ย้อนกิจการโรงงาน “น้ำตาล” ในไทย ในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

โรงงานน้ำตาลริมแม่น้ำนครชัยศรี สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

กิจการโรงงานน้ำตาลนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะน้ำตาลจากอ้อยที่มีชาวจีนเป็นผู้นำพันธุ์อ้อยมาปลูกและดำเนินการผลิตซึ่งปรากฏในปี พ.ศ. 2353 ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 2 ครั้งนั้นส่งออกได้กว่า 6,000 หาบ [1]

ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบอร์นี พ.ศ. 2369 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 มีการส่งออกน้ำตาลในปริมาณมากขึ้น เช่น ปี พ.ศ. 2387 มีปริมาณส่งออกถึง 110,000 หาบ [2] ทั้งนี้เป็นไปตามความต้องการของตลาดโลกโดยมีลูกค้าสำคัญคือ อเมริกาและอังกฤษ [3]

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ระหว่างปี พ.ศ. 2405-8 การส่งออกน้ำตาลได้ขยายตัวอย่างมาก เห็นได้จากมีการสร้างโรงงานที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำขึ้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำนครชัยศรีถึง 25 โรง จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2432 กิจการโรงงานน้ำตาลเริ่มประสบปัญหาการส่งออก เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ การส่งออกจึงหยุดชะงักลง ซึ่งสัมพันธ์กับการแข่งขันการผลิตน้ำตาลในยุโรปซึ่งใช้หัวผักกาดหวาน (หัวบีต) เข้ามาทดแทนน้ำตาลจากอ้อยซึ่งมีฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นผู้นำการผลิต ประกอบกับความต้องการสินค้าข้าวทำให้มีการลดพื้นที่การปลูกอ้อยลงเพื่อเปลี่ยนเป็นนาข้าวโดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำนครชัยศรี [4]

ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกประสบปัญหาจนมีส่วนต่อการลดพื้นที่เพาะปลูกอ้อยลงซึ่งเหลือแต่เพียงพื้นที่เมืองชลบุรีเท่านั้นที่ยังคงมีการผลิตอยู่ สถานการณ์เช่นนี้ย่อมสร้างปัญหาต่อการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเช่นกัน จากเดิมที่ไทยเคยเป็นประเทศที่ผลิตเพื่อส่งออกกลับต้องนำเข้าน้ำตาลจากฟิลิปปินส์และชวา (อินโดนีเซีย)

ในรายงานของพระยาอินทมนตรี ซึ่งสำรวจการทำน้ำตาลในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2461 ระบุว่า น้ำตาลที่ผลิตในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2460 เป็นผลผลิตจากน้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลจากอ้อย ในรูปของน้ำตาลทรายแดงเป็นส่วนมาก มีผลผลิตเพียง 600,000 หาบ ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและต้องนำเข้าเพิ่มอีก 400,000 หาบ ประกอบกับวิธีการผลิตน้ำตาลของไทยยังล้าสมัย เช่น การใช้ลูกหีบ ที่ใช้กันมาดั้งเดิมทำให้สูญเสียมูลค่าการผลิต และคุณภาพน้ำตาลที่ไม่ดีเพราะเก็บไม่ได้นาน อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างโรงงานกับชาวไร่ยังขาดการประสานงานระหว่างกัน เห็นสมควรให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการผลิต [5]

ช่วงทศวรรษ 2450-60 การผลิตน้ำตาลของไทยได้เปลี่ยนจากผู้ส่งออกมาเป็นผู้นำเข้าเนื่องจากปัญหาทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ แม้ว่าจะมีความพยายามของผู้ลงทุนบางส่วน เช่น เจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) ได้ตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นที่ตำบลทับหลวง เมืองนนทบุรี โดยให้หม่อมหลวงยวง อิศรเสนา เป็นผู้ดูแล แต่ก็ต้องเลิกกิจการเพราะประสบปัญหาในข้างต้น คือ ราคาน้ำตาลตกต่ำ และปัญหาด้านเทคนิค เพราะขาดแคลนช่างผู้ชำนาญการ ตลอดจนปัญหาคุณภาพของอ้อย [6] ปัญหาเหล่านี้ได้นั่นทอนการผลิตน้ำตาลของไทยขณะนั้นอย่างมาก จนกระทั่งทศวรรษ 2470 จึงมีความพยายามฟื้นฟูกิจการโรงงานน้ำตาลของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง

โรงงานน้ำตาลจังหวัดลำปาง เมื่อปี 2482 (ภาพจาก หนังสือ ไทยสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482)

การขอตั้งโรงงานน้ำตาลของเอกชน ช่วงทศวรรษ 2470

เมื่อถึงทศวรรษ 2470 เส้นทางกิจการโรงงานน้ำตาลของไทยมิได้หอมหวานราบรื่นเช่นน้ำตาลที่ผลิตได้ ผู้ประกอบการหลายรายได้มีความพยายามขอตั้งโรงงานน้ำตาลต่อ รัฐบาลทั้งสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัฐบาลของคณะราษฎร แต่ต้องประสบปัญหานานาประการจนต้องล้มเลิกโครงการไปหลายราย…

บรรยากาศความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งกลุ่มพ่อค้าชาวจีน (หรือจีนสยาม) และขุนนางนักลงทุนเกิดขึ้นอย่างมากช่วงทศวรรษ 2470 เพื่อแข่งขันกับธุรกิจของชาวตะวันตกที่มีบทบาทในกิจการประเภทต่าง ๆ ในไทยอย่างมาก ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่งในปี พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา และประสบผลสำเร็จในกิจการสำคัญอย่างการค้าข้าว กลุ่มพ่อค้าชาวจีนสามารถยึดกุมกิจการนี้ตั้งแต่การค้าปลีกไปจนถึงส่งออกและรวมทั้งกิจการโรงสี ซึ่งชาวตะวันตกเคยมีบทบาทมาก่อน [7]

ขณะที่ธุรกิจประเภทอื่นก็มีนักลงทุนเข้าไปดำเนินการ เช่น นายเลิศ หรือพระยาภักดีนรเศรษฐ์ ลงทุนใน กิจการสั่งสินค้าเข้า โรงน้ำแข็ง และนำเข้ารถยนต์ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ นายบุญรอด หรือพระยาภิรมย์ภักดี คิดตั้งโรงเบียร์ในประเทศเพื่อจะได้ไม่ต้องสั่งเข้าเบียร์จากต่างประเทศเป็นผลสำเร็จ และไม่เพียงแต่จะริเริ่มกิจการขึ้นหลากหลายประเภทเท่านั้น บรรดาพ่อค้าทั้งชาวจีนสยาม และขุนนางนักลงทุนหลายรายยังมีส่วนเรียกร้องให้รัฐมุ่งสนับสนุนกิจการค้าภายในประเทศผ่านทางนักเขียนนักหนังสือพิมพ์อีกด้วย [8]

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวในการริเริ่มกิจการลงทุนของคนไทยยังรวมไปถึงกิจการโรงงานน้ำตาลซึ่งปรากฏขุนนางนักลงทุนและพ่อค้าบางส่วนที่พยายามยื่นเสนอโครงการต่อรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 เริ่มจากโครงการของ จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้เสนอให้รัฐสนับสนุนการสร้างโรงงานน้ำตาลบริเวณเขตสัมปทานป่าไม้ของ บริษัทป่าไม้ศรีราชา ซึ่งเป็นบริษัทของท่านในเขตอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยอาศัยพื้นที่ว่างจากการสัมปทานป่าไม้เป็นเขตปลูกอ้อย โครงการนี้มีการเตรียมการด้วยการส่งพระยามไหสวรรย์ซึ่งเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และยังเป็นมิตรของท่านไปดูงานการผลิตน้ำตาลที่เกาะชวาและที่ไต้หวัน พร้อมทั้งมีการจ้างคนมาสำรวจภูมิประเทศและการชลประทานเพื่อหาความเหมาะสมของพื้นที่ดำเนินกิจการอีกด้วย [9]

จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้เสนอแผนการตั้งโรงงานน้ำตาลต่อสภาเผยแผ่พาณิชย์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2470 โดยใช้ชื่อว่า บริษัทน้ำตาลชลบุรี จำกัด ในคำร้องดังกล่าวระบุว่าขอเป็นพระบรมราชานุญาตพิเศษ เพื่อรับสิทธิพิจารณาขอใบเหยียบย่ำที่ดินราษฎร แต่ข้อเสนอเช่นนี้ภาครัฐไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการให้สิทธิเหนือกว่าบริษัทเอกชนรายอื่น จึงไม่เห็นชอบต่อโครงการนี้ [10]

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “น้ำตาลไม่หวาน” ของคณะราษฎร : การร่วมทุนธุรกิจ ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรและเอกชน


เชิงอรรถ :

[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์. ปากไก่และใบเรือ : ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์-วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2543), น. 147.

[2] เอดี มัวร์ (Adey Moore), “พ่อค้าอังกฤษคนแรกในกรุงรัตนโกสินทร์” แปลจาก An Early British Merchant in Bangkok โดย นันทนา ตันติเสส,” ใน รวมเรืองแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 3. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2538), น. 61.

[3] นิธิ เอียวศรีวงศ์. ปากไก่และใบเรือ : ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์-วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์. น. 148.

[4] อัสวิทย์ ปัทมะเวณุ. ตามรอยน้ำตาล. (กรุงเทพฯ : ที.พี.พริ้นท์ จำกัด, 2539), น. 224-225.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 225.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 226.

[7] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2540), น. 96-97.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 100-103.

[9] อัสวิทย์ ปัทมะเวณุ. ตามรอยน้ำตาล. น. 227.

[10] เรื่องเดียวกัน, น. 228.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “‘น้ำตาลไม่หวาน’ ของคณะราษฎร : ภาพสะท้อนกิจการร่วมทุนทางธุรกิจ ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรและเอกชน” โดย นนทพร อยู่มั่งมี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2555

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2564