ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | ปรามินทร์ เครือทอง |
เผยแพร่ |
การบ้านการเมืองสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้จะเต็มไปด้วยการทำรัฐประหารแย่งชิงพระราชบัลลังก์ หลายต่อหลายครั้งเป็นไปอย่าง “รุนแรง” หลายครั้งมีการ “ฆ่า” โดยไร้ความปรานี แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงนั้น การกล่าวร้ายพระมหากษัตริย์ผู้พ่ายแพ้ต่อวิถีทางการเมือง ก็ไม่เคยชัดเจนและต่อเนื่องเสมอด้วยการแทรกแซงชำระประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงเทพฯ ที่มีต่อพระเจ้าตาก ดังจะเห็นได้ว่าเรื่องราว “กลียุค” ตอนปลายกรุงธนบุรี จึงถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ประโยชน์บางประการในช่วงศตวรรษแรกของกรุงรัตนโกสินทร์อย่างไม่ขาดสาย
หลังสิ้นกรุงธนบุรี พระราชวงศ์จักรีโดยพระปฐมบรมกษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงวางรากฐานพระราชวงศ์เป็นที่มั่นคง มีการสืบสายพระราชวงศ์อย่างต่อเนื่องยาวนานและเรียบร้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมิได้ถูกแทรกแซงจากสายสกุลอื่น แม้จะมีอาการ “ขลุกขลัก” บ้างในบางรัชกาล แต่ก็เป็นเพียงข้อขัดข้อง “ภายใน” ที่มีทางออกอย่างสันติเสมอ
ความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ถูกสะท้อนออกมาให้เห็นในภาพต่างๆ เพื่อสนับสนุน “พระเดชดุจร่มฟ้า เย็นดิน” [1] ซึ่งก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองหลายด้าน ทั้งความโอ่อ่าของพระนคร การค้าการขาย แม้การศึกสงครามก็ลดน้อยถอยลงจนเกือบสิ้นไปในเวลาเพียงกึ่งศตวรรษของกรุงเทพฯ ความสงบสุขของราษฎรกลับเป็นดั่งเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี
ภายใต้ความสงบมั่นคงทั้งหลายทั้งปวงนั้น กลับมีสิ่งหนึ่งที่สะท้อนความ “อ่อนไหว” ให้ราชอาณาจักรใหม่ออกมาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่ทั้งการเมืองภายในและการศึกภายนอก หากแต่เป็นเรื่องของจุดเริ่มต้นแห่งการกำเนิดราชอาณาจักรแห่งใหม่นั้นเอง
ไม่น่าเชื่อว่าราชอาณาจักรที่เข้มแข็งอย่างกรุงเทพฯ ไม่อาจหนีการหลอกหลอนเหตุการณ์เมื่อครั้ง “กลียุค” ในแผ่นดินพระเจ้าตากได้ แม้ว่าการกำราบปราบปรามจะเป็นไปโดยสำเร็จสมบูรณ์ แต่ทุกรัชสมัยในช่วงศตวรรษแรกก็ไม่สามารถก้าวข้ามสิ่งนี้ไปได้โดยไม่อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการ “ชิงราชบัลลังก์” กับการ “ปราบยุคเข็ญ”
ดังจะเห็นได้ว่าเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ปลายกรุงธนบุรี จนถึงการทำรัฐประหารของเจ้าพระยาจักรี ไม่ว่าจะทำขึ้นในสมัยใด ล้วนมีเป้าประสงค์ในการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการ “ชิงราชบัลลังก์” กับการ “ปราบยุคเข็ญ” อย่างตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหตุการณ์นี้จำเป็นต้องอธิบายขยายวงขึ้น จนกระทั่งสู่ระดับโลก ในเวลาที่สยามประเทศต้องติดต่อกับชาติตะวันตก หรือการเข้าสู่ยุค “สยามใหม่” ในสมัยรัชกาลที่ 4
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่ปัญหาอื่นใด นอกเสียจากว่า การขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของเจ้าพระยาจักรีนั้น เป็นวิธีการที่เกิดขึ้นอย่าง “ผิดปรกติ” นั่นเอง
พระเจ้าตากในแผ่นดินกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่พระมหากษัตริย์ที่ถูกทำให้ลืมเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ถูกปลุกขึ้นมาให้ท่องจำอย่างขึ้นใจด้วยเนื้อความในเอกสารต่างๆ ที่ชี้ความเป็นปฏิปักษ์และอันตรายต่อราษฎร
เอกสารลำดับแรกๆ ที่ทำขึ้นในช่วงต้นกรุงเทพฯ เช่น สังคีติยวงศ์ แต่งขึ้นโดยสมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพน เมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม เมื่อพุทธศักราช 2332 หรือ 7 ปี หลังสถาปนาพระราชวงศ์จักรี มีวัตถุประสงค์ชัดเจน “เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” [2] แต่การเฉลิมพระเกียรตินั้นย่อมหนีไม่พ้นที่จะกล่าวถึงพระเจ้าตากในเหตุการณ์เมื่อปลายกรุงธนบุรี ว่า “ได้เสวยราชย์อยู่พระนครธนปุร ในแว่นแคว้นกรุงอโยธยนคร 14 ปีเศษ ได้ทรงทำกรรมต่างๆ มีนวทาเปนต้น (หรือนวทาน) แล้วมีจิตรฟุ้งซ่านวิปริตต่างๆ มหาชนพากันโกรธฆ่าเสีย ได้ทำกาลกิริยาทั้งบุตรแลนัดดาทั้งหลาย” [3]
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2338 ก็มีการชำระ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งได้กล่าวถึง “พระเจ้าแผ่นดินเสียพระจริตฟั่นเฟือน” [4] จนทำให้ราษฎรเดือดร้อนแสนสาหัส
ในรัชกาลที่ 2 นอกจากเหตุ “กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” อันเป็นคดีใหญ่โตที่สุดที่เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าตากหลังสิ้นกรุงธนบุรี ยังมีเอกสาร เช่น เทศนาจุลยุทธการวงศ์ ที่มีเนื้อความกล่าวถึงตอนสิ้นรัชกาลพระเจ้าตากว่า
“เสวยราชมไหสวรรย์อยู่ประมาณ 14 ปีเศษ แลกระทำอกุศลกรรมต่างๆ ภายหลังมีจิตฟุ้งซ่านถึงซึ่งสัญญาวิปลาส ประพฤติพิปริตธรรมกรรมอันเดือดร้อน แก่สมณพราหมณาประชาราษฎรทั้งปวงอันชนทั้งหลายมีความโกรธ ชวนกันคิดกำจัดเสียจากราชสมบัติ แล้วพิฆาตฆ่าเสียกับทั้งบุตรนัดดาวงศานุวงศ์ทั้งสิ้น” [5]
เอกสารฉบับนี้น่าจะเป็นลำดับแรกที่นิยามพระอาการของพระเจ้าตากด้วยคำว่า “สัญญาวิปลาส” ก่อนที่ “อารมณ์” เดียวกันนี้จะไปปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ในรัชกาลที่ 4
ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 มีเอกสารสำคัญเล่มหนึ่งคือ จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ที่แม้มิได้กล่าวถึงพระอาการสัญญาวิปลาสแต่ก็กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อปลายแผ่นดินว่า “เมื่อต้นแผ่นดินเย็น ด้วยพระบารมีชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแก่น ปลายแผ่นดินแสนร้อนรุมสุมรากโคน โค่นล้มถมแผ่นดิน ด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น” [6]
อย่างไรก็ดีอาจนับได้ว่าเรื่องพระเจ้าตาก “ในเอกสาร” ค่อยๆ ซาลงตามลำดับ เมื่อผลัดแผ่นดินแล้ว 3 รัชกาล ในรัชกาลที่ 1 นั้นต้องยอมรับว่าเพิ่งผ่านเหตุรัฐประหารมา สถานการณ์ยังคงไม่แน่นอน เรื่องราวซุบซิบหรือความรู้สึกของผู้คนยังมิได้จางหายไปโดยฉับพลัน เช่นกรณีนางในร่ำไห้ในงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระเจ้าตากเพราะ “คิดถึง” [7] จึงถูกลงพระราชอาญาจาก “พระเจ้าแผ่นดินทั้งสอง” สั่งโบยกันถ้วนทั่ว
ในรัชกาลที่ 2 นอกจากคดี “กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” แล้วยังมีคดีใหญ่คือการสำเร็จโทษลูกพระเจ้าตากอีก 1 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าทัศไภยหรือพระอินทรอภัยในแผ่นดินที่ 2
ส่วนในรัชกาลที่ 3 นั้นไม่ปรากฏ “คดีใหญ่” เกี่ยวกับลูกหลานพระเจ้าตากอีก แม้จะมี “ลูกเจ้าตาก” รับราชการอยู่ถึงชั้นพระยา เช่น เจ้าฟ้าชายศิลาเป็นที่พระยาประชาชีพ พระองค์เจ้าชายละมั่ง เป็นที่พระยาสมบัติกาล และเจ้าฟ้านเรนทรราชกุมารเป็นพระนเรนทรราชา แม่ทัพหลังในศึกเจ้าอนุวงศ์ กรุงเวียงจันทน์
สามารถกล่าวได้ว่า “เอกสาร” ที่กล่าวโทษพระเจ้าตากตลอด 3 รัชกาลนี้ มีเพียง พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่มีอิทธิพลชี้นำต่อแนวคิดในเรื่องนี้มากที่สุด ซึ่งเป็นเอกสารที่ “ชำระ” ในสมัยรัชกาลที่ 1
เรื่องราวของพระเจ้าตากอาจจางหายลงตามลำดับเวลาก็จริง แต่เมื่อเข้าสู่รัชกาลที่ 4 ดูเหมือนว่า บทอวสานพระเจ้าตาก จะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อีกครั้งเพื่อผลทางการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองในประเทศ
คำอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการ “ชิงราชบัลลังก์” กับการ “ปราบยุคเข็ญ” กลับมาจำเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสยามประเทศเริ่มคบค้ากับฝรั่ง และการเข้าสู่ยุคแห่ง “การพิมพ์” แนวความคิดในเรื่องกลียุคกรุงธนบุรีได้กลับมา “เป็นประเด็น” อีกครั้ง และกลายเป็นเรื่องที่ถูกยกมาถึงทุกครั้งเมื่อต้องกล่าวความถึงพระเจ้าตาก
พระราชนิพนธ์ฉบับหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรง “ให้การ” เรื่องราวตอนนี้ให้กับฝรั่งในชื่อเรื่องว่า พงศาวดารสยามอย่างย่อ (Brief History of Siam) พระราชนิพนธ์ฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร The Chinese Repository ฉบับเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2394 หรือประมาณ 3 เดือนหลังทรงขึ้นครองราชย์ พระราชนิพนธ์ฉบับนี้มีความเกี่ยวกับพระเจ้าตากตอนหนึ่งว่า
“พวกข้าราชการหลายคนจากครั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่เต็มใจที่จะเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระเจ้าตาก พวกเขาทั้งหมดมีใจโอนเอียงไปข้างแม่ทัพผู้พี่ และยิ่งกว่านั้นพวกเขาซึ่งมีใจอคติต่อพระเจ้าตากในเรื่องที่ว่าทรงมีเชื้อสายจีน ได้พากันมองว่าท่านแม่ทัพผู้พี่ควรมีฐานันดรศักดิ์สูงกว่าพระองค์เสียอีก พวกผู้ดีเก่าเหล่านี้ได้ชุมนุมกันเป็นข้ารับใช้ในเรือนส่วนตัวของท่านแม่ทัพโดยมิให้ผิดสังเกต หรือแม้กระทั่งเป็นที่ล่วงรู้ถึงพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัว” [8]
พระราชนิพนธ์ตอนนี้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อสาย ระหว่าง “ลูกเจ๊ก” กับ “ผู้ดีเก่า” ซึ่งมีผลต่อการยอมรับของข้าราชการในรัชกาลพระเจ้าตาก ต่อมาพระราชนิพนธ์ฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ซ้ำอีกในหนังสือ The Kingdom and People of Siam ของ เซอร์จอห์น เบาว์ริง พร้อมกับพระราชหัตถเลขาอธิบายความเกี่ยวกับพงศาวดารสยามอีกฉบับหนึ่ง โดยมีพระราชาธิบายเกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของพระราชวงศ์ของพระองค์ดังนี้
“พระองค์เกิดพระสติฟั่นเฟือนหรือทรงพระพิโรธ ตรัสว่าทรงเป็นพระพุทธเจ้า ฯลฯ แล้วสั่งประหารผู้บริสุทธิ์ไปมากกว่า 10,000 คน และบีบบังคับขู่เข็ญเอาเงินเข้าพระคลังหลวง โดยที่มิได้เป็นค่าภาษีหรือเหตุผลที่ชอบธรรมใดๆ ดังนั้น จึงเกิดการกบฏลุกลามขนานใหญ่ขึ้น จับเอาพระเจ้าแผ่นดินที่เสียพระจริตเอาไว้ แล้วส่งคณะไปยังกัมพูชาเพื่ออัญเชิญพระเจ้าแผ่นดินทั้งสอง คือ เจ้าแห่งสงครามกับกษัตริย์สยามตอนเหนือ กลับมาครองราชย์บัลลังก์ประเทศสยามทั้งหมดกับทั้งเมืองขึ้นทั้งปวง” [9]
พระราชนิพนธ์บทนี้ทรงอธิบายให้ “ฝรั่ง” เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าจุดเริ่มต้นของพระราชวงศ์นั้นเป็นความชอบธรรมในการ “ปราบยุคเข็ญ” ของเจ้าพระยาจักรีมากกว่าการ “ชิงราชบัลลังก์” และการได้มาซึ่งราชสมบัติก็เนื่องมาจากพระเจ้าตากนั้นทรงหมดความชอบธรรมแล้ว แม้จะมีปัญหาเรื่องข้อเท็จจริงบางประการ เช่นจำนวนผู้ถูกสังหารมากกว่า 10,000 คนนั้น ไม่ปรากฏในเอกสารใดของฝ่ายสยาม แต่ “ฝรั่ง” ก็ไม่สนใจที่จะสอบสวนข้อเท็จจริงใดๆ แม้หนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2400 ห่างจากเหตุการณ์จริงไม่ถึง 80 ปีก็ตาม…
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไมเจ้าจอมมารดาน้อย หม่อมเชื้อสายพระเจ้าตากห้าวจนร.4ทรงเกือบสั่งยิง-ตัดหัวตามพ่อ
- การสร้างพระราชประวัติ “พระเจ้าตาก” ที่ปฏิเสธเอกสารทางประวัติศาสตร์
- กลร้องเรียนทางการเมืองยุคโบราณ สงครามบัตรสนเท่ห์ปริศนา สู่คดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น
- เขา (กล่าวหา?) ว่า “พระเจ้าตากสิน” เป็นบ้า! เปิดบันทึก-หลักฐานว่า “บ้า” อย่างไร?
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นผู้ดีกรุงเก่า ลูกเจ้า-โอรสลับ หรือลูกจีนกันแน่?
เชิงอรรถ :
[1] พระยาไชยวิชิต (เผือก). ยอพระเกียรติ 3 รัชกาล. พิมพ์ในงานศพพระนิเวศน์วิสุทธิ. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทย, 2458), น. 2.
[2] สมเด็จพระวันรัตน. สังคีติยวงศ์ พงศาวดาร เรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์. (กรุงเทพฯ : ศิวพร, 2521), น. (ค).
[3] เรื่องเดียวกัน, น. 423.
[4] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65. (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)). พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. (กรุงเทพฯ : ชัยวิโรจน์การพิมพ์, 2535), น. 67.
[5] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 66. (จดหมายเหตุรายวันทัพคราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมรสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2314). พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาตรี หลวงจักรวิธานสันทัด (กมล อากาศวิภาต), (พระนคร : โรงพิมพ์สุคธิสารการพิมพ์, 2503), น. 118.
[6] กรมหลวงนรินทรเทวี. จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129-1182. พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2546), น. 15.
[7] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับตัวเขียน. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2539), น. 49.
[8] วินัย พงศ์ศรีเพียร. ความยอกย้อนของอดีต : พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติ พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี. (กรุงเทพฯ : ม.ป.ท., 2537), น. 102.
[9] เซอร์ จอห์น เบาว์ริง. ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547), น. 90.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระเจ้าตากกับพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพฯ ตอนต้น” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2551
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2564