30 เมษายน 1945 “ฮิตเลอร์” เสียชีวิตจริง? หรือหนีไปใช้ชีวิตบนโลกพระจันทร์!?

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน
ภาพเขียนของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน, AFP PHOTO / INP

วันที่ 30 เมษายน 1945 (พ.ศ. 2488) คือวันที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับกันว่า เป็นวันที่ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ผู้นำนาซีเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ที่เกือบจะครองยุโรปได้ทั้งทวีป ยอมปลิดชีพตัวเองพร้อมกับคนรัก เพื่อเลี่ยงการตกเป็นนักโทษสงครามของโซเวียต

แต่ผู้นำเยอรมนีที่เห็นการเพลี่ยงพล้ำของกองทัพในแนวรบรอบด้านก่อนพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงเป็นเวลาพอสมควร จะไม่คิดเลยหรือว่าตนเองอาจไม่สามารถพลิกสถานการณ์ได้ และไม่ได้เตรียมลู่ทางสำหรับหลบหนี?

Advertisement

การเสียชีวิตของฮิตเลอร์เป็นการประกาศฝ่ายเดียวของเยอรมนี ระบุว่าฮิตเลอร์ “ต่อสู้จนถึงลมหายใจสุดท้ายต่อพวกบอลเชวิก (โซเวียต)” ก่อนตั้งให้นายพลแห่งกองทัพเรือ คาร์ล โดนิตซ์ (Karl Doenitz) เป็นผู้สืบทอดอำนาจ ทำให้สื่อตะวันตกอย่างนิวยอร์กไทม์ในสมัยนั้นตั้งข้อสงสัยว่า คำประกาศของนาซีเยอรมันจะน่าเชื่อถือได้เพียงใด

“พวกนาซีโกหกสารพัดจนกลายเป็นภาคหนึ่งทางการเมืองของพวกเขา และรายงานอ้างถึง (การตายของ) ฮิตเลอร์ยิ่งเพิ่มน้ำหนักเป็นเท่าตัวให้กับหลายคนที่ตั้งข้อสงสัยซึ่งเป็นที่แพร่หลายอยู่แล้วว่า ปรมาจารย์แห่งการหลอกลวงกำลังพยายามครั้งสุดท้ายในการสร้างคำโกหกครั้งใหญ่ต่อชาวโลกเพื่อที่จะรักษาชีวิตตัวเอง และอาจเตรียมที่จะกลับมาอีกครั้งในเวลาที่เหมาะสม” รายงานเรื่อง “The End of Hitler” ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 1945 ของนิวยอร์กไทม์ระบุ

“อย่าไปเชื่อสิ่งที่พวกมันพูด จงเชื่อเมื่อคุณได้เห็นภาพของฮิตเลอร์เหมือนกับที่คุณได้เห็นภาพของมุสโสลินีเมื่อวานนี้” ชายชาวนิวยอร์กเชื้อสายอิตาเลียนกล่าวกับนิวยอร์กไทม์อ้างถึงเบนิโต มุสโสลินี อดีตผู้นำอิตาลีพันธมิตรคนสำคัญของฮิตเลอร์ ซึ่งถูกประหารในวันที่ 28 เมษายน 1945 ก่อนหน้าการประกาศการฆ่าตัวตายของฮิตเลอร์เพียง 2 วัน

ความคลุมเครือที่ชวนสงสัย

ตัวจักรสำคัญที่ทำให้คนเชื่อว่าฮิตเลอร์ยังไม่ตายคือ “ความคลุมเครือ” เนื่องจากการประกาศมาจากเยอรมันฝ่ายเดียวโดยไม่มีหลักฐานประกอบอย่าง “รูปถ่าย” เหมือนเช่นที่ชาวนิวยอร์กรายหนึ่งเรียกหา

ประกอบกับโซเวียตเองเมื่อยึดกรุงเบอร์ลินได้ ก็ออกแถลงการณ์วกวนจากที่เคยประกาศว่า ข่าวการตายของฮิตเลอร์เป็น “กลลวงของพวกฟาสซิสต์” (รายงานของเอพี วันที่ 2 พฤษภาคม 1945 อ้างโดยนิวยอร์กไทม์) ในวันที่ 8 พฤษภาคม ก็ประกาศว่าได้พบร่างของฮิตเลอร์แล้ว แต่พอถึงต้นเดือนมิถุนายน 1945 โซเวียตกลับออกมาตอกย้ำข่าวลือว่าฮิตเลอร์ยังไม่ตาย โดย จอมพลกอร์กี ซูคอฟ “Georgy Zhukov”(รายงานต้นฉบับของเอพีสะกดว่า Gregory K. Zhukoff)

ผู้นำกองทัพโซเวียตประกาศว่า “เราไม่พบร่างที่น่าจะเป็นของฮิตเลอร์” สำทับด้วยนายพลสามดาว (Col. Gen.) นิโคไล อี. เบอร์ซาริน (Nikolai E. Berzarin) ผู้บัญชาการกองทัพโซเวียตในกรุงเบอร์ลินที่กล่าวว่า ทหารรัสเซียยังไม่พบศพของฮิตเลอร์ ก่อนเสริมว่า “เขาอาจจะอยู่ในสเปนกับฟรังโก (ผู้นำเผด็จการของสเปนในยุคนั้น) และมีความเป็นไปได้ที่เขาจะออกเดินทางหลบหนีไปแล้ว”

แต่กระทรวงการต่างประเทศของสเปนได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของเบอร์ซาริน โดยยืนยันว่า ฮิตเลอร์ รวมถึง เอวา บราวน์ (Eva Braun) ภรรยาหมาดๆ (แต่งงานวันที่ 29 เมษายน 1945 ก่อนมีการประกาศการฆ่าตัวตายของทั้งคู่ในวันถัดมา) มิได้อยู่บนแผ่นดินสเปน และสเปนมิได้อนุญาตให้ทั้งคู่เข้าประเทศ หรือหากฮิตเลอร์ลักลอบเข้ามาได้ สเปนก็มิได้ให้ที่พักพิงแก่ฮิตเลอร์แต่อย่างใด

หลังการประกาศข่าวของฝ่ายโซเวียตยืนยันว่า ยังไม่พบศพของฮิตเลอร์และบราวน์ และทั้งคู่น่าจะหลบหนีไปได้จึงมีรายงานตามมาในช่วงกลางเดือนมิถุนายนว่ามีผู้พบเห็นทั้งคู่ในพื้นที่ต่างๆ เช่นรายงานชิ้นหนึ่งที่อ้างว่า ฮิตเลอร์และบราวน์ได้หลบหนีไปยังอาร์เจนตินา ทำให้สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯหรือเอฟบีไอทำการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว เอกสารของเอฟบีไอได้รวบรวมปากคำของผู้ที่อ้างว่าพบเห็นฮิตเลอร์และบราวน์หลังหลบหนีออกจากเยอรมนี ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญที่นักทฤษฎีสมคบคิดใช้อ้างเพื่อความน่าเชื่อถือของตน

อย่างไรก็ดี คำประกาศของฝ่ายโซเวียตถูกพบในภายหลังว่าน่าจะเป็นความพยายามที่จะสร้างความปั่นป่วนให้กับชาติพันธมิตรตะวันตก พร้อมสร้างปมให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างกันว่ามีบางฝ่ายพยายามช่วยเหลือฮิตเลอร์ให้รอดพ้นจากการรับโทษในฐานะอาชญากรสงครามหรือไม่

MI5 หน่วยงานความมั่นคงของสหราชอาณาจักรระบุในบันทึกเมื่อปี 2005 ว่า การประกาศในเดือนมิถุนายน 1945 ของโซเวียตว่าไม่พบร่างของฮิตเลอร์เป็นข้อมูลเท็จ โดยอ้างจากบทสรุปของนักประวัติศาสตร์ฮิวจ์ เทรเวอร์-โรเปอร์ (Hugh Trevor-Roper) เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของอังกฤษในช่วงสงคราม ผู้เขียนหนังสือวันสุดท้ายของฮิตเลอร์ (The Last Days of Hitler) เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1947 เป็นหนังสือที่รวบรวมปากคำของพยานและหลักฐานแวดล้อมยืนยันว่าฮิตเลอร์เสียชีวิตในวันที่ 30 เมษายน 1945 ด้วยการยิงตัวตาย ส่วนบราวน์ดื่มยาพิษตาย ก่อนถูกนำร่างไปเผาทำลาย ซึ่งถือเป็นบันทึกเหตุการณ์การเสียชีวิตของฮิตเลอร์ที่ได้รับการความน่าเชื่อถือมากที่สุด

แต่ด้วยเหตุที่ฝ่ายตะวันตกและ เทรเวอร์-โรเปอร์ ไม่มีหลักฐานทางกายภาพอย่างเช่นซากศพของฮิตเลอร์และบราวน์อยู่ในมือทำให้หลายคนยังคงไม่เชื่อว่า ฮิตเลอร์ตายไปแล้ว ทฤษฎีสมคบคิดอย่างการหนีไปอเมริกาใต้จึงยังมีคนรับฟังอยู่บ้าง

ส่วนบางทฤษฎีเสนอว่า ฮิตเลอร์อาจไปสร้างฐานทัพลับในทวีปแอนตาร์กติกาที่ไร้ผู้คนเพื่อรอวันล้างแค้น โดยอ้างว่านาซีได้ไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาตั้งแต่ก่อนเริ่มสงคราม

บางคนไปไกลถึงขนาดอ้างว่า ฮิตเลอร์อาศัยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของนาซีหลบหนีไปสร้างฐานทัพบนดวงจันทร์ แถมอ้างว่าจานผีที่ถูกร่ำลือว่าตกลงที่รอสเวลล์เมื่อปี 1947 ไม่นานหลังสิ้นสุดสงคราม แท้จริงอาจเป็นยานบินเทคโนโลยีล้ำยุคของนาซี!

ฮิตเลอร์ ตายจริง!?

หลังสิ้นยุคสตาลิน โซเวียตได้ออกมายืนยันว่าพบร่างของฮิตเลอร์และบราวน์จริง โดยอเล็กซานโดรวิช เบซิเมนส์กี (Aleksandrovich Bezymensky) นักประวัติศาสตร์และอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของโซเวียตได้เผยรายงานเมื่อปี 1968 ระบุว่าซากศพที่ถูกพบแม้จะถูกเผาทำลาย แต่ทีมพิสูจน์หลักฐานของโซเวียตสามารถยืนยันอัตลักษณ์ของทั้งคู่ได้ในวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 โดยอาศัยกระดูกขากรรไกรที่หลงเหลืออยู่ เทียบกับประวัติการทำฟันของทั้งฮิตเลอร์และบราวน์ ซึ่งรายงานของโซเวียตระบุว่าเป็นเครื่องยืนยันอัตลักษณ์ของทั้งคู่ได้อย่างสิ้นสงสัย ทำให้บันทึกของเทรเวอร์-โรเปอร์น่าเชื่อถือในส่วนที่ระบุว่า “ฮิตเลอร์” และบราวน์ เสียชีวิตแล้วและร่างของทั้งคู่ถูกเผาทำลาย

อย่างไรก็ดี ขณะที่เทรเวอร์-โรเปอร์ อ้างว่าฮิตเลอร์ยิงตัวตาย ส่วนบราวน์ดื่มยาพิษตาย แต่รายงานของเบซิเมนส์กีกลับระบุว่า ผลการชัญสูตรศพของฮิตเลอร์และบราวน์ยืนยันว่าทั้งคู่เสียชีวิตจากพิษของไซยาไนด์

ความไม่ลงรอยของการบันทึกจากฝ่ายตะวันตกและโซเวียตทำให้ทฤษฎีสมคบคิดที่เชื่อกันว่า “ฮิตเลอร์ยังไม่ตาย” ยังมีผู้คนจำนวนมากยอมรับฟัง แม้ว่าบันทึกของทั้งสองฝ่ายจะต่างกันเพียงในรายละเอียดเท่านั้นว่า ทั้งคู่ตายอย่างไร

หลังจากที่รัสเซียนำชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะซึ่งมีร่องรอยถูกยิงและเชื่อกันว่าเป็นของฮิตเลอร์ออกจัดแสดงเป็นครั้งแรกในปี 2000 นักวิจัยอเมริกันนิก เบลลานโตนี (Nick Bellantoni) จากมหาวิทยาลัยคอนเนตติกัต (University of Connecticut) ได้ออกมาอ้างในปี 2009 ว่า เขาและคณะได้ทำการวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากกะโหลกศีรษะดังกล่าวยืนยันว่า กะโหลกชิ้นนี้เป็นของผู้หญิงและน่าจะมีวัยต่ำกว่า 40 ปี แต่ฮิตเลอร์มีอายุถึง 56 ปี เข้าไปแล้วเมื่อนับถึงเดือนเมษายน 1945 ที่เชื่อกันว่าเป็นเดือนสุดท้ายในชีวิตของเขา และหากจะบอกว่าเป็นกะโหลกของบราวน์ก็ไม่ตรงกับบันทึกประวัติศาสตร์ที่ระบุว่าเธอดื่มยาพิษตายไม่ได้ยิงตัวตาย

ข้อสงสัยดังกล่าว ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดที่เชื่อกันว่าฮิตเลอร์ไม่ได้ฆ่าตัวตายกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ในปี 2011 สองนักเขียนชาวอังกฤษ เจอร์ราร์ด วิลเลียมส์ และซิมอน ดันส์แตน (Gerrard Williams and Simon Dunstan) ได้ออกหนังสือชื่อว่า “หมาป่าสีเทา: การหลบหนีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์” (Grey Wolf: The Escape of Adolf Hitler) อาศัยปากคำของชาวบ้านและคำรำลือที่มีมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามใหม่ๆ อ้างว่า…

ก่อนที่นาซีเยอรมันจะถูกพิชิต ฮิตเลอร์และบราวน์ได้นั่งเครื่องบินหนีไปยังเดนมาร์ก ก่อนข้ามไปยังสเปน ซึ่งฟรังโกได้ช่วยเหลือด้วยการจัดหาเครื่องบินให้ผู้นำนาซีบินต่อไปยังหมู่เกาะคานารี (Canary Islands, หมู่เกาะในปกครองของสเปนตั้งอยู่ทางตอนใต้ของชายฝั่งโมร็อกโก) ก่อนนั่งเรือดำน้ำไปขึ้นฝั่งที่อาร์เจนตินาและได้ใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาเป็นเวลา 17 ปี มีลูกด้วยกันสองคน ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1962

แต่ข้ออ้างของทั้งสองก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนักประวัติศาสตร์กระแสหลัก ต่อมาทั้งคู่ยังถูกกล่าวหาในปี 2013 ว่า งานของพวกเขาลอกมาจากงานของนักข่าวชาวอาร์เจนตินา อาเบล บาสตี (Abel Basti) ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่นักเขียนชาวอังกฤษขณะเดินทางไปเก็บข้อมูลในอาร์เจนตินา และอ้างว่าเป็นผู้แนะนำพยานคนสำคัญให้กับนักเขียนชาวอังกฤษ แต่วิลเลียมส์ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

เมื่อต้นปี 2014 เดลีเมล์รายงานว่า นักเขียนชาวบราซิล ซิโมนี เรเน เกร์เรโร ดิอาซ (Simoni Renee Guerreiro Dias) ได้อ้างในหนังสือของเธอ “ฮิตเลอร์ในบราซิล – ชีวิตและความตาย” (Hitler in Brazil – His Life and His Death) ว่า เส้นทางการหลบหนีของฮิตเลอร์ไม่ได้สิ้นสุดที่อาร์เจนตินา แต่เขายังได้เดินทางไปยังปารากวัย ก่อนเข้าไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในบราซิล พร้อมกับมีภรรยาใหม่เป็นหญิงสาวผิวดำเพื่อปกปิดสถานะความเป็นพวกเชื้อชาตินิยมอารยัน ก่อนเสียชีวิตลงเมื่อปี 1984 ในเมืองเล็กๆ ชายแดนบราซิล-โบลีเวีย โดยมีหลักฐานชิ้นสำคัญเป็นภาพถ่ายอันเลือนลางจนมองไม่เห็นหน้าของฝ่ายชายที่ถูกอ้างว่าเป็นฮิตเลอร์กับหญิงสาวผิวดำ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวก็มิได้รับความยอมรับจากนักประวัติศาสตร์กระแสหลักเช่นกัน

ต้นตอของข่าวลือทั้งหมดเห็นได้ว่ามีจุดเชื่อมโยงสำคัญที่โซเวียต-รัสเซีย ที่ในยุคสตาลินพยายามปกปิดหลักฐานการพบร่างของฮิตเลอร์และรายงานการชันสูตรศพ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใด ก่อนออกมายืนยันในภายหลังว่าฝ่ายตนเป็นผู้ค้นพบร่างของฮิตเลอร์จริง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ข่าวลือนอกกระแสหายไปโดยสิ้นเชิง ประกอบกับหลักฐานที่เคยเชื่อว่าเป็นกะโหลกของฮิตเลอร์ถูกหักล้างด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ทำให้บางคนยังเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดนอกกระแส

แต่หลักฐานสำคัญที่สุดที่จะยืนยันได้ว่าฮิตเลอร์ตายจริงในปี 1945 ยังอยู่ในมือรัสเซียนั้นก็คือ กระดูกขากรรไกร ที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานยืนยันว่าเป็นของฮิตเลอร์จริงโดยปราศจากข้อสงสัย ซึ่งหากรัสเซียยอมให้บุคคลที่สามได้ตรวจสอบซ้ำก็คงจะช่วยลบข้อสงสัยหลายๆ อย่างได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

The End of Hitler: The New York Times

Just a ‘Fascist Trick’ Moscow Radio Asserts: The New York Times

Hitler Body Found, Russian Report: The New York Times

Hitler Took Cyanide, Soviet Inquiry Found: The New York Times

Hitler Lived Until 1962? That’s My Story, Claims Argentinian: The Guardian

Hitler’s Last Days: Security Service MI5

Adolf Hitler suicide story questioned after tests reveal skull is a woman’s: The Telegraph

New book claims THIS picture proves Hitler escaped his Berlin bunker and died in South America in 1984 aged 95: The Daily Mail

Did Hitler flee bunker with Eva to Argentina, have two daughters and live to 73? The bizarre theory that’s landed two British authors in a bitter war: The Daily Mail

City Takes Report of Death in Stride: The New York Times


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 30 เมษายน 2561