
เผยแพร่ |
---|
มนุษย์เหมือนกัน แต่ไม่เท่าเทียมกัน คือความเป็นจริงในยุคน้ำตาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทาสต้องเผชิญกับความโหดร้ายในอดีตที่ผ่านมา ชาวยุโรปรวมทั้งชาวอาณานิคมในทวีปอเมริกาต่างกดขี่ข่มเหงแรงงานชาวแอฟริกันเสมือนว่า พวกเขาเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในกระบวนการผลิตน้ำตาลเท่านั้น ส่งผลให้เกิดการโค่นล้มฝ่ายปกครอง และเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศทั่วโลก
ซึ่ง มาร์ค แอรอนสัน, มารินา บูโดส-เรียบเรียง (วิสาสินี เดอเบส-แปล) เล่าเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ ในหนังสือ “น้ำตาลเปลี่ยนโลก” (สนพ. มติชน, กรกฎาคม 2555) ในที่นี้ขอนำบางส่วนที่เกี่ยวกับประเทศอังกฤษ และอเมริกามานำเสนอดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
เมื่อโทมัส เจฟเฟอร์สัน, จอห์น อดัมส์ และเบนจามิน แฟรงคลิน เขียนคำประกาศอิสรภาพขึ้นมา เจฟพอร์สันจึงย้ำว่ามีสิทธิบางอย่างที่มนุษย์ไม่มีวันจะสูญเสียไปนั่นก็คือ ชีวิต เสรีภาพ ทรัพย์สิน (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความหมายของคำว่า “การแสวงหาความสุข”) อย่างไรก็ตาม แม้เจฟเฟอร์สันจะคิดว่าความเป็นทาสเป็นเรื่องเลวร้าย และเขาอยากจะให้มันหมดไปในที่สุด แต่เขาก็ยังคงมีความเชื่ออยู่ว่าตนเองมีสิทธิซื้อขายทาสได้
ในยุคของน้ำตาล ชาวอเมริกันสละชีวิตเพื่อปกป้องสิ่งที่พวกเขาเป็นเจ้าของ แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นเจ้าของทาส ที่แปลกประหลาดก็คือ อังกฤษกลับเป็นฝ่ายท้าทายความคิดที่ว่าคนเราสามารถถูกซื้อขายได้ด้วยหรือ
และทั้งหมดนั้นก็เริ่มต้นจากงานวิชาการชิ้นหนึ่ง
แต่ละปีมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จะมีรางวัลให้แก่บทความภาษาละตินที่เขียนได้ดีที่สุด เห็นได้ชัดว่าเป็นการแข่งขันของพวกคงแก่เรียนไม่กี่คน การได้รับรางวัลนี้ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในปี 1785 ชายผู้เป็นคนเลือกหัวข้อการแข่งขันได้ตัดสินใจใช้หัวข้อเรื่องเพื่อเป็นอาวุธต่อต้านระบบทาส ดังนั้น เขาจึงขอให้ผู้เข้าแข่งขันตอบคำถามว่า “การบังคับให้ผู้อื่นเป็นทาสเป็นสิ่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” โทมัส คล้าคสัน เชี่ยวชาญภาษาละตินมาก เขาจึงพิชิตรางวัลนี้ไป
เขามีจุดมุ่งหมายเพื่อเขียนบทความให้ได้รางวัลเท่านั้นเอง แต่ขณะที่เขียน เขากลับรู้สึกเห็นจริงเห็นจังไปด้วย “ความคิดแล่นเข้ามาในหัวผมว่าถ้าหากเนื้อหาสาระในบทความเป็นจริง มันก็ถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีใครสักคนทำให้เรื่องเลวร้ายเหล่านี้จบสิ้นลงเสียที”
เมื่อคล้าคสันตระหนักว่าทุกวินาทีในทุกวันมีชีวิตของผู้คนมากมายถูกคร่าไป และเขาก็ปล่อยให้มันเกิดขึ้น เขาจึงเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตัวเอง โดยยอมทำทุกอย่างเพื่อยกเลิกระบบทาส ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอันเลวร้าย เขาบรรยายเอาไว้ว่า “ยามกลางวันข้าพเจ้ารู้สึกกระวนกระวาย ยามกลางคืนข้าพเจ้านอนไม่หลับ บางครั้งข้าพเจ้าข่มตาหลับไม่ลงเพราะความทุกข์ใจ”
ประชาชนชาวอังกฤษผู้บริโภคน้ำตาลตอนนั้นประมาณปีละ 18 ปอนด์ แทบจะไม่รู้เรื่องราวความทุกข์ยากของทาสแอฟริกัน ซึ่งใช้หยาดเหงื่อแรงงานผลิตน้ำตาลมาปรุงอาหารของพวกเขา แต่ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ชาวอังกฤษผู้ตอกไม้ เย็บใบเรือ และผลิตเชือกเพื่อใช้ในเรือบรรทุกทาส หรือต่อถังใส่น้ำตาล ซึ่งทาสเป็นผู้ลงแรงเก็บเกี่ยวมานั้น มีเงินทองรายได้จากการค้าทาส ชาวอังกฤษร่ำรวยขึ้นเพราะมีการทำให้ชาวแอฟริกันกลายเป็นทรัพย์สิน
ในทศวรรษต่อมามีการเรียกคล้าคสันและคนอื่น ๆ ซึ่งมีความเชื่อเช่นเดียวกับเขาว่าเป็นผู้รณรงค์การเลิกทาส
คนเหล่านี้ตระหนักว่าในขณะที่ความเชื่อมโยงนั้นทำให้ชาวอังกฤษได้ผลประโยชน์จากระบบทาส แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดแรงผลักดันต่อต้านระบบทาสด้วย ถ้าหากเขาสามารถทวนกระแสได้ คือทำให้คนที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบทาสเห็นภาพความน่ากลัวของมัน ก็อาจจะทำให้การกระทำอันชั่วร้ายจบสิ้นลงไป
บรรดาผู้รณรงค์การเลิกทาสมีความฉลาดหลักแหลม พวกเขาคิดค้นการประชาสัมพันธ์ซึ่งมีประสิทธิภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยคิดค้นเทคนิคต่าง ๆ ที่เราใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อคล้าคสันไปบรรยาย เขาจะแกว่งแส้และกุญแจมือที่ใช้กับทาสไปด้วย
เขาจัดพิมพ์คำให้การของกะลาสีเรือและแพทย์ประจำเรื่อซึ่งบรรยาย ความโหดร้ายและการทารุณกรรมบนเรือบรรทุกทาส เมื่อโอเลาดา อากวิอาโน จัดพิมพ์บันทึกความทรงจำของเขาขึ้นมา เขาได้ให้ความรู้ผู้อ่านเกี่ยวกับความน่ากลัวของการค้าทาส และหลังจากคนอังกฤษเริ่มเข้าใจว่าระบบทาสคืออะไร คล้าคสันและคนอื่น ๆ ก็จัดตั้งขบวนการที่เราคงจะเรียกกันว่าการคว่ำบาตร “เครื่องดื่มที่ใช้เลือดทำให้มีรสหวาน”
แรงงานทาสมีความสำคัญมากเพราะมันทำให้ต้นทุนผลิตน้ำตาลมีราคาถูก ทำให้ทุกคนต้องการซื้อหา แต่ถ้าผู้คนเลิกซื้อน้ำตาลจากแรงงานทาส ระบบทาสทั้งหมดย่อมล่มสลาย ช่วงก่อนจะมีการปฏิวัติอเมริกันนั้น สตรีชาวนิวอิงแลนด์ต่างปฏิเสธการซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของอังกฤษรวมทั้งชาด้วย
การสูญเสียรายได้ทำให้สภานิติบัญญัติที่ลอนดอนต้องยกเลิกการเก็บภาษีบางประเภทในอเมริกา ฝ่ายต่อต้านระบบทาสจึงใช้กลยุทธ์เช่นเดียวกันนี้ กล่าวคือมีชาวอังกฤษประมาณ 400,000 คนร่วมกันเลิกซื้อน้ำตาลซึ่งทาสเป็นผู้ปลูกและเก็บเกี่ยว พวกเขากลับไปซื้อน้ำตาลแท่งที่ติดป้ายว่า “ผลิตโดยแรงงานของเสรีชน” อันเป็นน้ำตาลจากอินเดีย
เมื่อชาวอังกฤษมองดูน้ำตาลที่พวกเขาบริโภคอยู่ทุกวัน คล้าคสันและผู้รณรงค์การเลิกทาสคนอื่น ๆ ได้ทำให้พวกเขาเห็นภาพทาสผู้ผลิตน้ำตาลต้องสูญเสียเลือดเนื้อ เนื่องจากน้ำตาลที่ผลิตโดยทาสมีจำหน่ายแพร่หลายมาก จึงยากที่ชาวอังกฤษจะมองข้ามความเป็นจริงของระบบทาส น้ำตาลคือตัวเชื่อมโยงเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์จำพวกรองเท้ากีฬา เสื้อยืด และพรม ซึ่งในปัจจุบันเรารู้ดีว่าล้วนผลิตโดยแรงงานในโรงงานนรก
หากคุณต้องการสินค้า เหล่าผู้รณรงค์การเลิกทาสก็บีบให้คุณต้องคิดว่า น้ำตาลได้มาอย่างไร การมีทาสอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเก่าแก่โบราณพอ ๆ กับอารยธรรมมนุษย์ กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เป็นรูปแบบการกระทำไร้มนุษยธรรมอย่างที่ผู้คนจะยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2564