ฝรั่งสมัย ร.3 ชี้ คนไทยสนใจแค่อาหาร-เงินทอง ใช้ชีวิตเหมือนหลับตาเดิน ไม่เหลียวซ้ายแลขวา

คนไทย
(ภาพประกอบเนื้อหา) ชาวบ้านมารับเสด็จรัชกาลที่ 5 ณ วัดป่าโมก เมืองอ่างทอง

ฝรั่งในสมัย รัชกาลที่ 3 เขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ คนไทย ชี้ว่า คนไทยสนใจแค่อาหาร-เงินทอง ใช้ชีวิตเหมือนหลับตาเดิน ไม่เหลียวซ้ายแลขวา

เฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีล ชาวอังกฤษที่เดินทางมายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2383 ตรงกับสมัย รัชกาลที่ 3 เข้ารับราชการตำแหน่งนายทหารเรือและนายหทารบกควบกันไปในขณะเดียวกัน กระทั่งย้ายไปรับราชการกรมทหารม้า ตำแหน่งราชองค์รักษ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)

เฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีล ได้เขียนบันทึกเรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับชาวไทย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ราชสำนัก สังคม วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ศาสนา ผลิตผล เศรษฐกิจ ฯลฯ หนังสือของเขามีชื่อว่า “Narrative of a Redidence in Siam” ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2395 ในประเด็นที่กล่าวถึงคนไทยว่าสนใจแต่เรื่องอาหารและเงินทองนี้ สะท้อนให้เห็นลักษณะของชนชั้นและวิถีชีวิตของคนในสังคมได้อย่างดี ดังที่บันทึกว่า

“…พวกตะวันออกนี้ดูจะมีเรื่องคุยกันอยู่ 2 เรื่องที่พวกเขาชอบคุยกันคือ เรื่องเงินทองและเรื่องอาหาร นอกจากทั้งสองเรื่องนี้แล้วก็ดูจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาไม่ยอมรับเรื่องอย่างอื่นที่เกิดขึ้นในโลกทั้งสิ้น นอกจากสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตเท่านั้น ใช้เวลาวันหนึ่ง ๆ ให้หมดไปด้วยการกิน ดื่ม และหาเงินไว้ กลางคืนก็เป็นเวลาพักผ่อน

นอกจากนี้แล้วน้อยคนนักที่จะคิดไปไกลกว่านี้ เช่นว่าพระอาทิตย์คืออะไร กลางวันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมฝนจึงตกเป็นฤดูกาล ดอกไม้และต้นไม้ออกดอกผลิใบอย่างไร เป็นผลให้มีผลไม้ที่นกมาใช้อาศัยเป็นบ้าน ลมเย็นพัดมาอย่างไร เพื่ออะไร ที่มาของทะเล มหาสมุทร น้ำในแม่น้ำไหลอย่างไร ขึ้นลง คลื่นสงบในยามกลางวัน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไกลเกินกว่าที่พวกเขาจะมานั่งคิด พวกเขาใช้ชีวิตในโลกนี้เหมือนหลับตาเดิน ไม่เหลียวซ้ายแลขวา หรือไม่ทำอะไรนอกเหนือไปจากชีวิตประจำวัน นอกจากจะหยุดเก็บเงินหรืออาหาร…”

การที่คนไทยไม่ขวนขวายแสวงหาความรู้วิทยาการต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น ก็อาจพอเข้าใจได้ว่าเรื่องเหล่านี้ยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับสามัญชนคนธรรมดา โดยเฉพาะไพร่ทาสชนชั้นล่าง ความสำคัญในชีวิตของคนกลุ่มนี้คือ การทำมาหากินเลี้ยงชีพตนและครอบครัว เรื่องนี้ต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก และอาจเป็นอันดับเดียวก็ว่าได้ เพราะแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็ไม่มีเวลาให้คิดหรือทำอย่างอื่นแล้ว ดังที่ เฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีล เองก็บันทึกถึงชีวิตของชนชั้นล่างว่า

“…พวกคนชั้นต่ำในกรุงสยามนั้นไม่ค่อยมีเวลาว่างเลย และโชคดีที่จนเกินกว่าที่จะไปทดลองทำสิ่งที่พวกคนร่ำรวยทำกัน พวกคนรับใช้ก็ยุ่งอยู่กับการรับใช้เจ้านาย คนพายเรือก็จะทำงานกันตั้งแต่เช้าจดค่ำ และก็ดีใจมากแล้วที่ยังพอมีเวลาได้พูดคุยกับครอบครัวของตนเองและเพื่อนบ้านด้วย มีเวลาไปถอนขนไก่อะไรแบบนี้ จึงทำให้พวกเขาเป็นคนมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย…”

และแม้กระทั่งเด็ก (โดยเฉพาะผู้หญิง) ก็ต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ดังที่บันทึกว่า “…พวกผู้หญิงก็จะอยู่กับบ้านได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้เป็นแม่ ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยได้สอนเรื่องศีลธรรมเท่าใด แต่ผู้เป็นแม่ก็ได้สอนวิชาแขนงต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การเป็นแม่บ้าน พวกเด็กส่วนมากจะรู้จักวิชาการต่าง ๆ เหล่านี้ตั้งแต่อายุเพียง 8 ขวบ จากนั้นก็ถูกหัดให้ไปพายเรือขายของขึ้นไปตามลำน้ำตั้งแต่เช้าจดค่ำ และบางวันถ้าขายของได้ไม่ดี พวกเด็กผู้หญิงที่น่าสงสารเหล่านี้ก็จะต้องพายขายของต่ออยู่จนกระทั่งค่ำ ทั้งเหนื่อยทั้งเมื่อยล้า บางทีก็ไม่ได้กินอาหารเลย แถมเสียงก็ยิ่งแหบลง เพราะร้องให้คนซื้อของทั้งวัน ดูน่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง…” 

ขณะที่ผู้เป็นแม่ก็ต้องทำงานในบ้านนอกบ้านหนักไม่แพ้กัน ดังที่ เฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีล บันทึกว่า “…เป็นแม่บ้านที่ดี ทำงานหนักตั้งแต่เช้าจนค่ำเพื่อสามี ลูก ทำอาหาร ซักผ้า กวาดบ้าน และยังงานบ้านต่าง ๆ อีก บางครั้งก็จะนั่งลงเย็บผ้าชั่วพักหนึ่ง แต่เรื่องนี้นาน ๆ จะทำสักครั้ง พวกผู้หญิงที่เป็นภรรยาของคนค่อนข้างยากจนหรือพวกฝีพายเรือก็จะยิ่งต้องทำงานหนักตลอดวัน พายเรือขึ้นล่องไปตามลำแม่น้ำ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพเพียงสองสามเพ็นนีหรือเฟื้องอย่างที่พวกคนสยามเรียกเงินของพวกเขา พวกสินค้าก็มีพวกพืชผัก หมาก และไก่ ตื่นขึ้นตอนเช้าก็ต้องรีบพายเรือออกไปในแม่น้ำแล้ว…” 

แตกต่างจากผู้หญิงชนชั้นสูงหรือพวกภรรยาขุนนางที่ “…ใช้เวลาวันหนึ่ง ๆ ฆ่าเวลาด้วยการเก็บดอกไม้มาปักแจกัน ร้อยเป็นพวงดอกไม้ ร้องเพลงที่มีเนื้อเพลงเกี่ยวกับความรัก เต้นระบำรำฟ้อนไปตามจังหวะดนตรี นั่งฟังคนเล่านิทานใต้ร่มไม้ แล้วก็ผูกเรื่องคิดว่าจะทำอะไรต่อไป นั่งเคี้ยวหมาก ทำให้ฟันดำ แล้วก็ส่องกระจกชื่นชมความงามของหน้าตาอันน่ากลัวของพวกหล่อน…”

จากบันทึกของข้าราชการฝรั่งผู้นี้นั้นก็ทำให้เข้าใจได้ว่าชนชั้นล่างทำงานหนักจนไม่มีเวลาคิดหรือทำสิ่งอื่นใด ขณะที่ชนชั้นสูงมีเวลาว่างมากจนต้องหากิจกรรมฆ่าเวลา แต่ไม่ว่าชนชั้นใดคนไทยส่วนมากในสมัยนั้นก็ไม่ได้มุ่งขวนขวายแสวงหาความรู้วิทยาการต่าง ๆ ดังบันทึกกล่าวไว้ข้างต้น

เฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีล สรุปอุปนิสัยคนไทยว่า “…ข้าพเจ้าพบว่าคนสยามนั้นไม่เป็นคนป่าเถื่อน ถ่อมตัว และขยันขันแข็ง เชื่อถืองมงายในเรื่องโชคลางและผีสาง จึงสูญเสียด้านศีลธรรมไป การปรับปรุงตัวในด้านนี้ดูออกจะสิ้นหวัง นอกเสียจากว่าเขาจะสนใจในการขวนขวายหาวิชาความรู้และเข้าสู่ศาสนา…” 

“นอกเสียจากว่าเขาจะสนใจในการขวนขวายหาวิชาความรู้” ชาวอังกฤษผู้นี้คงมีความหวังดีต่อคนไทยอยู่บ้างกระมัง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ลินจง สุวรรณโภคิน (แปล). (2525). ชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงสยาม ในทัศนะของชาวต่างประเทศ ระหว่าง พ.ศ. 2383-2384 (ค.ศ. 1840-1841). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2564