กรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบาย “นิสัย” คนไทย ประกอบด้วยคุณธรรม 3 ประการ มีอะไรบ้าง?

สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรง ถ่ายภาพ ร่วมกับ กรมการ เมือง ยโสธร
สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการหัวเมืองอีสาน พ.ศ. 2449 ภาพนี้ทรงถ่ายร่วมกับกรมการเมืองยโสธร (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

กรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบาย “นิสัยคนไทย” ประกอบด้วยคุณธรรม 3 ประการ มีอะไรบ้าง?

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยยาวนานถึง 23 ปี การได้คลุกคลีต่อการปกครองคนไทยและความรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่ถูกยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทำให้เชื่อได้ว่าข้อสังเกตเกี่ยวกับนิสัยคนไทยมีความถูกต้อง ปราศจากข้อสงสัย ต่อไปนี้เป็นปาฐกถาที่ทรงแสดงต่อสามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2470

“ชนชาติไทยสามารถปกครองประเทศสยามมาได้นาน ด้วยคุณธรรมของคนชาติไทย 3 ประการ คือ

1. ความจงรักอิสระของชาติ

2. ความปราศจากวิหิงษา และ

3. ความฉลาดในการประสานประโยชน์เป็นอย่างดี”

ในข้อแรกทรงอธิบายว่า

“แม้จะต้องตกทุกข์ได้ยากด้วยชนชาติอื่นที่มีกำลังมากกว่าเข้ามาย่ำยี บางคราวจนถึงบ้านแตก เมืองเสียยับเยิน ก็ยังพยายาม แม้เอาชีวิตเข้าแลกกู้อิสรภาพของชาติกลับคืนมาได้ทุกครั้ง”

“ที่ว่าอุปนิสัยไทยปราศจากวิหิงษานั้น คือ อารีต่อบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในปกครอง หรือแม้แต่มาอาศัย ไทยก็มิได้รังเกียจเบียดเบียน กลับชอบสงเคราะห์ แม้จนถึงศาสนานั้น ๆ ด้วย สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจึงยอมทรงช่วยอุปการะ ในการสร้างวัดคริสตัง และสร้างสุเหร่าอิสลาม คุณธรรมนี้เป็นอุปนิสัยตลอด ไปจนถึงไทยที่เป็นราษฎรพลเมือง ชาวต่างประเทศคงได้สังเกตเห็นว่า เมื่อไปตามหมู่บ้านราษฎรได้พบการต้อนรับอย่างเอื้อเฟื้อ มิได้คิดจะเอาเปรียบอย่างหนึ่งอย่างใด”

“ที่ว่าไทยฉลาดในการประสานประโยชน์นั้น พึงเห็นได้ในสมัยเมื่อแรกไทยได้ปกครองประเทศสยาม ในสมัยนั้นพวกขอมยังมีอยู่เป็นอันมาก แทนที่จะกดขี่ขับไล่จารีตประเพณีของขอมอย่างใดดี ไทยก็รับมาประพฤติเป็นประเพณีของไทย ไม่ถือทิษฐ ซึ่งทำให้ขอมกับไทยกลายเป็นชาวสยามพวกเดียวกันแม้ในสมัยหลัง เมื่อมีพวกจีนพากันเข้ามาทำมาหากินในเมืองไทย มาอยู่เพียงชั่วบุรุษหรือสองชั่ว ก็มักกลายเป็นชาวสยามไปด้วยคุณธรรมของไทยที่กล่าวมา”

คุณธรรมทั้ง 3 ประการ ของชนชาติไทย คือ รักอิสรภาพของชาติ ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ชาติอื่น และฉลาดในการประสานประโยชน์ ได้เป็นแนวนโยบายของรัฐมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นยุคสุโขทัย ศรีอยุธยา หรือรัตนโกสินทร์ ผลของนโยบายนี้ทำให้สามารถรวมเอารัฐย่อยเล็ก ๆ คือ เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง นครศรีธรรมราช ปัตตานี ไทรบุรี ฯลฯ ซึ่งต่างก็เป็นอิสรรัฐ เข้ามาเป็นราชอาณาจักรไทยได้

สำหรับชื่อของประเทศนี้ เราเอาชื่อของนครหลวงมาเป็นชื่อประเทศ สมัยสุโขทัยพ่อขุนรามคำแหงก็เรียกประเทศของท่านตามศิลาจารึกว่า “เมืองสุโขทัย” สมัยศรีอยุธยาก็เรียกชื่อประเทศว่า “กรุงศรีอยุธยา” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรง เรียกประเทศว่า “กรุงรัตนโกสินทร์” ส่วนชาวต่างประเทศได้เรียกเมืองไทยว่า “สยาม” มาตั้งแต่สมัยนายปินโต ชาวโปรตุเกส เมื่อ 500 ปีมาแล้ว ในสนธิสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับอังกฤษ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้คำว่าประเทศสยาม

เหตุผลทั้งนี้บรรพบุรุษของเราน่าจะตระหนักดีว่า แม้เชื้อชาติดั้งเดิมเราจะเป็นมนุษย์เผ่าไต หรือไท ซึ่งในทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในมณฑลยูนนานของจีน อยู่ในตอนเหนือของเวียดนาม (ไทยพวน ไทยดำ) อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ลาว) อยู่ในตอนเหนือของพม่า (ไทยใหญ่) อยู่ทางตะวันออกของอินเดีย (ไทยอาหม) แต่เมื่อมาอยู่ในสุวรรณภูมิ เราก็ได้ผสมปนเองกับชนเผ่าอื่นที่นี่โดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ คนพื้นเมืองที่นี่มีมอญ ขอม มลายู ข่า ลัวะ ฯลฯ ยุคต่อมาก็มีชาวต่างประเทศอพยพเข้ามามากคือจีนและชาวยุโรป และอเมริกา เราก็แต่งงานสมพงศ์กัน รวมความว่าเราเป็นชาติเลือดผสม โดยมีเลือดไทยเป็นแกนหลัก ใช้ชื่อประเทศว่าสยามมาแต่รัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 8 มาเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ 60 ปีมานี้เอง

นิสัยคนไทย ในทัศนะของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สรุปแล้วก็ตรงกันกับที่ฝรั่ง 4 ชาติที่กล่าวแล้ว คือ ไปในแนวนกพิราบ ไม่ใช่เหยี่ยว มีลักษณะออมชอม ฝรั่งจึงชอบล้อว่า “ไม่เป็นไร”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เอกสารอ้างอิง :

“ปาฐกถา เรื่อง ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงที่สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ “สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และงานทางปกครองของพระองค์” กรมมหาดไทยจัดพิมพ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น น. 96


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “(11) นิสัยคนไทยในทัศนะ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” เขียนโดย จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2565