“ลาวแพน” เพลงการเมืองเก่าแก่ ถากถางเยาะเย้ยเชลย “ลาว”

ลาว ลาวแพน พระธาตุหลวง วัดพระธาตุหลวงเวียงจันทน์

บทเพลง เป็นสื่อหรือเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์อย่างหนึ่ง ทั้งสนับสนุนทางบวกหรือต่อต้านให้เกิดภาพลบ โดยเฉพาะในทางการเมือง การสร้างภาพลักษณ์ด้านลบให้กับฝ่ายตรงข้ามมักเกิดขึ้นอยู่เสมอ ยิ่งมีข้อเท็จจริงรองรับ ดังเช่น การใช้เพลงโอ้ลาว ลาวแพน หรือเพลงแอ่ว สร้างภาพลักษณ์ให้แก่เชลยลาว หลังกองทัพล้านช้างพ่ายแพ้ต่อกองทัพไทยถึงสองครั้งสองครา ในสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นับเป็นผลผลิตที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนไทยที่มีต่อคนลาว ดังจะได้อภิปรายต่อไปนี้  

ลาวแตกแยก ไทยยึดครอง

โดยประวัติศาสตร์ ไทยกับลาวเสมือนเป็นบ้านพี่เมืองน้องไปมาหาสู่กันด้วยพรมแดนชิดติดกัน ทั้งภาษาและวัฒนธรรมก็คล้ายคลึงกันมาก เพราะสืบรากเหง้าจากบรรพชนอุษาคเนย์เช่นเดียวกัน ถึงแม้มีศึกสงครามระหว่างกันบ้าง ก็เป็นแต่เพียงรบกันเพื่อแย่งชิงผู้คนมาเป็นพวกตนเท่านั้น บางคราวก็เป็นพันธมิตรเข้าร่วมรบกับข้าศึกดุจสหายสนิท เช่น การสู้ศึกพม่าในช่วงสมัยอยุธยา เป็นต้น

จนกระทั่งเมื่ออาณาจักรลาวล้านช้างเกิดการแบ่งแยกออกเป็น 3 อาณาจักร คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ และมีความขัดแย้งกันระหว่างเวียงจันทน์กับจำปาศักดิ์กรณีพระวอพระตา แต่ละฝ่ายต่างพึ่งพิงอำนาจพม่ากับไทย จนเมื่อกองทัพเวียงจันทน์โดยพระเจ้าสิริบุญสารแต่งตั้งให้พระยาสุโพแต่งทัพลงไปตีพระวอ ฝ่ายพระวอสู้ไม่ได้ จึงหนีไปอยู่ที่บ้านดู่บ้านแก (เวียงดอนกอง) เมื่อพระยาสุโพตามไปทันก็จับพระวอฆ่าเสีย ท้าวก่ำจึงแต่งหนังสือไปถึงเมืองนครราชสีมา เพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ช่วยตีเมืองเวียงจันทน์

แคน แคนวงใหญ่ เมือง อุบลราชธานี สมัย รัชกาลที่ 5
“แคนวงใหญ่ของทหารเมืองอุบลราชธานีสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ ร้องรำทำเพลง : ดนตรีและนาฏศิลป์ชาวสยาม)” แคนถือเป็นเครื่องดนตรีร่วมระหว่างไทยกับลาว แต่ในปัจจุบันยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน “เสียงแคนของลาว” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

โอ้ลาว : ทาสรับใช้

ด้วยเหตุแห่งความพ่ายแพ้นั้น จึงเชื่อว่าภาพลักษณ์ของคนลาวได้ปรากฏในฐานะเชลยหรือข้าทาสผู้ต่ำต้อยกว่าคนไทย ดังที่ปรากฏอยู่ในบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้น ซึ่งเป็นสื่อจิตวิทยาอย่างหนึ่งของกองทัพ เพื่อกดขี่ศัตรูหรือกดข้าศึกให้มีสถานะต่ำกว่า อย่างน้อยก็มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้พระราชนิพนธ์บท “โอ้ลาว” กำกับไว้ในบทละครนอกเรื่องมณีพิชัย ตอนพระมณีพิชัยต้องไปเป็นทาสรับใช้พราหมณ์ หรือยอพระกลิ่นแปลง ดังต่อไปนี้

โอ้ลาว

เดินพลางมาในกลางมรคา   พระราชาทอดถอนใจใหญ่ 

โอ้ว่าเวรกรรมได้ทำไว้   จำไปเป็นข้าเจ้าพราหมณ์ชี

อกเอ๋ยไม่เคยจะตกยาก   ลำบากเคืองข้องหมองศรี 

ไม่รู้ใจนายร้ายหรือดี   แล้วจะตีกันเล่นไว้เว้นวัน

ครั้นเจ้าพราหมณ์เหลียวมาทำหน้าม่อย   อุยหน่าหนามยอกน้อยไปหรือนั่น

ทำนิ่วพักตร์ชักหนามฉับพลัน   ค่อยเหยียบยันโขยกเขยกมา 

เห็นสุมทุมพุ่มไม้ในไพรชัฏ   เกรงกริ่งสิงสัตว์ที่ในป่า

เดินพลางทางนึกภาวนา   ร้องเตือนนายขาระวังตัว

ได้ยินเสียงสกุณีมี่ก้อง   ชะนีเหนี่ยวไม้ร้องเรียกผัว

ใจหายกายสั่นอยู่รัวรัว   คิดกลัวผีสางปะรางควาน

ดำเนินเดินตามเจ้าพราหมณ์ไป   เปลี่ยวเปล่าเศร้าใจในไพรสาณฑ์

ขึ้นเขาข้ามน้ำลำธาร   ดัดดั้นดงดานเดินมา

ต่อมาบทละครตอนนี้ ได้นำมาเป็นบทขับร้องประเภทเพลงเถา มีลักษณะการดำเนินกลอนแบบเพลงทยอย คือมีลูกล้อลูกขัดและลูกโยน เพลงโอ้ลาวจึงเป็นเพลงหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของผู้ที่ตกต่ำเป็นทาสรับใช้ ดังเพลงโอ้ลาว เถา ความว่า

บทร้องเพลงโอ้ลาว เถา (ฉบับครูเจริญใจ สุนทรวาทิน ขับร้อง)

สามชั้น ท่อน 1 

เดินทางมาในกลางมรคา พระราชาทอดถอนใจใหญ่ โอ้ว่าเวรกรรมได้ทำไว้ จำต้องไปเป็นข้าเจ้าพราหมณ์ชี

สามชั้น ท่อน 2 

อกเอ๋ยไม่เคยจะตกยาก จะลำบากขุ่นข้องหมองศรี ไม่รู้จักใจนายว่าร้ายหรือดี จะมาตีกันเล่นไม่เว้นวัน

สองชั้น ท่อน 1 

เจ้าพราหมณ์เหลียวมาทำหน้าม่อย อุยหน่าหนามยอกเข้าไปหน่อยน้อยหรือนั่น นิ่วพักตร์ชักหนามออกเสียพลัน ยืนยันโขยกเขยกมา

สองชั้น ท่อน 2 

ข้ามเขาเงาไม้ในไพรชัฏ ไม่เกรงกริ่งสิงสัตว์ที่ในป่า เดินทางพลางทางนึกภาวนา ร้องเตือนนายขาระวังตัว

ชั้นเดียว ท่อน 1 

ได้ยินเสียงสกุณีมี่ก้อง ชะนีเหนี่ยวไม้ร้องเรียกผัว ขวัญหายกายสั่นอยู่ระรัว คิดกลัวผีสางรังควาน

ชั้นเดียว ท่อน 2 

ดำเนินเดินตามเจ้าพราหมณ์ไป เปลี่ยวเปล่าเศร้าใจในไพรสาณฑ์ ขึ้นเขาข้ามน้ำลำธาร ดัดดั้นดงดานเดินมา

เหตุใด พระราชนิพนธ์บทนี้จึงตั้งชื่อกำกับไว้อย่างเจาะจงว่า “โอ้ลาว” ไม่อาจทราบได้ นอกจากสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะความพ่ายแพ้แก่กองทัพไทยสมัยกรุงธนบุรีนั้นเอง ที่ทำให้เจ้านายลาวหลายพระองค์ถูกกวาดต้อนมาเป็นตัวประกันหรือเชลยศึก มีฐานะต่ำลง การถูกดูหมิ่นเหยียดหยามก็เกิดขึ้นได้ แม้มีข้อมูลหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสนิทสนมกับเจ้าอนุวงศ์เป็นอย่างยิ่ง ถึงกับมีพระราชดำริชวนเจ้าอนุวงศ์หาดนตรีละครมาเล่นในสวนขวัญให้คึกครื้น จนกระทั่งสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 2 และเจ้าอนุวงศ์นั้นเองที่ประกาศตนเป็นเอกราชในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ภายลายเส้น เวียงจันทน์
สภาพอันรกร้างของวัดวาอารามภายในเวียงจันทน์ ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๖ (พ.ศ. ๒๔๐๙) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)

ลาวแพน : เพลงการเมืองถากถางเยาะเย้ยเชลยลาว

กษัตริย์เวียงจันทน์ได้ยกทัพเข้ามากวาดต้อนเอาครอบครัวลาวคืนกลับไปยังดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง กองทัพเจ้าอนุวงศ์สามารถยกทัพผ่านเข้ามาตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้โดยง่าย เพราะไม่มีใครคิดต่อสู้อย่างจริงจัง แต่กระนั้นก็ต้องพ่ายแพ้แก่กองทัพไทยที่ยกไปปราบและบุกเข้าทำลายเวียงจันทน์จนย่อยยับเป็นครั้งที่ 2 ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เวียงจันทน์กลับคืนเป็นเมืองได้อีก แล้วให้ล้มเลิกอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์เสีย มิให้มีเมืองและเจ้าครองเมืองอีกต่อไป 

ความพ่ายแพ้ของกองทัพลาวล้านช้างเวียงจันทน์ครั้งนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ในบทเพลงที่ชื่อว่า “ลาวแพน” แต่เดิมฟังผิวเผินเข้าใจว่า เพลงนี้คนลาวแต่งขึ้นรำพันชีวิตของตนเองยามตกทุกข์ได้ยาก ในฐานะเชลยศึกหรือข้ารับใช้กองทัพไทย แต่เมื่อพิจารณาบทร้องที่ว่า “ฮาว” หรือ “ลาว” เป่าแคน หรือบางฉบับว่า “ฝ่ายพวกลาวเป่าแคน” ทำให้คิดใหม่ได้ว่า

เพลงนี้ไม่น่าจะเป็นการแต่งบรรยายสภาพชีวิตของตนเอง เพราะเป็นการเล่าถึงคนลาวเป่าแคน และยิ่งได้ฟังเพลงลาวแพนจากแผ่นเสียงแกรมโมโฟน บันทึกการเล่นเพลงลาวแพนของ แตรวงมหาดเล็ก ขับร้องโดยนายหยิน มฤคะเวศ (รองอำมาตย์โท ขุนลิขิตสุนทรการ) นักร้องมีชื่อชำนาญเพลงสำเนียงลาว สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีเสียงโห่ฮิ้วหุยฮาหรือร้องยั่ว (มาละเหวย) คลอไปตลอดการขับร้องเข้าแคนในกลุ่มเสียงทางสั้น (Diatonic Major) ลายโป้ซ้าย เทียบกับดนตรีตะวันตกตรงกับคีย์ A จึงเป็นไปได้ว่า ลาวแพน คือเพลงล้อเลียนดูหมิ่นเชลยลาวที่ตกทุกข์ได้ยาก เพราะเหตุว่าเจ้าเวียงจันทน์พ่ายแพ้สงคราม บทร้องในแผ่นเสียงความว่า

“ฮาวเป่าแคนแสนเสนาะ สอเพาะเข้ากับแคนแสนขยัน

เป็นใจความยามยากจากเวียงจันทน์ ตกมาอยู่เขตขัณฑ์อยุธยา

โอ้แม่คุณเอ๋ย เฮาบ่เคยตกยาก ตกระกำลำบาก ตกยากเสียนักหนา

พลัดที่กินถิ่นฐาน พลัดทั้งบ้านเมืองมา พลัดทั้งปู่ทั้งย่า พลัดทั้งตาทั้งยาย

พลัดทั้งแม่ลูกเมีย พลัดทั้งเสียลูกเต้า พลัดทั้งพงศ์ทั้งเผ่า ลูกเต้าหนีหาย

บักไทยมันเฆี่ยน บักไทยมันขัง จนไหล่หลังเฮานี่ลาย

 แทบจะตายเสียแล้วหนา เสียในป่าดงแดน 

ผ้าทอก็บ่อมีนุ่ง ผ้าถุงก็บ่มีห่ม คาดแต่เตี่ยวเกลียวกลม หนาวลมนี้เหลือแสน 

ระเหินระหกตกยาก มาเป็นคนกากคนแกน ข้อยมีแต่แคนอันเดียว ก็พอได้เที่ยวขอทานเขากิน 

ตกมาอยู่ในเมือง ต้องถีบกระเดื่องกระด้อย สีซ้อมตำต้อย ตะบิดตะบอยบ่ฮู้สิ้น 

ถือแต่เคียวเกี่ยวหญ้าเอาไปให้ม้าของเพื่อนมันกิน เที่ยวซมซมซานซานไปทุกบ้านทุกถิ่น จะได้กินก็แต่เดน 

แสนอึดแสนจน เหมือนอย่างคนตกนาฮก มืดมนฝนตก เที่ยวหยกหยกถกเขมร 

ถือข้องส่องคบเที่ยวไล่จับกบทุ่งพระเมรุ เปื้อนเลนเปื้อนตม เหม็นขมเหม็นคาว 

จับทั้งอ่างท้องขึง จับทั้งอึ่งท้องเขียว จับทั้งเปี้ยวทั้งปูจับทั้งหนูท้องขาว

จับทั้งกบขาเหยียด จับทั้งเขียดขายาวยาว จับมาให้สิ้น เอามาต้มกินกับข้าว 

มันเป็นกรรมของเรา เป็นเพราะอ้ายเจ้าเวียงจันทน์เอย อ้ายเพื่อนเอย”

(แผ่นเสียงแกรมโมโฟน, สมบัติของธงไชย จารุพรชัย อ้างถึงในอานันท์ นาคคง)  โน้ต ลาวแพน

โน้ต ลาวแพน

และอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เชื่อว่าลาวแพนไม่ใช่เพลงแต่งขึ้นเพื่อบรรยายสภาพชีวิตตกทุกข์ได้ยากของตนเองให้คนอื่นได้รู้ หากแต่เป็นบทเพลงตอกย้ำภาพลักษณ์ของผู้พ่ายแพ้สงคราม เชลย ข้าทาส คนชั้นต่ำ คนยากจน หมายถึง คนลาว โดยราชสำนักหรือกองทัพไทย ทั้งนี้ เพราะเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน เช่น การพลัดพราก ความลำบากในการกินอยู่ ต้องจับอ่างท้องขึง จับอึ่งท้องเขียว (ลาวแพน)/จับกบขาเหยียด จับเขียดจับอึ่ง (แอ่ว) ฯลฯ ไม่เพียงแต่ปรากฏในเพลงลาวแพนเท่านั้น หากทว่า “คำแอ่ว” หรือบทขับลำในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนพลายงามตีได้เมืองเชียงใหม่และยกทัพกลับอยุธยา ซึ่งเป็นเสภาสำนวนครูแจ้งวัดระฆัง คนลือชื่อสมัยรัชกาลที่ 3 ได้บรรยายคำรำพัน (แอ่ว) ของเชลยลาวเชียงใหม่แทบไม่ต่างจากบทร้องเพลงลาวแพนเท่าใดนัก ความว่า   

แอ่ว (เพลง/ขับลำ)

@โอ้แสนวิตก   ระหกระเหิน   หาบคอนย่อนเยิ่น   ดุ่มเดินเข้ารก

บุกแฝกแหวกคา   หย่อมหญ้ากอกก   เหงือไคไหลตก   ตะกรกตะกรำ

กินข้าวกะเกลือ   กินเหงื่อต่างน้ำ   กินเช้าต่อสาย   กินงายต่อค่ำ

หยุดบ้างก็บ่ได้   บักไทยตีร่ำ   นั่งเยี่ยวบ่ทันสุด   มันฉุดมันคลำ

ของหกตกคว่ำ   ลากร่ำเข้าในรก   มันทันมันก็ตี   วิ่งหนีมันก็ชก

ริมลู่ริมทาง   ย่างย่างหยกหยก   ขึ้นปกลงปก   อกจะแตกตายเอย

@โอหนออกกู   เมื่ออยู่เมืองเรา   กินค่ำกินเช้า   กับข้าวบ่ขัด

สาวแก่แออัด   นัดกันออกทุ่ง   เที่ยวเก็บผักบุ้ง   จับกุ้งจับปลา

หอยโข่งหอยขม   งมใส่ตะกร้า   ขึ้นบนคันนา   มองหารูปู

ขุดตุ่นขุดหนู   ขุดรูดักแย้   ฉวยด้วงดักแด้   เที่ยวแหย่รูบึ้ง

จับกบขาเหยียด   จับเขียดจับอึ่ง   สิ้นไต้ใบหนึ่ง   เป็นครึ่งค่อนค่อง

เอามาแจ่วมาพล่า   แจ่วห้าแจ่วบ่อง   จะไปเวียงใต้   ของไม่เคยท้อง

กินเผ็ดกินจืด   ท้องปืดท้องป่อง   ท้องขึ้นท้องพอง   จะลงท้องตายเอย ฯ

ภาพลายเส้น วัดพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ เวียงจันทน์
เวียงจันทน์ (ภาพจาก Voyage d’exploration en Indo-Chine)

ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่าเชลยลาวเขียนเพลงบรรยายความตกทุกข์ได้ยากของตนเองนั้น ไม่น่าจริงเสียแล้ว หากทว่าลาวแพนหรือคำแอ่ว น่าจะเป็นถ้อยคำหรือบทประพันธ์ของคนไทยเขียนขึ้น เพื่อตอกย้ำความทุกข์ยากของผู้เป็นเชลย ที่ต้องกลายมาเป็นข้าทาสรับใช้กองทัพไทยหรือคนไทย เพราะเจ้านายตัวเองแพ้สงคราม และอาจเป็นไปได้ด้วยว่า เพลงนี้แพร่หลายในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวบางชุมชน ด้วยชาวบ้านไม่รู้ที่มาที่ไปแท้จริงของเพลง

และอาจจะกล่าวได้ว่า ภาพลักษณ์ของลาวบ้านนอก สกปรก ซื่อโง่ ยากจน ยังคงถูกผลิตซ้ำเรื่อยมาในสังคม แม้ว่ากองทัพไทยพยายามกลืนกลายโดยการการลบภาพคำว่า “ลาว” ออกไป ในปี พ.ศ. 2442 แล้วแทนที่ด้วยคำว่า “อีสาน” หรือ “คนอีสาน” มาตั้งแต่ปี 2443 แต่บทเพลงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเช่นเพลง “แอ่วแปลง” คำร้อง ทำนอง และขับร้องโดย สมยศ ทัศนพันธุ์ ซึ่งเป็นทหารประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ ก็ยังคงรักษาภาพลักษณ์นี้ไว้ โดยการแปลงคำแอ่วเดิมจากเสียงแคนเป็นแซกโซโฟน และใช้ยังคงใช้กลุ่มเสียงทางสั้น (Diatonic Major) เป็นพื้นทำนอง บทร้องความว่า

แอ่วแปลง 

โอ…โอ้ละเหนอ นวลเอย

วิ่งโหย่งโหย่งสิไปโคราช เดินองอาจไปหัวลำโพง ขึ้นรถไฟจะไปสำโรง รถมันโคลงข้อยก็งงเหลือทน มาเมืองบนเห็นคนขี่ซ้าง ข้อยมาเมืองล่างเห็นซ้างขี่คน มองรถราวิ่งมาสับสน เหลือบเห็นคนชาวบางกอกมากมี
โอ…โอ้ละเหนอ นวลเอย

กินข้าวบ่มีหยังกับ นอนบ่หลับอยู่ตั้งหลายแรมปี สุดหนาวใจกระไรสิ้นดี เพราะบ่มีที่นอนหมอนอุ่น ใครเอ็นดูขอจงช่วยเหลือ คุ้มสักเตื้อเมื่อได้มาพึ่งบุญ เพียงได้อิงพึ่งพิงหลับหนุน บ่ทิ้งคุณที่ได้โปรดเมตตา
โอ…โอ้ละเหนอ นวลเอย

วิ่งโหย่งโหย่งหัวใจแทบหยุด ถึงวันตรุษข้อยจะขอวันทา อู้เว้าใจให้มีรักมา สิ้นขวัญตาก็จะพาแสนเปลี่ยว ใจรินรินเหมือนคนสิ้นรัก หัวใจหักก็ต้องกินข้าวเหนียว มองเห็นยุงยิ่งพาหวาดเสียว กัดนิดเดียวก็เป็นตุ่มเม็ดโต
โอ…โอ้ละเหนอ นวลเอย

หรือแม้แต่ภาพลักษณ์การจับกบจับเขียดอย่างในเพลงลาวแพนหรือคำแอ่ว ก็ยังถูกผลิตซ้ำในเพลง “ลาวตีเขียด” ขับร้องโดยสุรพล สมบัติเจริญ บทร้องความว่า

ข้างแรมหน้าหนาว 

กลางคืนเพื่อนลาวเขาเจ้าบ่แจง

มาตบแต่งกายาเที่ยวมาไต้กบ

แล้ ลุน แล่น แต…แล้ แล ลุ แล่น แตร

(ลูกคู่) แล้ ลุน แล่น แต…แล้ แล ลุ แล่น แตร

แล้ ลุน แล่น แต…แล้ แล ลุ แล่น แตร

(ลูกคู่) แล้ ลุน แล่น แต…แล้ แล ลุ แล่น แตร

มือขวาถือไม้ มือซ้ายถือคบ

ไปหาเขียดยามพลบ

ก็ถือคบลงไปท่ง

จับเขียดได้เก็บเอาไว้เกี่ยวเบ็ด

ไปล่อปลาช่อนหัวเกล็ด

มาแกงเผ็ดต้มโคลง

ตกปลาได้หายใจจึงค่อยลง

ได้ปลามามากหลาย

เอาเบ็ดตะพายจนหลังโก่ง

เดินย่ำตามริมโขง

นุ่งโสร่งลอยชาย

โอ…โอ…ละนอ

จากที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่า โอ้ลาว เพลงแอ่ว หรือ ลาวแพน คือบทเพลงการเมืองที่กองทัพไทยได้สร้างภาพลักษณ์หรือปลูกฝังไว้ในสถานการณ์ที่คุกรุ่นด้วยไฟสงครามระหว่างไทยกับลาว ถือเป็นสงครามจิตวิทยาการเมืองของสังคมยุคนั้น แต่การตอกย้ำภาพลักษณ์ด้านลบให้กับคนลาวหรือคนไทยเชื้อสายลาวผ่านบทเพลงนั้น แม้เสมือนเป็นเครื่องมือของกองทัพอย่างหนึ่ง แต่ทว่าด้วยจุดแข็งของวัฒนธรรมบันเทิงของคนลาว ที่ว่า

“…วาจาของคนบางพวกพูดกันว่า เมืองลาวเหมือนเมืองสวรรค์ ทั้งหญิงทั้งชาย ตั้งแต่บ่ายจนดึกมีแต่สนุก ร้องทำทำเพลงรื่นเริงอยู่เป็นนิตย์…” (พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4)

บทเพลงเหล่านี้กลับช่วยเติมเชื้อสนุกให้กับวัฒนธรรมเพลงลาวอีสาน ที่สืบทอดพัฒนาต่อเนื่อง จนยากปฏิเสธได้ว่า เพลงอีสาน คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม “เพลงยอดนิยม” ของคนไทยไปแล้ว ทั้งหมอลำ เพลงไทยลูกทุ่ง เพลงลูกทุ่งหมอลำ เพลงลูกทุ่งอีสาน เพลงอีสานอินดี้ ฯลฯ ซึ่งปรากฏผลมาตั้งแต่ยุคนิยมเล่น “แอ่วลาวเป่าแคน” ในสมัยรัชกาลที่ 4 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2565