ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2550 |
---|---|
ผู้เขียน | จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Siam เขียนโดยพ่อค้าชาวอังกฤษที่มาไทยในรัชกาลที่ 4 ไล่ ๆ กับนายมูโอต์…หนังสือนี้เป็นรายงานการสำรวจเศรษฐกิจและผลผลิตของไทย รวมทั้งลักษณะ “นิสัย” ของประชากร เป็นการสำรวจที่ล้วงลึกละเอียดถี่ถ้วนน่าสนใจ เขาคือ นายมัลล้อก (D.E. Malloch) นี่คือรายงานของเขา
ลักษณะ นิสัย ของประชากร
ขี้ขลาด หัวอ่อน
“ชาวสยามนั้นดูคล้ายชาวเบงกาลี (อินเดีย) ตรงความเงียบขรึมและรักสงบ อีกทั้งยังขี้ขลาดและหัวอ่อนเหมือนกันด้วย ชาวจีนนั้นหมกมุ่นแต่ในเรื่องธุรกิจของตน และวิธีหาเลี้ยงครอบครัว ชอบคิดถึงแต่เรื่องการต่อสู้ หรือแสวงหาอาชีพอื่น ๆ เป็นชนชาติที่ขยันขันแข็ง เงียบขรึมและสู้งานหนัก สำหรับสยามเองคงไม่ก้าวหน้ามาได้อย่างทุกวันนี้ หากปราศจากชาวจีนในประเทศ”
เกียจคร้าน
“ชาวสยามเป็นชนชาติที่มีนิสัยเฉื่อยชามากที่สุดชาติหนึ่ง นิสัยเช่นนี้จึงส่งผลให้คนในชาติยากจน และมีกำลังซื้อที่ต่ำมาก พวกเขาคุ้นเคยกับการนอนถึง 14 ชั่วโมงต่อ 1 วัน แล้วก็ตระหนี่ถี่เหนียวที่สุด จะเห็นได้จากการที่พวกเขาไม่เคยซื้อหาสิ่งใดเลย หากไม่ต้องการจริง ๆ
ชาวสยามไม่เคยคิดที่จะเรียนรู้เรื่องค้าขายและไม่ได้รับการสืบทอด หรือสั่งสอนในวิชาชีพใด ๆ เลย นอกจากการบวชเป็นพระ อันอาจเนื่องมาจากต้องการหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องใช้แรงกายนั่นเอง
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ชาวสยามเป็นชนชาติที่แสนจะเฉื่อยชาและเกียจคร้าน ไม่ชอบงานที่ต้องใช้แรงกาย เรียกร้องแต่การพักผ่อนนอนหลับ ชอบทำงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบมาก ชาวสยามไม่เคยรู้คุณค่าของเวลา
ชาวสยามนั้นดูจะแตกต่างจากชาวเบงกาลี ตรงที่ชาวเบงกาลีนั้นเป็นชนชาติที่โลภและขาดแคลน ทั้งยังจับจ่ายเงินทองตามสบายทุกครั้งเมื่อพึงประสงค์” (น. 103)
รักสงบ
ชาวสยามนั้นเงียบขรึมมาก และรักสงบ ไม่เหมือนกับเพื่อนบ้าน คือ พวกมลายู ที่มีจิตใจผูกพยาบาทและกระหายเลือด เราไม่ค่อยพบคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นในสยามบ่อยนัก เพราะพวกเขาเป็นคนใจอ่อนและพร้อมที่จะให้อภัย
จัดได้ว่าชาวสยามนั้นขี้ขลาดอย่างแท้จริง สมดังที่ Laboure ได้กล่าวไว้เมื่อสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่เมื่อ 100 กว่าปีมาแล้วว่า “แค่เพียงชาวยุโรปถือไม้เท้าเพียงคนเดียวก็เพียงพอแล้ว ที่ทำให้ชาวสยามกลัวจนลืมคำสั่งที่ได้รับมาจากเจ้านายจนหมดสิ้น
ชาวสยามนั้นไม่เคยใช้วิธีรบซึ่ง ๆ หน้า ด้วยการใช้ปืน หรือดาบปลายปืน แต่จะลอบหาโอกาสเวลาที่ศัตรูเผลอ และไม่ทันได้ระวังตัว จากนั้นจึงบุกเข้าจับกุมเป็นเชลย เป็นเรื่องธรรมดายิ่งที่จะได้เห็นชาวพม่าเพียงคนเดียวเข้าตีสยามพร้อม ๆ กันทีเดียว 3 ถึง 4 คน เพื่อฉกชิงสิ่งของต่าง ๆ ธาตุแท้แห่งความแข็งแรงและกระตือรือร้นของชาวพม่า ก็ยังปรากฏให้เห็นเด่นชัด พวกเขานั้นกล้าหาญอย่างชนิดที่ยอมตายเสียดีกว่าต้องล้มเหลวในบั้นปลาย”
ไม่รังเกียจศาสนาอื่น
“ไม่เคยเลยที่ชาวสยามจะแสดงอาการรังเกียจผู้ที่นับถือศาสนาแตกต่างจากตน ในราชสำนักก็มีทั้งชาวจีน แขก มลายู คริสตังลูกหลานชาวโปรตุเกสที่เกิดในสยาม มีญวน ลาว เขมร และ อื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งบางคนได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งใหญ่โต และเป็นที่รักใคร่โปรดปรานขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก
ที่กรุงเทพฯ นั้น ข้าพเจ้าได้พบชาวจีนหลายคนทีเดียวที่ได้กลายเป็นชาวสยาม และยอมตัดหางเปียของตัวเองทิ้ง พวกชาวจีนเริ่มที่จะซึมซับเอาบุคลิกลักษณะหลาย ๆ อย่างของชาวสยามเข้าไว้ในตัวทันทีที่เดินทางมาถึง รวมทั้งการแต่งงานกับหญิงชาวสยามด้วย”
ขาดการศึกษา
“สยามนั้นขาดแคลนผลงานด้านวรรณกรรมมาก ที่เห็นจะมีเพียงบทเพลงโง่ ๆ ไร้สาระปราศจากเรื่องราวซาบซึ้งใจ ประชาชนทุกคนไร้การศึกษา ทั้งในเรื่องภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรม งานแกะสลัก และการก่อสร้างอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง”
อ่านเพิ่มเติม :
- “กรุงเทพฯ” เมืองสวรรค์อันแสน “สกปรก” (ในสายตาฝรั่ง) เมื่อ 160 ปีก่อน
- บันทึกชาวต่างชาติเผยสภาพคนกรุงเทพฯ ในอดีต ช่วงเปลี่ยนวิถีชีวิตจากบนน้ำสู่บก
- พระราชวิจารณ์ในร.5 เรื่องคนไทย “รู้สึกว่าต้องมีเจ้าขุนมูลนาย” กับข้อดีจากมุมมองต่างชาติ
อ้างอิง :
หนังสือ Siam เขียนโดย นาย D.E. Malloch พ่อค้าอังกฤษ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2395 กรมศิลปากรได้จัดแปลเป็นภาษาไทย และตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2538 ในชื่อ “รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 3” มีความยาว 122 หน้า มีรายละเอียดของสินค้านำเข้าและส่งออกของสยาม แสดงมูลค่ารวมทั้งภาษี ตอนที่อ้างอิงอยู่ระกว่าง น. 85-203
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “จุดอ่อนของคนไทย ในสายตาต่างชาติ (8) นายมัลล้อก พ่อค้าอังกฤษ” เขียนโดย จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2550
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2564