“แขก แม้ว แกว เจ๊ก” ที่มา-ความหมาย คำเรียกชาติพันธุ์เชิง “เหยียด”

คำเรียกชาติพันธุ์
ขุนนางแขก อยู่ในขบวนพยุหยาตราพระกฐินบกครั้งกรุงศรีอยุธยา (ภาพคัดลอกจากผนังอุโบสถ วัดยม พระนครศรีอยุธยา)

คำเรียกชาติพันธุ์ บางคำที่ปรากฏใน “ภาษาพูด” จำนวนหนึ่งให้อารมณ์และสื่อความหมายในเชิงดูถูก หรือการ “เหยียด” แม้หลายครั้งการใช้คำเหล่านั้นไม่ใช่ความจงใจหรือเจตนาของผู้ใช้ที่จะสื่อความหมายเชิงลบก็ตาม เนื่องจากคำเหล่านี้มี “ต้นขั้ว” มาจากการนิยาม “ความเป็นอื่น” หรือการจำแนกผู้คนในสังคม เพื่อเสริมอัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มก้อนภายใน และขับเน้นความ “ไม่ใช่พวกฉัน-ไม่ใช่พวกเธอ” ให้ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างคำเรียกชาติพันธุ์เชิงลบที่พบได้ทั่วไป ดังนี้

“แขก” โดยทั่วไปคนไทยมักใช้ แขก เรียกชนชาติต่าง ๆ ทางตะวันตก ได้แก่ ชาวอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน เปอร์เซีย (อิหร่าน) อาหรับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และชาวมลายู (เพราะนับถืออิสลาม) ทั้งนี้เพื่อแยกชนกลุ่มนี้จากชาวตะวันตกอีกกลุ่มหรือชาวยุโรป (รวมถึงอเมริกา) ซึ่งถูกเรียกว่า “ฝรั่ง” แม้แต่ชาติพันธุ์ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม หากมีลักษณะ ตาโต คม เข้ม ก็ถูกเรียกว่า แขก ด้วยเช่นกัน เช่น แขกฮินดู แขกทิเบต 

ในบรรดาคำเรียกชาติพันธุ์ทั้งหลาย คำว่า แขก ไม่ได้มีความหมายเชิงลบอย่างเด่นชัด แต่เพราะการสื่อความหมายที่ครอบคลุมหลายกลุ่มชาติพันธุ์อย่างมาก และบางครั้งถูกใช้ด้วยเจตนาเชิงเหยียดหยาม จึงทำให้ผู้ถูกเรียกเกิดความไม่พอใจได้เช่นกัน

“แม้ว” เป็นคำเรียกชาติพันธุ์ม้ง อย่างไรก็ตามชาวม้งไม่ชอบถูกเรียกว่า แม้ว เพราะถือเป็นคำดูถูกเหยียดยาม คำว่า แม้ว ยังมีที่มาเพื่อสื่อถึง “ชาวป่า” หรือคนป่าเถื่อน คนพื้นเมือง อีกทฤษฎีคือเรียกเพื่อล้อไปกับเสียงของแมว เป็นการเหยียดว่าชาวม้งมีภาษาพูดที่ฟังเหมือนเสียงแมวร้องนั่นเอง

“แกว” เป็นคำเรียกชาวเวียดนาม (ใช้กันมากในพื้นที่ภาคอีสาน) แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนถึงที่มาของคำนี้ แต่ จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานว่า แกว น่าจะมากจากคำว่า “แกว ๆ” ที่หมายถึงเสียงดังแซดแต่ฟังไม่ได้ศัพท์ เป็นการล้อเลียนเสียงพูดในภาษาเวียดนามที่มีเสียงสูง-ต่ำตัดกันชัดเจนกว่าเสียงในภาษาตระกูลไทย-ลาว 

หลักฐานใน “ท้าวฮุ่ง-ท้าวเจือง” วรรณกรรมโบราณของกลุ่มชนแถบลุ่มน้ำโขงยังมีคำว่า แกว ประกอบกับชื่อสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง คือ แย้ เรียกว่า “แกวแย้” และประกอบกับคำว่า ม้อย อันมีความหมายว่า ผี เรียกว่า “แกวม้อย” จะเห็นว่า ทั้ง แกว แกวแย้ แกวม้อย มีความหมายเชิงลบทั้งสิ้น คำนี้จึงเป็นคำ เหยียดชนกลุ่มอื่นมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

“เจ๊ก” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามไว้ว่า “เจ๊ก (ภาษาปาก) น. คำเรียกคนจีน” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือ “เบ้งเฮ็ก ผู้ถูกกลืนทั้งเป็น” ว่า “เจ๊ก” มาจากคำว่า “เจ็ก” ที่แปลว่า อา มักใช้คู่กับคำว่า “แปะ” หรือ “แป๊ะ” ที่แปลว่า ลุง เป็น “เจ๊กแป๊ะ” เมื่อคนไทยเห็นคนจีนเรียกกันก็เอามาเรียกบ้าง แต่ใช้ในน้ำเสียงเชิงดูถูกและดูหมิ่น

จะเห็นว่า แขก กับ เจ๊ก เป็น “คำเรียกชาติพันธุ์” ที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากคำเชิงดูถูก/ดูหมิ่น หรือ “เหยียด” แต่อย่างใด ความหมายเชิงลบดังกล่าวถูกแปลงหรือสร้างให้เกิดขึ้นเพราะบริบทการใช้คำเหล่านี้ในภายหลัง ทำให้ “อารมณ์” ของคำเปลี่ยนไปในเชิงเหยียดหยาม ขณะที่ แม้ว กับ แกว กลับมีที่มาในลักษณะของการเหยียดที่ชัดเจนกว่า โดยมีเรื่องของการเลียนเสียงเป็นส่วนสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ปุณชฐา ศิวานิพัทน์. (ไม่ระบุปี). วารสารดำรงวิชาการ เรื่อง โครงสร้าง ที่มา และความหมายของคำเรียกชาติพันธุ์ในอีสาน. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2566