เล่าปี่ดีใจว่า “ข้าได้ขงเบ้งดุจดั่งปลาได้น้ำ” แล้วเล่าปี่ฟัง-เชื่อกุนซือคนนี้แค่ไหน?

ภาพวาด ขงเบ้ง ขี่ม้า ตาม เล่าปี่
ภาพวาดสมัยราชวงศ์หมิง (ซ้าย) ขงเบ้งขี่ม้าตามเล่าปี่ลงจากเขา เมื่อเล่าปี่ไปเชิญเป็นครั้งที่ 3

เล่าปี่ ต้องไปเยือนบ้านของขงเบ้งเพื่อคารวะถึง 3 ครั้ง จึงได้ขงเบ้ง หนึ่งในกุนซือชื่อดังผู้มากด้วยปัญญาในสามก๊กมาอยู่ด้วย เมื่อได้ขงเบ้งมาเล่าปี่ถึงกับกล่าวว่า “ข้าได้ขงเบ้ง ดุจดั่งปลาได้น้ำ”

พงศาวดารสามก๊กบันทึกว่า เล่าปี่ยกบ้านเมือง เล่าเสี้ยนฝากบุตรชาย แก่ขงเบ้ง ไม่มีใจคิดระแวงเป็นอื่น ทั้งนาย (เล่าปี่) และบ่าว (ขงเบ้ง) ล้วนเห็นแก่ส่วนรวม เป็นแบบอย่างที่ดีทุกยุคทุกสมัย

แต่ในความจริงกุนซือเช่นขงเบ้งมีอิทธิพลเพียงใดต่อเล่าปี่ เล่าปี่ฟังและเชื่อขงเบ้งแค่ไหน

เราลองย้อนกลับดูในแต่ละเหตุการณ์หลังจากเล่าปี่ได้ขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษา แต่ว่าในคราวยกทัพไปตีเสฉวน เล่าปี่ให้ขงเบ้งอยู่รักษาเก็งจิ๋ว แล้วลือกใช้บังทองกับหวดเจ้งเป็นผู้ช่วยนําทัพเข้าตีเสฉวนและปราบฮันต๋ง วางรากฐานการตั้งตัวเป็นกษัตริย์ เมื่อเล่าปี่ตั้งตัวเป็นฮันต๋งอ๋อง ชื่อของหวดเจ้งอยู่ในลำดับก่อนหน้าขงเบ้ง

ครั้งศึกอิเหล็ง เล่าปี่อ้างการแก้แค้นแทนกวนอูยกทัพตีกังตั๋ง ขุนนางผู้ใหญ่ต่างถวายฎีกาคัดค้าน แต่ขงเบ้งซึ่งสนับสนุนเชื่อมพันธมิตรกับกังตั๋งมาตลอดกลับไม่พูดอะไรเลย เมื่อเล่าปี่แพ้กลับมา ขงเบ้งจึงแหงนหน้าดูฟ้าถอนใจกล่าวว่า “หากหวดเจ้งยังอยู่ก็คงห้ามองค์ประมุข (เล่าปี่) ไม่ให้ตีกังตั๋งได้ ถึงจะไปตีก็คงไม่พ่ายยับเช่นนี้” นี้แสดงเห็นได้ว่าอิทธิพลของขงเบ้งต่อเล่าปี่ไม่มากเท่าหวดเจ้ง

เหอจัว-นักวิชาการยุคราชวงศ์ชิงกล่าวไว้ในหนังสือ “อี้เหมินตูซูจี้” เล่ม 27 ตอนที่ขงเบ้งอยู่ที่เมืองเก็งจิ๋ว ว่า “ในยุคของเล่าปี่ ขงเบ้งอยู่ในตําแหน่งเดียวกับเซียวเหอ (อัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าฮั่นโกโจในเรื่องไซ่ฮั่น)” ที่ใช้คําว่า “อยู่ในตําแหน่ง” เพราะขงเบ้งไม่ได้มีอํานาจหน้าที่มาก เหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าฮันโกโจ (เล่าปัง) ทําศึกชิงแผ่นดิน เซียวเหออยู่ในฐานที่มั่นที่กวนจง คอยบัญชาชี้แนะ, ทําการได้อิสระ แต่ขงเบ้งที่อยู่รักษาเก๊งจิวมิได้มีอํานาจพิเศษเช่นนั้น

นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์ที่หลงจง ยุทธศาสตร์สำคัญที่ขงเบ้งเสนอเมื่อ ค.ศ. 207 ก่อนศึกเซ็กเพ็ก (ศึกผาแดง) 1 ปี ขงเบ้งคาดการณ์ล่วงหน้าถึงสถานการณ์การเมืองสามเส้าอย่างแม่นยำ โดยเฉพาะความเป็นไปได้ตั้งแต่เล่าปี่จะได้เก็งจิ๋ว ไปถึงครอบครองเอ๊กจิ๋วและเก็งจิ๋ว แล้วสถาปนาจ๊กก๊ก นี่คือแผนยุทธศาสตร์ที่ได้รับรับการยกย่องในประวัติศาสตร์

แต่วิสัยทัศน์ทางการเมืองของเล่าปี่สั้นและแคบ ตอนมีชีวิตอยู่มิได้คํานึงถึงแผนยุทธศาสตร์ที่หลงจงจึงเสียเก็งจิ๋ว ทั้งยังยกทัพไปตีกังตั๋งโดยมิได้คิดถึงนโยบายเป็นพันธมิตรกับกังตั๋งของขงเบ้ง หลังจากเล่าปี่เสียชีวิต แม้ขงเบ้งจะดําเนินตามแผนยุทธศาสตร์หลงจงที่ยังไม่สิ้นสุดต่อไปได้ แต่เวลาและสภาวการณ์เปลี่ยนไป เงื่อนไขทั้งด้านอัตวิสัย และภววิสัยต่างไปจากเดิมมาก จุดมุ่งหมายปราบภาคเหนือ (วุยก๊ก) เพื่อรวมแผ่นดินกลายเป็นความฝันที่ไม่อาจเป็นจริงไปแล้ว

สุดท้ายก่อนเล่าปี่เสียชีวิตได้ฝากฝังเล่าเสี้ยน เล่าปี่ยังอนุญาตให้ขงเบ้งปลดเล่าเสี้ยน แล้วเป็นกษัตริย์เองได้ แต่นั้นเป็นภาวะจํายอม ด้วยกลุ่มขุนนางเดิมของเสฉวน กับกลุ่มขุนนางจากเก็งจิ๋วและซงหยงซึ่งติดตามเล่าปี่ไปเสฉวนมีความขัดแย้งกันชัดเจน เล่าเสี้ยนเองก็ไร้ความสามารถ ยากที่จะประสานขุนนางฝ่ายเจ้าถิ่นกับขุนนางมาใหม่ได้ หวดเจ้งกับบังทองก็เสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้ว เหลือเพียงขงเบ้ง เป็นที่พึ่งอยู่เพียงคนเดียว กล่าวได้ว่า เล่าปี่ไม่มีตัวเลือกจริงๆ

ที่สำคัญคือ เล่าปี่ไม่ได้ฝากฝังบุตรชาย (เล่าเสี้ยน) ไว้กับขงเบ้งเพียงคนเดียว ลิเงียมขุนนางจากตระกูลใหญ่ของเสฉวนก็เข้าเฝ้ารับคําสั่งเสียก่อนตายของเล่าปี่ร่วมกับขงเบ้งด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างเล่าปี่กับขงเบ้ง เสมือนน้ำกับปลา ที่จะขาดกันจริงหรือ? ก่อนที่จะสรุปอย่างไรก็อย่าลืมว่า “เล่าปี่ก็คือเล่าปี่” ไม่มีน้อยไปกว่านี้เด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวินและคณะ (เขียน), ถาวร สิกขโกศล (แปล). 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน กรกฎาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2563