ทัศนคติชนชั้นนำสยามต่อลาวล้านนา จากดูหมิ่น-เหยียด ก่อนยอมรับเป็นพวกเดียวกัน

คนเมือง ลาวล้านนา ลาว
คนเมือง หรือลาวล้านนา หยุดพักระหว่างเดินทาง ภาพถ่ายราว พ.ศ. 2469 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ อ้างใน สุรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 10. สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2557)

เผยทัศนคติชนชั้นนำของ สยาม ต่อ ลาว ลาวล้านนา จากดูหมิ่น-เหยียด ก่อนยอมรับเป็นพวกเดียวกัน

ในอดีตคำว่า “ลาว” ใช้เรียกกลุ่มคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป และกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทางสองฝั่งของแม่น้ำโขง

ทัศนคติของผู้คนในสมัยอยุธยามีต่อคนลาวในล้านนา คือ รับรู้ว่าเป็นอีกอาณาจักรหนึ่งที่เป็นคู่สงครามกัน จึงมีทัศนคติแสดงการดูหมิ่นเกลียดชัง

ในสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ ชนชั้นนำของลาวในล้านนาและสยามได้ร่วมมือกันขับไล่กองทัพพม่า หลังช่วยเหลือล้านนาสำเร็จ สยามจึงแต่งตั้งเจ้าเมืองล้านนาเป็นเจ้าประเทศราชเพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านในการสืบข่าวและป้องกันศึกจากพม่า

แม้ว่าชนชั้นนำของสยามจะเปลี่ยนท่าทีต่อคนลาวในล้านนาในทิศทางที่ดีต่อกันมากขึ้น แต่ทัศนคติที่ดูถูกความเป็นลาวว่ามีฐานะทางการเมืองต่ำต้อยกว่ายังคงปรากฏอยู่

ตลาดใน “ล้านนา” ภาคเหนือของ สยาม

ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ชนชั้นนำของสยามยังคงมีทัศนคติต่อคนลาวในล้านนาในเชิงดูถูกเหยียดหยาม โดยมองว่าสยามมีความเหนือกว่าทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ส่วนลาวด้อยกว่าในทุก ๆ ด้าน ดังที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แม่ทัพใหญ่กองทัพสยามในศึกเชียงตุง วิจารณ์ว่า ลาวมีนิสัยสันดาน 3 ประการ คือ 

“…เป็นแต่อยากได้ของเขา ไม่อยากเสียของให้แก่ใคร กับเกียจคร้านเท่านั้น เหมือนกันตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ตลอดไปทุกบ้านทุกเมือง ไม่เหมือนชาติภาษาอื่น ๆ ที่จะต่ำช้าเหมือนภาษาลาวไม่มี ไม่รักชาติรักสกุล ถ้าใครให้เงินสักสองชั่งสามชั่งขอบุตรเจ้าเมืองอุปราชราชวงษ์เปนภรรยาก็ได้ ไม่ว่าไพร่ว่าผู้ดี ไม่ถือว่าจีนว่าไทย เอาแต่มีเงิน ถ้าใครได้บุตรเจ้าเปนภรรยาแล้วก็ยกย่องคนนั้นขึ้นเป็นเจ้าด้วย ลาวไม่มีสติปัญญาตรึกตราระวังหลังหามิได้”

ลาวในที่นี้เป็นคนลาวในล้านนาที่มีวัฒนธรรมที่ด้อยกว่าสยามหรือไทย โดยชนชั้นนำสยามรับรู้ว่าคนลาวด้อยกว่า และมีนิสัยที่ไม่ดี ขี้เกียจ ขี้ขลาด อยากได้ของของผู้อื่น และไม่อยากเสียของของตน

ทั้งนี้ ความเป็นลาวและการรับรู้ความเป็นลาวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอย ๆ แต่เกิดภายใต้เงื่อนไขของพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของสยาม ที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจเข้าสู่การค้าในระบบตลาดตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านโลกทรรศน์ของชนชั้นนำของสยาม จนทำให้เกิดมุมมองต่อความเป็นลาวว่าด้อยกว่าความเป็นไทย

เหตุผลเพราะความเป็นลาวหรือหัวเมืองลาวล้านนายังอยู่ในระบบการผลิตเพื่อยังชีพอยู่ มิใช่การผลิตเพื่อขายหรือส่งออกอย่างสยาม ทำให้โลกทรรศน์และระบบคิดยังอยู่ในระบบจารีต จึงถูกรับรู้ว่าด้อยกว่า สยาม

ดังปรากฏในหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 4 ของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ว่า

“…พวกลาวนายหนึ่งคุมไพร่ร้อยหนึ่งสองร้อยก็จริง ก็แต่ว่าขี้ขลาดนัก ได้ยินเสียงปืนหนาไม่ได้ หลีกเลี่ยงหลบเหลี่ยมไป…”

หรือ“…นิสัยลาวมากไปด้วยความเกียจคร้านโดยธรรมดาประเพณีบ้านเมือง ถึงจะทำไร่นาสิ่งใด ถ้าแดดร้อนเข้าต้องหยุดก่อน ต่อเย็นจึงจะทำ เดินทางสายน่อยหนึ่งก็ต้องหยุด เย็น ๆ จึงจะไป ไม่ได้รับความลำบากยากเลย…ครั้นพระยาราชสุภาวดี…ขึ้นไปอยู่เมืองน่านครั้งก่อน ลาวก็บ่นแทบทุกคน ว่าต้องเสียเงินเสียทองเป็นเบี้ยเลี้ยงแทบจะหมดบ้านหมดเมือง…ด้วยนิไสยสันดานลาวนั้นมีอยู่ 3 อย่าง เปนแต่อยากได้ของเขา ไม่อยากเสียของให้แก่ใคร กับเกียจคร้านเท่านั้น เหมือนกันตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ตลอดไปทุกบ้านทุกเมือง…”

การค้าขายที่ถนนท่าแพสมัยก่อนที่จะมีตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย ซ้ายมือเป็นรั้วคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

อย่างไรก็ตาม หลังการรุกคืบของจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้สยามเสียสิทธิครอบครองพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงใน พ.ศ. 2436 สมัยรัชกาลที่ 5 ชาติตะวันตกล่าอาณานิคมแข่งกับสยามอย่างดุเดือด นั่นทําให้ชนชั้นนำของสยามเปลี่ยนท่าที และได้สร้างการรับรู้ใหม่ว่าคนลาวในล้านนา (รวมถึงคนลาวในหัวเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขง) เป็นคนไทยเช่นเดียวกันกับคนสยาม

ทั้งนี้ สยามพยายามใช้วิธีผูกใจเจ้านายในหัวเมืองลาวทั้งหลาย โดยหวังผลให้ราษฎรเข้ากับฝ่ายสยามเพื่อป้องกันการขยายอิทธิพลจากชาติตะวันตก

แม้จะมีความพยายามจะหมายรวมให้ “ลาว” กลายเป็น “ไทย” แต่ทัศนคติที่มองว่า “ลาวล้านนา” เป็นคนแปลกแยกจากต่างถิ่นและต่ำต้อยกว่ายังคงปรากฏอยู่ ดังเห็นได้จากกรณี พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งเข้ามาถวายตัวใน พ.ศ. 2429 ยังได้รับการดูหมิ่นเช่นกัน โดยต่างพากันเรียกตําหนักของพระองค์ว่า “ตําหนักเจ้าลาว” ซึ่งคําเรียกดังกล่าวมีนัยยะของการดูถูกเหยียดหยามร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยว (รวมถึงกบฏผู้มีบุญในภาคอีสาน) ชนชั้นนำของสยามจึงพยายามปรับเปลี่ยนนโยบายในการปกครองใหม่ โดยสร้างคำอธิบายว่าคนลาวในล้านนาเป็นกลุ่มคนชาติพันธุ์เดียวกันกับคนสยาม อีกทั้งวางรากฐานการสอนหนังสือไทยเพื่อชักจูงให้คนลาวมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เนื้ออ่อน ขวัรทองเขียว. (มกราคม 2556). การรับรู้และทัศนคติของไทยต่อคำว่า “ลาว”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 34 : ฉบับที่ 3.

ชัยพงษ์ สำเนียง. (กรกฎาคม, 2558). “ประวัติศาสตร์ของ ‘กบฏ’ ‘กบฏ’ ของประวัติศาสตร์” : กบฏเงี้ยวเมืองแพร่. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 36 ฉบับที่ 9.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2564