ย้อนดู “ค่าครองชีพ” ของคนไทยในอดีต ก๋วยเตี๋ยวชามละ 1 สตางค์-โสเภณีครั้งละ 50 สตางค์

เยาวราช ผู้คน
เยาวราชในอดีต ไม่ระบุปีที่ถ่าย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2540)

ในอดีต แม้ว่าเงินเดือนจะน้อย แต่ค่าครองชีพถูก ราคาสินค้าและบริการไม่แพง จึงทำให้ “คนไทย” ดำรงชีวิตกันได้อย่างสบาย ซึ่งผิดกับปัจจุบัน แม้ว่าเงินเดือนจะสูง แต่ค่าครองชีพก็สูงตาม หรือแย่กว่านั้นคือ เงินเดือนน้อย แต่ “ค่าครองชีพ” ก็สูง

เทพชู ทับทอง บอกเล่าเรื่อง “ค่าครองชีพ” ของ คนไทย ในอดีต ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 7 ไว้ในหนังสือ “กรุงเทพฯ เมื่อวันวาน” (สำนักพิมพ์บริษัท พี. วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด, 2525) มีดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

Advertisement

“…เพื่อให้เห็นว่าค่าครองชีพสมัยก่อนคือสมัยเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 เป็นอย่างไร จึงขอเล่ารายละเอียดของราคาข้าวของในสมัยนั้น เท่าที่ค้นคว้าได้ และเท่าที่สัมภาษณ์จากคนอายุ 70-80 ดังนี้

ราคาข้าวของในปลายรัชกาลที่ 5 มีดังนี้

ข้าวแกงจานละไพ, ก๋วยเตี๋ยวจานละไพ, ก๋วยจั๊บชามละ 1 อัฐ, ขนมถ้วยละไพก็มี ถ้วยละ 1 อัฐก็มี, บุหรี่ตรานกร้อย ซองละ 7 สตางค์ ตรานกอินทรี ซองละ 6 สตางค์, กางเกงนกเรียนขาสั้นตัวละ 2 สลึงเฟื้อง เสื้อนักเรียนตัวละสลึง,

รองเท้ายางญี่ปุ่นคู่ละ 75 สตางค์, ข้าวดีเกวียนละ 40 บาท ข้าวเลวเกวียนละ 20-30 บาท, ควายดี (ควายเมืองกรุง) ตัวละ 40 บาท ควายลูกเขมรหรือควายตะวันออกตัวละ 30 บาท”

ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 6-7 มีดังนี้

“…จากการสัมภาษณ์ นายเฉลิมศักดิ์ วงศ์เทวัญ อายุ 71 ปี (พ.ศ. 2521) อดีตแพทย์ทหารบกพญาไท ได้ความว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 ค่าครองชีพก็ถูกมากเช่นเดียวกัน ราคาของกินของใช้เท่าที่จำได้ มีดังนี้

ข้าวสารถังละ 2 สลึงถัง 1 บาท, ข้าวแกงจานละ 1 สตางค์ ถ้าดีหน่อยก็จานละ 2-3 สตางค์, ก๋วยเตี๋ยวชามละ 1 สตางค์ อย่างดีก็ 2-3 สตางค์, ก๋วยจั๊บชามละ 1 สตางค์, หมี่ซั่วหรือที่เรียกว่าก๋วยเตี๋ยวถังแตก คือก๋วยเตี๋ยวสำหรับคนไม่มีเงินกินชามละ 1 สตางค์, ขนมต่าง ๆ ถ้วยละ 1 สตางค์ น้ำแข็ง ยังไม่มีแพร่หลาย

กินน้ำเปล่า ไม่ต้องซื้อ ไอศกรีมยังไม่มีแพร่หลาย เช่นเดียวกับน้ำแข็ง, ส่วนคนมีเงินถ้ากินข้าวต้มหอยนางรม อย่างแพงก็ชามละ 10 สตางค์ ถ้ากินแบ๊ะแซ ก็จานละ 15-20 สตางค์

น้ำมะเน็ต สีเขียวสีแดง ขวดละ 3 สตางค์, เหล้าฝรั่งตรามือ ขวดละ 4 บาท, โซดาขวดละ 1 สตางค์, บุหรี่ตรานกอินทรีมี 10 มวน ซองละ 3 สตางค์, บุหรี่ตราลูกโลกมี 20 มวน ซองละ 3 สตางค์, บุหรี่ห้างเพ็ญภาคตราละครมี 20 มวน ซองละ 5 สตางค์,

บุหรี่ทรีคาลเซล การิค (เสือหมอบ) มี 10 มวน ซองละ 10 สตางค์, เสื้อนักเรียนคอตั้ง ตัวละ 6 สลึง, กางเกงแพร 6 เส้น อย่างแพงตัวละ 5 บาท 9 เส้น ตัวละ 7 บาท 12 เส้นตัวละ 10 บาท, รองเท้าหนังอย่างดีวัดเท้าตัดคู่ละ 5 สลึง”

เงินเดือนข้าราชการ

“ส่วนเงินเดือนข้าราชการได้ดังนี้ ครูขั้นต้นได้เดือนละ 4 บาท, พลตำรวจได้เดือนละ 4 บาท เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 7.50 บาท รวมเดือนละ 11.50 บาท, ข้าราชการขั้นต้นได้เดือนละ 15 บาท

สําหรับนายเฉลิมศักดิ์ สำเร็จแพทย์ปริญญา เข้ารับราชการใหม่ ๆ ได้เดือนละ 80 บาท ซึ่งก็นับว่ามากพอใช้สำหรับในสมัยนั้น

จากการสัมภาษณ์ ร.ท. ขุนนบเสนีย์ (นพ สุวรรณาคร) ซึ่งมีอายุ 80 ปี (พ.ศ. 2521) ถึงราคาข้าวของในสมัยรัชกาลที่ 5 และที่ 7 ได้ความว่า

ข้าวแกงจานละ 3 สตางค์, ก๋วยเตี๋ยวชามละ 3 สตางค์, น้ำแข็งใส่น้ำหวานอัดเป็นแท่งราคา 1 สตางค์, บุหรี่ตรากลองซอง 3 สตางค์, บุหรี่ตรานกอินทรีซองละ 5 สตางค์, บุหรี่ตราจิ้งจก ตราแม็กนั่ม และการิคกระป๋องละ 50 สตางค์, บุหรี่สี่กัก (ทำที่สี่กักพระยาศรี) ห่อด้วยใบตอง ห่อหนึ่งมี 5 มวนและ 100 มวน ราคาไม่กี่สตางค์,

เหล้าตราขาวขวดละ 3.50 บาท, กางเกงแพรตัวละ 3.5 บาท, รองเท้าท็อปบู๊ทตัดวัดเท้าราคาคู่ละ 12 บาท, ที่ดินในสวนแถวบางลำพู (นอกกำแพงพระนคร) ประมาณ 10 ไร่ ราคา 8 ชั่ง, บ้านไม้สัก หลังใหญ่มากราคา 10 ชั่ง, โสเภณีที่ถนนบ้านแขก บางลำพู ครั้งละ 50 สตางค์ แถมบุหรีตรากลอง 1 ซอง

สำหรับผ้านุ่งผ้าห่มของผู้หญิงเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ 7 ได้ความว่ามีราคาดังนี้ ผ้าพื้นผืนละ 1 บาท, ผ้าลายมัสกาตีผืนละ 3 บาท ตรารามสูรผืนละ 4 บาท, ผ้าแถบ (จีบมัดปลาย) ผืนละสลึง

ส่วนเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คือก่อน พ.ศ. 2484 เสื้อผ้าของผู้หญิงมีราคาดังนี้ ผ้าป่านโรเบียดอกเมตรละ 3.50 บาท, ผ้าป่านอื่น ๆ เมตรละ 30 สตางค์ ผ้าดังกล่าวมีขายที่ร้านเมรัยและร้านการาจี, เสื้อคอแหลมตัวละ 50 สตางค์

ส่วนราคาข้าวของในปัจจุบัน [พ.ศ. 2521] มีดังนี้ ข้าวสารถังละ 100-130 บาท, ข้าวแกงหาบจานละ 5 บาท ถ้าข้าวแกงตามร้านอาหารจานละ 6-8 บาท, ข้าวหมูแดงจานละ 8 บาท, ก๋วยเตี๋ยวชามละ 5-6 บาท พิเศษชามละ 8-10 บาท, เกี๊ยวบะหมี่ชามละ 7-8 บาท, ไอศกรีมกะทิรถเข็นถ้วยละ 3 บาท,

เหล้าแม่โขงขวดกลม ขวดละ 60 บาท, โซดาขวดละ 3 บาท, น้ำอัดลมต่าง ๆ ขวดละ 3 บาท, บุหรี่กรองทิพย์ สามิต 14 และกรุงทอง 85 ซองละ 10 บาท, เสื้อเชิร์ต เสื้อฮาวายธรรมดาตัวละ 50-300 บาท, รองเท้าหนังธรรมดาคู่ละ 150-300 บาท…”

เหล่านี้เป็น ค่าครองชีพ ในอดีต ผ่านมาหลายสิบปี ค่าเงินอะไรต่าง ๆ ย่อมเฟ้อไปตามยุคสมัย คงนำมาเทียบกับปัจจุบันไม่ได้ แต่นั่นก็ทำให้เห็นสภาพการณ์ชีวิต “คนไทย” สมัยนั้นได้

หากเป็นครูขั้นต้นได้เดือนละ 4 บาท ข้าวแกงจานละ 1 สตางค์ สามารถซื้อได้ 400 จาน เทียบกับสมัยนี้ เงินเดือนครู 15,000 บาท ข้าวแกงจานละ 40-50 บาท ก็ลองเปรียบเทียบกันดู

แต่ใช่ว่าเงินเดือนครูจะอยู่ที่ 15,000 บาท เสียที่ไหน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2565