ดูสภาพ “ข้าวยากหมากแพง” ที่มีมาทุกยุคสมัย ตั้งแต่อยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์

ชาวนา ไทย ในอดีต
การทำเกษตรกรรมของชาวนาไทยในอดีต (ภาพจาก Twentieth Century Impressions of Siam : Its History, People, Commerce, Industries, and Resources, 1994)

เรื่อง “ข้าวยากหมากแพง” มีบันทึกในหนังสือ “จดหมายเหตุโหร” ซึ่งจดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังเช่น

ปีขาล จ.ศ. 1120 (พ.ศ. 2301) หลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต ปีนั้นมีจันทรุปราคา ข้าวแพงถึงเกวียนละ 12 ตำลึง แสดงว่าในปลายกรุงศรีอยุธยา ข้าวมีราคาถึงถังละเกือบ 2 สลึง แต่ข้าวดังกล่าวเข้าใจว่าเป็นข้าวเปลือก ส่วนข้าวสารต้องมีราคาสูงกว่านี้ แต่ไม่ทราบว่าราคาเท่าใด

ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปีมะเส็ง จ.ศ. 1147 (พ.ศ. 2328) โหรก็ได้จดไว้ว่า น้ำมาก ข้าวแพง เกวียนละชั่ง เพราะน้ำท่วม ต้นข้าวตาย ข้าวจึงไม่มี แสดงว่า เมื่อมาถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ข้าวเปลือกแพงขึ้นกว่าเมื่อสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา คือถังละ 80 สตางค์

พอถึงสมัยรัชกาลที่ 2 โหรจดไว้ว่า ปีมะเส็ง จ.ศ. 1183 (พ.ศ. 2364) ข้าวเปลือกเกวียนละ 7 ตำลึง (28 บาท) ข้าวสารถังละ 3 สลึง เฟื้อง (ประมาณ 87 สตางค์) จากราคาข้าวดังกล่าวแสดงว่า บ้านเมืองบริบูรณ์ขึ้น แม้ว่าราคาข้าวจะแพง แต่ก็แพงเพียงเกวียนละ 7 ตำลึงเท่านั้น ไม่แพงถึงเกวียนละ 1 ชั่งเหมือนในสมัยรัชกาลที่ 1

แต่พอรุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง คือ จ.ศ. 1184 (พ.ศ. 2365) ราคาข้าวเปลือกขึ้นเป็นเกวียนละ 11 ตำลึง (44) บาท

ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปีเถาะ จ.ศ. 1193 (พ.ศ. 2374) น้ำท่วมมาก ปรากฏว่าในพระราชวังน้ำท่วมลึกประมาณศอกกับ 5 นิ้ว ข้าวจึงแพงเป็นเกวียนละ 8 ตำลึง (32 บาท)

แต่พอถึงปีมะเส็ง จ.ศ. 1195 (พ.ศ. 2376) เกิดฝนแล้ง ก็ทำให้ข้าวแพงอีกครั้ง เป็นเกวียนละ 7 ตำลึง 2 บาท (30 บาท)

ถึงปีเถาะ จ.ศ. 1205 (พ.ศ. 2386) โหรจดไว้ว่า ข้าวแพงตั้งแต่เดือน 2 จนถึงเดือน 4 ข้าวสารถังละ 1 บาท ปรากฏว่าน้ำน้อย ทำให้ทำนาไม่ได้ พอรุ่งขึ้นอีกปี คือปีมะโรง จ.ศ. 1206 (พ.ศ. 2387) ข้าวเปลือกจึงขึ้นราคาเป็นเกวียนละ 1 ชั่ง เท่ากับสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปีมะเส็ง จ.ศ. 1147 (พ.ศ. 2328) ส่วนข้าวสารก็ขึ้นราคาเป็นถังละ 9 สลึง

สาเหตุที่ข้าวในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีราคาแพง มาจากปัจจัยสำคัญคือ น้ำ น้ำมากนาก็ล่ม น้ำน้อยก็ปลูกข้าวไม่ได้ นอกจากนี้ ในช่วงรัชกาลที่ 1 บ้านเมืองยังมีศึกสงครามบ่อยครั้ง ต้องเกณฑ์ข้าวปลาอาหารเป็นเสบียงเลี้ยงกองทัพ จึงทำให้ข้าวขาดแคลน

ในปลายรัชกาลที่ 4 โหรก็จดไว้ว่า เมื่อปีมะโรง จ.ศ. 1230 (พ.ศ. 2411) ฝนแล้ง นาและสวนทำไม่ได้ผล แต่ไม่ได้บอกว่าข้าวแพงหรือไม่

แต่ผลจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง การพัฒนาการเกษตรด้วยเทคโนโลยีใหม่จากตะวันตก การพัฒนาแหล่งน้ำขุดคูคลอง ฯลฯ เป็นผลให้มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวมากขึ้น และทำให้ข้าวกลายเป็นผลผลิตสำคัญของไทย และส่งออกไปยังต่างประเทศ

ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 บ้านเมืองจึงค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เรื่องข้าวยากหมากแพงไม่มี ปรากฏว่าจากหนังสือดรุโณวาท ตีพิมพ์เมื่อ จ.ศ. 1236 (พ.ศ. 2417) กล่าวถึงราคาข้าวเปลือกที่ซื้อขายกันในกรุงเทพฯ ว่า

“…ข้าวเปลือกนาเมืองราคาเกวียนละ 26 บาท ข้าวเปลือกนาสวนที่หนึ่งเกวียนละ 42 บาท, ข้าวเปลือกนาสวนที่ 2 เกวียนละ 38 บาท, ข้าวเปลือกนาปักที่หนึ่งเกวียนละ 35 บาท, ข้าวเปลือกนาปักที่สองเกวียนละ 33 บาท, ข้าวเปลือกนาปักที่สามเกวียนละ 32 บาท, ข้าวสารนาสวนที่หนึ่งเกวียนละ 77 บาท, ข้าวสารนาสวนที่สองเกวียนละ 75 บาท…”

สําหรับราคาข้าวสารชั้นดีในรัชกาลนี้ดังกล่าว ตกถังละ 77 สตางค์ และ 75 สตางค์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญในการทำนาคือ น้ำ ก็ยังทำให้การปลูกข้าวมีความเสี่ยงมาตลอดทุกยุคสมัย แม้จะมีแหล่งน้ำลำคลอง พื้นที่ชลประทานขยายเพิ่มขึ้น จนทำให้ปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี หรือมีต้นข้าวพันธุ์ใหม่ที่ทนน้ำท่วมได้ ทนโรคพืช ทนศัตรูพืชได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้มั่นใจได้ว่า การทำนาจะได้ผลผลิตงดงามทุกปี ซึ่งก็มักจะเห็นข่าวนาล่ม ข่าวน้ำท่วมนาข้าว ข่าวชาวนาขายข้าวขาดทุน ข่าวชาวนาเป็นหนี้ ตลอดทุกปี

ยุค “ข้าวยากหมากแพง” ในอดีต อาจฉายให้เห็นภาพในมุมของราษฎรทั่วไปที่ซื้อข้าวราคาแพง แต่ยุคข้าวยากหมากแพงในปัจจุบัน อาจฉายให้เห็นภาพอีกมุมหนึ่งของชาวนาที่ขายข้าวราคาถูก แต่ราษฎรทั่วไปก็ยังซื้อข้าวราคาแพง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เทพชู ทับทอง. (2525). กรุงเทพฯ เมื่อวันวาน. กรุงเทพฯ : พี. วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2565