ลิบอง ขุนศึกแห่งสามก๊กผู้ชนะศึกโดยไม่ต้องรบ

จิตรกรรมฝาผนัง สามก๊ก วิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศ
การสู้รบระหว่างก๊กต่างๆ ใน สามก๊ก (ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก ในวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร ภาพจากศิลปกรรรม วัดบวรนิเวศวิหาร, 2528)

ลิบอง (ค.ศ. 178-219) ชื่อตามภาษาจีนกลางว่า “หลี่ว์เหมิง” เกิดที่ฟูโพ เมืองยีหลำแห่งอิจิ๋ว เมื่อเยาว์วัยเดินทางลงใต้สู่กังตั๋งไปอาศัยกับพี่เขยนามว่าเติ้งตั้ง ซึ่งเป็นลูกน้องของซุนเซ็ก ภายหลังลิบองคือแม่ทัพผู้ลือชื่อแห่งง่อก๊กในยุคถัดจากจิวยี่และโลซก สร้างผลงานในสงครามหลายครั้งหลายคราตั้งแต่วัยหนุ่ม จนซุนกวนแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ

ลิบอง นิสัยห้าวหาญดุดัน ไม่ชอบอ่านตำรา ซุนกวนเคยแนะนำลิบองและเจียมขิมว่าอยู่ในตำแหน่งสูง ควรทุ่มเทศึกษาความรู้ และแสวงหาความก้าวหน้าให้มากกว่านี้ เพื่อวันใดข้างหน้าจะได้รับตำแหน่งใหญ่โตขึ้น แต่ลิบองตอบว่า งานด้านการทหารยุ่งเหลือเกินแล้ว ไม่มีเวลาศึกษาตำรา ซุนกวนจึงอบรมลิบองอย่างไม่เกรงใจว่า

“เจ้าจะยุ่งไปกว่าข้าเชียวหรือ ข้ามิได้ให้เจ้าตรากตรำศึกษาตำราโบราณ เพื่อเป็นมหาปราชญ์เสียหน่อย! ข้าอ่านทั้งซื้อซูหลีจี้ จิ๋วจ้วน กั๋วอวี่มาตั้งแต่เล็ก ไม่อ่านก็เพียงแต่อี้จิง เมื่อรู้ความก็ศึกษาทั้งสามตำราประวัติศาสตร์ (หมายถึงสื่อจี้ ฮันซู และตงกวนฮั่น) และพิชัยสงครามของบรรดาปราชญ์จนแตกฉาน ข้าเห็นว่ามีประโยชน์ยิ่งนัก

พวกเจ้าทั้งสองมีสติปัญญาชาญฉลาดอยู่แต่เดิม สละเวลาศึกษาเพียงเล็กน้อยก็ย่อมเห็นผล หากว่าสละเวลาเพียงเล็กน้อยมาศึกษาตำราพิชัยสงครามซุนวู ลิ่วเทา จั่วจ้วน ถั่วอวี่ และสามตำราประวัติศาสตร์ พวกเจ้าจะได้เปิดหูเปิดตาและเป็นใหญ่เป็นโตกว่านี้แน่”

ดังนั้น ลิบองจึงเริ่มทุ่มเทศึกษาตำรา เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็ก้าวหน้าไปไกล แซงหน้าเหล่าบัณฑิตหลายต่อหลายคน จนแม่ทัพโลซก (ที่ขึ้นมารับตำแหน่งแทนจิวยี่ที่เสียชีวิต) เคยดูแคลนนิสัยหยาบกระด้างไร้การศึกษาของลิบองมาตลอด ยังเอ่ยปากชมว่า “ข้านึกมาตลอดว่าท่านรู้เพียงกลยุทธ์การศึก คาดไม่ถึงว่าวันนี้ได้พบ ท่านกลับมิใช่อาเหมิงแห่งง่อก๊กคนก่อนแล้ว!”

ลิบองหัวเราะพลางตอบว่า “บัณฑิตนั้นมิพานพบเพียงสามวัน มิอาจมองด้วยสายตาเช่นเดิม นับประสาอะไรกับเราที่มิได้พบกันนานหลายปี”

บทสนทนาข้างต้นที่ว่า “อาเหมิงแห่งง่อก๊ก” และ “บัณฑิตนั้นมิพานพบเพียงสามวัน มิอาจมองด้วยสายตาเช่นเดิม” ต่อมาได้กลายเป็นคำพังเพย ใช้กล่าวถึงคนที่มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด

ย้อนกลับมาที่ ลิบอง ขุนศึกที่ผ่านมากหลายสมรภูมิ แต่ที่โดดเด่นคงต้องยกให้ “ศึกชิง 3 เมืองเกงจิ๋ว”

ศึกนี้สืบเนื่องจากศึกเซ็กเพ็ก (ศึกผาแดง) ที่ซุนกวนกับเล่าปี่ร่วมมือรบกับโจโฉ ศึกครั้งนั้นซุนกวนกับเล่าปี่เป็นฝ่ายชนะ แต่ซุนกวนซึ่งออกแรงมากที่สุดกลับได้แค่เมืองลำกุ๋นและครึ่งหนึ่งของกังแฮมาครอง ส่วนเล่าปี่ซึ่งไม่ได้ออกแรงอะไรแต่กลับได้ครองสี่เมืองในเกงจิ๋ว ได้แก่ บุเหลง เตียงสา เลงเหลง และฮุยเอี๋ยง ไม่นานเล่าปี่ก็อ้างว่า สี่เมืองในเกงจิ๋วที่ตนครอบครองนั้นไม่เพียงพอต่อจำนวนไพร่พลที่เพิ่มขึ้น จึงขอยืมลำกุ๋นจากซุนกวนไปอีก (เรียกอีกอย่างว่าเกงจิ๋ว หรือก็คือเหตุการณ์ “เล่าปี่ยืมเกงจิ๋ว” นั่นเอง)

ซุนกวนต้องการจะบีบให้เล่าปี่ออกจากเกงจิ๋ว จึงชวนเล่าปี่ไปปราบเอ๊กจิ๋วด้วยกัน แต่เล่าปี่ปฏิเสธโดยอ้างว่า เล่าเจี้ยงผู้ครองเอ๊กจิ๋วสืบตระกูลเดียวกันกับตนเอง ซุนกวนจึงตัดสินใจบุกเอ๊กจิ๋วด้วยตนเอง แต่ก็ต้องประสบปัญหา เพราะเส้นทางจากง่อก๊กไปเอ๊กจิ๋วจะต้องผ่านทางเกงจิ๋วของเล่าปี่เท่านั้น

นอกจากเล่าปี่ไม่ให้ใช้เส้นทาง ก็ยังส่งกวนอู, เตียวหุย, ขงเบ้ง ไปประจำการตามเมืองต่างๆ เพื่อปิดเส้นทางเข้าออกเอ๊กจิ๋วไว้ทุกทาง ซุนกวนจึงต้องล้มเลิกความคิดที่จะบุกเอ๊กจิ๋ว

แต่ภายหลัง (ค.ศ. 214 ราชวงศ์ฮั่น รัชศกเจี้ยนอันปีที่ 19) เล่าปี่กลับยึดเอ๊กจิ๋วได้สำเร็จ ซุนกวนทราบเรื่องจึงโกรธจัด และด่าว่าเล่าปี่เป็นคนเจ้าเล่ห์ ไร้สัจจะ จากนั้นซุนกวนก็ไม่รีรอที่จะส่งจูกัดกิ๋นไปขอเกงจิ๋วคืน แต่เล่าปี่กลับตอบอย่างไร้ความรับผิดชอบว่า ตนกำลังวางแผนจะบุกยึดเลียงจิ๋ว รอให้ได้เลียงจิ๋วแล้วจะคืนเกงจิ๋วทั้งห้าเมืองให้ทันที

ซุนกวนรู้ดีว่าเป็นข้ออ้างของเล่าปี่ตามเคย จึงสั่งให้ ลิบอง นำกำลังทหารสองหมื่นนายไปทวงคืนสามเมืองเกงจิ๋ว ได้แก่ เมืองเตียงสา, ฮุยเอี๋ยง และเลงเหลง

ลิบองใช้วิธีทางการทูตนำการทหาร โดยเขียนจดหมายให้ทั้งสามยอมจำนนก่อน เตียงสากับฮุยเอี๋ยงยอมจำนนในทันที เหลือแต่เมืองเลงเหลง ซึ่งเฮกเภาดูแลอยู่ที่ยังคงนิ่งเฉย

เล่าปี่ซึ่งอยู่ที่เอ๊กจิ๋วรู้ข่าว จึงยกทัพกลับมากังอั๋น พร้อมสั่งให้กวนอูนำทัพไปยึดสามเมืองนั้นคืนมา ซุนกวนเองก็นำกำลังทหารไปประจำอยู่ที่ลกเค้า และบัญชาการรบด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็ให้โลซกนำกำลังพลหมื่นนายไปประจำการอยู่ที่อี้หยาง พร้อมสั่งให้ลิบองวางเมืองเลงเหลงไว้ก่อน แล้วนำทัพไปรวมพลกับโลซก

ขณะนั้น ลิบองกับเฮกเภากำลังจัดทัพคุมเชิงกันอยู่ เมื่อเห็นสาส์นจากซุนกวน เขาก็เงียบไปพักหนึ่ง คืนนั้นจึงเรียกประชุมแม่ทัพเพื่อวางแผนเข้ากวาดล้างข้าศึก เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น เมื่อจัดแนวรบเสร็จ ลิบองเรียกเติ้งเสวียนจือ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเฮกเภามาพบ แล้วกล่าวว่า

“ได้ยินมาว่าเฮกเภายึดถือสัจจะ และก็อยากทำเช่นนี้ จริงอยู่สัจจะเป็นเรื่องดี แต่ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาถือสัจจะ บัดนี้แม่ทัพซุนของข้านำกองทัพมาปราบ (เกงจิ๋ว) ด้วยตนเอง เล่าปี่ติดกับดักแฮหัวเอียนอยู่ที่ฮันต๋ง ส่วนกวนอูก็อยู่ไกลถึงลำกุ๋น ลำพังทั้งสองจะเอาตัวรอดยังเป็นเรื่องยาก ไหนเลยจะมีกำลังเหลือพอมาช่วยเมืองเลงเหลงได้ ข้าได้ไตร่ตรองโดยละเอียดและวางแผนไว้รอบคอบแล้ว เราจะโจมตีเมืองเลงเหลงให้แตกภายในวันนี้

เมื่อนั้น เฮกเภาจะต้องตายสถานเดียว การฮึดสู้ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย หนำซ้ำยังทำให้มารดาผู้แก่เฒ่าต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย ช่างน่าเวทนาเสียจริง เวลานี้เลงเหลงถูกตัดขาดจากโลกภายนอกแล้ว แต่เฮกเภากลับคิดว่าจะมีกำลังเสริมมาช่วยเหลือ จึงต่อต้านอย่างไม่หวั่นวิตก เจ้าจงไปหาเฮกเภาแล้วแจกแจงผลดีผลร้ายที่จะตามมาให้เขาฟังเสีย”

เติ้งเสวียนจือนำคำพูดของลิบองไปบอกแก่เฮกเภา ทำให้เฮกเภาเปิดเประตูเมืองยอมจำนน จากนั้นลิบองก็เอาสาส์นที่ซุนกวนสั่งถอนทัพไปรวมพลกับโลซกให้เฮกเภาดู เฮกเภาจึงรู้ว่าหลงกลลิบอง แต่ทุกอย่างก็สายไปแล้ว แก้ไขอันใดมิได้

ลิบองจึงชนะศึกชิง 2 เมืองเกงจิ๋วกลับมาได้ โดยไม่ต้องรบจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่อันสือ-เขียน, เกียรติศักดิ์ ฟงปรีชากุล-แปล. สงครามสามก๊ก 26 ยุทธวิธีสู่ชัยชนะ, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2558

หลี่อันสือ-เขียน, นวรัตน์ ภักดัคำ จันทรัตน์ สิงห์โตง่ท-แปล. วีรบุรุษสามก๊ก: 27 ขุนศึกผู้เป็นเลิศ, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2564