“เกงจิ๋วยืมนาน ไม่ยอมคืน” สำนวนสอนใจที่เกิดจากเล่าปี่ “หย่อนคุณธรรม”

การสู้รบระหว่างก๊กต่างๆ ใน สามก๊ก (ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก ในวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร ภาพจากศิลปกรรรม วัดบวรนิเวศวิหาร, 2528)

ในวรรณกรรมสามก๊ก “บุรุษผู้สูงเจ็ดฉื่อห้าชุ่น มีแขนยาวถึงเข่า และมีใบหูใหญ่ที่ตัวเองสามารถชำเลืองตาไปมองเห็นได้” มีนามว่า “เล่าปี่” เป็นสุขุมเยือกเย็น รักเพื่อนฝูง เป็นผู้ปกครองก็ โอบอ้อมอารี รักใคร่ปวงประชา จัดว่าเล่าปี่เป็นผู้มีคุณธรรมคนหนึ่ง

หากมีครั้งหนึ่งเล่าปี่“หย่อนคุณธรรม”เป็นเรื่องจดจำและโจษจันไปทั่วจน จากอดีตถึงปัจจุบัน

เมื่อเล่าปี่ยืมเมืองเกงจิ๋วแล้วไม่ยอมคืน เหตุการณ์นี้ กลายเป็นสำนวนคนจีนกลุ่มต่างๆ ที่แต่งไว้สั้นยาวด้วยภาษาของแต่ละกลุ่ม แต่มีความหมายตรงกันว่า “เกงจิ๋วยืมนาน ไม่ยอมคืน”  เพื่อเตือนสติเวลาจะให้ใครยืมอะไรคิดให้ดี จะเหมือนเล่าปี่ยืมเกงจิ๋ว

ซึ่งการยืมเมืองเกงจิ๋วนี้ เกิดขึ้นภายหลังเสร็จศึกผาแดง พ.ศ. 751 (ค.ศ. 208 ราชวงศ์ฮั่น, รัชศกเสี้ยนอันปีที่ 13) โจโฉพ่ายแพ้ย่อยยับในศึกถูกกองกําลังของเล่าปี่ และจิวยี่ไล่โจมตีทั้งทางน้ำและทางบก ระหว่างการหลบหนี โจโฉได้สั่งให้โจหยินและซิหลงตรึงกําลังอยู่ที่เมืองกังเหลง และให้งกจิ้นตรึงกําลังที่ซงหยงเมืองเอกของซินเสีย จิวยี่และเทียเภาจึงยกทัพเข้าตีเมืองกังเหลง ทั้งสองฝ่ายเปิดฉากสู้รบอย่างต่อเนื่อง ไม่นานซุนกวนก็ยกทัพใหญ่ไปล้อมตีเมืองหับป๋าอีกทางหนึ่ง

ระหว่างที่กองทัพแห่งง่อก๊กแบ่งกําลังออกเป็นสองทัพเข้าตีเมืองหับป๋าและกังเหลงนั้น เล่าปี่อาศัยช่วงชุลมุนยกทัพเข้ายึดเกงจิ๋วอย่างรวดเร็ว ได้เมืองบุเหลง เลงเหลง ฮุยเอี๋ยง และเตียงสา มาครองอย่างง่ายดาย ทําให้เล่าปี่มีอาณาจักรของตนเองเป็นครั้งแรก

ในศึกผาแดงนั้น ฝ่ายที่สูญเสียมากที่สุดเห็นจะเป็นโจโฉ เพราะไม่เพียงแต่สูญเสียกําลังทหารนับแสนนาย อีกทั้งกําลังทรัพย์และยุทโธปกรณ์อย่างนับไม่ถ้วนแล้ว ยังสูญเสียเมืองเกงจิ๋วที่เพิ่งยึดมาได้จนเกือบหมด

ส่วนผู้ชนะซึ่งได้ประโยชน์สูงสุด ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นฝ่ายซุนกวน เพราะเป็นฝ่ายเดียวที่ตีทัพโจโฉจนพ่ายแพ้ย่อยยับ โดยหลักการแล้วเขาควรได้รับผลประโยชน์จากฝ่ายแพ้สงคราม แต่ความจริงกลับมิได้เป็นเช่นนั้น เขาได้มาเพียงพื้นที่ส่วนน้อยของเกงจิ๋ว คือเมืองลํากุ๋นและส่วนหนึ่งของเมืองกังแฮ

ผู้ชนะที่แท้จริงจึงเป็นเล่าปี่ เพราะได้สี่เมืองในเกงจิ๋วมาครองโดยไม่ ต้องออกแรงสู้รบเลย แม้กระนั้นแล้ว เล่าปี่ก็ยังไม่พึงพอใจ หวังจะได้ลํากุ๋นมาครอบครองด้วย

พ.ศ. 753 (ค.ศ. 210 ราชวงศ์ฮัน รัชศกเจียนอันปีที่ 15) เล่าปี่เดินทาง เข้าพบซุนกวนที่ง่อก๊กด้วยตนเอง หวังจะยืมเมืองลํากุ๋นจากซุนกวน เขาให้เหตุผลว่าไพร่พลเพิ่มจํานวนขึ้นทุกวัน หากได้ลํากุ๋นเพิ่ม ผู้คนจึงจะลง ปักฐานได้

ภายในง่อก๊กมีความเห็นไม่ตรงกันต่อเรื่องที่เล่าปี่ยืมเกงจิ๋ว (แท้ที่จริง ยืมแค่เมืองลํากุ๋น)

จิวยี่ยื่นหนังสือต่อซุนกวนเป็นการเฉพาะว่า

“เป็นที่ทราบกันดีว่าเล่าปี่เป็นบุรุษผู้เห่อเหิมทะเยอทะยานยิ่งนัก ทั้งยังมีแม่ทัพผู้เก่งกาจอย่างกวนอูและเตียวหุยคอยเป็นแขนขา คงไม่พอใจกับการอยู่ภายใต้อํานาจผู้อื่นอย่างถาวรแน่ ข้าเห็นว่าเราควรสร้างวังหรูหราให้เล่าปี่พํานัก พร้อมให้สาวงามจํานวนมากคอยบําเรอ ให้เขาเสพสมความสนุกเพลิดเพลินจนลืมซึ่งความทะเยอทะยาน

ส่วนกวนอูและเตียวหุยควรให้แยกไปประจําการอยู่คนละที่ แล้วให้คนอย่างข้าจิวยี่เป็นผู้บัญชาการรบของเขาทั้งสอง เมื่อนั้นทั่วหล้าจึงจะสงบ แต่วันนี้เรื่องกลับไม่เป็นเช่นนั้น มิหนําซ้ำยังจะแบ่งดินแดนแก่เขา ให้สามคนนั้นใช้เป็นทุนร่วมรบในสมรภูมิ เกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มังกรทะยานขึ้นฟ้า ไม่ยอมสถิตอยู่ใต้น้ำอีกต่อไปเสียมากกว่า”

ส่วนด้านโลซกกลับมีความเห็นแตกต่างโดยสิ้นเชิง

“เราจะแช่แข็งเล่าปี่ไม่ได้เด็ดขาด แม้ท่านแม่ทัพจิวยี่จะได้รับชัยชนะในศึกผาแดง แต่เขี้ยวเล็บของโจโฉยังแข็งแรงมาก เราเพิ่งได้เกงจิ๋วมาครอง จิตใจของชาวเมืองยังไม่ภักดีต่อเรา ไม่สู้ให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋วเสีย ยืมมือเขาบริหารบ้านเมืองซื้อใจประชาชน เช่นนี้โจโฉจะได้มีศัตรูเพิ่มขึ้น ส่วนเราก็จะมีพันธมิตรเพิ่มขึ้น นี่เป็นอุบายที่ดีที่สุด”

หลังเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว ซุนกวนตัดสินใจดําเนินการตามอุบายที่โลซกเสนอ

โจโฉทราบข่าวเรื่องซุนกวนให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋วในขณะที่เขากําลังเขียนหนังสืออยู่พอดี โจโฉตกใจสุดขีด พู่กันในมือหลุดร่วงลงพื้นโดยไม่รู้ตัว

ซุนกวนมองว่าการที่เล่าปี่ได้สี่หัวเมืองแห่งเกงจิ๋วมาครองหลังศึกผาแดง นั้นเป็นการได้เปล่าอยู่แล้ว ที่ซุนกวนยอมให้เล่าปี่ยืมเมืองลํากุ๋น ก็เพราะความจำเป็นด้านยุทธศาสตร์ที่ต้องการสร้างพันธมิตรไว้รับมือโจโฉ ดังนั้นซุนกวนจึงคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องทวงคืนทั้งห้าเมืองแห่งเกงจิ๋วจากเล่าปี่ให้ได้

พ.ศ. 757 (ค.ศ. 214 ราชวงศ์ฮั่น รัชศกเจี้ยนอันปีที่ 19) สามปีหลังการบริหารเกงจิ๋ว เล่าปี่ก็ได้เอ๊กจิ๋วมาครอบครองในที่สุด ก่อนหน้านั้นเล่าปี่ เคยเอ่ยปากว่าหากได้เอ๊กจิ๋วมาครองก็จะคืนเกงจิ๋วให้ซุนกวน เมื่อเห็นเล่าปี่ไม่มีท่าที่จะคืนเกงจิ๋ว ซุนกวนก็ไม่อาจทนดูอีกต่อไป จึงสั่งให้ลิบองแม่ทัพใหญ่ ยกทัพไปตีเมืองเตียงสา เลงเหลง และฮุยเอี๋ยง

ฝ่ายเล่าปี่ก็ไม่ย่อมเสียเกงจิ๋ว จึงสั่งให้กวนอูเตรียมทัพพร้อมรบ แต่แล้วอีกด้านหนึ่ง โจโฉ กลับยกทัพมาตีเมืองฮันต๋งอย่างไม่มีที่ไม่มีขลุ่ย ฮันต๋งเป็นหัวเมืองสําคัญของเอ๊กจิ๋ว หากเสียเมืองฮันต๋งไป เอ๊กจิ๋วก็จะตกที่นั่งลําบาก เล่าปี่จึงต้องยอมสละเมืองเล็กเพื่อรักษาเมืองใหญ่ไว้ จึงขอเจรจาแบ่งเกงจิ๋วกับซุนกวนเสียใหม่ สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าซุนกวนได้ครองเมืองเตียงสา, กังแฮ และฮุยเอี๋ยงซึ่งมีเขตแดนติดกับง่อก๊ก ส่วนเล่าปี่ได้ครองเมืองลํากุ๋น เลงเหลง และบุเหลงซึ่งมีพรมแดนติดกับเกงจิ๋ว ทําให้ปัญหาเรื่องเกงจิ๋วได้รับการแก้ไขชั่วคราว

พ.ศ. 762 (ค.ศ. 219 ราชวงศ์ฮั่น รัชศกเจี้ยนอันปีที่ 24) หลังจากเล่าปี่ยึดเมืองฮันต๋งคืนจากโจโฉมาได้ ก็สั่งการให้กวนอูยกพลขึ้นเหนือไปตีตอนเหนือของเกงจิ๋ว รวมทั้งเมืองเซียงฝาน

แต่เดิมหัวเมืองต่างๆ ของเกงจิ๋วที่อยู่ในมือของเล่าปี่และซุนกวนนั้น เป็นแค่หัวเมืองทางภาคกลางและภาคใต้ของเกงจิ๋ว ส่วนหัวเมืองทางภาคเหนือยังคงอยู่ในมือของโจโฉ โจโฉรู้ดีว่าหากเสียเมืองกันชนแถบนี้ไปย่อม เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของตน จึงไม่อาจนิ่งดูดายและคอยหาทางตอบโต้ตลอดเวลา

กวนอูดําเนินยุทธการทางภาคเหนือของเกงจิ๋วได้อย่างราบรื่นจนสะเทือนไปทั่วทุกพื้นที่ในเวลานั้น ฝ่ายโจโฉถึงกับหวาดกลัวว่าตนเองอาจ ต้องจบชีวิตภายใต้คมดาบข้าศึกหากเสียเมืองเซียงฝาน จึงมีความคิดที่จะย้ายเมือง โชคดีที่สุมาอี้และเจียวเจ้ช่วยออกกลอุบายจนรับมือไว้ได้

“เล่าปี่กับซุนกวนดูภายนอกเหมือนจะเป็นพันธมิตรกัน แต่แท้จริงแล้วต่างหวาดระแวงกันและกัน เมื่อกวนอูประสบความสําเร็จเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นที่พอใจของซุนกวนแน่นอน เราควรส่งคนไปเจรจาขอร่วมมือกับซุนกวน ให้เขาโจมตีกวนอูจากด้านหลัง หากสําเร็จเราจะยกอาณาเขตกังหลําให้ หากเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่เพียงแต่จะแก้วิกฤตที่เซียงฝานได้ ยังสร้างความบาดหมางระหว่างเล่าปี่กับซุนกวนได้อีกด้วย”

ภายใต้การสนับสนุนของโจโฉ ซุนกวนตอบรับเงื่อนไขและส่งทัพไปตีทัพกวนอูอย่างไม่ทันให้ตั้งตัว ส่งผลให้กวนอูแพ้สงครามที่เป๊กเสีย แม้แต่ชีวิตยังไม่อาจรักษาไว้ได้ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ยังส่งผลให้เล่าปี่ต้องเสียเกงจิ๋ว ไปทั้งเมืองอีกด้วย

พ.ศ.764 (ค.ศ.221 ราชวงศ์วุย รัชศกเว่ยหวงปีที่ 2) หรือภายหลัง กวนอูสิ้นลมได้สองปี เล่าปี่นํากําลังทั้งหมดที่มีอยู่ไปถึงง่อก๊กเพื่อยึดเกงจิ๋ว และเพื่อแก้แค้นให้กวนอูโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากเหล่าขุนนาง ผลก็คือ เล่าปี่ต้องพ่ายแพ้อย่างราบคาบจากการโจมตีของข้าศึก ง่อก๊กที่นําทัพโดยแม่ทัพลกซุน

จะเห็นได้ว่าเพื่อแย่งชิงเกงจิ๋ว จ๊กก๊กต้องพ่ายแพ้สงครามครั้งใหญ่ถึงสองครั้งติดกัน ทําให้ความแข็งแกร่งของประเทศชาติลดลงอย่างมาก นับเป็นความเปลี่ยนแปลงด้านอาณาเขตและด้านความแข็งแกร่งของประเทศขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่งในช่วงเวลานั้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนมีต้นเหตุมาจากการยืมเกงจิ๋ว จึงนับว่าปัญหาเกงจิ๋วเป็นประเด็นสําคัญอย่างยิ่งประเด็นหนึ่งในประวัติศาสตร์สามก๊ก

ถ้าวันนั้นเล่าปี่ไม่ยืมเกงเจิ๋วจะเป็นอย่างไรคงตอบได้ยาก แต่วันนี้ถ้าจะให้ใครยืมแก้ว แหวน เงินทอง ฯลฯ ก็บอกตัวเองไว้ว่า จะเหมือนสำนวน “เกงจิ๋วยืมนาน ไม่ยอมคืน” 

 


ข้อมูลจาก :

หลี่อันสือ-เขียน, เกียรติศักดิ์ ฟงปรีชากุล-แปล. สงครามสามก๊ก 26 ยุทธวิธีสู่ชัยชนะ, กรุงเทพฯ : มติชน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2562