ฝรั่งวิจารณ์คนไทย สมัยพระไชยราชาฯ ถึงร.5 เรียงนิสัยฮิต “ขี้เกียจ-ขี้ขลาด-ขาดคุณธรรม”

คนไทย สมัย รัชกาลที่ 5
คนไทยสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก www.wikimedia.org)

ชาวยุโรปเข้ามาติดต่อกับสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในจำนวนนี้มีฝรั่ง 8 นาย จาก 5 ประเทศ ได้บันทึกถึง “นิสัย” ของ “คนไทย” ทั้งในด้านดี และนิสัยด้านไม่ดีไว้ ก่อนที่จะทราบข้อวิพากษ์ เราไปดูที่ฝรั่งใจกล้าเหล่านี้เป็นใคร

  1. นายปินโต ชาวโปรตุเกส เข้ามาเป็นทหารรับจ้างอยู่ในกองทัพพระไชยราชาธิราช ในการทำสงครามกับรัฐเชียงใหม่ โดยนำปืนใหญ่ไปใช้รบเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
  2. นายเซาเตน ชาวฮอลันดา เข้ามาเป็นหัวหน้าสถานีการค้าฮอลันดาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม
  3. นายวันวลิต เป็นหัวหน้าสถานีการค้าสืบจากนายเซาเตน เขาเขียนประวัติศาสตร์ไทย นับเป็นฉบับแรกของประเทศนี้
  4. นายยอห์นครอเฟิด คนไทยเรียก “กาลาผัด” เป็นทูตอังกฤษ มาในรัชกาลที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เขาเขียนรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษ เจาะลึกในทุกด้านของไทยเป็นจำนวน 183 หัวข้อ
  5. หมอกิศลับ ชาวเยอรมัน เป็นมิชชันนารีฝ่ายโปรเตสแตนต์คนแรก ที่เข้ามาเมืองไทย เขารู้ภาษาไทยขนาดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย เป็นฉบับแรก
  6. นายมัลล้อก พ่อค้าอังกฤษ มาในรัชกาลที่ 4 เขามาสำรวจอย่างละเอียดในเรื่องทรัพยากร การค้า และเศรษฐกิจของเมืองไทย ตลอดทั้งความมั่นคง เป็นรายงานที่ยาวถึง 122 หน้า
  7. นายมูโอต์ นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส เข้ามาในรัชกาลที่ 4 เขาใช้เวลา 3 ปี สำรวจภูมิประเทศและการดำรงชีวิตของคนไทย
  8. เซอร์เฮนรี นอร์แมน เป็นขุนนางอังกฤษ เข้ามาในรัชกาลที่ 5 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ)
นายมูโอต์ นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาสำรวจภูมิประเทศและการดำรงชีวิตของคนไทย (ภาพจาก www.wikipedai.org)

ฝรั่งวิจารณ์นิสัย

ชาวยุโรปที่ล้วนแต่มีภูมิปัญญาลงความเห็นว่า ในช่วงเวลาประมาณ 500 ปี (ตั้งแต่สมัยพระไชยราชาธิราช-พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) คนไทยมีข้อดี-ข้อเสีย สรุปได้ดังนี้

นิสัยดีของคนไทย มี 3 ประการ คือ 1. รักสงบ 2. ใจกว้างขวางทางลัทธิศาสนาและความเชื่อ 3. มีความพอเพียงอยู่ในจิตใจ

นิสัยไม่ดีของคนไทย มี 7 ประการ คือ 1. เกียจคร้านเฉื่อยชา 2. ขาดคุณธรรม ไม่ซื่อสัตย์ 3. ขี้ขลาด 4. หยิ่ง อวดดี 5. โลเล ไม่แน่นอน 6. มัวเมาในกามและการพนัน 7. สอดรู้สอดเห็น

ความหนักเบาของลักษณะนิสัยได้เรียงไว้ตามลำดับข้างต้น ทั้งนี้โดยให้คะแนนตามจำนวนคนที่กล่าวเช่นนั้น เช่น ข้อหาว่า เกียจคร้านเฉื่อยชา มีผู้เห็นเช่นนี้ 6 คน ในจำนวน 8 คน ขาดคุณธรรม ไม่ซื่อสัตย์ มี 3 คะแนน (ดังมีรายละเอียดในตาราง)

กล่าวโดยสรุปแล้วทัศนะของฝรั่งที่มีต่อไทย ตลอดเวลา 500 ปีที่ผ่านมาเป็นไปในทางลบมากกว่าทางบวก จะมีความจริงตามที่เขากล่าวหาเพียงใด เราจะนำมาพิจารณาแต่ละข้อ

แต่สิ่งที่ทุกคนพึงพอใจมากที่สุด ไม่มีรายใดตำหนิ คือ ความงามและความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทยอย่างจะหาที่ใดเปรียบมิได้ ดังนั้นเมืองไทยจึงเป็นที่หมายปองของชาวต่างชาติถึงกับมีการกล่าวต่อยอดออกไปว่า แผ่นดินไทยนั้นแสนดี เสียแต่มีคนไทยเข้าครอบครองอยู่เท่านั้น ต่อไปเราจะได้นำข้อกล่าวหาของเขามาพิจารณา

ความเกียจคร้านเฉื่อยชา

ข้อนี้ถ้านำมากล่าวในวันนี้ เราต้องปฏิเสธโดยสิ้นเชิง เพราะทุกวันนี้คนไทยเป็นชาติที่ขยันขันแข็ง ทุกคนต้องตื่นตั้งแต่ตะวันยังไม่ขึ้น หุงข้าวหาปลาให้ลูก รีบออกเดินทางไปทำงาน เพราะสายแล้วถนนจะเต็มแน่นไปหมด คนเป็นอันมากต้องกลับบ้านค่ำคืนดื่นดึก เพราะความจำเป็นบังคับ นี่คือปัจจุบัน

แต่สำหรับอดีต เราเห็นจะต้องยอมรับว่าเป็นเช่นนี้จริง เพราะเมื่อ 88 ปีที่แล้ว คนไทยที่ผู้เขียนเห็นก็อยู่ในลักษณะเกียจคร้าน เฉื่อยชา คนในบ้านที่ทำราชการ พอบ่าย 3 โมงก็ถึงบ้าน (ราชการเลิกงาน 16.30 น.) แล้วมองออกไปรอบบ้านซึ่งเป็นท่าเรือจ้างแถวท่าช้างวังหลวง คนแจวเรือจ้างมีราว 20 คน ก็นอนเอกเขนก สูบกัญชา กว่าจะลุกขึ้นรับคนโดยสารก็อืดอาด นอกท่าเรือเป็นถนนก็มีวงพนันโดยปูเสื่อแทงถั่วแทงโปกันโดยเสรี

สมัยนั้นชาวกรุงมักจะมีคำกล่าวว่า คนอีสานขี้เกียจ แต่มาทุกวันนี้เราก็ต้องยอมรับว่า คนอีสานขยันจริงๆ สู้งาน หนักเอาเบาสู้ ไม่เคยเห็นทะเลเลย แต่เมื่อมีงานประมง แม้ว่ายน้ำไม่เป็นก็ยอมลงเรือรอนแรมไปในทะเลเป็นเดือนๆ ความขยันขันแข็งที่เกิดขึ้นใหม่ในคนไทย เพราะความจำเป็นบังคับ ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ตลอดไป ก็อาจกลายเป็นอุปนิสัยของชาติได้ การที่คนจีนคนญวนหรือฝรั่งขึ้นชื่อในความขยันนี้ เกิดจากค่านิยมของเขา พ่อแม่ปู่ย่าตายายสั่งสอนกันมา ว่าความขยันเป็นยอดของความดี เป็นทางสู่ความเจริญรุ่งเรืองของตัวเองและครอบครัว เด็กฝรั่งแม้กำลังเรียนหนังสือ ก็พยายามจะหางานทำ เพื่อจะได้ชื่อว่ามีความสามารถหาเงินมาใช้เองได้

แต่สำหรับเมืองไทย การปลูกฝังค่านิยมดังกล่าวยังไม่มี ดังนั้นจึงมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่พ่อแม่ร่ำรวย ยังขาดความขยัน ขาดความมานะอดทน ซึ่งก็น่าเป็นห่วงว่าคนกลุ่มนี้ต่อไปจะรักษาสมบัติของพ่อแม่ได้หรือไม่

ขี้ขลาด

นายเซาเตน และนายวันวลิต พูดถึงความขลาดในการรบ ส่วนนายครอเฟิด และนายมัลล้อก พูดถึงความขลาดกลัวในด้านสังคมและการเอาตัวรอด

ในเรื่องความหาญกล้าในการรบ ผู้เขียนขอยืนยันว่า ในประวัติศาสตร์นักรบไทยไม่เป็นรองชาติใดเลย เพียงแต่เราไม่มีเลือดนักฆ่า จึงไม่ชอบไปรุกรานใคร แต่เมื่อถึงที่สุดที่จะต้องสงวนรักษาสิ่งที่รักใคร่บูชาที่สุด คือ ชาติบ้านเมือง เราก็รบจนสุดใจขาดดิ้น เช่น กรณีบ้านบางระจัน และสงคราม 9 ทัพ ในรัชกาลที่ 1 เป็นต้น จริงอยู่ ในการสงคราม บางคราวทหารก็ขวัญเสีย เช่น อย่างการรบที่นครสวรรค์ในศึกคราวนี้ พระยาสระบุรีแลเห็นฝูงนกกระทุงข้ามแม่น้ำมา นึกว่าเป็นทหารพม่า จึงสั่งถอยทัพ ต่อสว่างจึงเห็นชัดว่าเป็นนก แม่ทัพหลวงจึงให้เอาตัวพระยาสระบุรีไปตัดศีรษะ เสียบประจานไว้ที่ริมแม่น้ำ ทหารเห็นแม่ทัพเอาจริงจึงหันกลับมาสู้ใหม่ จนกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ศพพม่า 800 คน และช้างม้าเต็มแม่น้ำ จนน้ำใช้ไม่ได้ไปหลายวัน ขวัญดีขวัญเสียเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติในการรบ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้นำทัพ

ยิ่งมาในสมัยปัจจุบัน คนไทยยิ่งไม่กลัวตาย จะเห็นได้ว่า พวกวัยรุ่นนิยมตั้งแก๊งแข่งมอเตอร์ไซค์เล่นกับมัจจุราช สงกรานต์ที ปีใหม่ที ผู้คนกลับบ้านมีสถิติตายบนถนน 400-500 คนทุกครั้ง เพราะเมาแล้วขับ หรือแข่งความเร็ว คนยอมตายปีละเป็นหมื่นคน ทั้งที่รู้แล้วว่าความสำส่อนในการร่วมเพศและยาเสพติดจะนำพาไป คนไทยไม่กลัวตายแน่นอน

สำหรับเรื่องความขลาดในด้านสังคมและจริยธรรม ทำให้คนไทยนิยมเอาตัวรอดไว้ก่อน พฤติกรรมที่ทำให้ฝรั่งทั้งหลายตระหนกตกใจ คือ เมื่อขุนนางจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินก็ดี หรือผู้น้อยจะเข้าหาขุนนางก็ดี จะต้องหมอบคลานเข้าไปหาเหมือนสัตว์ เขาว่าอย่างนี้ ที่กล่าวหาเช่นนี้ออกจะไม่สู้เป็นธรรมนัก เพราะนั่นเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีตะวันออก ซึ่งคิดเห็นว่ากิริยาเช่นนั้นน่าดูน่าชม

แต่ในข้อที่ว่า ประชาชนคนไทยยินยอมกลัวเกรงผู้มีอำนาจเป็นใหญ่โดยไม่ขัดขืนต่อสู้ ข้อนี้อาจเป็นจริงในสมัยก่อน และชาติต่างๆ รวมทั้งฝรั่งก็เหมือนๆ กัน ฝรั่งเพิ่งมารู้จักเสรีภาพและประชาธิปไตยเอาเมื่อ 300 ปีที่แล้วนี้เอง โดยการปฏิวัติฝรั่งเศส และการประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกัน แต่คนไทยก็รู้จักเรื่องนี้ได้เร็ว เราจึงนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ใน พ.ศ. 2475 แต่เนื่องจากเวลา 74 ปีอาจจะน้อยไป การยอมหมอบราบคาบแก้ว ต่อผู้ครองอำนาจจึงมีให้เห็นอยู่

แต่ก็ได้มีคนกล้าต่อสู้อยู่ทุกยุคทุกสมัย เรามีการลุกฮือของประชาชนเพื่อขับไล่เผด็จการมาแล้ว เช่น พ.ศ. 2500 ขับไล่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2516 ขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2519 ฝ่ายนิยมขวารวมพลังขับไล่รัฐบาลที่นิยมซ้าย พ.ศ. 2535 ขับไล่รัฐบาลทหารของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ฯลฯ

ขาดคุณธรรม และไม่ซื่อสัตย์

ข้อหานี้ออกจะร้ายแรงมากกว่าข้อใดๆ เพราะขัดต่อความเชื่อของคนทั่วไป หมอกิศลับเองก็ยอมรับว่า “โดยส่วนใหญ่แล้ว ชาวสยามเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในด้านความซื่อสัตย์ สุจริต แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ข้าพเจ้ากลับไม่ได้พบเห็นชาวสยาม ที่มีชื่อเสียงด้านนี้เลยสักคน”

ข้อกล่าวหานี้ ข้าพเจ้าได้เคยหักล้างมาแล้วในบทต้นๆ ว่า เขาผู้กล่าวนี้เป็นคนผิดหวังจากธุรกิจการงานของเขาในเมืองไทย จึงมีอคติ แต่ก็ได้ยอมรับเหมือนกันว่าในบางยุค บางสมัย เมืองไทยมีอันเป็นให้ต้องตกอยู่ในภาวะเสื่อมศีลธรรม เพราะผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมืองเป็นผู้ทุจริตทุศีล ประชาชนก็พลอยเอาอย่าง เป็นไปตามกฎของรัฐศาสตร์ว่า ผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมืองเป็นอย่างไร ประชาชนก็เป็นอย่างนั้น เราไปดูในประวัติศาสตร์ของทุกชาติทุกภาษา ย่อมมียุคสมัยที่บ้านเมืองตกต่ำบ้าง รุ่งเรืองบ้าง ยุคใดฮ่องเต้ไร้คุณธรรม ขุนนางกังฉินก็เกิดขึ้นมาก ราษฎรเดือดร้อน โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม ศีลธรรมอันดีก็หมดสิ้นไป

ส่วนข้อกล่าวหาอีก 4 ข้อ คือ 1. หยิ่ง อวดดี 2. โลเล ไม่แน่ไม่นอน 3. สอดรู้สอดเห็น 4. มัวเมาในกามและการพนัน

เป็นคำกล่าวที่ไม่เป็นสาระ เว้นแต่เรื่องมัวเมาในกามและการพนัน ซึ่งทำให้เราต้องคิดมาก เพราะในปัจจุบันนี้ออกจะหนักหนา เป็นข่าวประจำอยู่ในหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ในเรื่องกาม กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่เต็มไปด้วยสถานบำเรอกาม มีโรงแรมม่านรูด อาบอบนวด หนังโป๊ ไนต์คลับ คาเฟ่ คาราโอเกะ สตรีก็นุ่งน้อยห่มน้อย ใส่สายเดี่ยว ข่าวการปลุกปล้ำข่มขืน ข่าวสึกสมภารและพระอาจารย์มากไปหมด ทางด้านการพนันก็มีบ่อนต่างๆ พนันบอล การชิงโชคในการขายสินค้า สลากกินแบ่งฯ หวยใต้ดินบนดิน วันหวยออกกลายเป็นวันสำคัญของคนนับล้าน เรื่องนี้แจ้งแก่ใจของท่านผู้อ่านอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเพิ่มเติม

เราจะผ่านความคิดเห็นของคนต่างประเทศที่มองคนไทย ตอนต่อไปจะได้ฟังความคิดของปัญญาชนไทยบ้าง ว่าคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับนิสัยของชนชาติไทย

แล้วเราเชื่ออย่างไร?

เรื่องนิสัยของคนไทยเราได้ฟังทัศนะของชาวต่างชาติมาแล้ว 8 นาย เขาได้กล่าวหาคนไทยในระยะ 500 ปีที่ผ่านมา แทบจะทั้งหมดมองคนไทยว่าเป็นคนขี้ขลาด ขี้เกียจ ขี้โกง เป็นข้อหาฉกรรจ์ทั้งนั้น ในข้อดีที่ชมเชยก็มีเพียงเป็นชาติที่ใจกว้างในด้านศาสนาและรู้จักพอเพียง

ส่วนข้างฝ่ายไทยมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมองว่า คนไทยรักและหวงแหนอิสระของชาติยิ่งกว่าชีวิต มีความเอื้อเฟื้ออารีปราศจากวิหิงสา และฉลาดในการประสานประโยชน์ ประวัติศาสตร์ได้จารึกวีรกรรมการต่อสู้เอาเลือดทาแผ่นดินของคนไทยมาแล้วหลายครั้งหลายหน เพลงชาติของเราก็ได้อธิบายลักษณะของคนไทยได้ชัดเจน “ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่” เรื่องเอกราชของชาติแล้ว ไทยรบจนสุดใจขาดดิ้น

แต่ความขี้ขลาดตามที่ฝรั่งเหล่านี้กล่าวหา มุ่งหมายถึงการขาดความกล้าหาญด้านสังคมและศีลธรรม (Moral Courage) คำกล่าว “รักแต่จะเป็นผู้รับใช้ เฉื่อยชา และว่าง่าย ไม่ดิ้นรน…ไม่มีน้ำใสใจจริง และขี้ขลาดตาขาว” ของครอเฟิด “ชาวสยามมีนิสัยเหมือนผู้หญิง” ของมูโอต์ และ “ขี้ขลาด และหัวอ่อน” ของมัลล้อก เหล่านี้เป็นความขลาดทางด้านสังคมและจริยธรรม ไม่ใช่ด้านการสู้รบ

ภาพอันไม่งดงามในทัศนะของชาวตะวันตกเหล่านี้ มีคำอธิบายที่ดีมากอันหนึ่งจากอาจารย์ฝรั่ง (ซึ่งอยู่เมืองไทยมานานและสามารถเขียนบทความภาษาไทยได้ดีกว่านักเขียนไทยบางคน) เขาคือนายไมเคิล ไรท ที่เขียนไว้ใน มติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับที่ 1351 วันที่ 7-13 กรกฎาคม 2549 น. 30 คอลัมน์ “ใครควรลาออก”)

นายไมเคิล ไรท

“ลักษณะทางสังคม ฝรั่งโดยมากมีลักษณะทางสังคม ‘เผชิญหน้ากัน’ (Confrontation) ใครจับผิดใครได้ย่อมติเตียนว่ากล่าว อาจจะถึงขั้นโวยวายชี้หน้าบังคับให้เขาอธิบายพฤติกรรมของตน ทั้งนี้ถือว่าเป็นสิทธิปกติไม่ร้ายแรงหรือน่าเกลียดประการใด และสังคมพร้อมที่จะอัปเปหิผู้มีความผิดไม่ว่ามีตำแหน่งสูงส่ง หรือ ‘วาสนา’ เริงร่า

ดังนั้นในสังคมฝรั่ง ‘ท่านผู้ใหญ่’ ถูกจับคาหนังคาเขา ก็มักรีบลาออกเสียก่อนที่สังคมจะหลอมไฟเล่นงาน หมดหน้าหมดเนื้อหมดตัว

ในทางตรงกันข้าม คนไทยมีลักษณะสังคมอดทน (Tolerant) และประนีประนอม (Conciliatory) คนไทยโดยมากถูกฝึกมาแต่น้อย ‘ให้รู้ที่ต่ำที่สูง’ ‘เอาตัวรอดเป็นยอดดี’ ‘อย่าว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง’ ‘อย่าพูดมากโวยวาย’ ว่าโดยสรุปคนพูดมาก ‘ปากไม่ดี’ เป็นที่น่ารังเกียจยิ่งกว่าคนประพฤติชั่วต่างๆ เป็นไหนๆ

ในสังคมแบบนี้ ‘ท่านผู้ใหญ่เจ้าเล่ห์’ ก็ร่าเริง เพราะซัดกลับกับคนประจานท่านได้เสมอว่า เขาอิจฉา ‘ปากร้าย’ ‘ใส่ความ’ ในสังคมแบบนี้คนหน้าด้านมีความถูกต้องเสมอ

ส่วนคนสุจริตที่บังอาจฟ้องท่าน ก็ถูกสวมบทบาทผู้ร้าย ที่ทำลายสามัคคีในสังคม”

คำอธิบายของนายไมเคิล ไรท สรุปแล้วก็คือ สังคมไทยเป็นอย่างนี้เอง เพราะถูกอบรมสั่งสอนมาอย่างนั้น คือถือเอาความสงบสุขเป็นสำคัญกว่าความถูกต้อง แต่ความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น เราได้เห็นการแสดงออกจากพฤติกรรมของคนไทยรุ่นใหม่ จากสื่อมวลชน ปัญญาชน จากการชุมนุม การเดินขบวน การประท้วง ที่เรียกหาความถูกต้องหนาแน่นมากขึ้น เรากำลัง “แก้ไขในสิ่งผิด” อยู่แล้ว

ประเด็นข้อกล่าวหาต่อไปคือขี้เกียจ เราได้สละละทิ้งนิสัยนี้ไปหมดสิ้นแล้ว เพราะความจำเป็นที่ผ่านมา เหลืออยู่อีกข้อหนึ่ง คือ ขี้โกง ไว้ใจไม่ได้

หมอกิศลับในรัชกาลที่ 3 กล่าวว่า “ชาวสยามเป็นผู้มีชื่อเสียงในด้านความซื่อสัตย์ สุจริต แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ข้าพเจ้าไม่ได้พบเห็นชาวสยามที่มีชื่อเสียงเช่นนี้เลยสักคน” นายวันวลิตกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “พวกคนเหล่านี้ไม่มีความซื่อสัตย์ หลอกลวงและทรยศ…โดยสรุปข้าพเจ้ากล่าวเพียงว่า เราไม่สามารถเชื่อในประเทศนี้ และไม่มีใครเป็นที่วางใจหรือเชื่อถือได้เลย”

ต่อข้อหานี้ ผู้เขียนใคร่จะตะโกนออกไปดังๆ ว่า ไม่จริง ไม่จริงสักร้อยครั้ง เพราะเราไม่เชื่อว่าจะมีคนคิดเช่นนี้กับคนไทย แต่ครั้นเมื่อเปิดหนังสือพิมพ์รายวันในวันที่เขียนนี้แทบทุกฉบับมีแต่ข่าวร้ายๆ แทบทั้งนั้น เช่น ไทยรัฐ ใน น. 1 มีข่าว 16 ข่าว ทั้งหมดเป็นข่าวการทรยศหักหลัง ฆ่าแกงกัน การโจรกรรม ทุจริตในวงราชการและการเมือง ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นการตรงกันข้ามกับความเชื่อของเราโดยสิ้นเชิง

ไทยรัฐฉบับลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 ในสกู๊ป น. 1 ลงคำให้สัมภาษณ์ของนายไพฑูรย์ เวียงศรี ไต้ก๋งเรืออวนลาก ชื่อดาวสมุทร เรื่องปัญหาในการทำประมงน้ำลึก ไต้ก๋งไพฑูรย์บอกว่า

“ลูกเรือไทยไม่ค่อยอดทน ไม่ขยัน เจ้าเล่ห์ และเป็นโรคคิดถึงบ้าน ลูกเรือมอญ กะเหรี่ยง พม่า อึด อดทนกว่า ซื่อตรงมากกว่า”

ก่อนที่จะจบข้อวิจารณ์ที่ชาวต่างประเทศมีต่อคนไทย ผู้เขียนยังติดใจในประเด็นเรื่องความเข้มแข็งในจิตใจของคนไทยอยู่เล็กน้อย

ในทัศนะของฝรั่งที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ภาพรวมที่เขามองเมืองไทยก็คือ วัฒนธรรมของไทยอยู่ในลักษณะอ่อน ไม่ใช่วัฒนธรรมแข็ง ยกตัวอย่างในด้านดนตรี ดนตรีไทยชวนให้สุขสงบ กล่อมให้หลับ เราจึงฟังในเวลาจะเข้านอนหรือค่ำคืน อารมณ์ของดนตรีไทยภาษาดนตรีเขาเรียกว่า Minor Key คือ เศร้า อ่อนโยน

ตรงกันข้ามกับฝรั่งที่ส่วนใหญ่เป็น Major Key ฟังแล้วตื่นเต้น มีชีวิตชีวา ปลุกเร้าให้ร่าเริง ในทางจิตรกรรม ภาพเขียนของไทยมีลักษณะอ่อนช้อย กลมกลืน แต่ของฝรั่งมี Contrast ตรง เป็นเรขาคณิต ทางสถาปัตยธรรมก็เช่นกัน ในด้านวาทศิลป์ ฝรั่งนิยมเน้นโครมคราม แตกหัก ออกท่าออกทาง ของไทยต้องสุภาพอ่อนโยน ในการทำงานฝรั่งชอบเชิงรุก กล้าคิดกล้าทำกล้าเสี่ยง พยายามออกนอกกรอบ แต่ยุทธศาสตร์การทำงานของไทย ชอบคิดแล้วคิดอีก กล้านักมักบิ่น ต้องสุขุมรอบคอบในการสู้รบ ฝรั่งชอบเป็นฝ่ายรุก นิยมว่าการรุกเป็นการป้องกันตัวที่ดีที่สุด

ข้อเขียนที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ แม้จะไม่เป็นที่สบอารมณ์นัก แต่ก็มีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เพราะคุณภาพของคนในชาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อการอยู่รอดของประเทศ บางทีจะเป็นโอกาสให้เข้าใจตัวเองว่า เรามีดีมีชั่วอย่างที่เขากล่าวหาอย่างไรบ้างหรือไม่

นิสัยคนไทยเป็นอย่างไรต้องดูกันนานๆ ดูให้ลึกลงไปถึงปู่ย่าตายาย ก็พอจะมองเห็นกรรมพันธุ์ได้บ้าง แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ยังมีกฎของโลกที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ มี “ความเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิรันดร” คนไทยวันนี้ย่อมไม่เหมือนคนไทยสมัยพระชัยราชาธิราชเสียทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา. “จุดอ่อนของคนไทยในสายตาต่างชาติ”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2549, สิงหาคม 2550, พฤศจิกายน 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2562