ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“คนไทย” ด้วยกันเห็นหน้ากันนาน เห็นพัฒนาการที่เปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป จนรู้สึกว่าไม่แปลก แต่ในช่วง 170 กว่าปีนี้ หน้าตาคนไทย, บุคลิกภาพคนไทย, นิสัยใจคอ เปลี่ยนไปมาก-น้อยเพียงใด แล้วสำหรับ “คนนอก” ภาพแรกที่เห็นและจดจำ “คนไทย” เป็นอย่างไร
ในบรรดาคนนอกทั้งหลาย มี นายเฟรริค อาร์เธอร์ นีล ชาวอังกฤษที่รักการท่องเที่ยว และการแสวงหาความรู้ เดินทางมายังกรุงเทพฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2383 (ค.ศ. 1840) ภายหลังรับราชการในกรมทหาร ตำแหน่งราชองครักษ์เจ้าฟ้าจุฑามณี (ภายหลังสถาปนาเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่เขียนเรื่องของ คนไทย ไว้น่าสนใจ
หนังสือของนายนีลชื่อว่า “Narrative of a Residence in Siam” ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2395 (ค.ศ. 1852) โดยรวบรวมจากประสบการณ์ตรงที่ได้พบเห็น และค้นคว้าอ้างอิงเพิ่มเติมจากหนังสือของชาวต่างชาติ, บาทหลวงที่เดินทางเข้ามาไทยก่อนหน้า หนังสือของเขาได้แปลเป็นภาษาไทยโดยเรือเอกหญิงลินจง สุวรรณโภคิน ใช้ชื่อว่า “ชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงสยามในทรรศนะของชาวต่างประเทศ ระหว่าง พ.ศ. 2383-2384 (ค.ศ. 1840-1841)” (กรมศิลปากร 2525) ซึ่งขอคัดย่อบางส่วนมานำเสนอ (โดยมีการจัดวรรคตอนใหม่เพื่อสะดวกในการอ่าน) ดังนี้
นายนีล กล่าวถึงหน้าตา และนิสัยของ “คนไทย” กับคนชาติอื่นในภูมิภาคอีกด้วยว่า
“คนสยามเหมือนพวกมะลายูที่มีโหนกแก้มสูงและจมูกแบน ตาเหมือนพวกคนจีน รูปร่างเหมือนพม่า…ถึงรูปร่างหน้าตาจะดูแบบเดียวกับคนมะลายู แต่ก็ไม่มีนิสัยชอบแก้แค้นเหมือนคนมะลายู และก็ไม่เคยจับคนผู้เคราะห์ร้าย 20 คนมาบูชายัญ เพียงเพื่อจะให้คลายความเจ็บปวดเสียใจของเขา ใครที่ไม่เคยรู้จักความหมายของคําว่า ‘วิ่งไล่คนเถื่อน’ คงจะรู้เมื่อคนมะลายูวิ่งโลดไล่ตามถนนในมือถือกริชคม และพุ่งเข้าแทงทุกอย่างที่เข้ามาขวางหน้าการตามล้างแค้นของเขา
ส่วนคนสยามนั้นหาเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เป็นคนที่เก็บเอาความโกรธเกลียดชังไว้เช่นนั้น ช่วงที่ข้าพเจ้ามาอยู่ที่บางกอก ข้าพเจ้าจําได้ว่ายังไม่เคยเห็นคนสยามต่อสู้หรือทะเลาะเบาะแว้งกันเลย พวกเขาได้รับการสั่งสอนกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ ให้เป็นคนอยู่ในโอวาท เคารพผู้มีอายุสูงกว่า ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาจนถึงคนที่สูงกว่าเขาเพียงขั้นหนึ่งก็ตาม และสําหรับคนที่ด้อยกว่าเขาก็จะได้รับการเคารพเช่นเดียวกับที่เขาทํากับคนอื่น…”
นายนีลยังกล่าวถึงความคิดเรื่อง “การออกกำลังกาย” ของไทยขณะนั้นว่า
“พวกเรากินอาหารเช้ากับนายฮันเตอร์ [โรเบิร์ต ฮันเตอร์-พ่อค้าชาวอังกฤษ ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช] เวลา 10โมงเช้าทุกวัน และหลังจากนั้นเมื่อผู้คนที่อยู่ในเรือนแพขึ้นมาที่บ้านบนบกแล้ว เราก็ออกเดินเล่นกลับไปกลับมากันอยู่ตรงเฉลียงบ้านที่เขาทำขึ้นใหม่อย่างสวยงาม เป็นการออกกำลังกายและสนทนากันอย่างสนุกสนานกันสักครึ่งชั่วโมง…
มีพ่อค้าจีนรูปร่างอ้วนใหญ่ผู้หนึ่งมาแสดงความเสียใจต่อนายฮันเตอร์ โดยแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งในการที่ต้องถูกบังคับให้ต้องเดินในช่วงที่อากาศร้อนจัด และยังปลอบใจว่าฤดูมรสุมกำลังมาถึงแล้ว ฉะนั้นอากาศก็จะค่อยเย็นขึ้น ฉะนั้นความเหน็ดเหนื่อยต่างๆ ที่เกิดจากการออกกำลังกายทำให้ร่างกายทรุดโทรมลงนั้นก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
คนที่เกียจคร้านก็ชอบใช้เวลาให้หมดไปด้วยการนั่งเอกเขนกเป็นรูปปั้น (เพราะสำหรับในบ้านลอยน้ำเช่นนั้น หรืออาศัยอยู่ในเรือส่วนใหญ่ก็ชอบนั่งแบบเอาขาซ้อนกัน [นั่งขัดสมาธิ]) การออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การยิงปืน ขี่ม้า หรือเดินนั้นเป็นปัญหาสำหรับคนเหล่านี้ เพราะเป็นการเกินความสามารถของเขา และที่สำคัญก็คือ ถ้าใครออกไปเดินเล่นคราวละครึ่งไมล์ ก็จะถูกหาว่าเป็นบ้า ทั้งๆ ที่เขามีอย่างอื่นที่จะทำได้ดีกว่า เช่น พายเรือในระยะทางเท่าๆ กัน แล้วนั่งให้สบายๆ ในเรือ”
เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสยามของลาลูแบร์ ซึ่งนายนีลค้นคว้า และเขียนไว้ตอนท้ายของหนังสือของเขา ในหัวข้อ “ลักษณะท่าทางของคนสยาม” ว่า
“ชาวสยามมีรูปร่างค่อนข้างเล็ก แต่ก็ได้ส่วนสัด ทั้งนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่า เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้เอาผ้าห่อตัวไว้ตั้งแต่เขายังเล็กๆ วิธีการที่เราดูแลเด็ก ของเรานั้นไม่ค่อยจะได้ผลเหมือนกับที่ชาวสยามทิ้งเด็กไว้ให้เติบโตเป็นไปตามธรรมชาติ
รูปหน้าของทั้งชายและหญิงค่อนข้างเป็นรูปไข่มากกว่าเป็นรูปขนม เปียกปูน โหนกแก้มกว้างและสูง แต่หน้าผากกลับแคบและเรียวแหลมขึ้นไป คล้ายๆ กับปลายคาง นัยน์ตาเล็กแต่ไม่ค่อยมีแววกระตือรือร้น ส่วนที่เป็นตาขาวนั้นโดยทั่วๆ ไปก็มักจะเป็นสีเหลือง ขากรรไกรดูลึกเพราะอยู่สูง ปากกว้าง ริมฝีปากหนาและซีด ฟันก็เป็นสีดํา ผิวหยาบแลดูเป็นสีน้ำตาลปนแดง ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าคงเป็นเพราะตากแดดอยู่ตลอดเวลา
ผมของเขาสีดํา หนา และเหยียดตรง ทั้งชายและหญิงต่างก็ไว้ผมสั้น ปล่อยเพียงแค่ใบหู เท่ากันรอบศีรษะ ต่ำกว่าลงมาก็โกนเสียเกลี้ยง และดูท่าทีพวกเขาก็ชอบใจกับผมทรงนี้อยู่ สําหรับหญิงนั้นตรงหน้าผากมักจะเสยผมเอาไว้ให้ตั้งตรง แต่ก็ไม่ได้รัด บางคนก็ปล่อยให้ยาวไปทางด้านหลังแล้วก็ขมวดไว้ พวกคนหนุ่มสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานจะเอาไว้ตามธรรมเนียมในกรณีพิเศษเท่านั้น เขาใช้กรรไกรตัดผมออกหมดจนเกือบหมดศีรษะ และจะเหลือผมตรงกลางไว้กระจุกเล็กๆ เท่าเหรียญสองคราวน์ ผมกระจุกนี้จะปล่อยยาวไปจนเกือบจะถึงไหล่ เนื่องจากอากาศร้อนชาวสเปนจึงมักจะชอบโกนผมแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่เขาไม่เหลืออะไรไว้เลย
เรื่องฟันนั้นพวกเขาดูแลเป็นอย่างดีทั้งๆ ที่ทําให้มันดํา เขาสระผมด้วยน้ำและน้ำมันหอมเช่นเดียวกับชาวสเปน ใช้หวีที่ซื้อมาจากเมืองจีน ซึ่งหวีชนิดนี้แทนที่จะมีลักษณะเหมือนหวีของพวกเรา กลับเป็นหวีที่มีเล็กๆ มากมาย ผูกให้ติดกันไว้ด้วยลวด พวกเขาชอบถอนหนวดทั้งๆ ที่ก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง แต่กลับไม่ชอบตัดเล็บ แต่พอใจที่จะรักษาเล็บให้สะอาดเสมอ”
และในหัวข้อ “ลักษณะโดยทั่วไปของคนสยาม” ที่เขียนไว้ดังนี้
“ ‘คนสยามโดยทั่วๆ ไปแล้วเป็นคนรู้จักประมาณตนมากกว่าพวกเรา อารมณ์ขันของพวกเขาสงบเงียบราวกับท้องฟ้าของพวกเขา’ ซึ่งเปลี่ยนไปเพียงปีละ 2 ครั้ง และไม่รู้สึกเลยว่ามันค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละน้อยๆ จากหน้าฝนไปสู่อากาศเย็นสบาย และจากอากาศเย็นสบายก็มาถึงหน้าฝนอีก…”
นี่คือ “ความคิดเห็น” ของฝรั่งที่เข้ามาในเมืองไทย และเห็น “คนไทย” ในเวลานั้น โดยไม่มีผิด-ถูก
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม รัชกาลที่ 3 ทรงอัญเชิญพระมหามงกุฎ ไว้บนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณฯ
- เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 3 สวรรคต “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ครองราชย์
- นอนมากไปไม่ดี!? “โคลงโลกนิติ” บอก “นอน 12 ชั่วโมงไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2562