ผู้เขียน | อดิเทพ พันธ์ทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
“เชฟ” เป็นคำย่อมาจากภาษาฝรั่งเศสคือ “Chef de cuisine” แปลได้ความเป็นไทยง่ายๆว่า “หัวหน้าพ่อครัว” ปัจจุบันถือเป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆ คน ด้วยค่าตอบแทนที่สูงโดยเฉพาะการทำงานในต่างประเทศ แต่ก่อนที่อาชีพนี้จะเป็นที่แพร่หลาย คนไทยอาจจะไปหากินด้วยการเป็นพ่อครัวในต่างแดนนานนับร้อยปีมาแล้วก็เป็นได้
สิ่งที่จะช่วยยืนยันข้อสันนิษฐานนี้มาจากภาพพิมพ์ที่ชื่อ “Yokohama ijin shōka shuen no zu” (Banquet at a foreign mercantile house in Yokohama.) หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “งานเลี้ยงที่สถานีการค้าต่างชาติแห่งหนึ่งในโยโกฮามา” ประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง
ภาพพิมพ์ชิ้นนี้เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1861 (พ.ศ. 2404 ตรงกับช่วงปลายรัชกาลที่ 4) เป็นฝีมือของศิลปินชาวญี่ปุ่นนามว่า ยูตากาวะ ซาดะฮิเดะ (Utagawa Sadahide) ซึ่งมีชื่อเสียงจากการทำภาพพิมพ์ของชาวต่างชาติในโยโกฮามาในทศวรรษที่ 1860
คำบรรยายภาพจากข้อมูลของห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ ระบุว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพของพ่อค้าชาวอังกฤษซึ่งนั่งที่โต๊ะอาหาร โดยมีพนักงานชาวจีนคอยให้บริการ ขณะที่พ่อครัวที่ยืนอยู่ด้านหลังเป็นพ่อครัว หรือ “เชฟ” ชาวไทย
(Japanese print shows an English merchant seated at a table and being waited on by a Chinese man and a Thai cook during a banquet at a mercantile house in Yokohama, Japan)
บางคนอาจจะสงสัยว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ทำขึ้นโดยศิลปินชาวญี่ปุ่นซึ่งมักถูกมองว่ามีความเป็นชาตินิยมสูง และยังอยู่ในช่วงที่ญี่ปุ่นมีกระแสต่อต้านชาวตะวันตกที่เข้ามาข่มเหงให้เปิดประเทศ ภาพชิ้นนี้จึงอาจเป็นภาพล้อเลียนชาวตะวันตกซึ่งในที่นี้คือ “อังกฤษ” ที่ใช้อำนาจบีบให้สยามและจีนต้องเปิดประเทศ โดยสื่อว่า คนไทยและคนจีนต้องตกเป็นข้ารับใช้ชาวอังกฤษหรือเปล่า? (ภาพพิมพ์ชิ้นนี้ทำขึ้นหลังไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริง [1855] และหลังสงครามฝิ่นระหว่างอังกฤษกับจีน [1839-1860])
การตีความเช่นนั้นก็ถือเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ ซึ่งก็จะกลายเป็นว่าภาพชิ้นนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อไปยังประเด็นการเมืองมากกว่าที่จะเป็นภาพสะท้อนข้อเท็จจริง แต่หากพิจารณาผลงานอื่นๆ ของซาดะฮิเดะร่วมด้วย จะเห็นว่าภาพของเขาส่วนใหญ่สื่อถึงชาวต่างชาติในเชิงบวก สังเกตได้จากหลายภาพที่แสดงปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวต่างชาติกับคนญี่ปุ่นซึ่งต่างมีใบหน้าที่เป็นมิตรต่อกัน
ด้วยเหตุนี้ ภาพดังกล่าวจึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นภาพที่มาจากข้อเท็จจริงตามที่ศิลปินได้พบเห็นมา ซึ่งคนไทยรายนี้ก็อาจจะทำงานรับใช้นายจ้างชาวอังกฤษตั้งแต่อยู่ในแผ่นดินสยามจนเป็นที่ไว้วางใจ จึงได้ติดสอยห้อยตามไปทำงานต่อถึงญี่ปุ่นที่เปิดเมืองท่าให้ต่างชาติหลังสยามหลายสิบปีก็เป็นได้ (สยามทำสนธิสัญญาเบอร์นีย์กับอังกฤษตั้งแต่ปี 1826 [พ.ศ. 2369] ขณะที่ญี่ปุ่นยอมเปิดเมืองท่าให้ตะวันตกหลังปี 1854 [พ.ศ.2397])
อ่านเพิ่มเติม :
- เบื้องหลังเมนูคริสต์มาสในรั้วราชวงศ์อังกฤษ และส่วนผสมต้องห้ามจากปากอดีตเชฟของควีน
- โยชิอากิ ชิราอิชิ ผู้แหวกขนบการกินซูชิ ด้วย “ซูชิสายพาน”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2559