเพลงตามโรงละครหารายได้ไปด้วย

วันหนึ่งขณะไปทํางานที่กองดุริยางค์ทหารบก ซึ่งอยู่ด้านหลังองค์การเภสัชกรรม มีนายทหารคนหนึ่งออกมาจากกองดุริยางค์ เห็นเบญจมินทร์ลงจากรถสองล้อจึงเข้ามาสอบถาม

“ไปเกาหลีไหม”

“ไปสิครับ” เบญจมินทร์ตอบแบบไม่ลังเลเหมือนคราวที่ตัดสินใจเป็นทหารเมื่อถูกชวนจากจอมพลสฤษดิ์

ไปเกาหลี

จากนั้นอีกสองสามวันหนังสือตอบรับจากกรมผสมที่ 21 ถูกส่งไปถึงบ้าน บอกว่าพร้อมจะให้เบญจมินทร์เดินทางไปกล่อมขวัญทหารไทยที่สมรภูมิเกาหลี เมื่อรับหนังสือแล้ว เบญจมินทร์ก็นําหนังสือนั้นไปหาจอมพลสฤษดิ์ แจ้งให้ทราบ

“อั๊วเอามึงเป็นทหาร ไม่ใช่ให้มึงไปเกาหลี กูให้มึงอยู่กับกู มึงจะไปเกาหลี มันหนาวนะ” จอมพล สฤษดิ์ พูดเสียงดัง

“ครับ ผมรู้ว่ามันหนาว แต่การไปเกาหลีก็เพื่อจะได้สิทธิพิเศษ เพื่อต้องการได้เหรียญกล้าหาญ ผมมีเมีย มีลูก ลูกผมจะได้เรียนหนังสือ” เป็นคําชี้แจงของเบญจมินทร์

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ฟังแล้วก็อนุญาตให้ไปเกาหลีได้ และส่งเงินให้ 3,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว เบญจมินทร์กลับไปบอกภรรยาที่บ้านซึ่งก็มิได้รับการทัดทานใด ๆ

“ผมบอกเมียว่าจะไปเกาหลีนะ เมียผมก็แสนดี ไม่ร้องห่มร้องไห้เลย เขาบอกจะไปก็ไปสิ ผมก็ดีใจ หาเมียอย่างนี้ได้ที่ไหน”

เป็นอันว่า ในปี 2499 นั้นเอง เบญจมินทร์ก็จากผืนแผ่นดินไทยไปประเทศเกาหลี แต่ก่อนจะถึงเกาหลี เครื่องบินโดยสารที่พาคณะทหารเดินทางไปนั้นแวะประเทศญี่ปุ่นพักอยู่ 1 คืนที่โรงแรมในโตเกียว วันต่อมาถึงเดินทางไปเกาหลี

ประสบการณ์ที่เกาหลี

เครื่องบินลงจอดที่สนามบินเกาหลี มีทหารมารับและพาคณะทหารไทยที่มาร่วมรบในสงครามเกาหลีนั่งรถยนต์ไปหมู่บ้านอารีดัง และชื่ออารีดังก็กลายเป็นที่มาของเพลงเพลงหนึ่ง

“พูดถึงหมู่บ้านอารีดัง พวกเรายังไม่ทันลงจากรถเลย เสียงผู้หญิงพูดขึ้นว่า ทหารใหม่มาแล้วหมู่ ผู้หญิงที่ส่งเสียงมานั่นเป็นพวกโสเภณี โสเภณีทั้งนั้นนะ หมู่บ้านอารีดังเป็นหมู่บ้านโสเภณี ทหารใหม่มาแล้วหมู่ แปลว่า มีเหยื่อใหม่มาหรือหมู่ อยู่ที่นั่นคืนหนึ่งพอ ตอนเช้าก็เดินทางโดยรถยนต์ไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง”

เบญจมินทร์เล่าว่า 6 เดือนเต็มที่อยู่เกาหลีไม่เคยอาบน้ำเลย เพราะที่นั่นหนาวเหลือเกิน และตลอด 3 เดือนกินเนื้อหมาโดยไม่รู้ว่าเป็นเนื้อหมา คิดว่าเป็นเนื้อหมู มารู้ก็ตอนที่เด็กรับใช้ชาวเกาหลี ซึ่งเรียกมันว่า “ไอ้บอย” หรือ “ไอ้คิม” สารภาพให้ฟังหลังจากซักไซ้มันอยู่นาน เด็กรับใช้ชาวเกาหลีผู้นี้คลุกคลีกับทหารไทยจนสามารถพูดภาษาไทยได้รู้เรื่อง และเป็นคนที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมเพลงเกาหลีให้กับเบญจมินทร์

“วันหนึ่งมันเอาเพลงมาร้องเล่น ร้องเพลงคิมสกัด เราฟังก็รู้สึกว่า เอ๊ะ มันร้องเพลงดี ผมถามว่า เฮ้ย ไอ้คิม เพลงที่มึงร้องนั้นน่ะชื่ออะไร มันบอกชื่อคิมสกัด ที่มึงร้องเนื้อเพลงแปลว่าอะไร มันบอกว่า มีผู้ชายคนหนึ่งนอนหลับแล้วฝันว่าลอยไปในอากาศ ไปในปราสาทหลังหนึ่งก็เลยลงไปในปราสาทนั้น พอเปิดประตูปราสาทลงไปก็พบเทียน เทียนจุดสว่างก็เลยได้เทียนนั้นมา”

หลังจากฟังคําแปลแล้ว เบญจมินทร์ถึงกับอุทานลั่น “เพลงพ่อมึงเหรอแค่นี้” แต่อย่างไรก็ตาม เบญจมินทร์ก็จดโน้ตและจําทํานองเพลงไว้

“ต่อมามีเพลงอีกเพลงเป็นเพลงอารีดัง เนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงเกาหลีหลงรักทหารอเมริกัน เขาไม่รักด้วยเพราะเขาเป็นอเมริกัน คุณเป็นเกาหลี ผมไม่รักคุณ ผู้หญิงบอกว่า ถ้าคุณไม่รักฉัน ฉันจะฆ่าตัวตาย ทหารอเมริกันก็บอกว่า ให้ฉันกลับอเมริกาก่อนสิถึงตาย ผู้หญิงคนนั้นคอยไม่ไหวเลยต้องฆ่าตัวตาย ก็ได้เพลงนี้มา มาเขียนเป็นภาษาไทย”

กลับมาเมืองไทย เบญจมินทร์ได้ไปพบกับ สง่า อารัมภีร ซึ่งสง่าก็ถามว่าไปเกาหลีมาได้อะไรดี ๆ มาบ้าง เบญจมินทร์ตอบว่า ได้อะไรดี ๆ มาเยอะ

และในที่สุดก็ได้ขายเพลงคิมสกัด หรือเพลงเกาหลีแห่งความหลังให้กับสง่าไป โดยเพลงนี้เบญจมินทร์แต่งเองและร้องเอง

“เพลงนี้เป็นเพลงดี เพลงสนุก ฟังเพราะทีเดียว ผมเองยังรักเลย จนนึกว่าไอ้หมอคนนี้ร้องเพลงดี ความจริงก็ชมตัวเองครับ แต่ผมจําเป็นต้องชมเพราะมันดีจริง ๆ”

น่าเสียดายที่เพลงคิมสกัดที่เบญจมินทร์บอกว่าร้องได้ดีนั้น เดี๋ยวนี้หาฟังไม่ได้ เนื้อร้องเป็นอย่างไรก็ยากต่อการค้นหา เข้าใจว่าเพลงนี้อัดเป็นแผ่นครั่งของห้างกมลสุโกศล ไม่ได้เก็บรักษาไว้

อย่างไรก็ดี ผู้ที่เคยฟังบอกว่าทํานองคล้าย ๆ กับเพลงอารีดัง หรือเสียงครวญจากเกาหลี เพลงนี้จึงไม่อาจหาเนื้อร้องมาบันทึกไว้ได้ นอกจากนั้นก็มีเพลงอารีดัง หรือเพลงเสียงครวญจากเกาหลี ซึ่งมีเกร็ดที่เบญจมินทร์อยากจะเล่าให้ฟัง

“ทีแรกผมบอกกับผ่องศรี วรนุช ว่าผ่องร้องเพลงนี้ให้ลุงหน่อย เขาบอกร้องไม่ได้ ไม่มีเวลา ผมเลยหันไปหาสมศรี ม่วงศรเขียว บอกสมศรีมาร้องเพลงนี้ให้ลุง สมศรีเขาก็มาร้องมีชื่อเสียง ตอนหลังผ่องศรีก็มาต่อว่าผม ผมบอกว่าลุงบอกให้เธอร้องเพลงให้ลุง แล้วเธอไม่ร้อง ลุงก็เลยเอาไปให้คนอื่นร้อง เขามีชื่อเสียงแล้วมาเสียใจเรื่องอะไรกัน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาและเรียบเรียงจากบทความ “ราชาเพลงรำวง เบญจมินทร์ ครั้งหนึ่งกับ จอมพล สฤษดิ์ และเพลงดัง ‘เกาหลี’ ” เขียนโดย เลิศชาย คชยุทธ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2536


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มิถุนายน 2563