ผู้เขียน | แสนยากร ปุญสิริ |
---|---|
เผยแพร่ |
นอกเหนือจากหลัก 6 ประการแล้ว หนึ่งในพันธกิจสำคัญของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ 2475 ก็คือ การเปลี่ยนแปลงค่านิยมการบริโภคของประชาชน ให้หันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น ถูกหลักโภชนาการมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนที่ต้องเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังหลักของชาติ ทำให้อุตสาหกรรม เนื้อ (ไก่) นม ไข่ ถูกพัฒนาขึ้นอย่างมหาศาลในยุคคณะราษฎร นอกจากสามสิ่งข้างต้นแล้ว “น้ำตาล” ผลผลิตจากอ้อยที่ให้พลังงานมหาศาลก็เป็นอุตสาหกรรมที่ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในยุคนี้ด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าเมื่ออุตสาหกรรมน้ำตาลถูกพัฒนาแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือ “อุตสาหกรรมความหวาน” อันหมายถึง อาหาร ขนม หรือเครื่องดื่ม ที่มีวัตถุดิบหลักคือ น้ำตาล
อุตสาหกรรมน้ำตาลในสยามถือกำเนิดอย่างจริงจังในช่วงต้นทศวรรษ 2470 โดยการขับเคลื่อนของ “เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี” ได้พยายามจะจัดตั้งโรงงานน้ำตาลของเอกชนขึ้นมา และขอการสนับสนุนจากรัฐ แต่กิจการดูมีทีท่าจะไม่ราบรื่นเท่าไหร่นัก ต่อมาเกิดการปฏิวัติ 2475 เอกชนหลายภาคส่วนได้ขอการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อจัดตั้งโรงงานน้ำตาลอีกครั้ง แต่กระนั้นด้วยปัจจัยหลาย ๆ ทั้งทุนเริ่มต้นที่สูงเกินไป หรือตลาดในไทยไม่ใหญ่พอ ส่งผลให้ในช่วงแรกรัฐบาลคณะราษฎรไม่ได้สนับสนุนการตั้งโรงงานน้ำตาลแก่เอกชน
จนกระทั่งเกิดโครงการของ “พระยามไหสวรรย์” ที่ต้องการตั้งโรงงานน้ำตาล โดยขอการร่วมทุนจากรัฐบาลคณะราษฎร ภายใต้การวางแผนและการกำหนดเงื่อนไขที่รัดกุม ทำให้รัฐบาลคณะราษฎรยินยอมกับข้อเสนอร่วมทุนและจัดตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นมา (แม้ภายหลังจะปิดตัวไปเพราะความล้มเหลว) นี่เองอาจเป็นหมุดมายสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศได้ขยายตัว จนทำให้ทศวรรษถัด ๆ มา น้ำตาลกลายเป็นสินค้าล้นตลาดไป
กระนั้นแล้ว แม้น้ำตาลในตลาดจะมีเยอะเกินไป แต่ด้วยความตั้งใจแต่เดิมของรัฐบาลคณะราษฎรรวมถึงรัฐบาลต่อ ๆ มาที่สนับสนุนการบริโภคน้ำตาล ทำให้น้ำตาลที่ล้นตลาดแปรเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมความหวานอื่น ๆ ที่ล้วนแต่เป็นที่คุ้นตาของชาวไทยเป็นอย่างดี ในช่วงหลังทศวรรษ 2500 อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีวันไหนที่ราษฎรจะไม่ได้บริโภคน้ำตาลที่มาจากโรงงานน้ำตาลของไทย
อุตสาหกรรมความหวานที่ถูกนึกถึงเป็นอย่างแรก ๆ คือ “ลูกอม” หรือ “ลูกกวาด” ขนมที่ต้องนำน้ำตาลมาเคี่ยวแล้วนวดให้เป็นก้อน ก่อนจะตัดออกมาเป็นเม็ดเล็ก ๆ ลูกอมหรือลูกกวาดคือขนมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่เยาวชนเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ที่มักจะแวะไปซื้อลูกอมหลากหลายยี่ห้อจากโถใส่ที่ร้านของชำทุกครั้งเมื่อมีโอกาส โดยหนึ่งในลูกอมที่ยังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบันอย่าง “ฮอลล์” แบรนด์ลูกอมจากอังกฤษเอง ก็ได้ถูกนำมาผลิตในโรงงานและจัดนำหน่ายในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2508
อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง รวมถึงผลไม้อบแห้งเองก็เติบโตขึ้นมาภายใต้บริบทของน้ำตาลเต็มตลาดเช่นกัน ทั้งสองเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 2530 โดยมีการผลิตออกมาเป็นจำนวนหลายแสนตันต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้กระป๋องที่เติบโตขึ้นมาสอดรับกับกระแสการส่งออกผลไม้ไทยที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ผลไม้กระป๋องมาลี ที่เริ่มจัดจำหน่ายในช่วงทศวรรษ 2520 ที่ได้รับความนิยมจากทั่วประเทศ
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กลายเป็นภาพจำของทุก ๆ คนก็คืออุตสาหกรรมเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำอัดลม ต้องกล่าวก่อนว่า น้ำอัดลมเป็นสิ่งที่มีในไทยมานานแล้ว นับตั้งแต่การเข้ามาของชาติตะวันตกในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมน้ำอัดลมได้เติบโตขึ้นมากลายเป็นเครื่องดื่มของคนทุกคนอย่างแท้จริงเกิดขึ้นหลังจากทศวรรษที่ 2500 จากภาคอุตสาหกรรมน้ำอัดลมที่เห็นถึงโอกาสจึงขยายกำลังผลิตในไทย เครื่องดื่ม เช่น 7-up, pepsi, coke หรือ rc-cola เอง ก็คือยี่ห้อน้ำอัดลมที่คนไทยในยุคสมัยนั้นรู้จัก
กล่าวได้ว่า ผลพวงจากแนวปฏิบัติของรัฐบาลคณะราษฎรในด้านอาหาร นอกจากจะเกิดความเปลี่ยนแปลงใน “ภูมิทัศน์ด้านรสชาติ” แล้ว ยังส่งผลต่อการเติบโตขึ้นของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่ง “อุตสาหกรรมน้ำตาล” คือหนึ่งในสิ่งที่เติบโต และด้วยการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้น้ำตาลในตลาดมีมากเกินความต้องการ
สภาวการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อการเติบโตของ “อุตสาหกรรมความหวาน” ที่นำ “น้ำตาล” มาแปรรูปจนกลายเป็น “ความทรงจำ” บน “ลิ้น” ของคนไทย สอดรับกับความตั้งใจของรัฐบาลคณะราษฎรรวมถึงรัฐบาลยุคถัดมา ที่มุ่งหวังให้ราษฎรบริโภคน้ำตาลมากขึ้น จนส่งผลต่อวัฒนธรรมทางอาหารของไทยในปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- จาก “ยุคน้ำผึ้ง” สู่ “ยุคน้ำตาล” ประวัติศาสตร์ “ความหวาน” ที่เปลี่ยนแปลงโลก
- “น้ำตาลไม่หวาน” ของคณะราษฎร : การร่วมทุนธุรกิจ ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรและเอกชน
- ผลิตน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิม ของคนแม่กลอง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อ้างอิง ชาติชาย มุกสง. (2565). ปฏิวัติที่ปลายลิ้น. กรุงเทพ: มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 26 มิถุนายน 2566