จาก “ยุคน้ำผึ้ง” สู่ “ยุคน้ำตาล” ประวัติศาสตร์ “ความหวาน” ที่เปลี่ยนแปลงโลก

น้ำผึ้ง มือ คน รังผึ้ง
ภาพการผลิตน้ำผึ้งจากฟาร์มของประเทศสเปน (SPAIN-ORGANIC-FOOD-HONEY / AFP)

ก่อนที่มนุษย์จะสามารถคิดค้นวิธีการทำ “น้ำตาล” ขึ้นมาได้ มนุษย์ได้ใช้สิ่งของที่มีรสชาติหวานในการปรุงอาหารไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ต่างๆ รวมไปถึงความหวานจาก “น้ำผึ้ง” โดยความสำคัญของความหวานที่สกัดมาจากรังผึ้งนั้นเห็นได้จากการที่มีการขนานนามว่า “ยุคน้ำผึ้ง” ก่อนที่โลกของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งหลังจากที่สามารถคิดค้นวิธีผลิตน้ำตาลขึ้นมาได้

ในหนังสือ น้ำตาลเปลี่ยนโลก (Sugar Changed the World) ของ Marc Aronson และ Marina Budhos แปลโดย วิลาสินี เดอเบส อธิบาย “ยุคน้ำผึ้ง” และการมาถึงของ “ยุคน้ำตาล” ไว้ดังนี้


 

ยุคน้ำผึ้ง

สมัยก่อนบนโลกยังไม่มีน้ำตาลเม็ดขาวๆ ที่ละลายบนลิ้นคุณ นักประวัติศาสตร์กล่าวถึงยุคเหล็ก ยุคสำริด ซึ่งเป็นโลหะที่ใช้ทำอาวุธและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ทว่าเราก็สามารถกล่าวถึงช่วงเวลาหลายพันปีแรกของประวัติศาสตร์ของมนุษย์ว่าเป็นยุคน้ำผึ้งได้เช่นกัน

ภาพเขียนบนหินที่สเปนซึ่งมีอายุราว 7,000 ปีก่อนคริสตกาล เป็นภาพผู้ชายปีนขึ้นไปบนไหล่เขาและเห็นรอยแตกซึ่งมีรังผึ้งอยู่ข้างใน เขาจึงเอื้อมหยิบน้ำผึ้งออกมา โดยความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าส่วนไหนก็ตามที่ไม่มีน้ำแข็งปกคลุมในยุโรป แอฟริกา หรือเอเชีย คนเดินทางผู้โชคดีก็อาจมีโอกาสเจอรังผึ้งและน้ำผึ้งอันโอชะโดยยอมเสี่ยงกับการถูกผึ้งต่อยบ้าง

ในทวีปอเมริกาไม่มีน้ำผึ้ง ดังนั้น ผู้คนจึงใช้น้ำเชื่อมจากต้นเมเปิล ต้นหางจระเข้ หรือไม่ก็ผลไม้บด เป็นสารเพิ่มความหวานแทน หลังจากนั้นก็มีคนคิดได้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องอาศัยโชคช่วย คุณสามารถขุดท่อนไม้ใกล้ๆ บริเวณที่มีน้ำผึ้งอยู่ให้เป็นโพลงเพื่อให้มันมาทำรัง คุณสามารถ “เลี้ยง” ผึ้งได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปตามหามัน

ในยุคน้ำผึ้งคนใช้วิธีชิมพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ในละแวกที่พวกเขาอาศัยอยู่ตั้งแต่ดอกส้มซึ่งมีรสชาติอ่อนๆ จนเกือบจะเหมือนน้ำหอม ไปจนถึงบัควีตดำซึ่งแฝงรสธัญพืชเจอรสดิน น้ำผึ้งมีรสหวานเหมือนดอกไม้พื้นเมือง และนั่นเป็นเพียงด้านเดียวของความเย้ายวนใจของน้ำผึ้ง

ผึ้งเป็นสัตว์ที่ขยันขันแข็ง และจะเห็นได้ว่าผึ้งงานจะวนเวียนอยู่รอบๆ ราชินีผึ้งเพื่อปกป้องและรับใช้ คนโบราณถือว่ารังผึ้งเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดเพราะมันให้รสชาติหอมหวาน ในขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพชีวิตของพวกเขาด้วย เทียบได้กับพระราชาหรือพระราชินีซึ่งมีพสกนิกรผู้จงรักภักดีห้อมล้อมอยู่นั่นเอง

น้ำผึ้งเป็นเสมือนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในอดีต กล่าวคือคนบริโภคอาหารซึ่งปลูกอยู่ในท้องถิ่นของพวกเขา ทำมาหากินแบบเดียวกับพ่อแม่และบรรพบุรุษ รวมทั้งเคารพนับถือกษัตริย์ ขุนนาง และกลุ่มคนที่อยู่เหนือกว่า เนื่องจากผึ้งที่อยู่ในรังดูจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการใช้ชีวิตร่วมกันของมนุษย์ เวอร์จิลผู้เป็นกวีชาวโรมันจึงมองว่าผึ้งมีรัศมีของเทพเจ้าในตัว มีบางคนกล่าวว่าผึ้งได้รับของขวัญจากพระเจ้าซึ่งก็คือสถิปัญญานั่นเอง

น้ำตาลแตกต่างไปจากน้ำผึ้งตรงที่ให้รสชาติความหวานมากกว่าและต้องมีการคิดค้นขึ้นมา เช่นเดียวกับการผลิตคิดค้นเหล็กหรือพลาสติก

ในยุคน้ำตาลนั้นชาวยุโรปซื้อสินค้าที่ผลิตจากแดนไกลซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำผึ้งซึ่งหาได้แถวบ้าน ที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะว่าน้ำตาลทำให้เกิดการอพยพผู้คนไปทั่วโลก หลายล้านคนอพยพไปในฐานะทาสโดยมีโซ่ล่ามไป และมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เดินทางไปเพื่อแสวงหาโชคลาภ

รสชาติอันเลอเลิศเป็นผลพวงมาจากการทารุณแรงงาน และนั่นก็คือด้านมืดของน้ำตาล แต่ก็มีเรื่องอื่นด้วยเช่นกัน ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับน้ำตาลแพร่ขยายไปพร้อมกับวิทยาการของมนุษย์ที่ก้าวหน้าไป รวมทั้งในขณะที่เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างอารยธรรมและวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ต่างๆ อันที่จริงในขณะที่น้ำตาลคือสาเหตุให้ระบบทาสแพร่ขยายออกไป การที่โลกเชื่อมโยงกันเพราะน้ำตาลก็ส่งผลให้เกิดแนวคิดจริงจังเกี่ยวกับอิสรภาพของมนุษย์ด้วย

เราต่างปรารถนารสชาติหอมหวานของน้ำตาล ผู้คนทั่วโลกทุกหนแห่งต่างเต็มใจที่จะทำอะไรก็ตามเพื่อให้ได้สัมผัสความหวานของมัน เรารู้ดีว่าการได้ลิ้มรสน้ำตาลเป็นครั้งแรกมันน่าตื่นเต้นขนาดไหน

เมื่อคณะสำรวจของลูอิสและคลาร์ค (คณะสำรวจของสหรัฐอเมริกา) พบกับชนพื้นเมืองเผ่าโชโชนีซึ่งก่อนหน้านี้แทบจะไม่รู้จักผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากโลกเก่าเลย ซาคา กาเวอาได้มอบน้ำตาลก้อนเล็กๆ ให้หัวหน้าเผ่าและเขาก็ชอบมาก พร้อมกับบอกว่า “มันเป็นสิ่งที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่เขาเคยลิ้มรสมา”

น้ำตาลทำให้เกิดความหิวโหย ความอยาก ซึ่งแผ่ขยายจากมุมหนึ่งไปสู่อีกมุมหนึ่งของโลก ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานและความย่อยยับอย่างแสนสาหัส แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับแนวคิดด้านเสรีภาพด้วยในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2565