ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กลร้องเรียนทางการเมืองยุคโบราณ สงครามบัตรสนเท่ห์ปริศนา สู่คดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น
คดี “กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นอีกหนึ่งคดีความที่พบว่ามีความซับซ้อน และถูกวิเคราะห์ไปอย่างหลากหลาย แต่ในด้านหนึ่ง คดีนี้ก็ถูกมองว่าเป็นจุดตั้งต้นของ “สงครามบัตรสนเท่ห์” ในสมัยรัชกาลที่ 2 อันเป็นผลให้เกิดคดีต่าง ๆ มากมาย สืบเนื่องจากการวาง “บัตรสนเท่ห์”
เจ้าฟ้าเหม็น หรือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กับเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ ซึ่งเป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) บุญเตือน ศรีวรพจน์ บรรยายว่า เจ้าฟ้าเหม็นเป็นพระราชนัดดา “องค์โปรด” ของรัชกาลที่ 1 เห็นได้จากการสถาปนาเป็น “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุน” เมื่อพุทธศักราช 2350 และโปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระนามลงในพระสุพรรณบัฏโดยใช้แผ่นทองคำที่มีน้ำหนักมากกว่าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอองค์อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ในพ.ศ. 2352 เจ้าฟ้าเหม็นถูกตัดสินลงพระอาญาสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ด้วยคดีกบฏ ขณะพระชันษา 30 ปี โดยการตัดสินของพระองค์เจ้าชายทับ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3)
คดี “กบฏเจ้าฟ้าเหม็น”
คดีนี้เป็นที่ทราบกันว่ามีต้นเหตุจาก “กาคาบข่าว” อันเป็นเหตุการณ์ที่มีอีกาแสนรู้คาบ “บัตรสนเท่ห์” ไปทิ้งที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ที่ไว้พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ) เนื้อหากล่าวโทษเจ้าฟ้าเหม็นกับพวกคิดกบฏแย่งชิงราชบัลลังก์ รายละเอียดคดีนี้มีปรากฏในหลักฐานหลายแห่ง รวมถึงจดหมายเหตุรัชกาลที่ 2 เรื่อง “กาคาบฟ้องเรื่องหม่อมเหม็นกับพวกเป็นกบฏ”
ปรามินทร์ เครือทอง ผู้เขียนหนังสือ “กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” บรรยายลักษณะคดีจากการอธิบายของจดหมายเหตุว่า จากเนื้อหานั้นดูเหมือนสื่อสารว่า “เจ้าฟ้าเหม็น” เป็นต้นคิดกระทำการต่อแผ่นดิน โดยการอ้างว่าเป็น “บุตรเจ้ากรุงธนบุรี” ร่วมมือกับพี่น้องร่วมบิดาอีก 2 คน คือนายหนูดำ และเจ้าจอมมารดาสำลี คบคิดกันโค่นราชบัลลังก์
อย่างไรก็ตาม สำนวนการสอบสวนของพระองค์เจ้าชายทับ ชี้มูลความผิดสำหรับผู้เป็นต้นคิดคือพระอินทรเดช (กระต่าย) แล้วไปยุยงชักชวน (เสี้ยม) เจ้าฟ้าเหม็นให้เข้าพวก ซึ่ง “เจ้าฟ้าเหม็น” เป็นผู้รับคำเชิญ ซึ่งสำนวนนี้สอดคล้องกับพระราชสาส์นแจ้งเรื่อง กบฏเจ้าฟ้าเหม็น ไปยังเจ้าประเทศราชอันมีเนื้อหาเล่าว่าพระอินทรเดชคือต้นคิด แต่ศุภอักษรนี้ระบุวันเกิดเหตุกาคาบข่าวว่าคือแรม 11 ค่ำ เดือน 9 ขณะที่วันเกิดเหตุจริงตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 10
ส่วนมูลเหตุของการกบฏนั้น เอกสารชี้ว่าเพราะข้าราชการส่วนหนึ่ง “น้อยใจ” โดยรู้สึกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ไม่เมตตาเหมือนก่อน
ในศุภอักษร เรื่องหม่อมเหม็นกับพวกเป็นกบฏ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงพยานหลักฐานที่ “มัดตัว” เจ้าฟ้าเหม็น อันเป็นคำให้การของ “อ้ายเมืองสารวัด” ซึ่งเป็นผู้ที่พระอินทรเดชไปบอกเรื่องกบฏ หรือกล่าวได้ว่าเป็นผู้ฟังความมา โดยศุภอักษรฯ บรรยายว่า
“ในหนังสือนั้นเปนใจความ อ้ายกระต่ายอินทรเดชะพูดกับอ้ายเมืองสารวัดว่า ล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ มีบุญแล้วไม่ทรงพระเมตตาเหมือนก่น ถึงจะเปนเจ้าแผ่นดินก็หายอมเป็นข้าไม่”
อย่างไรก็ตาม ใจความในจดหมายเหตุ กาคาบฟ้อง เรื่องหม่อมเหม็นกับพวกเป็นกบฏ มีใจความรวบรัด ว่า “พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต ซึ่งเป็นกรมขุนกระษัตรานุชิตเป็นบุตรเจ้ากรุงธนบุรี กับพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันอีกสองคนคือนายหนูดำคนหนึ่ง จอมมารดาสำลีในพระบัณฑูรน้อยหนึ่ง คบคิดกับขุนนางเป็นหลายคน จะแย่งชิงเอาสมบัติ”
ศุภอักษรฯ บรรยายการสอบสวนว่า คำให้การของอ้ายเมืองถึงหม่อมเหม็นยังเลื่อนลอย จึงนำเอาผู้ต้องหาทั้งหมดมาสอบสวน ผู้ต้องหาให้การตรงกันหลายปาก จึงทำให้มีน้ำหนักเรื่องความผิดของเจ้าฟ้าเหม็น เมื่อสอบสวนเจ้าฟ้าเหม็น ในที่สุดก็ทรงรับสารภาพ
สงครามบัตรสนเท่ห์
แม้จะมีข้อสังเกตุ และข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับน้ำหนักของความเป็นเหตุเป็นผลในการคิดก่อการของเจ้าฟ้าเหม็นอยู่ แต่ผลของคดีนี้ที่สืบเนื่องมานั้นกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สงครามบัตรสนเท่ห์” ซึ่งปรามินทร์ เครือทอง บรรยายว่า ทำให้เกิดคดีมากมายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา โดยที่ บัตรสนเท่ห์ (ที่มีทั้งรูปแบบคำกลอนหรือคำฟ้อง) ก็ทำให้มีผู้ที่ถูกประหารไปไม่น้อย หรือได้รับผลกระทบจนเสียชีวิตในช่วงนั้นก็มี
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 เรื่อง เกิดเหตุเรื่องบัตรสนเท่ห์ บรรยายว่า
“การทิ้งหนังสือ หรือที่เรียกตามภาษาเก่าว่าทอดบัตรสนเท่ห์ ถือกันมาว่าเปนความผิดอย่างร้ายแรงฐานมหันตโทษแต่โบราณ ดังปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารเก่า ว่าเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มีคนทิ้งบัตรสนเท่ห์ เปนเหตุให้ฆ่าขุนนางเสียมาก คติถือโทษการทิ้งบัตรสนเท่ห์ว่าเปนความผิดอย่างร้ายแรง ยังมีตลอดมาจนกรุงรัตนโกสินทรในครั้งนั้น”
เหตุการณ์หนึ่งคือ กรณีสืบเนื่องจากการฟ้องเมื่อ พ.ศ. 2359 คดีที่มีผู้ฟ้องพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ, พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลาง, พระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุกรุงเก่า ประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติข้อสำคัญ “ต้องเมถุนปาราชิกมาช้านาน จนถึงมีบุตรหลายคน”
พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 เรื่องพระราชาคณะต้องอธิกรณ์ อธิบายการสอบสวนว่า
“…โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ กับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ทรงพิจารณา ได้ความเปนสัตย์สมดังฟ้อง จึงมีรับสั่งเอาตัวผู้ผิดไปจำไว้ณคุก
ที่เกิดเหตุปรากฎว่าพระราชาคณะเปนปาราชิกหลายรูปคราวนั้นเห็นจะทรงพระวิตกถึงการฝ่ายพระพุทธจักรมาก ปรากฎว่าได้ทรงเผดียงสมเด็จพระสังฆราช (มี) แลสมเด็จพระพนรัตน์ (อาจ) วัดสระเกษ ให้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนี แสดงข้อวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่สมณะมณฑลคัดแจกทั่วไปตามพระอาราม เปนทำนองสังฆาณัติ แลการชำระความปาราชิกก็สืบสวนกวดขันขึ้นแต่ครั้งนั้นมาจนรัชกาลที่ 2 แลต่อมาในรัชกาลที่ 3 ด้วย”
ภายหลังต่อมามีผู้พบเห็นกระดาษสนเท่ห์เขียนโคลงด่ากรมหมื่นรักษ์รณเรศ และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์อย่างรุนแรง ใจความว่า
ไกรสรพระเสด็จได้ สึกชี
กรมเจษฎาบดี เร่งไม้
พิเรนทรแม่นอเวจี ไป่คลาศ
อาจพลิกแผ่นดินได้ แม่นแม้นเมืองทมิฬ
เมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงทราบเรื่อง จึงโปรดให้หาตัวผู้กระทำ สืบสวนมาลงเอยที่การสรุปว่าเป็นฝีมือ “พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร” ศิษย์ของพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี)และมีรับสั่งให้คุมขังไว้ สุดท้าย กรมหมื่นศรีสุเรนทร ประชวรและสิ้นพระชนม์ในคุก
พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 2 บรรยายว่า
“ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ผู้ที่แต่งโคลงบังอาจว่ากล่าวหยาบช้าตลอดจนถึงแผ่นดิน จึงโปรดให้สืบเอาตัวผู้ทิ้ง
ได้ความว่าเปนโคลงของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร เหตุด้วยกรมหมื่นศรีสุเรนทรเปนศิษย์พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) ประการ 1 กรมหมื่นศรีสุเรนทรเปนจินตกวี ประการ 1 กับอิกประการ 1 คำว่า “ไป่” ใช้แทน “ไม่” ซึ่งปรากฎในโคลงบัตรสนเท่ห์นี้ กรมหมื่นศรีสุเรนทรมักทรงใช้ ได้หลักฐานดังกล่าวมานี้ จึงมีรับสั่งให้เอากรมหมื่นศรีสุเรนทรมาขังไว้
เผอิญกรมหมื่นศรีสุเรนทรมาประชวรสิ้นพระชนม์ในระหว่างที่ต้องขังอยู่นั้น จึงไม่ได้ตัดสินลงโทษอย่างใด”
อ่านเพิ่มเติม :
- 13 กันยายน 2352 วันสิ้นพระชนม์ “เจ้าฟ้าเหม็น” โอรสพระเจ้าตาก
- เจ้านายผู้เป็น “ลูกกษัตริย์-หลานกษัตริย์” กลับมีพระนามอัปมงคล
- เพลงยาว “อนุสรณ์สถาน” เจ้าฟ้าเหม็น ปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
บุญเตือน ศรีวรพจน์. “เพลงยาว “อนุสรณ์สถาน” เจ้าฟ้าเหม็น”. ศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2548
ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน, 2555
พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2. พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ; ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปีมโรงอัฐศก พ.ศ. 2459; พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณสพานยศเส. ออนไลน์. <https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_28991>
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 5 เมษายน 2562