ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สุรพล สมบัติเจริญ ศิลปินนักร้องนักประพันธ์เพลงชาวไทย ฉายา “ราชาเพลงลูกทุ่ง” เป็นบุคคลที่มีอัจฉริยะด้านเพลงลูกทุ่งมากคนหนึ่ง ใน พ.ศ. 2496-2511 ช่วงเวลาที่สุรพลนำเพลงของเขาสู่วงการ อาจเปรียบได้เป็น “ยุคทอง” ของเพลงลูกทุ่งไทยก็ว่าได้ เนื่องจากเพลงของสุรพลนั้นล้วนแต่ฮิตติดหูคนทั้งประเทศมาตลอดสิบกว่าปีนั้น
การแต่งเพลงให้ได้แต่ละเพลงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และจะแต่งให้แต่ละเพลงนั้นโด่งดังก็ยิ่งเป็นเรื่องยากกว่า แต่เรื่องนี้ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับสุรพลเลย เขาเป็นคนที่รักการร้องรำทำเพลงแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นก็มุ่งแต่เอาดีด้านนี้มาโดยตลอด เรียกได้ว่าเพลงของสุรพลนั้นล้วนแต่เกิดจากพรสวรรค์ จินตนาการ และความสามารถที่แต่ละสิ่งส่งเสริมกันจนทำให้เพลงของเขานั้นเป็นที่จดจำได้มาจนถึงทุกวันนี้
บังเละ หรือ ดำริ ประเสริฐสกุล นักแสดงตลกในวงดนตรีของสุพลกล่าวว่า “โดยมากสุรพลเขามักเอาประสบการณ์จากสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้พบเห็นมาแต่งเป็นเพลง… อย่างพูด ๆ กันนี่ เกิดมีคำอะไรหลุดออกมามีความหมาย เข้าจะเอามาเป็นพล็อตของเพลงอย่างเพลง ‘หัวใจเดาะ’ คำ ๆ นี้มาจากผม” บังเละ อธิบายว่า ขณะที่เขากำลังแสดงตลกบนเวที ตอนหนึ่งรำพันถึงการจีบผู้หญิงว่าหากเขาไม่ได้เธอ (นักแสดงตลกผู้หญิง) มาเป็นแฟน “หัวใจฉันคงเดาะไป” สุรพลที่ยืนฟังอยู่หลังเวทีได้ยินจึงนำไปแต่งเพลง “หัวใจเดาะ” นั่นเอง
บังเละยังอธิบายว่า โดยส่วนมากสุรพลไม่ค่อยเขียนเพลงเตรียมไว้ก่อน โดยใช้วิธีว่า เมื่อปล่อยเพลงใหม่ออกไป สุรพลจะไม่ปล่อยเพลงใดออกมาตีกันอีก เพราะมั่นใจว่าเพลงที่พึ่งปล่อยไปนั้นต้องดังอย่างแน่นอน จากนั้นจะทิ้งระยะไว้ประมาณ 6 เดือน ให้เพลงนั้นซาลง ก่อนจะปล่อยเพลงใหม่อีกเพลงหนึ่ง ในระยะที่จะปล่อยเพลงใหม่นั้น สุรพลก็เสาะหาสิ่งรอบตัวเพื่อนำมาแต่งเป็นเพลงได้เสมอ
“โอ๊ย… หัวใจผมเดาะ แหมจำเพาะมาเดาะเอาตรงหัวใจ ที่อื่นมีถมไม่ไปเดาะ นี่เพราะอะไร ดันมาเดาะเอาตรงหัวใจ ใครบ้างที่เหมือนอย่างผม
โอ๊ย… หัวใจผมปวด เหมือนโดนนวดเสียจนอกตรม จะมีบ้างไหมคุณหมอสาว ๆ ที่มาช่วยผม โปรดมาระงับความตรม ช่วยดามหัวใจผมที”
คำร้อง/ทำนอง/ขับร้อง โดยสุรพล สมบัติเจริญ
ขณะที่ลูกศิษย์ของสุรพลอย่าง ไพรวัลย์ ลูกเพชร กล่าวถึงวิธีการแต่งเพลงของสุรพลว่า “ครูสุรพลเป็นคนทันเหตุการณ์ปัจจุบัน สมัยนั้นผู้หญิงนุ่งมินิสเกิร์ต ครูก็แต่งเพลง ‘เสียวไส้’ ขึ้นมาร้อง โดยมากครูจะจับจุดอันนี้ รับรองว่าเพลงนี้ต้องไปได้ ขายได้เละ ยังไงเพลงก็ต้องติดปากคน” แต่เคล็ดลับการแต่งเพลงของสุรพลคือ “ห้องน้ำ” ไพรวัลย์อธิบายว่า เมื่อสุรพลจะแต่งเพลง เขามักมืดมน แต่พอเข้าห้องน้ำไปแล้วกลับเกิดความคิดแต่งเพลงออกมามากมาย โดยสุรพลมักเข้าไปร้องเพลงฮัมทำนองเพลงในห้องน้ำ นึกไป ร้องไป เมื่อออกจากห้องน้ำก็เอาสมุดมาจดเนื้อ แล้วจึงเริ่มแต่งเพลงอย่างเป็นจริงเป็นจัง
อาจเปรียบได้ว่าสุรพลมีหัวอัจฉริยะเรื่องแต่งเพลงมากที่สุดในวงกลางเพลงไทยยุคนั้น สอดคล้องกับความเห็นของ ผ่องศรี วรนุช เจ้าของเพลงดังอย่าง “ด่วนพิศวาส” ที่แต่งเพลงทั้งทำนองและคำร้องโดยสุรพล ซึ่งผ่องศรีกล่าวถึงสุรพลว่ามีความสามารถในการแต่งเพลง เป็นคนทันสมัย หากมีเหตุการณ์ใดที่เป็นกระแสนิยมในขณะนั้นก็หยิบมาแต่งเพลงได้หมด อีกทั้งสุรพลยังเป็นคนมีจินตนาการ และมักเอาพื้นเพชีวิตของคนมาแต่งเป็นเพลง เช่นเดียวกับเพลง “ด่วนพิศวาส” และ “กรุงเทพฯ” ที่ผ่องศรีเล่าชีวิตของเธอให้สุรพลฟัง จนนำมาแต่งเป็นเพลงอมตะของเธอ
ผ่องศรีเล่าว่า “…เพราะแกเห็นชีวิตของพี่ (หมายถึงผ่องศรี) ที่ผิดหวังมา พี่ก็เล่าให้แก (หมายถึงสุรพล) ฟัง เอาเพลงนี้นะพี่พล พี่เพลงแต่งเนื้อหาอย่างนี้นะ ชีวิตที่ผิดหวัง เพลงกรุงเทพฯ พี่ชอบมาก เพราะอะไร นี่หนู (หมายถึงผ่องศรี) เข้ามากรุงเทพฯ หนูคิดว่ากรุงเทพฯ นี่มันคงจะทำให้หนูสบาย แต่จริง ๆ แล้วทำให้ดีได้ ทำให้คนชั่วได้ มันอยู่กับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่กรุงเทพฯ จะทำให้คนเสียทั้งหมด ขึ้นกับตัวเรา พี่ (หมายถึงผ่องศรี) ก็บอกแต่งเพลงนี้นะ ความที่ใฝ่ฝันอยากจะมากรุงเทพฯ เสร็จแล้วต้องมาผิดหวัง มีแฟน แฟนก็นอกใจ อะไรต่ออะไรอย่างนี้ พี่พลเขาก็รู้ดี แกเลยแต่งเพลงนี้ให้ แต่งด่วนพิศวาส… พี่พลก็เลยแต่งเพลงชีวิตจริงของพี่”
“กรุงเทพฯ เมืองนี้นั้นมีความหลัง ครั้งในอดีต ที่ฉันขอขีดเป็นเส้นขนาน มิพานอยากพบ ไม่ขอเยี่ยมกราย หมายไปสยบ ตราบร่างฉันกลบดินสูญสิ้นวิญญาณ
กรุงเทพฯ เมืองนี้มันมีมนต์ขลัง ฝังใจให้คิด ที่ฉันหลงผิดคิดว่ามันสวย หลงเพลินอยู่นาน ถลำตัวชั่วไปหัวใจตายด้าน กรุงเทพฯ ประหารฉันจนเสียนวล”
คำร้อง/ทำนอง สุรพล สมบัติเจริญ, ขับร้อง ผ่องศรี วรนุช
จนถึงวันนี้ เพลงของสุรพลยังมีผู้นำไปร้องเสมอ คล้ายกับว่าเขายังไม่ตายไปจากความทรงจำของคนไทย เพราะผลงาน การขับร้อง และการแต่งเพลงของสุรพลเข้าถึงคนฟังทุกยุคสมัย เป็นอมตะโดยแท้จริง
อ่านเพิ่มเติม :
- ก่อนเป็น “สุรพล สมบัติเจริญ” ราชาเพลงลูกทุ่งเคยเกือบสิ้นชีพจากวงการมวย!?
- เบื้องหลังความขัดแย้ง “สุรพล-ผ่องศรี-ก้าน แก้วสุพรรณ” ที่มาเพลงดัง-เพลงแก้ของแต่ละคน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เลิศชาย คชยุทธ. (กุมภาพันธ์, 2536). ฟื้นเกร็ดชีวิต “ราชาเพลงลูกทุ่ง” สุรพล สมบัติเจริญ อัจฉริยะในการแต่ง-ร้องเพลง แต่นิสัย “ขี้ตืด” ชะมัดยาด. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 14 (ฉบับที่ 4) : หน้า 92-96
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2562