“ฮิตเลอร์” เสียชีวิตแล้ว หรือหนีไปได้ ปริศนาวาระสุดท้ายที่ต้องรอยืนยัน?

ภาพเขียนของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน ภาพจาก AFP PHOTO / INP

ภายหลังจากเบอร์ลิน ในเยอรมนี ถูกกองทัพข้าศึกเข้าโจมตีในช่วงปีค.ศ. 1945 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งเก็บตัวอยู่ในบังเกอร์ใต้ตึกบัญชาการในกรุงเบอร์ลินก็พบกับจุดจบในช่วงปลายเดือนเมษายนปีนั้น นี่คือข้อมูลที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักฐานที่ฝ่ายโซเวียต-รัสเซียนำมาชี้แจงอยู่บ้าง แม้จะออกมายืนยันเรื่องการเสียชีวิตของฮิตเลอร์ ในภายหลังแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ข่าวลือเรื่องชะตากรรมสุดท้ายของฮิตเลอร์หายไป ตรงกันข้าม กลับมีทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานาเผยแพร่ออกมาโดยมีแก่นสารหลักว่า ฮิตเลอร์ ยังไม่ตาย!

ทฤษฎีสมคบคิดว่าด้วยเรื่องฮิตเลอร์ หลบหนีออกจากบังเกอร์ได้ และยังมีชีวิตต่อมาภายหลังสงครามจบลงแพร่กระจายกันในหมู่แวดวงผู้สนใจประวัติศาสตร์มายาวนาน มีทั้งบอกว่า ฮิตเลอร์ หนีไปใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในอเมริกาใต้ หรือในแอนตาร์กติา และมีทฤษฎีสมคบคิดที่ไปไกลถึงขั้นบอกว่า “ฮิตเลอร์อาศัยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของนาซีหลบหนีไปสร้างฐานทัพบนดวงจันทร์ แถมอ้างว่าจานผีที่ร่ำลือว่าตกลงที่รอสเวลล์ เมื่อปี 1947 ไม่นานหลังสิ้นสุดสงคราม แท้จริงอาจเป็นยานบินเทคโนโลยีล้ำยุคของนาซี!”

ก่อนจะพูดถึงวาระสุดท้าย คงต้องย้อนกลับไปกล่าวถึงข้อเท็จจริงตามหลักฐานต่างๆ ว่าด้วยวาระ 10 วันสุดท้ายของฮิตเลอร์ กันก่อน

หลักฐานจากบันทึกของไฮนซ์ ลิงเงอ คนรับใช้ส่วนตัวของฮิตเลอร์ ซึ่งถูกฮิวจ์ เทรเวอร์-โรเปอร์ นักเขียนหนังสือ “วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์” บรรยายว่า เป็นนายทหารอังกฤษเก็บบันทึกนี้ได้จากซากปรักหักพังของทำเนียบแห่งไรซ์ เมื่อ กันยายน ค.ศ. 1945

เอกสารนี้จดด้วยมือ บันทึกการนัดหมายประจำวันของฮิตเลอร์ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพชีวิตของผู้นำในช่วง 5 เดือนสุดท้ายระหว่าง ตุลาคม ค.ศ. 1944 ถึง เมษายน 1945

เอกสารระบุชื่อสถานที่ตั้งกองบัญชาการขณะนั้นจนถึง 20 พ.ย. คือโวล์ฟชันเซอ หรือ “ป้อมหมาป่า” ที่ราสเทนบูร์ก (สถานที่เกิดเหตุลอบสังหารเมื่อ 20 ก.ค. ซึ่งฮิตเลอร์ รอดตายมาได้) และจากนั้นถึง 10 ธันวาคมคือที่เบอร์ลิน

จากวันที่ 11 ธันวาคมไปแล้วคือที่อัดเลอร์สโฮสต์ หรือ “รังอินทรี” ที่เมืองบาดเนาไฮม์ และช่วงสุดท้ายคือจาก 16 มกราคมเป็นต้นไปจนจบวาระ ฮิตเลอร์กลับมาอยู่ที่ทำเนียบแห่งไรช์ในเบอร์ลิน และเชื่อว่าไม่ได้ออกมาอีกเลย

อัลแบร์ต สเปียร์ รัฐมนตรีนาซีที่เชื่อว่าจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์ เล่าไว้ว่า ในช่วงท้าย ฮิตเลอร์ถูกสถานการณ์รอบด้านกดดันอย่างมากจนไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีทางปลดปล่อยความเครียด ยิ่งเมื่อเริ่มเห็นแววแพ้สงคราม อาการก็ยิ่งหนักเข้า เขาไม่ไว้ใจใคร กลายเป็นโรคหวาดระแวงกลัวคนทรยศ ไม่มีใครกล้าพูดความจริงยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก

ผลที่ตามมาคือเขาไม่ค่อยออกจากกองบัญชาการใต้ดิน ใช้ชีวิตอยู่กับคนหน้าเดิม อาทิ หมอประจำตัว เลขานุการ และนายพลที่ยุส่งแต่ไม่มีความสามารถ ในช่วงสงครามเขาไม่เคยไปเยี่ยมเมืองที่ถูกทิ้งระเบิด สเปียร์ บอกว่า ในช่วงเดือนเมษายน 1945 ทุกคนที่พบฮิตเลอร์ ต่างบอกว่าเขาเหมือนซากเดินได้ และพูดกันว่าที่เป็นแบบนี้เพราะผลจากการลอบสังหารเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม

วาระสุดท้าย

เช้ามืดของวันที่ 30 เมษายน ฮิตเลอร์ ออกจากห้องมากล่าวอำลาลูกน้อง และจับมือกันด้วยคราบน้ำตาภายใต้บรรยากาศเงียบงัน (บางรายบอกว่าสายตาเหมือนคนติดยา แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน) ช่วงเที่ยงวัน ฮิตเลอร์ประชุมสถานการณ์ประจำวันเป็นครั้งสุดท้าย และทราบว่าโซเวียตห่างจากบังเกอร์แค่หนึ่งช่วงตึกเท่านั้น

ฮิตเลอร์ รับประทานอาหารกลางวันครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณบ่ายสอง โดยเมนูอาหารยังเป็นมังสวิรัติ ฮิตเลอร์และอีวา บราวน์ บริวารคนสนิทที่ฮิตเลอร์ แต่งงานด้วยก่อนตาย กล่าวคำอำลากับบอร์มันน์, เกอเบิลส์ และองครักษ์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเข้าห้องส่วนตัวไปแบบเงียบๆ คนอื่นยืนรอที่ทางเดิน

หลังจากนั้นมีเสียงปืนดังหนึ่งนัด ทั้งหมดรอสักครู่จึงเข้าไปในห้อง พบร่างฮิตเลอร์ นอนบนเก้าอี้โซฟาชุ่มเลือด ฮิตเลอร์ยิงกรอกปากตัวเอง ส่วนอีวา อยู่บนโซฟาและเสียชีวิตแล้วเช่นกัน มีปืนรีโวลเวอร์อยู่ข้างกาย แต่เธอไม่ได้ใช้ กลับเป็นเสียชีวิตจากการกลืนยาพิษ

หน่วยเอสเอสสองนายเข้ามาห่อศพฮิตเลอร์ด้วยผ้าเพื่อซ่อนรอยเลือดขนออกไปทางเดินกลาง และมาเผาที่ตึกบัญชาการ แต่ข้อมูลบางแห่งบอกว่าหลังจากราดน้ำมันบนศพทั้งสองแล้ว พอดีมีกระสุนปืนใหญ่ของรัสเซียตกเข้ามา คนร่วมพิธีเลยต้องหลบใต้หลังคาซุ้มประตู ผู้อยู่ในเหตุการณ์จุ่มเศษผ้าในน้ำมันจุดไฟและโยนไปที่ศพ

แม้มีข้อมูลจากการบันทึกหลายแหล่งเกี่ยวกับการเสียชีวิตของฮิตเลอร์ แต่เมื่อไม่มีใครได้พบศพของผู้นำนาซีจริงๆ จึงทำให้บางกลุ่มไม่เชื่อว่าฮิตเลอร์ เสียชีวิต และสันนิษฐานหรือเกิดทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานา บ้างก็ว่า เขากินยาพิษฆ่าตัวตาย บางกระแสก็ว่าเขาปลอมตัวและหลบหนีไปตลอดชีวิต

บุคคลที่เหลือบางรายร่วมกันวางแผนหลบหนีจากกรุงเบอร์ลิน นายทหารคนสำคัญอย่างเกอเบิลส์ และภรรยาวางยาพิษลูกทั้งหกคนจนเสียชีวิต และขอให้หน่วยเอสเอสยิงที่ท้ายทอย จากนั้นจึงทำการเผา แต่ยังเผาไหม้ไม่หมด ซากของทั้งคู่ถูกทหารโซเวียตพบเข้า หลังทหารโซเวียตเข้าถึงบังเกอร์ พวกเขาพบศพมากมาย แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าศพไหนเป็นร่างของฮิตเลอร์ ทำให้การสรุปข้อมูลเรื่องการเสียชีวิตของฮิตเลอร์ ยังคงคลุมเครือจนถึงวันนี้

วันที่ 7 พฤษภาคม จอมพลเรือ คาร์ล โดนิตซ์ ซึ่งฮิตเลอร์แต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งไรช์ และผู้บัญชาการสูงสุดทุกเหล่าทัพ ประกาศยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข ยุติสงครามในยุโรปที่ยาวนาน 6 ปี ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ฝั่งแปซิฟิกยุติลงเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปีเดียวกันหลังถูกสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ ถือเป็นการปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรวม

ปริศนาการตายของฮิตเลอร์

ในที่นี้จะเอ่ยถึงข้อสังเกตว่าด้วยการเสียชีวิตที่ถูกตั้งคำถามกัน ข้อมูลที่พบเกี่ยวกับการเผาศพนั้นมีพยานพบเห็นกันหลายราย อาทิ เอริช มันส์เฟลด์ ยามรักษาการณ์บังเกอร์ มันส์เฟลด์ ซึ่งเชื่อว่าให้การตรงกับข้อเท็จจริงที่สุดว่าศพถูกเผาเวลา 4 โมงเย็น และยังไหม้จนถึง 6 โมงครึ่ง ขณะที่การจัดการซากนั้นมีพูดถึงต่อว่า ช่วงดึกหลังการเผา รัตเทนฮูเบอร์ หัวหน้าตำรวจอารักขา เอ่ยกับนายทหารองครักษ์จากหน่วยเอสเอสว่า ให้ไปหาชีดเลอ ผู้บัญชาการหน่วยองครักษ์ เลือกคนที่ไว้ใจได้มาเตรียมฝังซากศพ

หลังจากนั้น มันส์เฟลด์ ที่กลับไปประจำการบนหอคอยในช่วงใกล้เที่ยงคืนก็สังเกตว่าหลุมระเบิดจากกระสุนปืนใหญ่ที่หน้าประตูทางออกฉุกเฉินเพิ่งถูกกลบใหม่ๆ และศพก็หายไป (คาดว่าถูกฝังตอนประมาณ 5 ทุ่ม)

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยว่า ไฮนซ์ ลิงเงอ คนรับใช้ส่วนตัวของฮิตเลอร์ (ลิงเงอ อยู่ในพิธีอำลาครั้งสุดท้ายด้วย) บอกเลขานุการคนหนึ่งว่า ศพถูกเผาทำลายหมด “จนไม่มีเหลือ” ตามคำสั่งของฮิตเลอร์ แต่มีข้อสงสัยว่า การใช้น้ำมันประมาณ 180 ลิตร เผาศพช้าๆ บนพื้นทรายนั้น เนื้อหนังคงเผาเกรียมเป็นถ่านหมด เหลือแต่เศษซาก แต่กระดูกก็ยังทนความร้อน น่าจะเหลืออยู่บ้าง แต่ไม่มีใครพบเห็นกระดูกเลย

มีความเป็นไปได้ว่า อาจถูกทุบและปนไปกับกระดูกของศพอื่นที่ตายขณะป้องกันทำเนียบ แต่รัสเซียเคยขุดสวนดูบ้าง พบว่ามีศพมากมายฝังรวมกัน แต่การค้นหาของรัสเซีย ก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันเมื่อพิจารณาจากการพบสมุดบันทึกนัดหมายประจำวันของฮิตเลอร์ ที่ถูกวางไว้บนเก้าอี้ก็วางไว้อย่างนั้นนานถึง 5 เดือนก่อนจะมีผู้พบมัน

ขณะที่ปากคำของออตโท กึนเชอ อีกหนึ่งนายทหารคนสนิทของฮิตเลอร์ บอกอีกทางหนึ่งว่า เถ้ากระดูกถูกเก็บใส่กล่องและขนออกจากทำเนียบ

“ฮิตเลอร์” ฆ่าตัวตายจริง?

(เนื้อหาส่วนต่อไปนี้คัดมาจากบทความ “30 เมษายน 1945: ‘ฮิตเลอร์’ ฆ่าตัวตายจริง? หรือ หนีไปใช้ชีวิตบนโลกพระจันทร์!!!”)

หลังสิ้นยุคสตาลิน โซเวียตได้ออกมายืนยันว่าพบร่างของฮิตเลอร์และบราวน์จริง โดยอเล็กซานโดรวิช เบซิเมนส์กี (Aleksandrovich Bezymensky) นักประวัติศาสตร์และอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของโซเวียตได้เผยรายงานเมื่อปี 1968 ระบุว่าซากศพที่ถูกพบแม้จะถูกเผาทำลายแต่ทีมพิสูจน์หลักฐานของโซเวียตสามารถยืนยันอัตลักษณ์ของทั้งคู่ได้ในวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 โดยอาศัยกระดูกขากรรไกรที่หลงเหลืออยู่เทียบกับประวัติการทำฟันของทั้งฮิตเลอร์และบราวน์ ซึ่งรายงานของโซเวียตระบุว่าเป็นเครื่องยืนยันอัตลักษณ์ของทั้งคู่ได้อย่างสิ้นสงสัย ทำให้บันทึกของเทรเวอร์-โรเปอร์ น่าเชื่อถือในส่วนที่ระบุว่า “ฮิตเลอร์” และเอวา บราวน์ เสียชีวิตแล้วและร่างของทั้งคู่ถูกเผาทำลาย

อย่างไรก็ดี ขณะที่เทรเวอร์-โรเปอร์ อ้างว่าฮิตเลอร์ยิงตัวตาย ส่วนบราวน์ดื่มยาพิษตาย แต่รายงานของเบซิเมนส์กี กลับระบุว่า ผลการชัญสูตรศพของฮิตเลอร์และบราวน์ยืนยันว่าทั้งคู่เสียชีวิตจากพิษของไซยาไนด์ ความไม่ลงรอยของการบันทึกจากฝ่ายตะวันตกและโซเวียตทำให้ทฤษฎีสมคบคิดที่เชื่อกันว่า “ฮิตเลอร์ยังไม่ตาย” ยังมีผู้คนจำนวนมากยอมรับฟัง แม้ว่าบันทึกของทั้งสองฝ่ายจะต่างกันเพียงในรายละเอียดเท่านั้นว่า ทั้งคู่ตายอย่างไร

หลังจากที่รัสเซียนำชิ้นส่วนกระโหลกศรีษะซึ่งมีร่องรอยถูกยิงและเชื่อกันว่าเป็นของฮิตเลอร์ออกจัดแสดงเป็นครั้งแรกในปี 2000 นักวิจัยอเมริกัน นิก เบลลานโตนี (Nick Bellantoni) จากมหาวิทยาลัยคอนเนตติกัต (University of Connecticut) ได้ออกมาอ้างในปี 2009 ว่า เขาและคณะได้ทำการวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากกระโหลกศรีษะดังกล่าวยืนยันว่า กระโหลกชิ้นนี้เป็นของผู้หญิงและน่าจะมีวัยต่ำกว่า 40 ปี แต่ฮิตเลอร์มีอายุถึง 56 ปีเข้าไปแล้วเมื่อนับถึงเดือนเมษายน 1945 ที่เชื่อกันว่าเป็นเดือนสุดท้ายในชีวิตของเขา และหากจะบอกว่าเป็นกระโหลกของบราวน์ ก็ไม่ตรงกับบันทึกประวัติศาสตร์ที่ระบุว่าเธอดื่มยาพิษตายไม่ได้ยิงตัวตาย

ข้อสงสัยดังกล่าวทำให้ทฤษฎีสมคบคิดที่เชื่อกันว่าฮิตเลอร์ไม่ได้ฆ่าตัวตายกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ในปี 2011 สองนักเขียนชาวอังกฤษ เจอร์ราร์ด วิลเลียมส์ และซิมอน ดันส์แตน (Gerrard Williams and Simon Dunstan) ได้ออกหนังสือชื่อว่า “หมาป่าสีเทา: การหลบหนีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์” (Grey Wolf: The Escape of Adolf Hitler) อาศัยปากคำของชาวบ้านและคำรำลือที่มีมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามใหม่ๆ อ้างว่า ก่อนที่นาซีเยอรมันจะถูกพิชิต ฮิตเลอร์และบราวน์ได้นั่งเครื่องบินหนีไปยังเดนมาร์ก ก่อนข้ามไปยังสเปน ซึ่งฟรังโกได้ช่วยเหลือด้วยการจัดหาเครื่องบินให้ผู้นำนาซีบินต่อไปยังหมู่เกาะคานารี (Canary Islands, หมู่เกาะในปกครองของสเปนตั้งอยู่ทางตอนใต้ของชายฝั่งโมร็อกโก) ก่อนนั่งเรือดำน้ำไปขึ้นฝั่งที่อาร์เจนตินาและได้ใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาเป็นเวลา 17 ปี มีลูกด้วยกันสองคน ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1962

แต่ข้ออ้างของทั้งสองก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนักประวัติศาสตร์กระแสหลัก ต่อมาทั้งคู่ยังถูกกล่าวหาในปี 2013 ว่า งานของพวกเขาลอกมาจากงานของนักข่าวชาวอาร์เจนตินา อาเบล บาสตี (Abel Basti) ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่นักเขียนชาวอังกฤษขณะเดินทางไปเก็บข้อมูลในอาร์เจนตินา และอ้างว่าเป็นผู้แนะนำพยานคนสำคัญให้กับนักเขียนชาวอังกฤษ แต่วิลเลียมส์ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

เมื่อต้นปี 2014 เดลีเมล์รายงานว่า นักเขียนชาวบราซิล ซิโมนี เรเน เกร์เรโร ดิอาซ (Simoni Renee Guerreiro Dias) ได้อ้างในหนังสือของเธอ “ฮิตเลอร์ในบราซิล – ชีวิตและความตาย” (Hitler in Brazil – His Life and His Death) ว่า เส้นทางการหลบหนีของฮิตเลอร์ไม่ได้สิ้นสุดที่อาร์เจนตินาแต่เขายังได้เดินทางไปยังปารากวัยก่อนเข้าไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในบราซิล พร้อมกับมีภรรยาใหม่เป็นหญิงสาวผิวดำเพื่อปกปิดสถานะความเป็นพวกเชื้อชาตินิยมอารยัน ก่อนเสียชีวิตลงเมื่อปี 1984 ในเมืองเล็กๆ ชายแดนบราซิล-โบลีเวีย โดยมีหลักฐานชิ้นสำคัญเป็นภาพถ่ายอันเลือนลางจนมองไม่เห็นหน้าของฝ่ายชายที่ถูกอ้างว่าเป็นฮิตเลอร์กับหญิงสาวผิวดำ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวก็มิได้รับความยอมรับจากนักประวัติศาสตร์กระแสหลักเช่นกัน

ต้นตอของข่าวลือทั้งหมดเห็นได้ว่ามีจุดเชื่อมโยงสำคัญที่โซเวียต-รัสเซีย ที่ในยุคสตาลินพยายามปกปิดหลักฐานการพบร่างของฮิตเลอร์และรายงานการชันสูตรศพ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใด ก่อนออกมายืนยันในภายหลังว่าฝ่ายตนเป็นผู้ค้นพบร่างของฮิตเลอร์จริง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ข่าวลือนอกกระแสหายไปโดยสิ้นเชิง ประกอบกับหลักฐานที่เคยเชื่อว่าเป็นกระโหลกของฮิตเลอร์ถูกหักล้างด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ทำให้บางคนยังเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดนอกกระแส

แต่หลักฐานสำคัญที่สุดที่จะยืนยันได้ว่าฮิตเลอร์ตายจริงในปี 1945 ยังอยู่ในมือรัสเซียนั้นก็คือ กระดูกขากรรไกรที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานยืนยันว่า เป็นของฮิตเลอร์จริงโดยปราศจากข้อสงสัย ซึ่งหากรัสเซียยอมให้บุคคลที่สามได้ตรวจสอบซ้ำก็คงจะช่วยลบข้อสงสัยหลายๆ อย่างได้

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ฮิตเลอร์” เอาแนวคิดต่อต้านยิวมาจากไหน เจาะ 3 นักคิดทรงอิทธิพลต่อผู้นำนาซีเยอรมัน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ปริศนาของ “วากเนอร์” คีตกวีดนตรีคลาสสิกที่ “ฮิตเลอร์” เทิดทูน นำไปใช้ในการเมืองนาซี

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดวาระสุดท้ายของฮิตเลอร์ ชนวน “โกรธจัดเหมือนเป็นบ้า” ถึงห้วงปริศนาหลังลาโลก


อ้างอิง:

เทรเวอร์-โรเปอร์, ฮิวจ์. วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555

อดิเทพ พันธ์ทอง. “30 เมษายน 1945: ‘ฮิตเลอร์’ ฆ่าตัวตายจริง? หรือ หนีไปใช้ชีวิตบนโลกพระจันทร์!!!”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 30 เมษายน พ.ศ.2561. เข้าถึงเมื่อ 1 เมษายน 2564. <https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1415>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2564