ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | ไกรฤกษ์ นานา |
เผยแพร่ |
เมื่อ 100 กว่าปีมาแล้วราชวงศ์โรมานอฟถึงกาลอวสาน ซาร์นิโคลาสที่ 2 และพระประยูรญาติถูกปลงพระชนม์ บางองค์หลบหนีออกนอกประเทศไปได้ก็ลักลอบนําทรัพย์สินติดตัวไปด้วย แม้นว่าของมีค่าส่วนใหญ่จะถูกคณะปฏิวัติยึดไว้ แต่ก็ถูกยักย้ายถ่ายเทจําหน่ายไปทั่วยุโรป ถึงวันนี้ สมบัติบางส่วนแม้ว่าจะถูกนําออกจัดแสดงให้ดูต่างหน้าราชวงศ์ ทว่าอนิจจาทรัพย์สินที่พบอาจมีไม่ถึงเศษเสี้ยวกับของสมัยซาร์ที่เคยขึ้นบัญชีไว้
ในขณะที่ชาติมหาอํานาจที่ทรงอิทธิพลและก้าวหน้าที่สุดของทวีปยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และปรัสเซีย (เยอรมนี) จะรุ่งเรืองมาก่อน และเป็นคู่อริอันน่ากลัวของจักรวรรดิรัสเซียสมัยซาร์ก็ตาม แต่อาณาจักรทั้งสามก็ล้มลุกคลุกคลานมาพร้อมกับ การผลาญสมบัติบรรพบุรุษจากการแข่งกันครอง ความเป็นใหญ่ตลอดมา
อังกฤษ แม้นว่าจะมีอาณานิคมใหญ่โตแต่ก็ต้องทุ่มเทงบประมาณมหาศาลไปกับการแสวงหาและรักษาเมืองขึ้นทั่วโลกของตน อีกทั้งยังต้องทําสงครามกับศัตรูมากมายที่ต่อต้านและขัดขวางความทะเยอทะยานของอังกฤษ
ฝรั่งเศส ซึ่งดูเหมือนมั่นคงหนักแน่นตลอดมา กลับต้องใช้เงินคงคลังแทบทั้งหมดไปกับการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้ตนเองและการทําสงครามขยาย อาณาเขต และขยายอํานาจไปทั่วภาคพื้นยุโรป โดยเฉพาะในยุคนโปเลียน ผลักดันให้มีการเปลี่ยนราชวงศ์อยู่บ่อยครั้ง จากราชวงศ์บูร์บง เป็นราชวงศ์โบนาปาร์ต ต่อมาเปลี่ยนเป็นราชวงศ์ออร์-เลอง แล้วกลับมาเป็นโบนาปาร์ตอีก ทําให้บ้านเมืองขาดเสถียรภาพที่ยั่งยืน
ส่วนปรัสเซีย แม้ว่าจะแข็งแกร่งด้านการทหารเป็นร้อยๆ ปี และมีนโยบายชัดเจนในการจัดระเบียบทวีปยุโรปแต่ก็ต้องใช้เวลานับร้อยปีสร้างสมบารมีให้ตนเอง แต่พอสร้างตัวได้กลับใช้เงินทองที่สะสมมาได้ก่อสงครามโลกถึง 2 ครั้งกับเพื่อนบ้านตนเอง จนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว
รัสเซียกลับเป็นม้ามืดที่มาแรงเกินคาด โดยสามารถรักษาเสถียรภาพไว้ได้ยาวนานที่สุด แต่แล้วกลับต้องจนแต้มต่อปัญหาภายในของตนเองที่แก้ไม่ตก ราชวงศ์อันโด่งดังมีอันต้องล่มสลายลงพร้อมกับทรัพย์สมบัติมากมายจนสังคมโลกสงสัยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร หลังจากสร้างสมฐานะมาเนิ่นนานกว่าชาติใดๆ?
ความภูมิฐานของชาวราชสํานัก สะท้อนความเป็นไปของระบอบซาร์
จักรวรรดิรัสเซียซึ่งปกครองโดยราชวงศ์โรมานอฟมานานกว่า 300 ปี ภายใต้ระบอบซาร์โดยไม่ขาดตอน ส่งเสริมให้ราชวงศ์อันรุ่งเรืองนี้สร้างฐานะ และความร่ำรวยได้เนิ่นนานยิ่งใหญ่แบบเสมอต้นเสมอปลาย จนกลายเป็นภาพลักษณ์และแม่แบบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มั่งมีและทรงอํานาจที่สุดในโลก แม้แต่ชาติมหาอํานาจยุโรปด้วยกันก็ยังเทียบไม่ติด
ความภูมิฐานโอ่อ่าของปราสาทราชวังอันอลังการสมศักดิ์ศรียังมีให้พบเห็นจนทุกวันนี้ แต่ละพระราชวังได้รับการบรรจงสร้างอย่างวิจิตรพิสดารด้วยเครื่องตกแต่งอย่างเลิศหรูและดีที่สุดของยุโรป ออกแบบโดยสถาปนิกและทีมช่างสิบหมู่ที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของราชสํานักยุโรปมาหลายศตวรรษ
เงินทองในท้องพระคลังเพิ่มพูนขึ้นจากการแปรรูปทรัพยากรอันมหาศาลภายในประเทศหล่อเลี้ยงเจ้านายเชื้อพระวงศ์และขุนนางผู้ภักดีให้ร่ำรวยและพากันสร้างสมฐานะจนมีอิทธิพลครอบงําจักรวรรดิมาเป็นร้อยๆ ปี แม้นว่าจะก่อให้เกิดการยึดติดกับอํานาจของขุนนางผู้มากอิทธิพลบางกลุ่มภายใต้ระบอบการปกครองที่ยังไม่พัฒนามากนักและกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของราชวงศ์โรมานอฟที่แก้ไม่ตกตลอดมา แต่โครงสร้างของสังคมคนชั้นสูงก็ค้ำจุนราชบัลลังก์ไว้ให้มั่นคงเรื่อยมา
บรรยากาศของการใช้ชีวิตแบบหรูหราฟุ่มเฟือยเกินฐานะของคนมีระดับในรัสเซียดูจะเป็นภาพชินตาของชาวยุโรปทั่วไป ดังเช่นผู้สันทัดกรณีบรรยายไว้ว่า
“กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ใน ค.ศ. 1894 ยังเป็นใจกลางแห่งความก้าวหน้า ความโก้เก๋ และความหรูหรานอกหน้า เช่น มหาอุปรากร คณะบาเลต์ วงดุริยางค์ซิมโฟนีและเชมเบอร์ มิวซิก เล่นเพลงของกนิกา, ริมสกี-กอราซ็อฟ, โบโรดิน, มุสซ็อกสกี และ ไชก็อฟสกี สังคมผู้ดีพูดภาษาฝรั่งเศส หาพูดภาษารุสเซียไม่ อาภรณ์และเครื่องแต่งบ้านที่ว่าดีที่สุดนั้น สั่งมาจากปารีส ขุนนางรุสเซียไปตากอากาศกันที่เมืองบิอาริดส์ อิตาลีหรือริเวียรา ไม่ได้ไปพักที่เขตดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งทรัพย์สําหรับพวกขุนนางเหล่านั้นนํามาใช้หาความเพลิดเพลิน พวกผู้ชายไปเล่นม้าหรือเล่นพนันกันที่สโมสร ส่วนพวกผู้หญิงนั้นกว่าจะตื่นนอนก็เที่ยง ตื่นแล้วก็ให้ช่างแต่งผมเข้าไปแต่งเกศา แล้วก็ออกนั่งรถเที่ยวเล่นไปตามเกาะในเมือง เรื่องชู้สาวมีดกดื่น คํานินทากระซิบกระซาบอันเอร็ดอร่อยเซ็งแซ่ไปทั้งเมือง
ทุกคืนชาวสังคมพากันไปชมอิมพีเรียลบัลเล่ต์ ที่โรงละครมาร์ยินสกีอันโอ่อ่าตกแต่งด้วยสีน้ำเงิน และสีทอง มิฉะนั้นก็ไปที่โรงละครฝรั่งเศสเทอาตร์ ฟรังแซ ที่นั่นสาวๆ สวมเสื้ออกลึกทันสมัย ปิดทรวงของเธอด้วยสร้อยสนิมพิมพาภรณ์ ครั้นละครเลิกคุณผู้หญิงและเพื่อนชายก็ห่อตัวด้วยผ้าขนสัตว์ นั่งรถเลื่อนสีแดงเข้ม ขับเลื่อนไปโดยปราศจากเสียงบนแผ่นน้ำแข็งไปยังโภชนาคารคิวบา เพื่อซัปเปอร์และลีลาศ ไม่มีใครคิดจะกลับบ้านก่อนตีสาม ส่วนพวกนายทหารนั้นอยู่กันจนตีห้า…เมื่อท้องฟ้าเริ่มทอแสง
เทศกาลในกรุงปีเตอร์สเบิร์ก เริ่มแต่งวันเถลิงศกไปสิ้นสุดเอาในวันศารทเลนท์ ตลอดสัปดาห์แห่งเหมันตกาลนี้ พวกเหล่าผู้ลากมากดีในนครหลวง มีงานสนุกกันท่วมหัว มีการแสดงดนตรี การสโมสร สันนิบาต ลีลาศ บัลเล่ต์ อุปรากร การปาร์ตี และซัปเปอร์เที่ยงคืน ซึ่งจัดเป็นงานรโหฐาน งานเลี้ยงกันเป็นรายๆ นี้ สับเปลี่ยนกันไป พวกผู้ที่จัดงานปาร์ตีกันทุกคน และทุกคนก็ไปร่วมตามคําเชิญ ยังมีงานรับรองซึ่งนายทหารแต่งเครื่องแบบสีแดงมีเหรียญตราแวววาวเต็มอก
ส่วนท่านหญิงชราที่ห่อตัวด้วยผ้าต่วนขาวพองทูมทามเดินวนเวียนกันในห้องรับแขกเพดานสูง หยิบแก้วแชมเปญที่คนรับใช้ใส่ถาดเดินเที่ยวแจก แล้วตักปลาสเตอร์จันแช่น้ำแข็ง เนื้อไก่อาบครีม ไข่ยัดไส้ ไข่ปลาคาเวียร์สามรสใส่จานของตน สาวรุ่นยังไม่วิวาห์ สวมพัสตราภรณ์ขาวบริสุทธิ์ เต้นควอดริลเยกับนายทหารหนุ่ม มีนางพี่เลี้ยงซึ่งนั่งตรงบนเก้าอี้ทองคอยจ้องตาดูเขม็ง นายทหารแต่งเครื่องแบบเขียวกางเกงแดงเต้นหมุนเหวี่ยงกับคู่ซึ่งแต่งเครื่องเพชรแพรวพราย
ในระยะที่มีงานชุกที่สุดนั้น พวกท่านหญิงแต่งเครื่องเพชรไปโบสถ์ตอนเช้า แล้วไปร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ตอนบ่ายนั่งรถกินอากาศ แล้วกลับบ้านแต่งตัวไปในงานลีลาศต่อไป โดยประเพณีงานลีลาศหรูหราที่สุดก็คืองานลีลาศพระราชทานที่พระราชวังฤดูหนาว ซึ่งจะหาพระราชวังใดในทวีปยุโรปหรูหราโอ่อ่าอย่างนี้ไม่มีแล้ว พระราชวังฤดูหนาวนั้นมีระเบียงศิลป์อันมหึมาฝาระเบียงนั้นกว้างและสูงเสมอวิหารมีเสาหินอ่อน หินโมราและหินมาลาไซด์ สีไข่นกพิราบ…เพดานทาทอง ซึ่งแขวนพวงประทีปแก้วประดับทอง เป็นระย้าใหญ่
ส่วนภายนอกตึกใหญ่สามแถวของพระราชวังนั้นก็ตามประทีปสว่างไสวมีรถมาส่งท่านผู้ลากมากดีไม่ขาดสาย ท่านเหล่านั้นเปลื้องเสื้อคลุมส่งให้ที่นายประตู แล้วก้าวขึ้นบันไดหินอ่อนสีขาวกว้างใหญ่ ซึ่งลาดพรมกํามะหยี่หนา ตามผนังทางบันได รายไปตามกระจกเงาบานเขื่อง ซึ่งพวกแขกเหรื่อนับสิบๆ จะได้ส่องชมโฉมตัวเอง มีทหารม้าแห่งกองทหารม้าเชวาลิเอร์ ยูนิฟอร์มขาว เกราะอกเงิน และสวมหมวกเหล็กยอดนกอินทรียืนระวังตรงนิ่งสนิทยืนเรียงรายเป็นระยะ
แขกสามพันคนรวมทั้งข้าราชการในราชสํานัก ซึ่งแต่งดํา แถบทอง นายพลซึ่งอกประดับเหรียญ ตราอันได้จากสงครามตุรกีเต็มอก แล้วมีนายทหารม้า ฮุสซาร์ หนุ่มๆ ซึ่งสวมกางเกงหนังกวางรัดเปรี้ยะเวลาสวมต้องใช้บ่าวทหารสองคนช่วยดึง ในงานลีลาศหลวงอันใหญ่ยิ่ง หญิงรุสเซียซึ่งหลงใหลเพชรนิลจินดาเป็นหนักหนา ต่างก็อวดเครื่องเพชรที่ศีรษะ คอ หู ข้อมือ นิ้ว และสะเอวของเธอ
ลีลาศหลวง เริ่มเวลา 20.30 น. ตรง สมุหพระราชพิธีถือไม้เท้ายาวมีรูปนกอินทรีสองหัวทําด้วยทองคําประดับยอด เป็นเครื่องหมายของซาร์ กระทุ้ง พื้นแรงๆ สามครั้ง บัดดลสุ้มเสียงในท้องพระโรงสงบสงัดลงทันที พระทวารบาลมหึมาทําด้วยไม้มะฮอกกะนี ประดับทองคําก็เผยออก สมุหพระราชพิธี ร้องประกาศว่า “สมเด็จพระจักรพรรดิ” เสียงซูช่าของพัสตราภรณ์นับร้อยๆ ก็ดังขึ้น ขณะที่ชาววังและเจ้าขุนนางมูลนายน้อมกายลงถอนสายบัวอย่างต่ำลึก ถวายบังคม” [5]
เพราะที่สุดแล้วศูนย์กลางของงานก็คือซาร์ และซารีนา พระมเหสีผู้ร่ำรวยล้นฟ้าจากทรัพย์สมบัติที่บูรพมหากษัตริย์ในอดีตกาลท่านสะสมไว้ให้ซาร์สมัยหลังปกครองแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลต่อไป
สมบัติแห่งราชบัลลังก์
สมบัติของราชวงศ์ที่เก่าแก่และมีค่าที่สุดก็คือ “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” ซึ่งบ่งบอกถึงสถานะของซาร์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการสืบทอดพระราชอํานาจจากรุ่นสู่รุ่นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเก่าแก่ของรัสเซีย
เครื่องราชกกุธภัณฑ์อันโดดเด่นของซาร์ก็คือ “พระมหามงกุฎ” ซึ่งตกทอดลงมาตั้งแต่รัชสมัยของพระนางคุธในมหาราชินี ในพิธีบรมราชาภิเษกซาร์ทุกพระองค์จะต้องทรงสวมพระมหามงกุฎนี้ เพื่อแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพของการเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งซาร์นิโคลาสที่ 2 ก็ทรงรับช่วงสืบมาจนถึง ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2439) ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่พระมหามงกุฎถูกนํามาใช้ก่อนการโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟ [6]
นายโรเบิร์ต มาสซี่ นักประวัติศาสตร์กล่าวถึงความอลังการของพระมหามงกุฎอันล้ำค่าว่า
“ตามราชประเพณีนั้น ซาร์จะรับพระมหามงกุฎจากมหาสังฆราชมาทรงสวมโดยพระองค์เอง ซาร์นิโคลาสมีพระประสงค์จะใช้มงกุฏองค์เก่าที่เรียกว่า แค็บ ออฟ โมโนมัคห์ ซึ่งเป็นพระมาลาเก่า 800 ปี เป็นมาลาประดับทองคําหนักเพียงสองปอนด์ แต่โดยราชประเพณีอันเคร่งครัดเปลี่ยนมิได้ ซาร์นิโคลาส จําต้องทรงพระมหามงกุฎหนักถึงเจ็ดปอนด์ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1762 สําหรับแคทรีนมหาราชินี พระมหามงกุฏนี้มียอดเป็นรูปกางเขนประดับเพชรลูก ยอดกางเขนติดทับทิมเม็ดใหญ่ ซึ่งยังไม่ได้เจียระไน ถัดกางเขนลงมามีเพชรลูก 42 เม็ด เรียงกันเป็นครึ่งวงกลม แต่ละเม็ดมีขนาดกว้างหนึ่งนิ้ว แล้วยังเพชรเม็ดเล็กประดับรายรอบเพชรลูกทั้ง 42 เม็ดนั้น แถบรอบพระมหามงกุฎประดับด้วยไข่มุกสีกุหลาบ 38 เม็ด ซาร์นิโคลาสทรงยกพระมหามงกุฎ อันประดับอัญมณี ประมาณค่ามิได้นิ้วางบนพระเศียรครู่หนึ่ง แล้วทรงยกขึ้นจากพระเศียร ค่อยบรรจงวางบนพระเศียรพระนางอเล็กซานดรา จากนั้นสองกษัตริย์จึงเปลี่ยนเอาพระมหามงกุฎอันเล็กมาทรงซาร์นิโคลาส ทรงจุมพิตหัตถ์พระอัครชายา แล้วทรงจูงพระหัตถ์ มาประทับ ณ เพชรอาสน์ สมเด็จพระนางมารี และพระบรมวงศานุวงศ์
ครั้นถึงยามราตรีก็มีงานสโมสรสันนิบาต ภายในพระราชวังอันเรืองรอง และเจื้อยแจ้วด้วยแสงประทีปและวงดุริยางค์ เสื้อที่สตรีรุสเซียสวมใส่ใน ราตรีนั้นเปิดไหล่มาก จนสตรีชาวต่างประเทศเห็นแล้วรู้สึกเสียวไส้ เครื่องเพชรนิลจินดา จากกะบังหน้า สร้อยคอ สร้อยมือแลต่างหูก็แพรวพราววาววาม เพชรบางเม็ดโตเท่าไข่นกพิราบ แกรนด์ดัชเชสซีเนียซึ่งเป็นกนิษฐภคินีแห่งซาร์นิโคลาสกับแกรนด์ดัชเชส อลิซเบธ พระน้องสะใภ้นั้นแต่งเครื่องมรกตเสียเพียบองค์ ส่วนสตรีอื่นต่างก็บรรทุกทับทิมเพทายจนล้นตัว พระนางอเล็กซานดราทรงปั้นเหน่งเพชร ซาร์นิโคลาสทรงคอลาร์ผืนใหญ่ติดเพชรลูกเป็นช่อกระจายเต็มพระทรวง แม้ผู้ที่เคยพบเห็นสมบัติจักรพรรดิมาแล้ว เมื่อได้มายลเครื่องเพชรนิลจินดาในราตรีนี้ก็ต้องอ้าปากค้างตะลึงตะไล
ในการที่ได้ทรงเป็นซาร์นั้น พระเจ้านิโคลาส ก็ทรงเป็นประมุขแห่งราชวงศ์โรมานอฟโดยอนุโลม และต้องทรงจัดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่ง มีอย่างกว้างขวางมากมาย รายได้ส่วนพระองค์นั้น ปีหนึ่งๆ เป็นเงินถึง 24 ล้านเหรียญรูเบิลทองคํา (ค่าสมัยนั้น) ที่ทางอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ประมาณค่า 50 ล้านเหรียญ เครื่องอัญมณีที่เล่าลือกันนักนั้น ตีราคาประมาณ 80 ล้านเหรียญ มีเพชรโอล็อฟหนัก 194.5 กะรัตเพชร ชื่อ มูน ออฟ เดอ เมาเทน หนัก 120 กะรัต ทับทิมชื่อ โพลาร์ สตาร์ หนัก 40 กะรัต
แม้จะทรงมีทรัพย์สินล้นเหลือดังนี้ แต่เงินพระคลังข้างที่มักจะแห้งบ่อยๆ เพราะมีทางที่จะต้องจ่ายมาก เช่น การรักษาพระราชวัง 8 แห่ง มีพระราชวัง ฤดูหนาว พระราชวังอนิชค็อฟ พระราชวังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พระราชวังอเล็กซานเดอร์ และพระราชวังแคทรีนที่ชาร์ซโกเซโล พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ และพระราชวังแคตซึนา กับห้องที่ประทับในเครมลิน และวังลิวาเดียที่ไครเมีย
พระราชวังเหล่านี้ต้องมีคนเฝ้าดูแลหมื่นห้าพันคน ต้องทรงจ่ายเงินเดือนค่าเครื่องแบบและอาหาร ตลอดจนจ่ายเงินรางวัลสําหรับให้ไปพักผ่อน นอกจากนั้น ยังมีรถไฟส่วนพระองค์ เรือยอชต์ โรงละคร สามแห่งในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สองแห่งในกรุงมอสโก ยังมีราชสถาบันแห่งศิลป์ กับบัลเล่ต์หลวง ซึ่งมีศิลปินหญิง 135 คน ชาย 73 คน ใช้จ่ายจากพระราชทรัพย์ทั้งสิ้น นักเรียนละครตัวจิ๋วๆ ก็ใช้จ่ายงบฯ หลวงทั้งสิ้น” [7]
อย่างไรก็ตาม เครื่องราชกกุธภัณฑ์ถือเป็นของสงวนที่ตกทอดลงมาเป็นพระราชมรดกจะนํามาซื้อขายกันตามใจชอบมิได้ มีไว้สําหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (หรือในพระราชพิธีใหญ่ๆ ของทางการ เช่น ในการเปิดสภาดูมา เป็นต้น – ผู้เขียน) และนับเป็นสมบัติของราชบัลลังก์อย่างแท้จริง
เกิดอะไรขึ้นกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ชุดนี้ภายหลังล้มระบอบซาร์และเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของสูงชุดนี้หายสาบสูญไปเกือบครึ่งศตวรรษและ กลับมาให้ชาวโลกได้เห็นอีกครั้งได้อย่างไร? เป็นเรื่องที่จะเรียนให้ทราบต่อไป
จุดอ่อนภายในราชสํานัก
ปัญหาภายในที่เกิดขึ้นกับรัชกาลของซาร์นิโคลาส ที่ 2 เป็นปัญหาที่สังคมชาวรัสเซียส่วนใหญ่รู้กันดี แต่ก็ไม่อาจที่จะเข้าไปแทรกแซงได้ โดยเป็นเรื่องของฐานอํานาจเก่าและขั้วอํานาจใหม่ที่มีอิทธิพลในราชสํานักด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย เป็นเหตุผลสําคัญประการหนึ่งที่กดดันให้คนที่อยู่ตรงกลาง และจําเป็นต้องใช้อิทธิพลของขั้วอํานาจทั้งสองนี้ปกครองและบริหารชาวราชสํานัก (รวมทั้งรัฐบาล) ทํางานได้ไม่สะดวกและไม่ราบรื่นนัก คนๆ นั้นก็คือซาร์นิโคลาสที่ 2 นั่นเอง [2]
จุดอ่อนนี้ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติของซาร์ในทางตรงแต่ในทางอ้อมแล้ว ฐานอํานาจเก่า (ซารีนามารี หรือสมเด็จพระพันปีหลวง) กับขั้วอํานาจใหม่ (ซารีนาอเล็กซานดรา พระมเหสีของซาร์) เป็นผู้กําหนดนโยบายปกครองชาวราชสํานักโดยตรง และไม่ทางหนึ่งทางใดย่อมเป็นผู้ดูแลสมบัติของราชวงศ์โรมานอฟโดยหน้าที่นั่นเอง [7]
ซารีนามารี หรือสมเด็จพระพันปีหลวง เป็นพระราชชนนีของซาร์นิโคลาสที่ 2 (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า ซาร์ – ผู้เขียน) เดิมเป็นเจ้าหญิงดัคมาร์ แห่งเดนมาร์กมาก่อน ภายหลังอภิเษกสมรสกับซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็นซารีนามารี
ซารีนามารีทรงมีอุปลิกลักษณะสง่างาม เปิดเผยและเป็นขวัญใจของสังคมชาวรัสเซียมาตั้งแต่ในรัชกาลก่อน จึงทรงเป็นแม่แบบที่ชาวรัสเซียชั้นสูงตั้งความหวังไว้กับซารีนาองค์ใหม่ในรัชกาลใหม่ ซึ่งมีบุคลิกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง บรรยากาศของความขัดแย้งภายในเริ่มมีขึ้นตั้งแต่พิธีบรมราชาภิเษกของซาร์ ใน ค.ศ. 1896 ในโอกาสเดียวกันนี้ซารีนาองค์ใหม่ก็ทรงก้าวขึ้นมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่แต่เปราะบางในเวลาเดียวกัน
ซารีนาอเล็กซานดรามิได้ทรงเป็นจักรพรรดินี ผู้ป๊อปปูล่าร์เลยในสายตาพสกนิกรทั่วไป ทรงมีพระบุคลิกลักษณะเก็บเนื้อเก็บตัวและเย็นชาซึ่งทรง ถอดแบบนิสัยใจคอแบบนี้มาจากสมเด็จพระอัยยิกา คือสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษผู้ทรงเลี้ยงพระนางมาแต่ทรงพระเยาว์ ทว่าไม่เป็นผลดีเลยต่อพระนางในฐานะพระมารดาของรัสเซียที่วิถีชีวิตทางสังคมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากราชสํานักอังกฤษ
เพราะนอกจากจะไม่สามารถตอบโจทก์สังคมชาวรัสเซียที่ถนัดงานพิธีรีตองแบบหรูหราใหญ่โต และรื่นเริงเอิกเกริกแล้ว ยังทรงดึงซาร์รัสเซียให้กลายเป็นผู้เข้าถึงยาก เงียบขรึม และเหินห่างพสกนิกรของพระองค์เองอีกด้วย แม้แต่คณะรัฐบาลที่ต้องการคำชี้นำจากพระองค์ก็ยังเข้าไม่ถึง ทำให้สมรรถภาพในการบริหารราชการแผ่นดินไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรตลอดรัชกาล
อาการเงียบเฉยและขาดมนุษยสัมพันธ์ของซารีนาดูขัดนัยน์ตายิ่งขึ้น เมื่อคนในสังคมสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสมเด็จพระพันปีหลวง (ซารีนามารี) กับพระสุณิสา (ลูกสะใภ้คือ ซารีนา อเล็กซานดรา) ทั้งนี้เพราะสมเด็จพระพันปีหลวงทรงมีอุปลิกลักษณะสนุกสนานร่าเริง สนพระราชหฤทัยในความเป็นอยู่ของข้าราชบริพาร โปรดงานรื่นเริง และเข้ากับทุกคนง่าย ทําให้ราชสํานักดูห่างเหิน และไม่เป็นกันเองอย่างที่เคย
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความกินแหนงแคลงใจอย่างรุนแรงระหว่างสมเด็จพระพันปีหลวง กับซารีนาอเล็กซานดรา เข้าตําราแม่สามีกับลูกสะใภ้ที่ไม่ค่อยจะ ลงรอยกันเท่าใดนัก
ซารีนามารีทรงเป็นเจ้าหญิงเดนมาร์กโดยกําเนิด ในขณะที่ซารีนาอเล็กซานดราทรงเป็นเจ้าหญิงเยอรมันมาแต่เดิม ทว่าก่อนหน้าที่ทั้ง 2 พระองค์จะมาเกี่ยวดองกันนั้น เยอรมนีเป็นคู่อริเก่าแก่ของเดนมาร์กมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะเยอรมนี้เคยประกาศสงครามคุกคามเดนมาร์ก แย่งชิงแคว้นโฮลสไตน์ไปเป็นของตนอย่างอุกอาจ เดนมาร์กซึ่งเล็กและอ่อนแอกว่าต้องอยู่อย่างกล้ำกลืนตลอดมา
ความจําใจรับรองสะใภ้หลวงที่เป็นชาวเยอรมันอย่างไม่เต็มใจนักสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นภายในราชวงศ์โรมานอฟรัสเซียไม่เพียงทําให้สมาชิกในครอบครัวเข้าหน้ากันไม่ติดเท่านั้น แต่เจ้าหญิงเยอรมันยังพรากลูกพรากแม่ให้สมเด็จพระพันปีหลวงผิดใจกับพระราชโอรส (คือซาร์) ผู้เคยใกล้ชิด ติดพระราชชนนีแต่ทรงพระเยาว์ซ้ำยังกีดกันพระราชนัดดาทุกพระองค์ไปจากสมเด็จพระอัยยิกาอย่างมีเจตนาอีกด้วย*2
การไม่กินเส้นกันในครอบครัวของซารีนา 2 พระองค์ส่งผลร้ายต่อราชบัลลังก์ในระยะยาว เพราะสมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งทรงมีอคติต่อผู้มาสืบทอด ตําแหน่งมิได้ทรงส่งต่อพระราชอํานาจไปให้ซารีนาองค์ใหม่ดังที่ควรจะเป็น แม้แต่เรื่องจําเป็นอย่างเครื่องประดับในพระราชพิธีใหญ่ของราชบัลลังก์ก็ยังถูกกีดกันหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ ดังที่นักประวัติศาสตร์ รายงานว่า
“มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทําให้พระนางอเล็กซานดรา เคืองพระทัยมาก คือมีเครื่องเพชรชุดสําหรับกษัตริย์ชุดหนึ่ง ซึ่งตามประเพณีจะต้องตกทอดให้แก่สมเด็จพระราชินีองค์ต่อมา และโดยระเบียบแห่งราชสํานัก พระนางอเล็กซานดราต้องทรงแต่งในงานพระราชพิธีต่างๆ แต่ว่าพระนางมารีนั้นทรงหลงใหลเครื่องเพชรยิ่งนัก ดังนั้น เมื่อชาร์นิโคลาสทูลขอพระมารดาให้ประทานเครื่องเพชรชุดนี้แก่พระนางอเล็กซานดรา ก็กริ้วแหวและไม่ยอมส่ง พระนางอเล็กซานดรา ถูกปฏิเสธซึ่งหน้าเช่นนี้ก็ประกาศว่า พระนางไม่ยินดีกับเครื่องเพชรชุดนั้นอีกแล้ว และจะไม่ยอมทรงในงานใดๆ ทั้งสิ้น ก่อนที่เรื่องนี้จะรู้ไปถึงหูประชาชน พระนางมารีได้ทรงยอมจํานนเสียก่อน
และก็เช่นเดียวกับสาวที่เพิ่งมีสามี พระนางอเล็กซานดราก็ทรงมีความยุ่งยากที่ชีวิตของพระนางต้องแปรเปลี่ยนไปอย่างกลับตัวไม่ทัน ทรงบันทึก ไว้ว่า ‘เวลานี้ยังไม่ได้นึกเลยว่า เราได้แต่งงานแล้ว รู้สึกคล้ายๆ กับว่าไปเยี่ยมใครสักคนหนึ่งเท่านั้น’ ในลายพระหัตถ์ที่มีไปถึงพระสหายคนหนึ่งที่เยอรมนีแสดงความทุกข์สุข เกิดสลับสับเปลี่ยนกันว่า ‘ฉันรู้สึกว่าอยู่อย่างเดียวดาย ร้องไห้และเป็นกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าสามีฉันยังหนุ่มนักและขาดความรู้ความชํานาญ ฉันต้องอยู่แต่คนเดียวเสียโดยมาก สามีของฉันมีงานต้องทําตลอดวัน ตอนค่ำก็ไปประทับกับพระมารดา’” [8]
ความแตกแยกและการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันของผู้นําราชสํานักฝ่ายในที่ปกติจะมีราชินี (ซารีนา) เพียงองค์เดียวทําให้เกิดการปกป้องผลประโยชน์ที่เป็นกองกลางและเกิดการแสวงหาทรัพย์สินส่วนตัวอย่างลับๆ และเปิดเผยมากขึ้น ส่งผลให้ทรัพย์สมบัติของราชวงศ์ตกสํารวจและถูกปิดบังไว้จนไม่อาจประเมินจํานวนปริมาณได้เลย
ซาร์ทรงสละราชสมบัติ
ความบาดหมางภายในราชวงศ์โรมานอฟยังพอรับได้ในฐานะปัญหาภายในครอบครัวที่ต้องแก้ไขกันเอง แต่การที่ซารีนาอเล็กซานดราเข้ามายุ่มย่าม ก้าวก่ายกิจการของรัฐบาลในฐานะผู้สําเร็จราชการจําเป็น สร้างความแตกแยกให้แก่ฝ่ายบริหารและความเกลียดชังเจ้านายก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ และรุนแรงขยายวงกว้างเป็นปัญหานั่นทอนความมั่นคงของชาติในที่สุด
คณะรัฐบาลต่างงุนงงต่อพระวิจารณญาณของซาร์ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานของสงครามกับเยอรมนี แต่ซาร์กลับตัดสินพระราชหฤทัยทิ้งเมืองหลวงไว้เบื้องหลัง แล้วเสด็จฯ ไปบัญชาการรบที่แนวหน้าโดยไม่มีความจําเป็นใดๆ ทั้งสิ้น อันเป็นต้นเหตุของการจลาจลภายในที่จะติดตามมา
การที่ชาร์ทรงละทิ้งประชาชนชาวเปโตรกราด ปล่อยให้คณะรัฐบาลที่อ่อนแอปกครองกันเองภายใต้การกํากับดูแลของซารีนาผู้ขาดประสบการณ์ทาง การเมืองในทุกๆ ด้าน เท่ากับขาดความเข้าใจในสถานการณ์บ้านเมืองอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะเมื่อซารีนา หันไปปรึกษารัสปูตินที่ทุกคนเกลียดชัง ย่อมส่งผลร้ายแรงให้ราชสํานักถึงกาลอวสานเร็วขึ้น
และเนื่องจากทั้งซาร์และซารีนาทรงรักและใกล้ชิดกันอย่างมาก เป็นเหตุให้ทั้ง 2 พระองค์ โปรดการเขียนจดหมายถึงกันทุกวันและวันละหลายๆ ครั้ง จดหมายเหล่านี้เป็นช่องทางรายงานความเคลื่อนไหวในวงราชการที่ทรงรับไม้ต่อจากซาร์ในการสื่อสารกับคณะรัฐมนตรีและเสนาบดีเจ้ากระทรวงเพื่อมิให้ขาดตอนในเวลาที่ซาร์มิได้ประทับอยู่ว่าราชการ
ประกาศิตของซาร์กลายเป็นประกาศิตของซารีนาไปด้วย ซาร์ไม่ทรงไว้ใจผู้ใดเลยในยามสงคราม ดังนั้น รายงานจากซารีนาจึงเป็นข้อสรุปของความ น่าเชื่อถือทุกอย่างเสมือนการทํางานของผู้สําเร็จราชการ แต่ที่สุ่มเสี่ยงที่สุดก็คือการโยกย้ายตําแหน่งหน้าที่บุคคลสําคัญในคณะรัฐบาล ซึ่งตัดสินใจโดยซารีนาผู้ไม่มีประสบการณ์การใช้คนแม้แต่น้อย [2]
ความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นของซารีนาในช่วงสงครามกับเยอรมนีระหว่าง ค.ศ. 1915-16 เป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงในช่วงท้ายรัชกาลที่ทําให้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์โรนานอฟหมดความน่าเชื่อถือ เมื่อซารีนาฟังคําแนะนําของรัสปูตินเพราะคําชี้นําส่วนมากเป็นการกําจัดผู้หวังดีออกจากรัฐบาล เพียงเพราะว่ารัสปูตินไม่ชอบหน้าบุคคลนั้น เป็นเหตุให้คณะรัฐบาลเริ่มไม่ไว้วางใจในตัวซาร์
เรื่องใหญ่ที่ซารีนาทนไม่ได้คือการที่คณะรัฐบาลเกิดความคิดที่จะลดทอนอํานาจของซาร์และส่งเสริมแนวคิดแบบเสรีประชาธิปไตย พระนางก็จะใช้มือของรัสปูตินลดบทบาทคนพวกนั้น โดยกําจัดพวกเขาออกไป จนเกิดการจัดระเบียบใหม่ที่รู้จักกันในยุคนั้นว่า “ระบอบซารีนา”
บรรยากาศอันอึมครึมและไร้ทางออกนี้มิใช่ว่า สมาชิกในราชวงศ์โรมานอฟจะพากันนิ่งดูดาย และปล่อยให้สถานการณ์บานปลายไปตามยถากรรมดังที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังมีตัวละครอื่นๆ อีกที่ประวัติศาสตร์ช่วงปฏิวัติรัสเซียไม่ค่อยให้ความสําคัญ
สมาชิกในราชวงศ์ที่ใกล้ชิดซาร์มากที่สุด (และเป็นน้องรักของซาร์ตลอดมา – ผู้เขียน) ได้แก่ พระกนิษฐภคินี (น้องสาวองค์รองของซาร์) พระนามว่า เซเนีย (Grand Duchess Xenia) (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า เซเนีย – ผู้เขียน) เฝ้าติดตามความพลาดพลั้งของราชสํานักมาโดยตลอด ทว่านับตั้งแต่ ค.ศ. 1906 หรือจากที่แพทย์ยืนยันแล้วว่า มกุฎราชกุมารอเล็กซี่ (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่าอเล็กซี่ – ผู้เขียน) ป่วยด้วยโรคฮีโมฟีเลีย และไม่มีโอกาสที่จะหายเป็นปกติจนตลอดพระชนมชีพ ซารีนาก็กดดันให้ครอบครัวของพระนางอพยพจากกรุงเปโตรกราดออกไปพํานักอยู่ ณ วังอเล็กซานเดอร์ นอกเมืองเป็นการถาวรเพื่อให้ห่างไกลจากความคาดหวังของชาวรัสเซียในตัวพระราชโอรสและเพื่อสวดมนต์ภาวนาขอต่อพระเป็นเจ้าให้อเล็กซี่หายประชวร [2]
ปัญหาครอบครัวเป็นความกดดันที่ส่งผลให้ซาร์ทรงกลายเป็นคนเงียบขรึมอมทุกข์ และเก็บเนื้อเก็บตัวตลอดเวลา และมีผลทําให้การตัดสินพระราช หฤทัยในเรื่องต่างๆ ผิดพลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษสุดท้ายของรัชกาล
ความเหินห่างจากราชสํานักในเมืองหลวง นอกจากจะทําให้คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าซาร์ได้ยากแล้ว พระประยูรญาติใกล้ชิดที่สุดของซาร์ผู้เคยรู้ใจและเห็นใจซาร์ก็มีอันต้องพลัดพรากและห่างเหินออกไปด้วยโดยปริยาย การจะติดตามออกไปเยี่ยมเยียนกันดูจะเป็นการใหญ่และมากพิธีจนมีคนตั้งข้อสังเกตว่ามีพิรุธอยู่เสมอ
ที่ผ่านมาเซเนีย ผู้เข้าใจพระเชษฐามากกว่าใครทําหน้าที่เป็นทั้งกันชนและตัวเชื่อมให้สมเด็จพระ พันปีหลวงได้พบซาร์เป็นครั้งเป็นคราว ได้กลายเป็น คนวงในผู้รับรู้เรื่องราวในครอบครัวมากที่สุดในช่วงท้ายรัชกาล และเป็นผู้หนึ่งที่วิเคราะห์เหตุการณ์ได้อย่างยุติธรรมและมีสติ
เซเนียบันทึกไว้ว่าเรื่องราวภายในครอบครัวของซาร์กลายเป็นขี้ปากของชาวราชสํานักที่ต่อมาเล่าลือกันในหมู่นักการเมืองและสังคม แม้แต่เรื่องของรัสปูตินก็ยังถูกนักข่าวหัวเห็ดนําไปตีแผ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วทวีปยุโรปอย่างสนุกสนามทั้งที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นจริง แต่ภาพที่ปรากฏออกมาไม่ได้แก้ไขภาพลักษณ์ของราชวงศ์ให้ดีขึ้น [3]
พระราชกรณียกิจของซาร์ดูขาดตอนลงและขาดการเอาใจใส่อย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ซาร์เริ่มตรอมพระราชหฤทัยในอาการประชวรของพระราช โอรส สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อซารีนาหมกมุ่นมากขึ้นกับการสวดมนต์อ้อนวอนให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกับอเล็กซี การสวดมนต์แบบหามรุ่งหามค่ำ ทําให้พระพลานามัยเสื่อมโทรมลง และเป็นเหตุให้มีพระโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจอ่อนและกระดูกสันหลังอักเสบเสมอๆ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่ามาจากอาการ “จิตวิตก” ขั้นรุนแรงๆ [7]
รัสปูตินได้ก้าวเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ เมื่อเขาสามารถใช้การสะกดจิตยับยั้งอาการประชวรของอเล็กซี่ได้ จนซารีนาเชื่อว่าเขาเป็นบุคคลที่พระเจ้าส่งมาช่วยราชวงศ์ อิทธิพลของซารีนาในเรื่องนี้พลอยกดดันให้ซาร์มีพระราชหฤทัยเอนเอียงไปเชื่อถือรัสปูตินตามซารีนาด้วย
การก้าวก่ายของรัสปูตินเหนือกิจการบ้านเมือง ดําเนินมาตั้งแต่ ค.ศ. 1911 (ก่อนสงครามโลกครั้ง 2 จะอุบัติขึ้นถึง 3 ปี – ผู้เขียน*{โปรดดูหมายเหตุท้ายบทความเพิ่มเติมเนื่องจากมีแก้ไขข้อมูลในฉบับออนไลน์}) และทําให้เสนาบดีผู้หวังดีหลายคนขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันปีหลวงที่พวกเขาคุ้นเคยเพื่อเตือนภัยตั้งแต่แรก
ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1912 เซเนียจึงได้นําสมเด็จพระพันปีหลวงไปเข้าเฝ้าซาร์เป็นการลับถึงที่ประทับนอกเมือง เพื่อตักเตือนชาร์ตามที่ได้ยินมา แต่ซาร์ก็ไม่ปักพระราชหฤทัยเชื่อข่าวลือ ซ้ำยังได้ทรงนําคําแนะนําให้ปลดรัสปูตินไปบอกซารีนาผู้มีความขัดแย้งกับสมเด็จพระพันปีหลวงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งทําให้ครอบครัวตัดขาดออกจากกันยิ่งขึ้น
การเข้าแทรกแซงของสมเด็จพระพันปีหลวง และแกรนด์ดัชเชสเซเนียในการยับยั้งพฤติกรรมอันไม่ชอบมาพากลของซารีนา ตลอดจนการตัดสิน ใจสังหารรัสปูติน โดยเจ้าชายยุสซูพอฟในลักษณะ “ผู้ปกป้องราชวงศ์” มิได้ช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้น ทั้งนี้ เพราะชาวรัสเซียกลับเชื่อว่าราชวงศ์หมดความชอบธรรมแล้ว และไม่สามารถรักษาบ้านเมืองไว้ได้อีกต่อไป [3]
ภายหลังสงครามระหว่างรัสเซียกับเยอรมนีดําเนินไปเป็นปีที่ 3 (ค.ศ. 1916) ราชวงศ์ก็พลาดพลั้งมากขึ้น ทั้งจากการบงการอย่างขาดสติภายใต้ “ระบอบซารีนา” และการโยกย้ายบุคคลสําคัญในรัฐบาลโดยเฉพาะการปลดพระราชปิตุลาของซาร์ ผู้มีความรู้ความสามารถด้านการรบออกจากสมรภูมิทําให้กองทัพรัสเซียพ่ายแพ้อย่างยับเยินเกินความคาดหมาย
ดังนั้น เมื่อชาร์ทรงกลับลําถอนตัวออกจากสนามรบในต้นเดือนมีนาคม 1917 เพื่อเสด็จกลับมาควบคุมสถานการณ์ในเมืองหลวง โดยคาดหวังลมๆ แล้งๆ ว่า การปรากฏพระองค์จะทําให้ประชาชนพอใจและหยุดการประท้วงได้กลับกลายเป็นการต่อต้านซาร์อย่างเปิดเผยและรุนแรง
คําแนะนําของสภาคณะปฏิวัติ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ให้ซาร์ทรงสละราชสมบัติจึงได้รับการตอบสนองโดยดุษณี นับจากวันนั้นรัฐบาลรักษาการณ์ โดยการนําของเคเรนสกี (Alexander Kerensky) ก็เข้าควบคุมสถานการณ์ แต่สถานภาพของราชวงศ์ก็ยังเป็นเรื่องคลุมเครือว่าจะจัดการอย่างไรต่อไป เพราะสงครามยังเป็นตัวแปรที่ยังดําเนินอยู่และไม่อาจยุติได้ในทันทีพร้อมระบอบซาร์ แต่รัสเซียก็ยังต่อสู้กับเยอรมนีต่อไป โดยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรจนถึงประมาณเดือน กันยายน 1917 เมื่อเลนินทํารัฐประหารซ้อนขึ้น
หลังจากที่ซาร์ทรงสละราชสมบัติแล้ว เคเรนสกีในฐานะผู้นํารัฐบาลรักษาการณ์ก็เข้าควบคุมสถานการณ์ทั้งหมด เขาเป็นผู้สั่งการให้ยึดทรัพย์ ราชวงศ์โรมานอฟ และเริ่มการไต่สวนความผิดของซาร์และซารีนาด้วยตนเอง ขณะที่ทั้ง 2 พระองค์ ทรงถูกกักบริเวณอยู่ ณ พระราชวังอเล็กซานเดอร์ นอกกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก [7]
เส้นทางเคลื่อนย้ายราชสมบัติ
ผู้สันทัดกรณีด้านราชวงศ์โรมานอฟยืนยันว่า เมื่อเคเรนสกีมีคําสั่งให้ยึดทรัพย์สมบัติของราชวงศ์โรมานอฟแล้ว เขาก็ย้ายเข้าไปทํางานภายในห้อง ทรงพระอักษรของซาร์นิโคลาสที่ 2 ณ พระราชวัง ฤดูหนาว (Winter Palace) ทันที [7]
ก่อนหน้าการยึดทรัพย์สินของราชวงศ์ในเดือน มีนาคม ค.ศ.1917 จะเกิดขึ้น จําเป็นต้องอธิบายสถานที่เก็บราชสมบัติของราชวงศ์สักเล็กน้อย เนื่องจากคลังสมบัติและสถานที่ประกอบพระราชพิธีเป็นคนละที่กัน
จักรวรรดิรัสเซียสมัยซาร์มีเมืองหลวงเก่าคือกรุงมอสโก อายุ 871 ปี ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสําคัญต่างๆ ของราชวงศ์ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของซาร์ทุกพระองค์จะเกิดขึ้นที่นี่ แต่มิใช่ที่ประทับถาวรของราชวงศ์ ซึ่งจะเป็น ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองหลวงแห่งที่ 2 อายุ 325 ปี หมายความว่า เครื่องราชกกุธภัณฑ์จะมิได้เก็บอยู่ที่มอสโก แต่เมื่อมีการประกอบพระราชพิธีใหญ่ๆ ของมีค่าทั้งหมดจะถูกนํามาจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นหลัก และจะถูกนํากลับไปเมื่อเสร็จงานพระราชพิธี [1]
ส่วนกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนั้น เป็นเมืองหลวงแห่งที่ 2 ที่ใช้เป็นที่ประทับอย่างเป็นทางการของราชวงศ์โรมานอฟในยุค Imperial Russia ของซาร์ และซารีนาทุกพระองค์ โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงดังนี้ คือ
ช่วงแรก : ค.ศ. 1713-28 ในรัชสมัยของซาร์ปีเตอร์มหาราช
ช่วงหลัง : ค.ศ. 1732-1918 ในรัชสมัยของซารีนาแอนนา สิ้นสุดในรัชกาลซาร์นิโคลาสที่ 2
ดังนั้น คลังสมบัติก็จะอยู่ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยเครื่องราชกกุธภัณฑ์และสมบัติอันล้ำค่า ประเภทเพชรนิลจินดาก็จะถูกเก็บรักษาไว้ภายในท้องพระคลังหลวง ภายในพระราชวังฤดูหนาว (Winter Palace) จนถึงรัชสมัยซาร์นิโคลาสที่ 2 [6]
จนกระทั่งถึงวิกฤติการณ์ใหญ่ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ระเบิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1914 เป็นต้นไป เครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องประดับประจําพระองค์ของซาร์และซารีนาจึงถูกนําไปเก็บรักษาไว้ ณ พระราชวังเครมลิน กรุงมอสโก ซึ่งอยู่ห่างออกไปไกล 632 กิโลเมตร โดยเชื่อกันว่าจะปลอดภัยจากภาวะสงครามมากกว่ากรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งอยู่ใกล้แนวรบกับเยอรมนี [6]
ทรัพย์สินส่วนพระองค์อื่นๆ ประเภทเครื่องประดับและเพชรนิลจินดาขนาดเล็กลงมานั้นพระบรมวงศานุวงศ์แต่ละพระองค์ต่างเก็บดูแลกันเอง โดยเฉพาะภายหลังการปฏิวัติในปี 1917 แล้ว แม้นว่าจะมีการยึดทรัพย์เพิ่มเติมกับพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ก็เชื่อได้ว่าเพชรพลอยเป็นอันมากถูกเก็บซุกซ่อนไว้เป็นอย่างดี เพื่อรอดพ้นจากการตรวจค้นของคณะปฏิวัติดังที่จะกล่าวถึงต่อไป [9]
รัฐบาลเฉพาะกาลของเคเรนสกีปกครองรัสเซียอยู่เพียงระยะสั้นๆ ระหว่างวันที่ 8 กรกฎาคม – 25 ตุลาคม 1917 เท่านั้นก็ถูกโค่นล้มด้วยการปฏิวัติซ้อนโดยพวกบอลเชวิกที่มีเลนินเป็นผู้นํา
เป็นที่เชื่อได้ว่า ทรัพย์สมบัติของราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งคณะปฏิวัติริบเอาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่การสละราชสมบัติของซาร์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917 เป็นต้นไป และแม้นว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนในปีเดียวกัน แต่ทรัพย์สินเกือบทั้งหมดก็ถูกเคลื่อนย้ายและอายัติไว้เป็นของกลาง ณ พระราชวังเครมลิน กรุงมอสโก และเก็บเงียบอยู่ที่นั่นโดยไม่มีใครกล้าพูดถึงอีกเป็นเวลานานถึง 50 ปีในยุคสหภาพโซเวียต [6]
เอกสารของทางการโซเวียตชี้แจงว่าทรัพย์สินจํานวนมาก ประเภทเพชรน้ำงาม ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ถูกจําหน่ายออกโดยรัฐบาลรัสเซียภายใต้ระบอบซาร์ ช่วง ค.ศ. 1904-05 เพื่อจะได้นําเงินไปค้ำจุนการทําสงครามที่สูญเปล่ากับญี่ปุ่น ผลที่ได้คือ สมบัติของบรรพบุรุษจํานวนหนึ่งต้องสูญไปกับความพ่ายแพ้ในสงครามอันอัปยศนั้น [6]
โชคดีที่เมื่อเกิดสงครามโลกขึ้น (ค.ศ. 1914-18) รัฐบาลของซาร์ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากฝ่ายสัมพันธมิตรได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐ อเมริกา ให้เดินหน้าสู้กับเยอรมนี โดยอยู่ข้างชาติตะวันตก ซาร์มีพระราชประสงค์ให้เคลื่อนย้ายทรัพย์สมบัติไปเก็บรักษาไว้ที่มอสโก ตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 1914 แล้ว
ต่อมาในราวกลางปี ค.ศ. 1917 ภายหลังการสละราชสมบัติของซาร์แล้ว รัฐบาลชั่วคราวได้จัดให้มีหน่วยงานหนึ่งของกรมราชพัสดุเดิมประจําพระราชวังเครมลิน (Kremlin) เป็นผู้ดูแลและขึ้นทะเบียนวัตถุทุกชิ้นขึ้นอย่างเป็นทางการ [6]
โดยตั้งแต่ ค.ศ. 1917 เป็นต้นมา หัวหน้าทีมผู้ดูแลรักษาท้องพระคลังใหม่ ณ เครมลินได้แก่ นายเซเจอเยฟ (Mikhail Sergeyey) ทําหน้าที่เป็นภัณฑา รักษ์หลักภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ และยืนหยัดจนสามารถผลักดันให้รัฐบาลโซเวียตออกกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 10 เมษายน 1922 มีมติให้สมบัติโรมานอฟ ตกเป็นของประชาชนชาวโซเวียตทั้งมวล [6]
แต่สมบัติโรมานอฟก็ถูกเก็บเงียบไว้ภายในพระราชวังเครมลินตลอดสมัยแห่งการก่อร่างสร้างตัวและฟื้นฟูประเทศ ในอีก 50 ปีต่อมาและได้เปลี่ยนชื่อองค์กรเสียใหม่เป็น “กองทุนเพชรแห่งชาติ” หรือ Diamond Fund อีกครั้ง ใน ค.ศ. 1967 [6]
โดยในวาระแห่งการฉลองการก่อตั้งสหภาพโซเวียต (USSR) ครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 1967 นั้นเอง รัฐบาลแห่งสหภาพโซเวียตจึงเปิดให้ คนภายนอกเข้าชมสมบัติโรมานอฟได้เป็นครั้งแรก ภายในห้องจัดแสดงพิเศษของ Diamond Fund ตั้งอยู่ภายในอาคารเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์อาร์เมอรี (The State Armoury Museum) ในขอบเขตของพระราชวังเครมลิน กรุงมอสโก ตราบถึงทุกวันนี้ (ค.ศ. 2018)
อาคารโดยรอบภายในพิพิธภัณฑ์อาร์เมอรียังเป็นที่จัดแสดงสมบัติอันล้ำค่าอื่นๆ ของราชวงศ์โรมานอฟ มีอาทิ วัตถุโบราณนานาชนิด ตลอดจน เครื่องทรงซาร์และซารีนา รถม้าพระที่นั่งอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยโบราณ เครื่องเงิน เครื่องถมทอง เครื่องบูชาทางศาสนา และเครื่องราชบรรณาการจากต่างชาติที่ส่งเข้ามาถวายจักรพรรดิรัสเซียในอดีตกาล
สมบัติราชวงศ์ถูกลักลอบออกนอกประเทศ
นอกจากนั้นสมบัติส่วนพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ดูเหมือนไม่มีตัวตน และเป็นของตกสํารวจ ได้ถูกยักย้ายถ่ายเทออกนอกประเทศก่อน การประกาศยึดทรัพย์โดยคณะปฏิวัติ มีจําพวกเครื่องประดับเพชรพลอยจํานวนมากถือครองกรรมสิทธิ์โดยสมาชิกของราชวงศ์โรมานอฟผู้มีกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินนั้นโดยตรง
แกรนด์ดัชเชสเซเนีย พระกนิษฐภคินีองค์รองของซาร์ผู้อยู่ในเหตุการณ์ระทึกขวัญของการปฏิวัติรัสเซียตั้งแต่ต้น และเป็นคนวงในที่ติดต่อขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอกเป็นผู้ดูแลซารีนามารี (คือ สมเด็จพระพันปีหลวง) อย่างใกล้ชิดประดุจองครักษ์ส่วนพระองค์ของเสด็จแม่ในยามยากได้อย่างน่าชื่นชมที่สุด
ท่านบันทึกไว้ในอัตชีวประวัติของท่านว่า สมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จไปทรงพบซาร์เป็นครั้งสุดท้าย ณ ค่ายทหารที่เมืองโมก็เลฟ (Moghiley) วันที่ 3 มีนาคม 1917 ภายหลังการลงพระนามสละราชสมบัติและได้ทอดพระเนตรพระราชโอรส (ซาร์) ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเดินทางโดยรถไฟพระที่นั่งไปกักขัง ณ เขตพระราชฐานซาสโกเยเซโล ชานกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (เปโตรกราด) จากนั้นราชวงศ์ก็เริ่มได้ยินข่าวการจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์ที่ละคน โดยพวกปฏิวัตินํามาซึ่งความขนพองสยองเกล้าแบบไม่มีวันลืม1
พระบรมวงศานุวงศ์ที่ยังไม่ถูกจับกุมพากันหนีเล็ดลอดออกนอกเมือง และโดยสารรถไฟด้วยวิธีอําพรางตนเองลงไปยังภาคใต้ โดยมากจะมุ่งหน้าสู่คาบสมุทรไครเมียที่ทุกคนคุ้นเคย เป้าหมายคือ ทะเลดํา (Black Sea) ที่เป็นพรมแดนธรรมชาติติดกับตุรกีและหนทางออกสู่โลกภายนอก
อันว่าคาบสมุทรไครเมียนี้ เป็นเมืองตากอากาศของบรรดาราชวงศ์ในสมัยรุ่งเรือง มีเมืองหลักริมทะเลคือ เมืองยัลตา (Yalta) บนคาบสมุทรเมือง บริวารในแถบนี้เป็นสถานที่ราชวงศ์โรมรานอฟมีวังเป็นส่วนพระองค์และทุกคนคุ้นเคยมาแต่ทรงพระเยาว์ คือที่ตําบลลวาเดีย (Livadia) และไอ-โทดอ (Ai-Todor) [3]
ผู้คนในไครเมียซึ่งอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวง (ราว 2,000 กิโลเมตร) ยังเป็นพวกนิยมราชวงศ์ และมิใช่พวกคิดการปฏิวัติจึงเป็นเป้าหมายหลักที่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์พากันลี้ภัยลงมาพักพิง ทั้งที่รู้ว่าในไม่ช้าก็จะถูกควบคุมและสั่งการโดยรัฐบาลใหม่ในเมืองหลวงเช่นเดียวกับทุกภูมิภาคของทุกประเทศ
ซึ่งก็เป็นจริงดังคาด ประมาณเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 รัฐบาลปฏิวัติก็มาถึงและส่งผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาปกครองแบบเบ็ดเสร็จ ข่าวจากเมืองหลวงมาถึงท่ามกลางความตื่นตระหนกว่ารัฐบาลใหม่ได้ประกาศเรียกรัสเซียเป็นสาธารณรัฐแล้ว แต่ราชวงศ์ก็ทนอยู่ตอไปที่ไอ-โทดอ จนถึงเดือนตุลาคมศกนั้น ท่ามกลางข่าวใหม่ว่าเลนินได้ยึดอํานาจจากรัฐบาลเฉพาะกาลตั้งตัวเป็นผู้นําสูงสุดของรัสเซีย
เจ้านายชั้นสูงของราชวงศ์โรมานอฟ ประกอบด้วย สมเด็จพระพันปีหลวง พระกนิษฐภคินี (น้องสาว) ของซาร์ พระปิตุลา (ลุง) พระปิตุจฉา (ป้า) พระ มาตุลา (น้า) พระนัดดาและพระภาคิไนย (หลาน) พระปนัดดา (เหลน) และพระชามาดา (ลูกเขย) ของซาร์ พร้อมด้วยเจ้านายเล็กๆ รวมกว่า 50 ชีวิต มารวมตัวกันอยู่ที่เมืองยัลตา และเมืองเล็กๆ บนคาบสมุทรไครเมีย รอความช่วยเหลือจากโลกภายนอก [4]
เจ้านายเชื้อพระวงศ์เหล่านี้ได้พกติดตัวทรัพย์สมบัติของแต่ละองค์ที่สะสมไว้หรือตกทอดมาจากราชนิกูลโรมานอฟสายต่างๆ คนละเล็กละน้อยเท่าที่จะลักลอบออกมาได้เพื่อใช้เป็นทุนยังชีพ หากเดินทางออกนอกประเทศไปได้ และเพื่อขายเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงชีวิตตนเองหากหนีรอดไปได้ [8]
ภายหลังการติดต่อ (และต่อรอง) จากรัฐบาลอังกฤษ เรือรบของอังกฤษจากน่านน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ชื่อเรือรบมาร์ลบอโร (H.M.S. Marlborough) ก็เดินทางเข้ามายังทะเลดํา และมาถึงเมืองท่าบัลตา บนคาบสมุทรไครเมีย วันที่ 5 เมษายน 1919 โดยมีภารกิจพิเศษเพื่อรับราชวงศ์โรมานอฟ ผู้ขอลี้ภัยทางการเมืองเดินทางสู่อิสรภาพ
เรือรบมาร์ลบอโร โดยการควบคุมของพลเรือโท พริทธัม (Vice-Admiral Sir Francis Pridham) ได้ขนย้ายผู้โดยสารกิตติมศักดิ์ ผู้เป็นพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ โดยได้ถอนสมอออกเรือจากแผ่นดินรัสเซีย ในวันที่ 7 เมษายน 1919 [9]
ภายหลังที่เรือรบอังกฤษช่วยเหลือผู้ลี้ภัยออกมาจากรัสเซียแล้วก็แล่นข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีจุดหมายที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างทางเจ้านาย ราชนิกูลหลายพระองค์ขอลงพํานัก ณ ประเทศที่พวกท่านคุ้นเคยและพร้อมที่จะให้ที่พักพิงมีอาทิ อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส
แต่ประธานของราชวงศ์โรมานอฟคือ ซารีนามารี (สมเด็จพระพันปีหลวง) และพระราชธิดาทรงเป็นเจ้านายกลุ่มสุดท้ายที่ขอลี้ภัยในอังกฤษเป็นประเทศแรก (ก่อนจะเสด็จต่อไปยังเดนมาร์กหรือที่อื่นๆ – ผู้เขียน)
ที่อังกฤษนั่นเอง ซารีนามารีและแกรนด์ดัชเชสเซเนียได้นําสมบัติโรมานอฟออกมาประกาศขาย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับส่วนพระองค์ที่ทรงนําติดตัวออกมา และเคลื่อนย้ายได้ง่าย เช่น แหวน กําไล จี้ประดับเพชรพลอย ไข่มุก สร้อยคอ บุษราคัมและเพชรร่วงขนาดต่างๆ [8]
บัญชีของทรัพย์สินส่วนพระองค์ถูกบันทึกไว้ ในไดอารีของแกรนด์ดัชเชสออลก้า พระราชธิดาองค์เล็กของซารีนามารี เป็นข้อมูลใหม่ที่น่าตื่นเต้น ไม่น้อยของสมบัติโรมานอฟที่ถูกนําออกมานอกรัสเซียหลังการปฏิวัติ และถูกขายทอดตลาดเพื่อนําเงินมาประทังชีวิตในยามตกยาก… [8]
เป็นที่เชื่อได้ว่าสมบัติที่หายไปของราชวงศ์โรมานอฟจํานวนหนึ่งติดตัวออกมานอกแผ่นดินแม่พร้อมกับพระประยูรญาติและเจ้านายเชื้อพระวงศ์ผู้ใกล้ชิดซาร์นิโคลาสที่ 2 ถูกขายทอดตลาดในอังกฤษ และบางส่วนฝากไว้กับราชวงศ์อังกฤษ ณ พระราชวังวินด์เซอร์ โดยแกรนด์ดัชเชสเซเนีย [8]
เป็นเวลากว่า 100 ปี ที่ทรัพย์สินอันมีค่าอีกมากของราชวงศ์กระจายอยู่ทั่วทวีปยุโรป และอาจตกอยู่ในกรรมสิทธิ์ของมหาเศรษฐีระดับโลก ผู้แสวงหา ของที่ระลึกอันเลอค่าจากสํานักประมูลวัตถุโบราณชื่อดังที่เราได้ยินอยู่บ่อยๆ
ถึงวันนี้คงเป็นการยากที่จะล่วงรู้ว่าทรัพย์สมบัติซึ่งมีที่มาและเพียบพร้อมด้วยเกียรติประวัติเหล่านี้หายไปมากน้อยเพียงใด และถูกเก็บรักษาไว้โดยทายาทของราชวงศ์ใดบ้างในทุกวันนี้
หมายเหตุฉบับออนไลน์ : เนื้อหาย่อหน้าที่ว่า “—การก้าวก่ายของรัสปูตินเหนือกิจการบ้านเมือง ดําเนินมาตั้งแต่ ค.ศ. 1911 (ก่อนสงครามโลกครั้ง 2 จะอุบัติขึ้นถึง 3 ปี – ผู้เขียน) และทําให้เสนาบดีผู้หวังดีหลายคนขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันปีหลวงที่พวกเขาคุ้นเคยเพื่อเตือนภัยตั้งแต่แรก—” แก้ไขข้อมูลเป็น “ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะอุบัติขึ้นถึง 3 ปี”
เอกสารประกอบการค้นคว้า
[1] ไกรฤกษ์ นานา, “100 ปีที่ไร้ซาร์ ตอนที่ 1 “ภาพที่หายไปของซาร์นิโคลาสที่ 2,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2560), น. 144-169.
[2] ____, “100 ปีที่ไร้ซาร์ ตอนที่ 2 “ภาพพระบรมศพที่หายไป” ของซาร์นิโคลาสที่ 2,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2560), น. 146-169.
[3] ____“100 ปีที่ไร้ซาร์ ตอนจบ ราชวงศ์โรมานอฟได้รับความช่วยเหลือ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ ๓๙ ฉบับที่ 3 (มกราคม 2561), น. 144-169.
[4] ____“ข่าวดี” และ “ข่าวร้าย ในหนังสือพิมพ์ยุคซาร์ เคยทายทักอนาคตรัสเซีย,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 ฉบับที่ 9 (กรกฎาคม 2561), น. 144-169.
[5] นายตํารา ณ เมืองใต้, ราชบัลลังก์รุสเซีย, หจก. รวมสาส์น, 2518.
[6] “Diamond Fund Guide”, The State Armoury Museum, Moscow, 2014.
[7] Massie, Robert. K. Nicholas and Alexandra. Dell Publishing Co., Inc, New York, 1968.
[8] Phenix, Patricia. Russia’s Last Grand Duchess. Penguin Books, Canada, 2000.
[9] Welch, Frances. The Russian Court at Sea. CPI Bookmarque, Croydon, Great Britain, 2011.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2562