รู้จัก “ตรัสน้อย” พระราชโอรส “พระเพทราชา” ที่ไม่ได้ปรากฏใน “พรหมลิขิต”

พระเพทราชา
พระเพทราชา (วัย 56 ปี) ตามจินตนาการของจิตรกร (ม. วรพินิต) บนฐานของภาพจิตรกรรม วัดยม อยุธยา

“ตรัสน้อย” พระนามปริศนา เจ้าฟ้าอัจฉริยะแห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชโอรส “พระเพทราชา” ผู้รู้ภาษาต่างประเทศถึง 8 ภาษา

300 กว่าปีก่อน มีเจ้าฟ้าองค์หนึ่งเรียนรู้ภาษาต่างประเทศถึง 8 ภาษา ทั้งแขก-ฝรั่ง-เขมร-ลาว-ญวน-พม่า-มอญ และจีน ไม่เชื่อก็ไปเปิดพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ. 2516 หน้า 174, 150, 218 ดู

เป็นเรื่องของพระราชโอรสของ พระเพทราชา ที่มีชื่อแปลกๆ ไม่ทราบว่าเป็นชื่อจริง หรือชื่อเล่น คือ ตรัสน้อย ซึ่งหนังสือไม่ยอมใส่คำว่าเจ้าฟ้าหรืออะไรนำหน้าให้แจ้งๆ (มีแต่คำว่าพระราชบุตร)

ตรัสน้อยนี้ แม่ชื่อ “กรมหลวงโยธาเทพ” – ขออภัยต้องขอกล่าวอย่างชาวบ้าน ไม่เช่นนั้นจะสับสนปวดหัวมาก (อ่านอยู่หลายวัน กว่าจะสรุปออกมาได้)

กรมหลวงโยธาเทพ เป็นลูกสาว สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งครองราชย์มาก่อน “พระเพทราชา” หลังจากสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตแล้ว กรมหลวงโยธาเทพก็ออกจากพระราชวังไปตั้งพระตำหนักที่ข้างวัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา

ตรัสน้อย เกิดเมื่อ พ.ศ. 2231 เป็นคนมีลักษณะดี แต่ทำไมพระญาติวงศ์ถวายพระนามว่า ตรัสน้อยหนังสือไม่ขยายความ

บอกแต่ว่า พระเพทราชาหรือพระราชบิดาเรียกว่า สำมยังไม่รู้หมายถึงอะไร!

พ.ศ. 2240 เมื่อตรัสน้อยอายุ 9 ขวบ พระเพทราชา เสด็จสวรรคต พระเจ้าเสือ (เดิมชื่อมะเดื่อ-คนที่ชกวิชาเยนทร์จนฟันหัก) ขึ้นครองราชย์ต่อ

อายุได้ 13 ปี พ.ศ. 2244 (ปีมะโรง โทศก) แม่จัดการโสกันต์หรือโกนจุกให้ตรัสน้อย

วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา บริเวณที่ตรัสน้อยเคยอยู่ เอนก นาวิกมูล ถ่าย BW-0019-010-ส6กค2517

จากนั้นตรัสน้อยก็ไปบวชเณรในสำนักพระพุทธโฆษาจารย์ (วัดพุทไธสวรรย์?) พระราชพงศาวดารว่า

ตรัสน้อยนั้นทรงพระสติปัญญาเป็นอันมาก ประพฤติพรหมจรรย์อันดี และทรงเรียนพระปริยัติไตรปิฎกธรรม และคัมภีร์ เลขยันต์ มนต์คาถา สรรพวิทยาคุณต่างๆ ในสำนักพระพุทธโฆษาจารย์นั้นเป็นอันมาก

บวชเณรอยู่ 5 ปี พออายุได้ 18 ปี กำลังหนุ่มแน่นก็สึกออกเรียนวิชาทั้งปวง

ตรงนี้เป็นตอนสำคัญ จะเขียนเองก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าลอกต้นฉบับมาแสดง เดี๋ยวจะหาว่าฝอยเกินความ พระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่าดังนี้

ออกเที่ยวทรงเรียนศิลปศาสตร์ช้าง ม้า สรรพยุทธชิงชัยทั้งปวงได้เป็นอันมาก แล้วทรงเรียนซึ่งอักษรแขก ฝรั่ง และอักษรเขมร ลาว ญวน พม่า รามัญ และจีน ทุกภาษาต่างๆ แล้วทรงเรียนซึ่งคัมภีร์ราชศาสตร์ โหราศาสตร์ และคัมภีร์แพทย์ กอรปด้วยอาจารย์เป็นอันมาก….

เห็นไหมว่า ตรัสน้อย ทรงเป็นนักปราชญ์ รู้ภาษาถึง 8 ภาษา ไม่นับภาษาไทย น่าทึ่งหรือไม่!!

ตรัสน้อยทรงมีความชำนิชำนาญในสรรพวิชาดุจหนึ่งทรงทราบในคัมภีร์ไตรเพทางคศาสตร์… (ดูพจนานุกรมคำว่า ไตรเพท และถามอาจารย์วรรณคดีไทย ถ้าอาจารย์ตอบไม่ได้ให้ไปถามคนทรง กำลังฮิตคนทรง 4.0 อยู่ด้วย !)

พอถึงเวลาบวช ก็ทรงออกบวชเป็นพระ

จากนั้นพงศาวดารก็ไม่ได้กล่าวถึงตรัสน้อยอีกเลย พลิกกี่หน้าๆ ก็ไม่เจอเรื่องตรัสน้อย

ได้แต่รู้สึกเสียดายว่าทราบประวัติไม่จบ และเสียดายความรู้ที่ตรัสน้อยเรียนมา ไม่รู้ว่าได้ใช้วิชาทำอะไรบ้าง

เรื่องของคนเก่งๆ ที่สาบสูญไปกับกาลเวลาเพราะขาดบันทึกน่าจะมีอีกมาก

ใครที่รู้ว่าปู่ย่าตายายของตัวเองเก่งอย่างไร เอาวิชามาช่วยบ้านเมืองอย่างไร ควรรีบเร่งเขียนไว้ จะได้ไม่ค้างคาใจอย่างเรื่องตรัสน้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2561