เบื้องหลังความขัดแย้ง “สุรพล-ผ่องศรี-ก้าน แก้วสุพรรณ” ที่มาเพลงดัง-เพลงแก้ของแต่ละคน

ก้าน แก้วสุพรรณ สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่ง
(ซ้าย) ก้าน แก้วสุพรรณ กับสุรพล สมบัติเจริญ (ขวา) สุรพล สมบัติเจริญ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2554)

สุรพล สมบัติเจริญ ได้สมญานามว่าเป็น ราชาเพลงลูกทุ่ง เกิดวันที่ 25 กันยายน 2473 ที่อําเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ชื่อจริง ลําดวน สมบัติเจริญ ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 16 สิงหาคม 2511 ด้วยปืนพกยู.เอส.อาร์มีขนาด 11 มม. 4 นัด กระสุนเจาะทะลุขมับขวาไปออกขมับซ้าย 2 นัด อีก 2 นัดพลาดไป ขณะเดินมากับทองใบ รุ่งเรือง เพื่อขึ้นรถเบนซ์กลับกรุงเทพฯ หลังเสร็จสิ้นการแสดงที่วิกแสงจันทร์หน้าวัดหนองปลาไหล อําเภอกําแพงแสน จังหวัดนครปฐม ริมถนนมาลัยแมน ขณะมีอายุเพียง 37 ปีกว่าเท่านั้น

15 ปี บนถนนลูกทุ่ง (พ.ศ. 2496-2511) เขาได้สร้างผลงานเพลง ทั้งแต่งเองร้องเองและแต่งให้นักร้องคนอื่นขับร้องรวมแล้วไม่น้อยกว่า 400 เพลง ที่สำคัญเพลงของสุรพลที่ขับร้องเป็นเพลงดังมากมาย

สุรพลอาจมีเพื่อนรักหลายคน แต่กับนักร้องลูกทุ่งรุ่นน้องอายุห่างกัน 9 ปีที่ชื่อ ก้าน แก้วสุพรรณ คนอําเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรีเหมือนกัน ถือได้ว่าเป็นมากกว่าเพื่อนรัก

เราสองคนเป็นเพื่อนตาย พูดง่ายๆ ว่า ตายแทนกันได้ ก้าน แก้วสุพรรณ น้ำเสียงยังหวานสดใส (เมื่อครั้ง) ยังหากินด้วยการรับเชิญไปร้องเพลง และรับทําขวัญนาคในงานบวช รําลึกถึงความผูกพันแต่หนหลังครั้งได้รู้จักและร่วมงานกับขุนพลเพลงลูกทุ่งผู้ยิ่งใหญ่นาม สุรพล สมบัติเจริญ

เจ้าของเพลงดัง “น้ำตาลก้นแก้ว” ซึ่งสุรพลเป็นคนแต่งให้ร้อง เล่าว่าเขากับสุรพลรู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกที่สุรพลเริ่มร้องเพลง โดยสุรพลร้องเพลงมาก่อน หลังเป็นทหารเรือ 2 ปีสุรพลก็ได้ลาออกมาอยู่กองดุริยางค์ทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ ระหว่างนั้นตนได้ตั้งวงดนตรีประกายดาว ที่ครู ป. ชื่นประโยชน์ ตั้งชื่อให้ และยังให้เครื่องดนตรีไปทํามาหากิน สุรพลก็มาร่วมอยู่วงประกายดาวนี้ด้วย

ความที่เป็นคนสุพรรณบุรีด้วยกันและอุปนิสัยใจคอคล้ายๆ กัน ความสัมพันธ์ของทั้งสองในฐานะเพื่อนจึงแน่นแฟ้นและลึกซึ้งเป็นพิเศษ สรรพนามที่ใช้เรียกกันก็มีหลายอย่าง เช่น ฉัน, แก, เอ็ง, กู, เฒ่าใหญ่, เฒ่าเล็ก เป็นต้น โดยคําว่าเฒ่าใหญ่หมายถึงสุรพล ส่วนเฒ่าเล็กหมายถึงก้าน

ก้านเล่าว่า ที่มาของฉายาเฒ่า เล็ก-เฒ่าใหญ่ ก็แฟนเพลงนี่แหละเป็นคนตั้งให้ ด้วยเห็นว่าสุรพลเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ ส่วนตนเองนั้นรูปร่างเล็ก และอีกอย่างหนึ่ง ก็คงเห็นว่าเราสองคนเวลาไปไหนมาไหนด้วยกันมักจะไม่ค่อยทันใจชาวบ้านเขา จะต้วมเตี้ยมๆ อยู่นั่นแหละ คําว่า เฒ่า ไม่เกี่ยวกับหน้าตาแก่กว่าวัยหรืออะไร

“เวลาผมเรียกสุรพลซึ่งเป็นพี่เพราะอายุแก่กว่า แต่ด้วยความที่สนิทกันมาก ผมก็เรียกแกว่า ไอ้เฒ่า ตอนนั้นสุรพลอายุ 30 ต้นๆ เวลาสุรพล เรียกผมซึ่งเหมือนน้องก็เรียกไอ้เฒ่าเหมือนกัน พี่ท่านสุรพลเป็นเฒ่าใหญ่ ส่วนผมก็เป็นเฒ่าเล็ก เราสองคนมีอะไรเราก็แบ่งกันกิน เขาเป็นคนที่ห่วงคนอื่น ห่วงน้อง เวลาเราซื้อข้าวมาห่อหนึ่ง เราก็แบ่งกัน น้ำแข็งถ้วยนึ่ง เราก็แบ่งกัน พี่เขาก็เหมือนกัน ซื้ออะไรมานี้ เขาจะต้องแบ่งเราตลอดเวลา พูดก็พูดเถอะ เราสองคนเหมือนกับเงาตามตัวเลย รักกันมาก พูดง่ายๆ ว่าตาย แทนกันได้…”

สุรพลมาดังที่วงดนตรีประกายดาวด้วยเพลงหนาวจะตายอยู่แล้ว ในช่วงประมาณปี 2501-03

ก้านเล่าถึงความเป็นมาของเพลงหนาวจะตายอยู่แล้ว ที่สุรพลแต่งเอง และร้องเองจนกลายมาเป็นเพลงดัง

ค่ำคืนหนึ่งของเดือนสิบสอง เงาดนตรีประกายดาวไปแสดงที่จังหวัดนครปฐม เมื่อเลิกการแสดงในตอนดึก สุรพลกับก้านก็จะต้องเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ปัญหาก็คือจะเดินทางกลับกันอย่างไรในขณะฝนก็กําลังตั้งเค้ามา อีกทั้งถนนหนทางสมัยนั้นก็ไม่สะดวก เพราะกําลังสร้างถนนเพชรเกษม ยัง ไม่มีปิ่นเกล้าเหมือนในปัจจุบัน สุรพลบอกให้ก้านขึ้นรถบัส แล้วขับตามหลังรถมอเตอร์ไซค์เวสป้าที่สุรพลจะขี่ไปคนเดียว

“พี่ท่านสุรพลบอกว่า เขาขี่เวสป้า กลับคนเดียวได้ ไอ้เราก็เป็นห่วงเขา เห็นฝนมันตั้งเค้ามาจะตกหนักแน่ ในที่สุดเราสองคนก็ซ้อนมอเตอร์ไซค์เวสป้ากลับด้วยกัน วิ่งบุเรงๆ มาเรื่อยๆ มาถึงนี่สิ บางแค ฝนมาพอดี ตกเลย กําลังสร้างทางอยู่ด้วย โอ้โห..มากันสองคนอีหล่องต่องแต่ง มาถึงบางแค ฝนก็ตก สุรพลบอกได้เฒ่าเอ๋ย ป่านนี้ลูกจะนอนยังไงก็ไม่รู้ ก็บ่นกันไป เราก็บอกว่าก็นอนกับแม่นวลสิ (ศรีนวล สมบัติเจริญ ภรรยาสุรพล) จะไปไหนเล่า พี่ท่านบอกไม่แน่ใจ มันไปนอนด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้ ก็บ่นหงุบหงิบๆ อยู่นั่นล่ะ”

ก้านเล่าต่อ

“ไอ้ผ้าก็มีอยู่ผืนเดียว จะให้สุรพลห่ม เราก็เปียก ไอ้เราจะเอามาห่มรึก็เห็นแก่ตัวอะไรอย่างนี้ ระหว่างขับรถมาถึงวงเวียนใหญ่ หนาวจะตายอยู่แล้ว น้องแก้วทําไมไม่เห็นใจบ้าง เขาที่ร้องของเขา พอมาถึงสี่แยก เลยพาหุรัด มาร้านข้าวต้มมีอยู่ร้านหนึ่ง สองคูหา มาถึงสุรพลก็ถอดเสื้อสลัดเอาพัดลมพัด

เฮ้ย ไอ้เฒ่า เมื่อกี้กูร้องเพลงอะไร ไอ้เรามันคนจําแม่น จึงบอกว่า หนาวจะตายอยู่แล้ว น้องแก้วทําไมไม่เห็นใจบ้าง เอาทิชชูมา สุรพล นั่งเขียนเพลงเลย เดี๋ยวนั้น เสร็จเลยเดี๋ยวนั้น เพลงหนาวจะตายอยู่แล้วและเพลงแก้อีกเพลง ให้ผ่องศรี วรนุช ร้องแก้ นี่คือพี่ท่านสุรพล เนื้อมันออกมาเดี๋ยวนั้น ทํานองออกมาเดี๋ยวนั้น เป็นคนที่น่าทึ่ง ถ้าพี่เขาอยู่นะ โฮ้ย.. นักร้องดังๆ มีอีกเยอะแยะ ลูกทุ่งยังสนุกสนานอีกมาก”

เพลงแก้ที่ร้องโดย ผ่องศรี วรนุช ชื่อว่า เห็นใจพี่แล้ว

เมื่ออยู่ด้วยกันในวงดนตรีประกายดาว สุรพลได้แต่งเพลงให้ก้านร้อง จนเพลงโด่งดังสร้างชื่อเสียงให้กับก้าน นั่นคือเพลงน้ำตาลก้นแก้ว เพลงรอยไถแปร โดยเฉพาะเพลงน้ำตาลก้นแก้ว กลายเป็นเพลงประจําของก้านจากอดีตถึงปัจจุบัน

แม่… น้ำตาลก้นแก้ว เขาชิมเจ้าแล้ว จึงตกถึงมือพี่” ก้านครวญเพลงให้ฟังเป็นตัวอย่างพร้อมโชว์ลูกเอื้อน ลูกคอตามสไตล์ลูกทุ่งขณะกล่าวถึงเพลงน้ำตาลก้นแก้ว

เมื่อเพลงดังระเบิด นักร้องมีชื่อเสียงทั้งสุรพล ก้าน ผ่องศรี วิทยุเปิดเพลงกันทั้งวัน ไปที่ไหนก็ได้ยินแต่เพลงของนักร้อง 3 คนนี้ งานแสดงของวงดนตรีประกายดาวก็เพิ่มมากขึ้น จนรับงานไม่ไหว

“งานมันเยอะ งานมาก เราก็เลยบอกกับสุรพลว่า ไอ้เฒ่า เอ็งไปตั้งวงดนตรีอีกวงดีกว่า ชื่อวงสุรพล สมบัติเจริญ เดี๋ยวผมจะเปลี่ยนเป็นวงดนตรี ก้าน แก้วสุพรรณ เวลาพี่ท่านไม่มีงานก็มาร้องกับวงก้าน แก้วสุพรรณ เวลาก้าน แก้วสุพรรณ ไม่มีงานก็ไปร้องวงสุรพล สมบัติเจริญ เราถือเป็นวงพี่วงน้องกัน สมัยก่อนนั้นดนตรีมันมีน้อย มีไม่กี่วง บอกพี่ท่านสุรพลว่าไปตั้งวงอีกสักวงเถอะ”

ข้อเสนอของก้านดูเข้าท่าเข้าทีจึงได้รับการตอบรับจากสุรพล วงดนตรีสุรพลจึงก่อกําเนิดขึ้น สําหรับผ่องศรี วรนุช นักร้องหญิงที่กําลังมีชื่อเสียงก็จะรับเชิญไปร้องให้กับวงทั้งสองนี้ และต่อมาได้เกิดปัญหาในเรื่องการจ่ายค่าตัว จนผ่องศรีงอน เพราะสุรพลกับก้านจ่ายไม่เท่ากัน สุรพลจ่ายให้กับผ่องศรีน้อยกว่าก้านจ่าย

“อย่างงานหา งานเสี่ยง นักร้องที่ไปร้องกับวงก้าน เราให้ 500 บาทต่องานเท่ากันหมด สุรพลได้ 500 ผ่องศรีได้ 500 พี่ทูล ทองใจ 500 คํารณ สัมบุณณานนท์ 300 แต่เวลาไปกับวงสุรพล สุรพลให้ 300 บาท 250 บาท 150 บาท แต่ผมนี่ได้จากสุรพล 500 บาท ผ่องศรีเขาได้ 300 เขาก็รู้สึกว่าทําไมให้เขาน้อย ทีหลังมีงาน เขาก็ไม่ไปร้องกับวงสุรพล เมื่อผ่องศรีไม่ไป พี่ท่านสุรพลก็เคือง จึงเขียนเพลงแก้วลืมดง ต่อว่าต่อขานผ่องศรี ในทํานองว่าผ่องศรีลืมตัว”

ซึ่งผ่องศรีก็เคยพูดว่า สุรพล ร้องเพลงด่าตัวเอง

“สมน้ำใจเจ้าแล้ว แม่นกแก้วที่ลืมดง…” ก้าน แก้วสุพรรณ ขับขานเพลงแก้วลืมดงให้ฟัง

หลังจากเพลงแก้วลืมดงถูกเปิดทางวิทยุซึ่งเป็นที่รู้กันว่าสุรพลไม่พอใจผ่องศรี ร้องเพลงต่อว่า ก้านในฐานะหัวหน้าวงที่ผ่องศรีไปร่วมร้องเพลง จึงแต่งเพลงสาริกาลืมไพรให้ผ่องศรี ร้องแก้

หากว่าพี่ดีจริงน้องหญิงหรือจะทิ้งพี่ลง…ก้านนำบางวรรคของเพลงมาร้องให้ฟัง

“ผมเองก็อุตริไปเขียนเพลงให้ผ่องศรีร้องแก้กับเพลงสุรพล นั่นแหละ เป็นเรื่องเลย ปรากฏว่า 3 เดือน สุรพล กับก้าน แก้วสุพรรณ ไม่พูดกันเลยสักคํา ไอ้เราไม่ได้คิดอย่างนั้นหรอก เราคิดว่ากลอนมันพาไป เขาร้องมา เราก็ร้องแก้ไป คิดว่าแค่นั้น แต่ที่ไหนได้เป็นเรื่อง” ก้านเล่าถึงเหตุการณ์ที่ “ก้าน-สุรพล” ซึ่งเป็นเพื่อนรักมีอันต้องบาดหมางใจและผ่องศรีก็เข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งสุรพลโกรธและไม่พูดด้วย นับแต่นั้นมา

การทะเลาะเบาะแว้งและบาดหมางใจกันของสุรพลกับก้านครั้งนี้ มีอันต้องเดือดร้อนไปถึงนางวงศ์ สมบัติ เจริญ แม่ของสุรพลที่อยู่อําเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะก้านเดินทางไปหาถึงสามชุกพร้อมกับเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้แม่วงศ์ฟัง

“แม่วงศ์ฟังผมเล่า แม่วงศ์ก็พูดว่า ไอ้ดวน (ลําดวน ชื่อเต็มของสุรพล) ทําอย่างงี้ได้ยังไง เอ็งไม่คิดถึงน้องหรือ ก้านทําเสียงคนแก่ถ่ายทอดน้ำเสียงของแม่วงศ์ที่ขุ่นเคืองลูกชาย “แม่วงศ์ด่าตั้งแต่สุพรรณถึงกองดุริยางค์ทหารอากาศเลย”

เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ แม่วงศ์ได้เจอกับลูกชาย-สุรพลโดยมีก้านอยู่ด้วย จึงได้พูดจาปรับความเข้าใจเพื่อฟื้นความสัมพันธ์ให้ฟื้นกลับมาคืนดีกันเหมือนเดิม

“เจอกัน 3 คน แม่วงศ์ สุรพล แล้วก็ผม แม่วงศ์ก็ต่อว่าพี่ท่านสุรพล เราสองคนก็นั่งฟังทั้งสุรพลแล้วก็ผม พากันนั่งร้องไห้ ในที่สุดพี่เขาก็พูดบอกว่า เอ้า…ไอ้เฒ่า กูผิดเอง เอ้อ เป็นพี่ไม่รู้จักคําว่า พี่ พี่ผิดเว้ย ก็เลยคุยกัน”

สุรพลกับก้านคืนดีกัน แต่กับผ่องศรีไม่ได้เป็นเช่นนั้น สุรพลยังโกรธและเคืองจนวันสุดท้ายของชีวิตสุรพลซึ่งถูกยิงตายในปี 2511

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562