มิตรภาพของ 2 ครูเพลงรุ่นบุกเบิก เบญจมินทร์ และไพบูลย์ บุตรขัน

เบญจมินทร์ หรือ ตุ้มทอง โชคชนะ

เบญจมินทร์ หรือ ตุ้มทอง โชคชนะ (23 พฤษภาคม 2464 – 10 มีนาคม2537) เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีความสามารถทั้งการแต่งเพลง และร้องเพลง โดยเฉพาะเพลงรำวง ที่เบญจมินทร์ได้ชื่อว่า “ราชาเพลงรำวง” ส่วนเพลง สร้างชื่อได้แก่ โปรดเถิดดวงใจ, ปรารถนา, ในฝัน และเพลงเสียงครวญจากเกาหลี (หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกว่า “เพลงอารีดัง”)

ไพบูลย์ บุตรขัน (4 กันยายน 2461-29 สิงหาคม 2515) เป็นชาวจังหวัดปทุมธานี เป็นนักแต่งเพลงที่มีผลงานเป็นที่รู้จักมากมาย เช่น กลิ่นโคลนสาบควาย, มนต์รักลูกทุ่ง, ค่าน้ำนม ฯลฯ แต่ชีวิตไพบูลย์ก็เจอกับปัญหาเรื่องสุขภาพที่ทำให้ทุกข์ใจและเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว

เบญจมินทร์ กับไพบูลย์ ต่างเป็น “ครูเพลง” รุ่นบุกเบิก ที่เป็นคนรุ่นเดียวกัน มีอัธยาศัยใจคอเดียวกัน เป็นกัลยาณมิตรแก่กัน ไพบูลย์ชื่นชอบวิธีการร้องเพลงของเบญจมินทร์ ซึ่งทําได้ดีทั้งร้องและแต่งเพลง เบญจมินทร์ก็เห็นคุณค่าของการแต่งเพลงมากกว่า โดยเฉพาะผลงานดีๆ ของไพบูลย์ เบญจมินทร์กล่าวว่า

คุณชอบวิธีการร้องเพลงของผม ผมก็ชอบวิธีการแต่งเพลงของคุณ ความจริงผมไม่ชอบการร้องเพลงของผมเท่าใดนัก เพราะผมคิดว่าเสียงร้อง มีวันเสื่อมตามวัยและสังขาร ส่วนการเขียนเนื้อร้องและทํานองนี้ซิ จะยังคงยืนยงและยาวนาน แม้ชีวิตเราจะดับสิ้นไปแล้ว”

มิตรภาพของครูเพลงสองคนนี้ นอกจากช่วยเหลืออุปถัมภ์กันในเรื่องงานเพลงแล้ว ยังเป็นเพื่อนสนทนากัน อย่างรู้ใจประสาคนคอเดียวกัน ดังที่เบญจมินทร์บันทึกไว้ว่า

“เมื่อใดเราทั้งสองได้มีโอกาสอยู่ด้วยกันตามลำพัง เมื่อนั้นโลกนี้ก็ตกเป็นของเราโดยสิ้นเชิง ผมเป็นฝ่ายคุย คุณเป็นฝ่ายฟังและหัวเราะ คุณหัวเราะเสียงดังและไม่มีการยับยั้ง คุณบอกว่าคุยกับผมแล้วเวลามันหมดไปไม่รู้ตัว และแทบทุกครั้งเมื่อคุณกําลังเพลิดเพลิน ผมมักจะลาจากคุณทันที ทําไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะผมต้องการไปทั้งๆ ที่คุณกําลังมีความสุข คุณจะได้ลืมความทุกข์ที่เกาะกินคุณอยู่ในร่างกายและจิต

ในทางกลับกัน เมื่อไพบูลย์ทราบข่าวเบญจมินทร์กำลังทุกข์ใจจากการสูญเสียลูกชาย ไพบูลย์ก็แต่งเพลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เบญจมินทร์ร้อง

นี่คือ สัมพันธ์รักของ 2 นักเพลงเบญจมินทร์-ไพบูลย์ บุตรขัน


ข้อมูลจาก

วัฒน์ วรรลยางกูร. คีตกวีลูกท่ง ไพบูลย์ บุตรขัน, สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2564