วันรัฐธรรมนูญ วันหยุดสำคัญยิ่งบนปฏิทินสยามยุคหนึ่ง ไม่ใช่แบบที่เห็นกันในวันนี้

ชาวพระนคร ออกมาฉลอง รัฐธรรมนูญฉบับแรก วันรัฐธรรมนูญ
ชาวพระนครออกมาฉลองรัฐธรรมนูญฉบับถาวรบนท้องถนน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 (ภาพจาก มูลนิธิ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และท่านผู้หญิงบุญหลง)

วันรัฐธรรมนูญ วันหยุดสำคัญยิ่งบนปฏิทินสยามยุคหนึ่ง ไม่ใช่แบบที่เห็นกันในวันนี้ เรื่องราวเป็นอย่างไร?

วันหยุดไม่ใช่แค่วันที่ไม่ต้องทำงาน หรือวันพักผ่อนของมนุษย์เงินเดือน หากที่จะชวนท่านอ่านกันในวันนี้คือ วันหยุดเมื่อวันวาน ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2560 นำเสนอบทความเกี่ยวกับ “วันหยุด” ที่สำคัญในอดีต

ดร. ภูริ ฟูวงศ์เจริญ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความน่าสนใจหนึ่งชื่อว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญ : มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร”

เราต่างรู้กันดีว่า วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม แต่ “วันรัฐธรรมนูญ” ที่ผู้เขียน (ดร. ภูริ ฟูวงศ์เจริญ) บอกเล่านั้นไม่ใช่แบบที่เราเห็นกันในวันนี้

หนังสือพิมพ์ในยุคนั้น เช่น อิสสระ, ประชาชาติ, Bangkok Times ฯลฯ ต่างรายงานข่าวให้เห็นว่าบรรยากาศการจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก ยิ่งใหญ่ และสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพียงใด

พ.ศ. 2476 งานฉลองวันรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่วันที่ 8-12 ธันวาคม ในกรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้า-สนามหลวง และจากท่าราชวรดิฐ-แยกสะพานมอญ, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทรงประกอบพิธีสมโภชรัฐธรรมนูญ และทรงร่วมทอดพระเนตรการออกร้าน, ทหารเรือนำเรือหลวงรัตนโกสินทร์มาจัดแสดง, ประชาชนสนใจมาร่วมงานจำนวนมาก เฉพาะที่พระราชอุทยานสราญรมย์มีผู้สนใจเข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 20,000 คน/วัน ฯลฯ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประทับรถลาก) ทอดพระเนตรร้านในงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2476 (ภาพจาก The Illustrated London News)

พ.ศ. 2477 งานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ขึ้นอีก ด้วยการแห่รัฐธรรมนูญไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 10 ธันวาคม และนำมาประดิษฐานบนเรือสุพรรณหงส์ นอกจากนี้ยังมีการประกวดนางงามที่เรียกว่า “นางสาวสยาม” ขึ้นเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2478 คณะรัฐมนตรีออกคำสั่งเพิ่มวันหยุดราชการในวันรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่ให้หยุด 1 วัน (10 ธันวาคม) เป็น 3 วัน คือวันที่ 9-11 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญเพิ่มวันงานราชการ และส่งหนังสือ “สั่งการ” ไปยังจังหวัดต่างๆ ที่ขอเลื่อนจัดงานวันอื่นแทน เพราะความไม่สะดวกต่างๆ ว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ระลึกอันสำคัญของชาติ ทุกจังหวัดจะต้องทำใน [วันที่ 10 ธันวาคม] โดยพร้อมเพรียงกัน”

พ.ศ. 2481 คณะรัฐมนตรีสั่งให้ข้าราชการแต่งชุดปกติขาวพร้อมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในงานพิธีฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ หลังจากนั้นอีก 1-2 ปี ทางการก็เริ่มควบคุมการแต่งกายของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ ว่า “ต้องแต่งกายสุภาพตามประเพณีนิยม”

การประกวดนางงามเนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่จังหวัดหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2480 ด้านหลังจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับจำลองกลางปะรำพิธี (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พ.ศ. 2482 งานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ ขยายพื้นที่จัดงานออกครอบคลุมสวนอัมพร สนามเสือป่า และสวนลุมพินี นอกจากนี้ยังเพิ่มเวลาจัดงานจาก 5 วัน เป็น 1 สัปดาห์ (8-14 ธันวาคม)

นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2477 การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญก็เพิ่มเป็น 2 งานด้วยกัน คือ 10 ธันวาคม ฉลองการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และวันที่ 27 มิถุนายน รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาตที่สวนมิสกวันในโอกาส “วันคล้ายวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก” รวมทั้งประกาศให้เป็นวันหยุดราชการเช่นกัน

วันหยุดจึงไม่ใช่แค่วันที่ไม่ต้องทำงาน และ “วันรัฐธรรมนูญ” ก็เคยเป็นวันหยุดที่สำคัญยิ่งบนปฏิทินสยามยุคหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2564