จับไต๋ “แอนนา” ผู้อ้างเป็นเจ้าฟ้าหญิง “อนาสตาเซีย” หลังราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซียล่มสลาย

แอนนา แอนเดอร์สัน
(ซ้าย) แอนนา แอนเดอร์สัน ถ่ายเมื่อ 1920 โดยตำรวจเบอร์ลิน (ขวา) แอนนา แอนเดอร์สัน ถ่วยเมื่อ 1930 ที่นิวยอร์ก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กุมภาพันธ์ 2549)

จับไต๋ผู้อ้างเป็นเจ้าฟ้าหญิง “อนาสตาเซีย” ภายหลังราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซียล่มสลาย ฤาจะโป๊ะแตก?

เธอทําให้โลกรู้จักและจดจํา อนาสตาเซีย เจ้าฟ้าหญิงองค์เล็กของราชวงศ์โรมานอฟกว้างขวางยิ่งขึ้น

เธอเป็นหญิงสาวชาวโปแลนด์ มีอาชีพเป็นคนงานในโรงงานแห่งใดแห่งหนึ่ง มีชื่อจริงว่า ฟรานซิสก้า
ซานซ์โกสก้า และคงจะเป็นคนรักการอ่าน ติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองตามสมควร เธอเป็นผู้หนึ่งที่มีความปรารถนาแรงกล้า (wish) ที่จะให้เจ้าฟ้าหญิงอนาสตาเซียมีชีวิตอยู่ โดยเป็นผู้สวมบทบาทเจ้าฟ้าหญิงเสียเลย และบางทีเธออาจหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่าง หรือต้องการจะตายจากชีวิตคนงานหรือกรรมกรที่ยากจนข้นแค้นไปเกิดเป็นเจ้าหญิงในทันทีก็ได้

ไม่มีใครรู้ประวัติแอนนามากนัก รู้แต่ว่าเธอเคยถูกระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 1 ตกใจกลัวถึงขั้นขวัญหนีดีฝ่อ เคยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีประวัติว่าเจ็บป่วยด้วยโรคจิตแต่ประการใด แม้พฤติกรรมบางขณะจะมีแนวโน้มไปทางนั้นก็ตาม

ขณะที่ข่าวของพระราชวงศ์รัสเซียวุ่นวาย หนีตายมายังประเทศตะวันตก มีข่าวที่โผล่มาเพิ่มสีสันอีกข่าวหนึ่ง และแผ่ซ่านไปไกลมากทีเดียว

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1920 (หลังจากราชวงศ์ล่มสลายไปประมาณ 8-9 เดือน) ตํารวจเยอรมันได้ช่วยหญิงสาวผู้หนึ่งที่จะฆ่าตัวตายโดยโดดลงไปในคลองแลนด์เวห์รในเบอร์ลิน แต่เธอผู้นี้ไม่ให้ปากคําใดๆ แก่เจ้าหน้าที่ตํารวจเลย พูดเป็นนัยไว้แต่เพียงว่า “ถ้าคนรู้ว่าดิฉันเป็นใครแล้ว ดิฉันไม่อาจอยู่ที่นี่ได้” ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยคือเธอพูดภาษาเยอรมันได้ไม่ดีเลย เอ็กซเรย์กะโหลกศีรษะมีรอยร้าว ตามเนื้อตัวมีรอยแผลเป็นเต็มไปหมด เป็นรอยถลอกมากมาย และมีรอยถูกแทงด้วยดาบปลายปืนที่ขาขวา จากสะโพกถึงปลายเท้า รอยแผลเป็นรูปดาว แต่เธอก็มิได้บอกตํารวจเยอรมันว่าแผลเป็นนี้มาจากไหนและจากใคร

เธอเงียบเฉยและแสดงด้วยอาการเศร้าและแสดงอารมณ์ดื้อดึง ตํารวจจึงต้องนําส่งโรงพยาบาลโรคจิต ในนามผู้ป่วยว่า “Miss Unknown” เธอรักษาตัวอยู่ที่นี่ 2 ปีเต็ม และบรรดาพระราชวงศ์รัสเซียที่อพยพมาพํานักในเบอร์ลินฉงนสนเท่ห์กันมาก เมื่อเธอบอกว่าเธอคือ เจ้าฟ้าหญิงอนาสตาเซีย ที่หลบหนีการฆ่าทารุณมาได้ เธอไม่แคร์ว่าใครจะเชื่อหรือไม่ และไม่ยอมเล่ารายละเอียดการหลบหนีมาได้อย่างไรกับการฆ่าทารุณนั้น ทั้งยังไม่ยอมพูดภาษารัสเซียด้วย ดูราวกับว่าจะกระตุ้นบาดแผลใจของเธอให้ยิ่งเจ็บมากขึ้น จริงๆ แล้วเธอพูดภาษารัสเซียได้

ในที่สุดมีเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของรัสเซียที่หนีรอดมาได้ได้ซักถามพิสูจน์ ด้วยแต่ละองค์คุ้นเคยกับเจ้าฟ้าหญิงอนาสตาเซีย หลายองค์ยอมรับว่าเธอมีหน้าตาคล้ายคลึงกับเจ้าฟ้าหญิง แต่บุคลิกภาพบางส่วนดูแปลกๆ อันอาจเป็นเพราะผ่านเหตุการณ์ที่โหดร้ายมา คําถามในรายละเอียดบางอย่างเธอออกอาการเลอะเลือนหรือลืม

ลอร์ดหลุยส์ เมาต์แบตเตน ผู้เป็นหลานชายของพระนางอเล็กซานดร้า ยอมจ่ายเงินจํานวนมากให้กับหน่วยนิติเวชในลอนดอน เมื่อหน่วยนั้นวิเคราะห์รูปทรงใบหูของทั้ง 2 ฝ่าย ได้ข้อสรุปว่า แอนนา แอนเดอร์สัน คือเจ้าฟ้าหญิงอนาสตาเซียแน่นอน!

ฝ่าย เจ้าหญิงโอลก้า พระขนิษฐาแท้ๆ ของพระเจ้าซาร์ ขณะนั้นลี้ภัยอยู่ในเดนมาร์ก ได้ใช้เวลา 5 วัน อยู่ด้วยกันกับแอนนา และได้ข้อสรุปว่าไม่ใช่ เช่นเดียวกับ นางลิลี เดห์น พระสหายสนิทของพระนางอเล็กซานดร้า ใช้เวลา 6 วันพูดคุยถึงสีพรมลวดลายม่านประจําห้องต่างๆ ในพระราชวัง ตลอดจนมุมสวน สรุปว่าแอนนาคืออนาสตาเซียตัวปลอม

ข้อมูลตัวจริงตัวปลอมค่อนข้างก้ำกึ่งกันมาก พอดีได้พบกระดูกของพระราชวงศ์ที่เหมืองร้างห่างจากตัวเมือง 18 กิโลเมตร ในเวลาต่อมาการตรวจสอบไม่พบโครงกระดูกเจ้าฟ้าหญิงอนาสตาเซีย ยิ่งทําให้น้ำหนักทางแอนนามีมากขึ้น

อนาสตาเซีย
อนาสตาเซีย เจ้าฟ้าหญิงองค์เล็กของราชวงศ์โรมานอฟ

อย่างไรก็ดี ข้อยุติน่าจะอยู่ที่การพิสูจน์ดีเอ็นเอ ซึ่งของแอนนาไม่ใกล้เคียงกับใครๆ ในหมู่พระญาติใกล้ชิดราชวงศ์โรมานอฟเลย แต่กลับเหมือนกับครอบครัวคนงานในโปแลนด์ครอบครัวหนึ่งที่แจ้งว่าลูกสาวหายสาบสูญไป

พอดีทางรัฐบาลรัสเซียได้ตรวจสอบโครงกระดูกโดยละเอียดอีกครั้ง พบว่าโครงกระดูกที่หายไปเป็นของเจ้าฟ้าหญิงมารี หายไปเพราะถูกเผาเป็นเถ้าถ่านเกือบหมด ของเจ้าฟ้าหญิงอนาสตาเซียยังอยู่

แอนนา แอนเดอร์สัน เสียชีวิตในอเมริกา ที่มาร์ธา เจฟเฟอร์สัน โฮสปิตอล เมื่อปี 1984 เธอจากเยอรมนีไปที่นั่นในความอุปถัมภ์ของบุรุษผู้หนึ่ง-จอห์น อี. มานาฮาน แห่งชาร์ลอตเตอร์วิลล์ เวอร์จิเนีย นักประวัติศาสตร์ผู้เชื่อมั่นแน่นแฟ้นว่า แอนนา แอนเดอร์สัน คือเจ้าฟ้าหญิงอนาสตาเซีย

เป็นที่น่าเสียดายและสงสัยว่ามีสุภาพสตรีอีกผู้หนึ่ง ผู้เป็นพระสหายสนิทอย่างยิ่งของพระนางอเล็กซานดร้า เธอมีบ้านพระราชทานหลังเล็กๆ อยู่ในเขตพระราชฐาน ห่างจากที่ประทับของพระนางเพียง 200 เมตร ห้วงเวลาก่อนหน้านั้นเธอถูกจับกุมจําขังหลายต่อหลายครั้งก่อนลี้ภัยไป ฟินแลนด์ เธอคือแอนนา วิรูโบวา เธอไม่เคยถูกเชิญมาช่วยพิสูจน์ ทําไม?!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2562 (เพิ่มเนื้อหาในย่อหน้าแรกโดยกองบรรณาธิการ)