บันทึกชาวต่างชาติเผยสภาพคนกรุงเทพฯ ในอดีต ช่วงเปลี่ยนวิถีชีวิตจากบนน้ำสู่บก

คลองรอบกรุงผ่านตำบลบางลำพู สมัยรัชกาลที่ 5 บ้านเรือนตั้งเรียงรายสองฝากคลอง (ภาพจากหนังสือชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ)

ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้คนในกรุงเทพฯ ยังมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาแม่น้ำลำคลองอยู่เสมอ ดังที่ จอห์น ครอว์เฟิร์ด บันทึกสภาพการสัญจรของกรุงเทพฯ เมื่อปลายรัชกาลที่ 2 ความว่า

“จากจำนวนเรือต่าง ๆ ทุกขนาดและทุกลักษณะ ซึ่งกำลังผ่านไปมา ทำให้โฉมหน้าของแม่น้ำสำแดงถึงภาพอันจอแจแออัด จำนวนของเรือเหล่านี้ทำให้เราประหลาดใจในขณะนั้นว่า ช่างมากมายเสียเหลือเกิน เพราะเหตุที่เราไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า ในกรุงเทพฯ มีทางเดินอยู่เพียงสองสามสายหรือไม่มีเลย และเราไม่เคยทราบด้วยว่า แม่น้ำกับลำคลองนั้นใช้เป็นหนทางสาธารณะ ไม่เพียงแต่สำหรับขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่สำหรับผู้คนทุกเพศทุกวรรณะด้วย”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตของผู้คนในกรุงเทพฯ ค่อย ๆ เปลี่ยนไป และถอยห่างจากแม่น้ำลำคลองมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาความคับคั่งจากการสัญจรทางน้ำของเรือขนาดใหญ่ ซึ่งมีมากขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ จนทำให้เรือนแพตลอดจนเรือขนาดเล็กที่เคยเป็นที่พักอาศัยต้องเสียหายจากเรือขนาดใหญ่อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งกรุงเทพฯ ยังต้องเผชิญกับปัญหาโรคระบาด เช่น อหิวาตกโรค ซึ่งมีสาเหตุจากความสกปรกของแม่น้ำลำคลอง นับเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้คนเริ่มย้ายที่พักอาศัยขึ้นไปอยู่บนบกมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การพัฒนาปรับปรุงเมืองในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ทำให้กรุงเทพฯ มีโครงสร้างด้านกายภาพทั้งถนนและรูปแบบที่พักอาศัยสอดรับกับการใช้ชีวิตบนบกมากขึ้น การตัดถนนทั่วทั้งกรุงเทพฯ รวมทั้งสร้างตึกแถวสองฝั่งถนนด้วยความกระตือรือร้นทั้งจากรัฐและเอกชน วิถีชีวิตของผู้คนในกรุงเทพฯ จึงค่อย ๆ เปลี่ยนไป ซึ่งรูปแบบการดํารงชีวิตที่เปลี่ยนไปสามารถสะท้อนได้จากการประกอบอาชีพอันหลากหลายตามตึกแถวที่ปรากฏในเอกสารสารบาญชี เมื่อ พ.ศ. 2428 ซึ่งใช้เป็นคู่มือสำหรับเจ้าพนักงานไปรษณีย์ส่งจดหมายในกรุงเทพฯ ให้รายละเอียดอาชีพตามตึกแถว เช่น ขายข้าวแกง ขายของชำ รับจำนำ ขายเหล้า เขียนหวย ทำบ่อน รับจ้างขายฝิ่น เป็นต้น

คลองหลอด บริเวณวัดราชบพิธ (ภาพจาก “หนังสือ กรุงดทพฯ ในอดีต”)

ภาพวิถีชีวิตในกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คนในกรุงเทพฯ สะท้อนได้จากบันทึกของลูเซียงฟูเนอโร สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ระหว่าง พ.ศ. 2434-35 กล่าวถึงการใช้พื้นที่เมืองยามกลางวันในถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นถนนแบบสมัยใหม่สายแรกของกรุงเทพฯ ดังนี้

“ช่วงเวลากลางวันอันมีกิจวัตรที่ไม่สิ้นสุดในถนนเจริญกรุงนำเสนอสิ่งแตกต่างนับพันอันเกี่ยวเนื่องถึงแต่ละชั่วโมงทั้งกลางวันและกลางคืน ในกลางวันนั้นตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นเหล่าพระสงฆ์นุ่งห่มเหลืองในมือถือตาลปัตรข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งถือบาตรซ่อนอยู่ในจีวร ต่างเดินมาเป็นทิวแถวอย่างสำรวม…

ส่วนพวกแม่บ้านต่างไปตลาด และกลับมาพร้อมของสดในตะกร้าที่กระเดียดใส่เอว หรือไม่ก็เทินไว้บนศีรษะ ภายในตะกร้ามีทั้งสัตว์ขนาดเล็ก กะหล่ำปลี หมาก ผลไม้ ผักสด และปลาสด…บรรดาร้านอาหารของชาวจีนไม่รอช้าที่จะติดเตาไฟที่รายรอบด้วยของกินดึงดูดลูกค้าที่หิวโหยมีทั้ง ไส้กรอก เบค่อน เนื้อ หมูสด ไก่ เป็ด และของหมักดองจากเมืองจีน…

หญิงชราต่างคั่วข้าวโพดส่งเสียงดังและบางส่วนตระเตรียมกล้วยสำหรับทอดขาย บรรดาร้านรวงเล็ก ๆ ต่างเปิดกิจการของตน เจ้าของร้านออกมากวาดหน้าร้านก่อนที่รถม้าขนาดใหญ่แล่นผ่านไปมาหน้าร้าน ก่อนจะกลับเข้าไปในร้านเพื่อตระเตรียมอาหารเช้า…ช่วงเวลาตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงบ่าย 2 โมง หากเป็นเมืองไซ่ง่อนจะเป็นช่วงเวลาที่หลับใหล แต่ที่กรุงเทพฯ กลับเต็มไปด้วยชีวิตชีวา…สถานที่ราชการ ร้านค้า และตลาด ยังคงเปิดตั้งแต่ 10 โมงเช้าไปจนถึงบ่าย 4 โมงเย็น”

ห้าง เอส.เอ.บี ถนนเจริญกรุง (ภาพจาพหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สีสันของกรุงเทพฯ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจึงเป็นภาพของกิจวัตรทางศาสนาอย่างการใส่บาตร อันเป็นวิถีชีวิตที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมา กิจวัตรส่วนตัว เช่น การหุงหาอาหาร ทำความสะอาดบ้านเรือน ก่อนจะตามด้วยโลกของการค้า รวมทั้งการผลิตจากบรรดาร้านรวงและแผงลอย พร้อมกับเวลาทำการของราชการที่แม้บันทึกดังกล่าวจะให้เวลาราชการคลาดเคลื่อนก็ตาม (เวลาราชการตั้งแต่ 2 โมงเช้า หรือ 6 นาฬิกา ถึงบ่าย 4 โมง หรือ 16 นาฬิกา) แต่ก็เห็นวิถีชีวิตกลางวันของกรุงเทพฯ ผ่านฉากชีวิตสองฝั่งถนนเจริญกรุง ซึ่งสามารถใช้เป็นภาพแทนของความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตราษฎรที่สัมพันธ์กับโครงสร้างเมืองที่เปลี่ยนไปได้อย่างดี 


อ้างอิง :

นนทพร อยู่มั่งมี. (กรกฎาคม, 2556). “กรุงเทพฯ ราตรี” : ความบันเทิงและการเสี่ยงภัยของชาวเมืองหลวงสมัยรัชกาลที่ 5. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 34 : ฉบับที่ 9.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2564