“น้ำตาลไม่หวาน” ของคณะราษฎร : การร่วมทุนธุรกิจ ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรและเอกชน

โรงงานน้ำตาลจังหวัดลำปาง เมื่อปี 2482 (ภาพจาก หนังสือ ไทยสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482)

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีความเคลื่อนไหวขอตั้งโรงงานน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง ปรากฏในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2475 โดยบุคคลในคณะราษฎรคือ นายมังกร สามเสน พ่อค้าคนสำคัญสมัยนั้น ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการทำไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลในจังหวัดชลบุรี โดยมีทุนจดทะเบียน 400,000 บาท ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งใช้เป็นทุนปลูกอ้อยจํานวน 10,000 ไร่ พร้อมกับยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ 6 ข้อ โดยมากเป็นเรื่องของการลดหย่อนการเก็บภาษี อีกทั้งยังขอไม่ให้มีผู้ประกอบการรายอื่นตั้งโรงงานแข่งขันเป็นเวลา 15 ปี กับขอสิทธิจับจองที่รกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 120,000 ไร่ เพื่อใช้วางระบบขนส่งและท่อน้ำ และยังเสนอให้ใช้ทุนของคนไทยและคนจีนในไทยเท่านั้น [11]

แต่โครงการนี้ นายมังกร สามเสน ก็ไม่ได้ริเริ่มขึ้น ภายหลังภาครัฐพิจารณาข้อเสนอในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้ข้อสรุปว่า ระยะเวลา 15 ปี นานเกินไป และไม่พร้อมรับรองข้อเสนอดังกล่าว เป็นเพียงแต่จะช่วยเหลือแบบไม่ผูกพันสัญญาแต่อย่างใด โดยรัฐเห็นชอบต่อการใช้กรรมกรสยามและทุนของคนไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 เมื่อสามารถปฏิบัติตามนี้รัฐจะช่วยเหลือตามสมควร [12]

ความพยายามขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐในกิจการโรงงานน้ำตาลของเอกชนดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในปีต่อมา หม่อมหลวงยวง อิศรเสนา ได้มีหนังสือถึง นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2476 แจ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี จะประทานเงินทุนตั้งโรงงานน้ำตาลทรายขาวที่จังหวัดชลบุรี มีกำลังการผลิตปีละ 300 ตัน ใช้วิธีการผลิตแบบโรงสี คือ ให้ชาวไร่อ้อยปลูกอ้อย และโรงงานรับหีบได้แบ่งน้ำตาลคนละครึ่งมีงบประมาณ 500,000 บาท

พร้อมกับมีข้อเสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐโดยขอให้ละเว้นการเก็บภาษีทุกประเภทในกิจการน้ำตาลเป็นระยะเวลา 7 ปี และขอให้รัฐควบคุมจำนวนโรงงานน้ำตาลไม่ให้มากเกินไป กับทั้งให้รัฐช่วยเพิ่มภาษีขาเข้าเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศกรณีที่น้ำตาลนอกประเทศราคาต่ำลง พร้อมกับเสนอให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการนี้ ในสัดส่วนร้อยละ 25-51 และรัฐต้องประกันการขาดทุนให้ด้วย [13]

โครงการนี้ก็เช่นเดียวกับโครงการที่ผ่านมาเพราะรัฐเห็นว่า การปลูกอ้อยของไทยยังสู้ต่างประเทศไม่ได้ และต้องใช้ทุนมาก กับทั้งขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ ประกอบกับจำนวนทุนที่เสนอมาไม่สามารถสร้างโรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้เทคนิคทันสมัยได้ ส่วนเรื่องการคุ้มครองการแข่งขันด้านภาษีก็ติดเงื่อนไขสนธิสัญญากับอเมริกา ส่วนปริมาณการผลิตเพียง 300 ตันนับว่าน้อยมากขณะน้ำตาลนำเข้ามากถึงปีละ 40,000 ตัน และการของดเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 7 ปี อาจสร้างเงื่อนไขให้ธุรกิจประเภทอื่นเรียกร้องจนเกิดปัญหาตามมาได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังเห็นอีกว่า ควรส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งสามารถผลิตได้เพียงพอกับภายในประเทศและสามารถส่งออกได้ ดีกว่าการส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กและไม่อาจเลี้ยงตัวได้เช่นโครงการนี้

โรงงานน้ำตาลริมแม่น้ำนครชัยศรี สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

โรงงานน้ำตาลของพระยามไหสวรรย์ : “น้ำตาลไม่หวาน” ของคณะราษฎร

พระยามไหสวรรย์ (กวย สมบัติศิริ) ซึ่งลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2476 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดี กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และเคยมีประสบการณ์ดูงานกิจการโรงงานน้ำตาลในต่างประเทศเพื่อเตรียมจัดตั้งโรงงานตามโครงการของ จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2470 เป็นเอกชนรายสำคัญที่ยื่นขอให้รัฐบาลคณะราษฎรสนับสนุนกิจการโรงงานน้ำตาลในปี พ.ศ. 2476 ปรากฏข้อความบางตอนในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของขุนนางผู้นี้ว่า

“ท่านจึงได้ร่วมทุนกับผู้ที่สนใจทำการสำรวจและตั้งโครงการเพื่อจะทำโรงงานน้ำตาลขึ้นที่จังหวัดชลบุรี ในบริเวณที่ใกล้เคียงกันกับโรงงานน้ำตาลของบริษัทอุตสาหกรรมชลบุรี จำกัด ที่หนองซากขณะนี้ และได้ติดต่อขอซื้อโรงงานจากบริษัทสโกด้า ประเทศเชคโกสโลวาเกีย ซึ่งก็ได้รับการเสนอโรงงานในราคา 1 ล้านบาท ปัญหาต่อไปจึงอยู่ที่ทุน การทำโรงงานราคาหนึ่งล้านบาทเมื่อก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพานั้นเป็นเรื่องใหญ่โตมากจำเป็นต้องได้รับทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วยแล้วจำต้องขออนุมัติต่อรัฐบาล ขณะที่ดำเนินการเพื่อขอให้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้ามาร่วมด้วยนั้น รัฐบาลเห็นว่าเป็นโครงการดีจึงรับไปทำเสียเอง” [15]

ข้อความดังกล่าวระบุถึงปัญหาสำคัญคือเรื่องเงินทุน ซึ่งเป็นปัญหาเช่นเดียวกับเอกชนรายก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องของกลุ่มผู้ลงทุนร่วมที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งขัดกับนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่เริ่มใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม [16] และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้ต้องเปลี่ยนมือจากเอกชนไปสู่รัฐบาล

แต่จากข้อความนี้อีกเช่นกันที่เห็นถึงความแตกต่างกับโครงการอื่นเพราะรัฐบาลคณะราษฎรให้ความสนใจต่อโครงการของพระยามไหสวรรย์ และเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจากงานค้นคว้าและเรียบเรียง 2 ชิ้นของ สุภัทรา น.วรรณพิณ กับ พวงเพชร สุรัตนกวีกุล และอีกชิ้นหนึ่งของ อัสวิทย์ ปัทมะเวณุ [17] ซึ่งให้รายละเอียดถึงความพยายามลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรกับเอกชน ซึ่งอาจเป็นโครงการทางเศรษฐกิจโครงการแรกสมัยคณะราษฎรที่เกิดในลักษณะนี้

โครงการของพระยามไหสวรรย์เริ่มดำเนินการในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2476 ภายหลังการยื่นหนังสือถึง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในด้านเงินทุนโดยให้รัฐมีหุ้นส่วน 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินทุน พร้อมกับให้รัฐส่งผู้แทนมาเป็นกรรมการในบริษัท ขณะเดียวกันได้ขอให้รัฐออกกฎหมายคุ้มครองอย่าให้มีการแข่งขันกันมาก รวมทั้งให้ตั้งกำแพงภาษีป้องกันการทุ่มตลาดจากต่างประเทศ รวมทั้งขอให้รัฐตั้งชูการ์บิวโร (สำนักงานน้ำตาล) เพื่อดูแลอุตสาหกรรมนี้ และขอให้รัฐอำนวยความสะดวกในการจับจองที่ดินทำไร่อ้อยและตั้งโรงงาน

โครงการนี้รัฐได้เห็นชอบตามความเห็นของกระทรวงเศรษฐการลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2476 แต่มีข้อท้วงติงในบางประการ ได้แก่ ปริมาณการผลิตเพียง 6,000 ตัน หรือ 1 ใน 5 ของปริมาณนำเข้า รัฐบาลเห็นว่าน้อยเกินไป อีกทั้งการขึ้นภาษีขาเข้าเท่ากับบีบให้ราษฎรต้องบริโภคน้ำตาลราคาแพง ถ้าจะสนับสนุนให้มีโรงงานน้ำตาลขึ้นควรทำให้พอกับความต้องการของคนในประเทศ แต่การทำเช่นนี้เป็นการใหญ่และต้องลงทุนมากซึ่งจะเป็นการป้องกันการแข่งขันในตัว เกรงว่าบริษัทจะไม่มีกำลังทำได้ อย่างไรก็ดี เพื่อผลประโยชน์ของรัฐ เอกชน และราษฎร ทำให้รัฐบาลต้องประชุมกันอีกครั้งหนึ่งและมีข้อเสนอของกระทรวงการคลังในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2476 ให้ดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ

1. ให้กระทรวงเศรษฐการสืบสวนทางเทคนิค และติดต่อกับกระทรวงการคลังเรื่องการเงิน 2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ 3. ดำเนินการเรื่องการจองหุ้น

ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการ 15 คน พิจารณาเรื่องการทำน้ำตาลตามความเห็นชอบของพระยาโกมาลกุลมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ หนึ่งในคณะกรรมการมีพระยามไหสวรรย์รวมอยู่ด้วย และมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายละเอียดอีก 1 ชุด ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเห็นสมควรให้โครงการของพระยามไหสวรรย์ดำเนินการได้

แต่แล้วความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานเป็นสิ่งสร้างปัญหาให้เกิดความล่าช้าโดยเฉพาะความเห็นแตกต่างกันระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงเศรษฐการตามบันทึกปัญหาที่พระยาศรยุทธเสนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ที่ให้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ระบุว่า สัดส่วนการถือหุ้นเป็นปัญหาสำคัญของทั้ง 2 กระทรวง โดยกระทรวงเศรษฐการเห็นว่ารัฐควรลงทุน 25 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อเสนอของเอกชน ส่วนกระทรวงการคลังเห็นว่ารัฐควรเข้าหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้รัฐบาลยังแสดงความสงสัยในผลประโยชน์ที่บริษัทที่จะตั้งขึ้นใหม่กับบริษัทศรีราชาที่พระยามไหสวรรย์เคยมีความสัมพันธ์มาก่อนว่าจะเอื้ออำนวยประโยชน์มากน้อยเพียงไร เช่น การใช้ที่ดิน การขนส่งทางรถไฟ ซึ่งสามารถใช้ทรัพย์สินของบริษัทศรีราชาได้ โดยรัฐได้ตั้งกรรมการพิจารณาในภายหลัง

คณะกรรมการของรัฐบาลได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการตั้งโรงงานน้ำตาลในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2478 ระบุให้โรงงานมีกำลังหีบอ้อยวันละ 500 ตัน โดยให้มุ่งจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก พร้อมกับให้ใช้ชาวต่างประเทศมาอำนวยการผลิต ส่วนรัฐบาลจะถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ และให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและตามความจำเป็นเพื่อประคับประคองกิจการนี้ให้ดำเนินต่อไปได้

เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามหลักการข้างต้นแล้ว จึงให้กระทรวงเศรษฐการดำเนินการทำหนังสือบริคณห์สนธิ และดำเนินการในเรื่องการจองหุ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งพระยามไหสวรรย์ได้ดำเนินการทำหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทน้ำตาลสยาม จำกัด ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แบ่งเป็น 10,000 หุ้น มีผู้เริ่มดำเนินการ 20 คน ซึ่งมีทั้งบุคคลในคณะราษฎร เช่น หลวงพิบูลสงคราม และนายตั้ว ลพานุกรม อีกส่วนหนึ่งเคยเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำตาลมาก่อนได้แก่ เจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ และหม่อมหลวงยวง อิศรเสนา และจำนวนไม่น้อยเป็นพ่อค้าสำคัญในสมัยนั้น เช่น นายม้าเลียบคุณ นายกวงเอี่ยม (แซ่เหีย) นายโลเตี้ยก ชวน และนายเอ็กโป้ย วีสกุล กลุ่มผู้ร่วมลงทุนที่หลากหลายแสดงถึงความสนใจในโครงการนี้อย่างมากทั้งจากภาครัฐและเอกชน

พระยามไหสวรรย์ได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท การจับจองที่ดินจำนวนถึง 4,202 ไร่ เพื่อปลูกอ้อยและสร้างโรงงาน รวมทั้งการโฆษณาชี้ชวนชาวไร่อ้อยและผู้ถือหุ้นต่าง ๆ เตรียมสัญญาซื้อขายอ้อย การเช่าที่ทำการของบริษัท รวมทั้งจ้างพนักงานปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวด้วย ในการดำเนินงานประสบปัญหาจากการจำหน่ายหุ้นที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย เพราะสามารถขายหุ้นได้เพียง 1,201 หุ้น หรือ 12.01 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ พ่อค้าและประชาชนยังขาดความมั่นใจทางการตลาด เพราะเห็นว่า น้ำตาลล้นตลาดโลกอยู่แล้ว และผู้ลงทุนไม่เชื่อมั่นในการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล เกี่ยวกับการยกเว้นภาษีภายในและการตั้งกำแพงภาษี

เนื่องจากปัญหาการจำหน่ายหุ้นทำให้พระยาศรยุทธเสนีมีแนวคิดที่จะให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมทุน แต่เกรงว่าจะขัดต่อนโยบายรัฐบาล จึงทำหนังสือถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี สอบถามเงื่อนไขการตั้งกำแพงภาษีและกำหนดการที่แน่นอนของการยกเว้นภาษีการค้าภายใน และแสดงความเห็นว่ากระทรวงเศรษฐการต้องให้ความช่วยเหลือต่อไป ประเด็นนี้ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ให้ทั้ง 3 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงการคลัง และกระทรวงเศรษฐการ พิจารณาและได้ข้อสรุปในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 เห็นว่ารัฐบาลควรดำเนินการเสียเอง โดยให้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมาอำนวยการแทนคนไทย และให้ร่วมลงทุนกับรัฐบาล พร้อมกับให้บริษัทเพิ่มเงินลงทุนและค่าเครื่องจักรขึ้นอีก 4 แสนบาท ส่วนการถือหุ้นแม้รัฐบาลจะแสดงความต้องการกิจการนี้แต่รัฐยังคงสัดส่วนหุ้นไว้ที่ 25 เปอร์เซ็นต์เช่นเดิม

ในด้านของผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทได้ประชุมในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2479 มีมติแตกออกเป็นความเห็น 3 ประการ มีทั้งที่เสนอให้ขายหุ้นแก่ต่างชาติ บางส่วนเสนอให้ลดทุนลงโดยลดขนาดของโรงงาน อีกส่วนเสนอให้ยุติโครงการนี้ เพราะทราบว่ารัฐต้องการดำเนินการเอง ในที่สุดที่ประชุมมีหนังสือสอบถามไปถึงรัฐบาลเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติว่าไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ รัฐจะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่ารัฐบาลต้องการสนับสนุนคนไทย หากมีต่างชาติเข้ามาถือหุ้นรัฐจะถอนหุ้นทั้งหมด

จนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2479 พ.อ. พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ได้ตอบพระยาศรยุทธเสนี ประธานคณะผู้เริ่มดำเนินการจัดตั้งบริษัทว่า กระทรวงเศรษฐการขออนุมัติคณะรัฐมนตรีถอนการจองหุ้นแล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติถอนหุ้นในอีก 2 วันต่อมา ส่วนพระยามไหสวรรย์มีความพยายามอีกครั้งในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2479 ชี้แจงต่อรัฐบาลว่า หากขอให้รัฐเพิ่มหุ้นในบริษัทจะได้หรือไม่เพราะบริษัทมีทางจำหน่ายหุ้นให้แก่ชาวต่างประเทศ และได้รับคำตอบว่า รัฐจะไม่ร่วมลงทุนกับโครงการนี้แล้ว

ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2479 คณะผู้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทเรียกประชุมกันมีมติว่าให้ยกเลิกโครงการนี้และแจ้งกระทรวงเศรษฐการทราบ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2479 ซึ่งทางกระทรวงเศรษฐการได้แจ้งต่อพระยาพหลพลพยุหเสนาและบรรดาคณะรัฐมนตรี ส่วนเรื่องโรงงานน้ำตาลเป็นหน้าที่ของกระทรวงเศรษฐการจะดำเนินการต่อไป

ปัญหาการจำหน่ายหุ้นจะนำไปสู่การระงับความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรกับเอกชน อีกทั้งทำให้รัฐเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ลงทุนทางธุรกิจโดยตรง โดยรัฐได้ดำเนินการตั้งโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดลำปางและอุตรดิตถ์ในภายหลัง

เครื่องจักรภายในโรงงานน้ำตาลจังหวัดลำปาง เมื่อปี 2482 (ภาพจาก หนังสือ ไทยสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482)

สำหรับพระยามไหสวรรย์ แม้ว่าจะพลาดจากโครงการสำคัญครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้ละความพยายามจนประสบความสำเร็จด้วยการมีโรงงานขนาดเล็กผลิตวันละ 10 ตัน และใช้วัตถุดิบเป็นน้ำตาลโตนดจากจังหวัดเพชรบุรีและน้ำตาลมะพร้าวซึ่งสามารถสกัดเป็นน้ำตาลทรายขาวได้ และจำหน่ายได้ดีในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาเพราะน้ำตาลทรายขาวจากต่างประเทศไม่สามารถส่งมาจำหน่ายได้ ทำให้สร้างผลกำไรจนขยายกำลังการผลิตเป็นวันละ 20 ตัน ก่อนจะเลิกกิจการในปี พ.ศ. 2505 เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ได้ [18]

บนเส้นทางของความหวานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรและเอกชนในกิจการโรงงานน้ำตาล กลับไม่ได้หวานชื่นเพราะประสบปัญหานานาประการ ทั้งจากการขาดแคลนเงินทุน การจำหน่ายหุ้น ความขัดแย้งบางส่วนจากบุคคลในรัฐบาล ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ทำให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจของทั้งสองฝ่ายไม่สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ดีบนพื้นฐานของผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน เหตุการณ์ดังกล่าวยังเป็นภาพสะท้อนของปัญหาการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลและเอกชนซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[11] อัสวิทย์ ปัทมะเวณุ. ตามรอยน้ำตาล. (กรุงเทพฯ : ที.พี.พริ้นท์ จำกัด, 2539). น. 230

[12] หจช.สร.0201.22.2.7/2 เรื่องนายมังกร สามเสน ขอตั้งบริษัททำน้ำตาลที่จังหวัดชลบุรี (18 พ.ย. – 4 ม.ค. 2475) อ้างถึงใน สุภัทรา น.วรรณพิณ และ พวงเพชร สุรัตนกวีกุล. “ประวัติการผลิตน้ำตาลจากอ้อยในประเทศไทย,” ใน สหวิทยาการของอ้อยและน้ำตาล รวมบทความเนื่องในโอกาสครบรอบ 43 ปี กลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด 2499-2542. (กรุงเทพฯ : บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด, 2542), น. 240.

[13] อัสวิทย์ ปัทมะเวณุ, ตามรอยน้ำตาล, น. 230

[14] เรื่องเดียวกัน, น. 231.

[15] หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพพระยามไหสวรรย์ (กรุงเทพฯ : บริษัทบพิธ จำกัด, 2518), น. 151.

[16] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2540), น. 115.

[17] หจช.สร.0201.22.2.7/4 เรื่องโรงงานน้ำตาลหรือบริษัททำน้ำตาล ตอน พระยามไหสวรรย์ เริ่มก่อการจัดตั้งที่เมืองชล, ตอนที่ 2 (22 ม.ค. 2476 – 6 ธ.ค. 2480) อ้างถึงใน สุภัทรา น.วรรณพิณ และ พวงเพชร สุรัตนกวีกุล. “ประวัติการผลิตน้ำตาลจากอ้อยในประเทศไทย,” ใน สหวิทยาการของอ้อยและน้ำตาล, น. 241-245. และ อัสวิทย์ ปัทมะเวณุ, ตามรอยน้ำตาล, น. 233-240.

[18] หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพพระยามไหสวรรย์ (กรุงเทพฯ : บริษัทบพิธ จำกัด, 2518), น. 152.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “‘น้ำตาลไม่หวาน’ ของคณะราษฎร : ภาพสะท้อนกิจการร่วมทุนทางธุรกิจ ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรและเอกชน” โดย นนทพร อยู่มั่งมี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2564