ก่อนเป็น “สุรพล สมบัติเจริญ” ราชาเพลงลูกทุ่งเคยเกือบสิ้นชีพจากวงการมวย!?

ก้าน แก้วสุพรรณ สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่ง
(ซ้าย) ก้าน แก้วสุพรรณ กับสุรพล สมบัติเจริญ (ขวา) สุรพล สมบัติเจริญ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2554)

เพลง “16 ปีแห่งความหลัง” คอเพลงลูกทุ่งรุ่นเก่าที่อายุ 50 ปีขึ้นไปแทบทุกรายคุ้นชื่อสุรพล สมบัติเจริญ ที่ได้สร้างผลงานเพลงดังๆ ไว้มากมาย ถึงขั้นถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็น “ราชาเพลงลูกทุ่ง” จนกลายเป็นหนึ่งในตำนานของวงการเพลงลูกทุ่งไทย

สุรพลเดิมชื่อ ลำดวน สมบัติเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2473 (บางแหล่งระบุว่าเกิด 25 กันยายน) ณ ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรชายคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้องท้องเดียวกัน 6 คน มีพี่ชายชื่อ อุดม สมบัติเจริญ น้องสาว 2 คน ชื่อเฉลียวและไสว และน้องชาย 2 คนรั้งท้าย จินดากับสมาน สมบัติเจริญ ในบรรดาพี่น้องซึ่งเป็นชายด้วยกัน สุรพลมีความหล่อเหลากว่าเพื่อน ผิวค่อนข้างขาว รูปร่างสันทัด และเป็นเด็กที่รู้รักประหยัด เก็บออม มัธยัสถ์ ไม่ใช้สุรุ่ยสุร่าย

ในวัยเด็ก สุรพลเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนผดุงศิลป์ ต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย โรงเรียนประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งขณะนั้นตรงกับช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2488) กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยเพื่อขอเป็นทางผ่านไปตีพม่าและอินเดีย

หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม 6 เขาได้สมัครเข้าเป็นครูสอนภาษาไทยในโรงเรียนจีน “กงลิเสียเสี้ยว” แต่ด้วยพฤติกรรมการตีเด็กนักเรียนของครูสุรพล ไม่เป็นที่พอใจของครูใหญ่ ทำให้เขาต้องลาออกจากอาชีพครูในทันที

ต่อมาเมื่อสละตำแหน่งครูแล้ว เขาได้สมัครเข้าค่ายหัดต่อยมวยไทยในค่าย “ลูกสุพรรณ” ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีพี่ชายของเขา อุดม สมบัติเจริญ ฝึกหัดอยู่ก่อนแล้ว การเปลี่ยนอาชีพของสุรพลในครั้งนี้เกือบทำให้เขาเอาชีวิตไม่รอด

ครั้งหนึ่ง สุรพลรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้อุดมพี่ชายของเขาที่ขึ้นเวทีต่อยกับกล้าลูกเมืองกาญจน์ ที่จังหวัดนครปฐม มนัส โอภากุล ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเล่าว่า การขึ้นเวทีในครั้งนั้นมีคนมากระซิบบอกอุดมว่าขอให้ต่อยให้แพ้ ถ้าไม่เช่นนั้นไม่รับรองความปลอดภัยของชีวิต เพราะรู้กันอยู่ว่าพี่ชายของเขามีฝีมือเหนือกว่าคู่ต่อสู้

ด้วยศักดิ์ศรีและความซื่อสัตย์ต่ออาชีพนักมวย อุดมไม่ยอมแพ้ ซึ่งการต่อยมวยสมัยก่อนหากไม่น็อกคู่ต่อสู้ ครบ 5 ยกถือว่าเสมอกัน

พอลงจากเวที สุรพลกับอุดมถูกนักเลงเข้าล้อมกรอบควักปืนออกมาหมายยิงคนทั้งสองให้ตาย จากการบอกเล่าของมนัส ที่เขียนบรรยายในบทความ “สุรพล สมบัติเจริญ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ระบุว่า เดชะบุญหัวหน้าค่ายนักมวยที่นครปฐมชื่อ อุไร นฤภัย ช่วยเอาไว้ ไม่เช่นนั้นชีวิตของสุรพล คงไม่อาจมีชื่อเสียงกระฉ่อนในวงการเพลงลูกทุ่งอย่างแน่นอน

ชีวิตของสุรพลพลิกผันอีกครั้ง เมื่อเขาสมัครเป็นนักร้องในวงดนตรี “เจือ รังแรงจิต” ด้วยเอกลักษณ์เสียงร้องปนเหน่อน้อยๆของเขา ไม่ช้าเพลงของสุรพลก็ติดตลาด เช่นเพลง “ชูชกสองกุมาร” “ไหนว่าไม่ลืม” เป็นต้น

จนกระทั่งเขาและพรรคพวกได้ตั้งวงดนตรีสากลขึ้น ชื่อ “สุรพล สมบัติเจริญ” ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ดังทะลุฟ้าเมืองไทย ไม่มีใครไม่รู้จักนักร้องชื่อสุรพล สมบัติเจริญ เพราะออกเล่นตามต่างจังหวัดแทบจะทั่วประเทศ ทำให้เขากลายเป็นนักร้องขวัญใจของใครหลายๆ คน ทั้งนี้ด้วยความสามารถทั้งด้านการร้อง การแต่งเพลง รวมถึงเอกลักษณ์ด้านน้ำเสียงของสุรพล ทำให้เขาได้รับสมญานามว่า “ราชาเพลงลูกทุ่ง”

แม้ปัจจุบันสุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่ง เจ้าของเพลง “16 ปีแห่งความหลัง” และเพลงดังอีกมากมาย ได้จากวงการเพลงลูกทุ่งไปแล้ว (ถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2511) แต่ชื่อและผลงานของเขายังถูกกล่าวขานมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

มนัส โอภากุล. “สุรพล สมบัติเจริญที่ข้าพเจ้ารู้จัก”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 19 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2541)


เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2562