เจ้าชายฟิลิป ร่วมช่วยไขปริศนาหลังการสังหารราชวงศ์โรมานอฟ แห่งรัสเซีย อย่างไรบ้าง

เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ราชวงศ์ โรมานอฟ
(ซ้าย) พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 และ(จากซ้ายไปขวา) Olga และ Maria / Alexandra Fyodorovna, Anastasia, Alexei และ Tatiana ที่พระราชวัง Livadia เมื่อปี 1913 ไฟล์ public domain (ขวา) เจ้าชายฟิลิป เมื่อ 4 มิถุนายน 2014 (ภาพจาก CARL COURT / POOL / AFP)

แม้ว่า เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ (Duke of Edinburgh) ผู้ล่วงลับไปเมื่อ ค.ศ. 2021 ทรงเป็นที่รู้จักว่าเกี่ยวข้องกับราชวงศ์กรีกและเดนมาร์ก แต่สายสัมพันธ์อีกด้านที่หลายคนอาจไม่ได้นึกถึงคือฝั่งซาร์แห่งรัสเซีย เรื่องสายสัมพันธ์นี้กลายเป็นข่าวดังเมื่อปี 2016 โดยรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศในอังกฤษหลายแห่งเปิดเผยว่า ดีเอ็นเอ (DNA) ของ เจ้าชายฟิลิป ถูกใช้ในการพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวตนของซากร่างปริศนาที่เคยถูกค้นพบ เพื่อตรวจสอบว่าจะเป็นร่างของบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซียหรือไม่

วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 ซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย พร้อมด้วย ซารีนาอเล็กซานดรา พระมเหสีของซาร์ และพระราชโอรสและธิดา 5 พระองค์ ถูกสังหารอย่างน่าเศร้า ช่วงเวลานี้ถูกเรียกกันว่าเป็นจุดจบของราชวงส์โรมานอฟซึ่งปกครองรัสเซียยาวนานกว่า 3 ศตวรรษ

ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ เชื้อพระวงศ์แห่งรัสเซียจำนวนไม่น้อยลี้ภัยมาในหลายประเทศแถบตะวันตก นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เริ่มมีข่าวบุคคลต่างๆ ออกมาป่าวประกาศว่าตัวเองเป็นทายาทที่รอดชีวิต มีแม้กระทั่งผู้กล่าวอ้างว่าเป็น เจ้าฟ้าหญิงอนาสตาเซีย (Anastasia) พระราชธิดาของซาร์พระองค์สุดท้ายของรัสเซียด้วย 

แน่นอนว่าหลายกรณีเป็นการแอบอ้าง แต่ก็มีสมาชิกราชวงศ์จำนวนหนึ่งหลบหนีจากเงื้อมมือของพวกบอลเซวิกได้ ดังที่ ไกรฤกษ์ นานา นักเขียนและผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ยุโรป เขียนเล่าในบทความ “สมบัติที่หายไปของราชวงศ์โรมานอฟ” เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2561 (คลิกอ่านบทความในออนไลน์ที่นี่)

เจ้านายชั้นสูงของราชวงศ์โรมานอฟ อาทิ สมเด็จพระพันปีหลวง พระกนิษฐภคินี (น้องสาว) ของซาร์ พระปิตุลา (ลุง) พระปิตุจฉา (ป้า) พระ มาตุลา (น้า) พระนัดดาและพระภาคิไนย (หลาน) พระปนัดดา (เหลน) และพระชามาดา (ลูกเขย) ของซาร์ พร้อมด้วยเจ้านายเล็กๆ มารวมกันที่เมืองยัลตา และเมืองเล็กๆ บนคาบสมุทรไครเมีย เพื่อรอความช่วยเหลือ ไกรฤกษ์ อธิบายต่อว่า

“เจ้านายเชื้อพระวงศ์เหล่านี้ได้พกติดตัวทรัพย์สมบัติของแต่ละองค์ที่สะสมไว้หรือตกทอดมาจากราชนิกูลโรมานอฟสายต่างๆ คนละเล็กละน้อยเท่าที่จะลักลอบออกมาได้เพื่อใช้เป็นทุนยังชีพ หากเดินทางออกนอกประเทศไปได้ และเพื่อขายเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงชีวิตตนเองหากหนีรอดไปได้” (Patricia Phenix, 2000)

อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลอื่นๆ อาทิ บทความ “The Romanov Family Tree: Real Descendants and Wannabes” โดย SARAH PRUITT ในเว็บไซต์ History เล่าไว้ว่า เมื่อถึงปี 1920 เชื้อพระวงศ์โรมานอฟที่มีพระชนม์ชีพอยู่มีเพียง 35 คนเท่านั้น

หลังเกิดเหตุสังหารซาร์นิโคลัสที่ 2 พร้อมพระมเหสีและพระราชโอรส-ธิดา สถานที่ฝังพระศพ (หรือชิ้นส่วนพระศพที่หลงเหลือ) ของราชวงศ์โรมานอฟซึ่งถูกสังหารยังเป็นปริศนาอยู่

จากหลักฐานร่วมสมัยที่พบในรอบเกือบ 7 ทศวรรษหลังเกิดเหตุ ทำให้เชื่อกันว่า พระศพ (หรือชิ้นส่วนพระศพที่หลงเหลือ) ของทายาทอีก 2 พระองค์ถูกแยกออกจาก (ซาก) พระศพซาร์นิโคลัสที่ 2 ซารีนาอเล็กซานดรา และพระราชธิดาอีก 3 พระองค์

เหล่าข้อมูลร่วมสมัยในรอบเกือบ 70 ปีหลังเกิดเหตุทำให้เชื่อกันว่า พระศพของเจ้าฟ้าหญิงอนาสตาเซีย (Anastasia) และ อเล็กซี (Aleksei) รัชทายาท ถูกเผา ส่วนพระศพของพระเจ้าซาร์, ซารีนาอเล็กซานดรา และพระราชธิดา 3 พระองค์ (Olga, Mariya และ Tatyana) ถูกฝังไว้ในเหมืองร้าง

กระทั่งการค้นพบหลุมฝังศพขนาดใหญ่ มีซากศพที่เชื่อกันว่าเป็นคนรับใช้ราชวงศ์ 3 ราย แพทย์ประจำราชวงศ์ และมีซากชิ้นส่วนที่เชื่อว่ามาจากพระศพของพระเจ้าซาร์, ซารีนาอเล็กซานดรา และพระราชธิดา 3 พระองค์ การค้นพบครั้งนี้ สื่อบางแห่งระบุว่า เชื่อกันว่าค้นพบเมื่อปี 1979 แต่กว่าที่ข่าวจะเผยแพร่ไปในวงกว้างระดับนานาชาติก็ต้องถึงในปี 1991 ภายหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย

ช่วงยุค 90s นักวิทยาศาสตร์รัสเซียพิสูจน์ซากที่ค้นพบ และเผยว่ามีซากชิ้นส่วนของเชื้อพระวงศ์ด้วย ภายหลังผลการตรวจสอบนี้ได้รับคำยืนยันเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน 6 ราย แต่นักวิทยาศาสตร์รัสเซียต้องการคำยืนยันมากกว่านี้อีก ดร.พาเวล อิวานอฟ (Pavel Ivanov) ผู้เชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอชาวรัสเซียจึงนำชิ้นส่วนกระดูกบางส่วนไปให้แล็บในบริเทนตรวจสอบเพิ่มเติม ก่อนที่แล็บอังกฤษจะยืนยันผลในทิศทางเดียวกันในปี 1993

เวลาต่อมา ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 รายงานข่าวเมื่อปี 2016 จาก The Guardian เปิดเผยว่า ชิ้นส่วนจากพระศพที่เชื่อว่าเป็นเชื้อพระวงศ์โรมานอฟ และเชื่อว่าเป็นร่างของมาเรีย (Maria) หรือไม่ก็เจ้าฟ้าหญิงอนาสตาเซีย (Anastasia) และอเลกซี (Aleksei) ถูกพบในทุ่งใกล้กับ Yekaterinburg เมื่อปี 2007

มีรายงานว่าเมื่อปี 2015 วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียสั่งให้ขุด (ชิ้นส่วน) พระศพของราชวงศ์โรมานอฟซึ่งเคยถูกตรวจสอบว่าเป็นพระศพเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์โรมานอฟ โดยใช้ดีเอ็นเอของดยุคแห่งเอดินบะระตั้งแต่เมื่อยุค 90s โดยจุดประสงค์ของการขุดขึ้นมาครั้งนี้คือเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ร่างที่ค้นพบนั้นใช่เป็นพระศพของเชื้อพระวงศ์โรมานอฟจริงหรือไม่ แล้วเป็นพระราชโอรสหรือธิดาของซาร์พระองค์สุดท้ายของรัสเซียด้วยหรือไม่

ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ดยุคแห่งเอดินบะระ เคยยินยอมให้ตัวอย่างดีเอ็นเอของพระองค์ตั้งแต่เมื่อปี 1993 ในการตรวจสอบยืนยันร่างว่าเป็นพระศพของซาร์นิโคลัสที่ 2 และพระนางอเล็กซานดรา โดยรายงานเกี่ยวกับการตรวจสอบนี้ก็เพิ่งเปิดเผยไปเมื่อปี 2018

ขณะที่การค้นพบร่างเมื่อปี 2007 รายงานข่าวเผยว่า นักวิทยาศาสตร์ก็ใช้ดีเอ็นเอของเจ้าชายฟิลิปเพื่อตรวจสอบตัวตนของร่างที่พบว่าเกี่ยวข้องกับราชวงศ์โรมานอฟหรือไม่ด้วย

สำหรับสายสัมพันธ์ของเจ้าชายฟิลิปกับราชวงศ์โรมานอฟนั้น สื่อหลายแห่งจากอังกฤษอธิบายไว้ว่า มาจากฝั่งสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย โดยควีนวิกตอเรียเป็นพระอัยยิกา (ยาย) ของพระนางอเล็กซานดรา ขณะที่เจ้าชายฟิลิป เป็น “เหลนชาย” ของพระนางอเล็กซานดรา ซารีนาพระองค์สุดท้ายของรัสเซีย

เมื่อปี 1993 นักวิทยาศาสตร์บริติชกล่าวอ้างว่า ผลจากการตรวจสอบดีเอ็นเอจากผู้บริจาคหลายรายซึ่งรวมถึงเจ้าชายฟิลิปด้วยนั้นช่วยยืนยันว่า ซากชิ้นส่วนที่พบในป่าเมื่อต้นยุค 90s เป็นซากชิ้นส่วนซาร์นิโคลัสที่ 2 และของเชื้อพระวงศ์โรมานอฟจริง โดยนักวิทยาศาสตร์ใช้การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมซึ่งได้มาจากชิ้นส่วนกระดูกเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอที่ได้มาจากตัวอย่างของเชื้อสายผู้เกี่ยวข้องกับราชวงศ์โรมานอฟ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Brown, Mark. “Prince Philip’s DNA may identify the last of the Romanovs”. The Guardian. Online. Published 30 MAY 2016. Access 16 APR 2021. <https://www.theguardian.com/books/2016/may/30/prince-philips-dna-may-identify-the-last-of-the-romanovs>

Darnton, John. “Scientists Confirm Identification of Bones as Czar’s”. New York Times. Online. Published 10 JUL 1993. Access 16 APR 2021. <https://www.nytimes.com/1993/07/10/world/scientists-confirm-identification-of-bones-as-czar-s.html>

KRETSCHMER, ANNA. “Prince Philip: How Duke of Edinburgh was key to solving Romanov mystery”. Express. Online. Published 11 NOV 2019. Access 16 APR 2021. <https://www.express.co.uk/news/royal/1202301/prince-philip-news-royal-family-romanov-mystery-solved-spt>

PRUITT, SARAH. “The Romanov Family Tree: Real Descendants and Wannabes”. History. Published 12 OCT 2018. Access 16 APR 2021. <https://www.history.com/news/romanov-family-tree-descendants-imposters-claims>

Phenix, Patricia. Russia’s Last Grand Duchess. Penguin Books, Canada, 2000.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 เมษายน 2564