ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ไม่ว่าโลกมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แนวโน้มของอนาคตอันใกล้ (และอีกไกล) “ภาษี” และ “ความตาย” ยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะเผชิญหน้าอยู่อย่างแน่นอน ไม่เว้นแม้แต่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ซึ่งยังโดนหน่วยงานด้านการเงินในมิวนิกทวงให้ยื่นเอกสารแจ้งรายได้และข้อมูลทางการเงิน (ช่วงยุค 20-30s)
ฮิตเลอร์ ไม่ใช่ผู้นำรายเดียวที่ถูกนักวิชาการหรือนักประวัติศาสตร์สำรวจข้อมูลการเสียภาษี การตรวจสอบเกี่ยวกับภาษีเป็นเรื่องที่สาธารณชนทั่วไปมักสืบค้นข้อมูลกันเสมอ ไม่นานมานี้ New York Times สื่อเก่าแก่จากสหรัฐอเมริกาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเสียภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2016 จนเป็นที่วิจารณ์กันแพร่หลาย
สำหรับกรณีของฮิตเลอร์ Oran James Hale ผู้เขียนบทความ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ : สถานะเสียภาษี” เผยแพร่ในวารสาร The American Historical Review วารสารด้านประวัติศาสตร์ ฉบับกรกฎาคม ค.ศ. 1955 โดยสืบค้นเอกสารด้านภาษีของฮิตเลอร์ที่เก็บรักษาในสำนักงานด้านการเงินแห่งมิวนิก (Munich Finance Office) เป็นข้อมูลระหว่างปี 1925-1935
ข้อมูลจากเอกสารเหล่านี้สามารถขยายความสถานะทางการเงินของฮิตเลอร์ในแง่มุมต่างๆ แม้ว่าจะไม่ได้ตอบคำถามได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ยังฉายภาพการเงินของเขาได้บ้าง
การแจ้งภาษีก่อน 1934
ไฟล์ด้านภาษีของฮิตเลอร์ ในช่วง 1925-35 ประกอบไปด้วยเอกสารไม่ต่ำกว่า 200 ชิ้น ตัวอย่างเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ รายงานภาษีจากการขายที่เก็บจากสินค้าทุกขั้นตอนที่มีการเปลี่ยนมือ (Turnover Tax) ฯลฯ
หากอ้างอิงเฉพาะจากข้อมูลที่ได้จากเอกสารในมิวนิก แสดงให้เห็นว่าระหว่างทศวรรษ 1920 และต้นทศวรรษ 1930s ฮิตเลอร์ ปรากฏวี่แววของพฤติกรรมหลบเลี่ยงการแจ้งข้อมูลทางการเงิน ไปจนถึงระดับ “หยุด” เสียภาษี (อันมีมูลเหตุที่จะกล่าวต่อไป)
ระหว่างทศวรรษ 1920 และต้นทศวรรษ 1930s เขามีรายได้ส่วนใหญ่จากการขายหนังสือ Mein Kampf (หนังสืออัตชีวประวัติที่เขาเขียนเอง) เล่มแรกตีพิมพ์ออกมาเมื่อ 1925 ตามมาด้วยเล่มต่อมาในปี 1926 แต่หนังสือเริ่มแพร่หลายในช่วง 1930 ซึ่งทำให้รายได้ของฮิตเลอร์ เพิ่ม 3 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และยังเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ มา
ในเอกสารการเสียภาษี และการแจ้งข้อมูล ฮิตเลอร์ ถูกเรียกว่า “นักเขียน” (Schrifsteller) กระทั่งปี 1933 ฮิตเลอร์ ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเปลี่ยนเป็น “Reichskanzler” ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ฮิตเลอร์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทางการด้านภาษียังคงระบุว่ารายได้ทางเดียวของเขาคือการเป็น “นักเขียนด้านการเมือง” มีเพียงครั้งเดียวซึ่งถูกสอบถามถึงเรื่องแหล่งที่มาของรายได้ คือเมื่อเขาครอบครองรถยนต์เมื่อปี 1925 เป็นมูลค่า 20,000 ไรซ์มาร์ค
เอกสารชุดนี้ไม่มีข้อมูลว่าเขาเคยถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ทางการในด้านภาษี Oran James Hale ผู้สืบค้นเอกสารอธิบายเพิ่มเติมว่า กฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีในเยอรมนีช่วงเวลานี้ไม่ได้กำหนดให้บุคคลที่หาเลี้ยงชีพเองหรือประกอบอาชีพเองต้องเปิดเผยรายละเอียดถึงแหล่งที่มาของรายได้ออกมาด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม วันที่ 1 พฤษภาคม 1925 ฮิตเลอร์ได้รับแจ้งจากสำนักงานการเงิน (การคลัง) แห่งมิวนิก (Munich Finance Office) โดยทวงว่า เขาไม่ได้ยื่นรายงานสำหรับปี 1924 และส่งหมายเรียกขอรายละเอียดในช่วงควอเตอร์แรกของปี 1925 ด้วย
ฮิตเลอร์ ทำตามระเบียบในส่วนหนึ่งด้วยการส่งรายงานซึ่งมีคำชี้แจงว่า “ที่มิวนิก, วันที่ 19 พฤษภาคม 1925 ข้าพเจ้าไม่มีรายได้ในปี 1924 หรือในควอเตอร์แรกของปี 1925 ข้าพเจ้าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจากเงินกู้ธนาคาร”
ในเดือนกุมภาพันธ์ 1925 ฮิตเลอร์ ครอบครองรถยนต์ขนาดใหญ่ซึ่งเขาใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปมิวนิกและเดินทางไปเพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับพรรคการเมือง สำนักงานด้านภาษีทำหนังสือถึงฮิตเลอร์ ให้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ซึ่งนำมาสู่การครอบครองรถยนต์โดยเร็วที่สุด ฮิตเลอร์ ชี้แจงโดยคร่าวว่า เขากู้เงินธนาคารเพื่อมาซื้อรถยนต์
แต่เมื่อฮิตเลอร์ ยังเพิกเฉยต่อการส่งรายงานภาษีควอเตอร์แรกของ 1925 ทำให้สำนักงานฯ ส่งคำเตือนพร้อมแจ้งเรื่องค่าปรับ 10 ไรซ์มาร์ค (สกุลเงินเยอรมนีระหว่าง 1924-1948) หรือถูกจำคุก 1 วัน
เวลาต่อมา ฮิตเลอร์ ชี้แจงว่า เขาเดินทางออกจากมิวนิกไปหลายเดือน เมื่อเดินทางกลับมา เขาไม่พบหมายแจ้งท่ามกลาง “จดหมายที่กองเป็นภูเขา” การชี้แจงของฮิตเลอร์ พร้อมคำร้องขอเพิกถอนโทษของฮิตเลอร์ ถูกปฏิเสธ
เมื่อกำหนดเส้นตายส่งรายงานผ่านมาได้ 14 วัน ฮิตเลอร์ ลงชื่อและส่งเอกสารจากเดรสเดน (Dresden) ตอบสนองต่อคำสั่งให้รายงานข้อมูลควอเตอร์ที่ 3 ของปี 1925 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ฮิตเลอร์ สมัครใจยื่นเอกสารรายงานรายได้ภายหลังเขาออกจากเรือนจำแลนด์สเบิร์ก (Landsberg)
เขารายงานว่ามีรายได้ 11,231 ไรซ์มาร์คในควอเตอร์ดังกล่าว ส่วนที่หักเป็น “ค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ” ได้อยู่ที่ 6,540 ไรซ์มาร์ค จ่ายดอกเบี้ยในส่วนหนี้สิน 2,245 ไรซ์มาร์ค เหลือจำนวนเงินที่จะคำนวณภาษีได้ 2,446 ไรซ์มาร์ค รายงานชุดนี้ถูกส่งมาพร้อมเอกสารประกอบ 3 หน้าอธิบายชี้แจงข้อมูลส่วนค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ เซ็นลงชื่อกำกับที่เดรสเดน ฮิตเลอร์ ยังอ้างว่า ภายหลังถูกปล่อยตัวเขาต้องกู้เงินธนาคารมาประทังชีวิต กระบวนการทางกฎหมายทำให้เขามีค่าใช้จ่ายมาก ด้วยการกู้ยืม เขาถึงสามารถเขียนหนังสือมาวางจำหน่ายได้
ส่วนหนึ่งของเนื้อหา ฮิตเลอร์ พยายามชี้แจงและยืนยันเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าจ้างเลขาฯ ส่วนตัว ผู้ช่วย คนขับรถ ถือเป็นส่วนที่สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพได้ เช่นเดียวกับกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นวัตถุดิบจำเป็นสำหรับการเป็น “นักเขียนแนวการเมือง” และจะช่วยเพิ่มยอดขายหนังสือของเขาได้
Oran James Hale วิเคราะห์ว่า “โทน” ของการสื่อสารระหว่างฮิตเลอร์ กับหน่วยงานด้านภาษีของรัฐแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นวิวาทะเกี่ยวกับเงินในส่วน “ค่าใช้จ่ายสำหรับการประกอบอาชีพ” ซึ่งจะดำเนินต่อเนื่องไปอีก 8 ปี
ปัญหาระหว่างฮิตเลอร์ กับหน่วยงานด้านภาษี?
อันที่จริงแล้ว รายได้จากการขายหนังสือยังเป็นอีกหนึ่งปมข้อถกเถียงด้านภาษีระหว่างฮิตเลอร์ กับเจ้าหน้าที่ภาษี โดย Oran James Hale อธิบายว่า การพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติและค่าลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับเขาอีก โดยเมื่อปี 1926 ฮิตเลอร์ ได้รับเอกสารให้กรอกข้อมูลชี้แจงเรื่องภาษีสำหรับส่วนการจำหน่ายหนังสือ เขาลงชื่อในเอกสารเปล่า โดยไม่ได้กรอกข้อมูลใดๆ ส่งคืนให้สำนักงานฯ
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ผู้ตรวจสอบภาษีจึงทำเรื่องเรียกเก็บภาษีปี 1925 ย้อนหลัง ร่วมกับเรียกเก็บภาษีจากการขายในทุกขั้นตอนในปี 1926 โดยกล่าวหาว่าฮิตเลอร์ ค้างจ่ายส่วนนี้อยู่ ฮิตเลอร์ ต้องใช้งานหนึ่งในคนสนิทของเขาคือทนายความนามว่า ฮานส์ แฟรงค์ มาว่าความให้
ปี 1926 เขาแจ้งรายได้รวม 15,903 ไรซ์มาร์ค ค่าใช้จ่าย 31,209 ไรซ์มาร์ค ส่วนต่างที่ยังขาดไป เขาแจ้งว่า นำเงินกู้ธนาคารมาโปะ คล้ายกับการรายงานในปี 1927 ซึ่งตัวเลขส่วนต่าง 1,958 ถูกโปะโดยเงินกู้ธนาคาร
ปี 1926 เขาถูกประเมินภาษีที่ 922 ไรซ์มาร์ค และ 351 ไรซ์มาร์ค ในปี 1927
ในปี 1927 ฮิตเลอร์ ยังมีสถานะค้างชำระ ยังติดจ่ายภาษีก้อนสุดท้ายในปี 1926 อยู่ เมื่อมาถึงปี 1928 สถานการณ์ด้านภาษีของฮิตเลอร์ จึงเริ่มคลายความตึงเครียด Oran James Hale มองว่า แม้ฮิตเลอร์ จะยังมีสถานะค้างจ่ายบ่อยครั้ง แต่มูลเหตุใหญ่มาจากความละเลย เมินเฉย มากกว่าปัญหาทางการเงิน
ปี 1928 เขาถึงมีเลขรายได้แซงหน้าค่าใช้จ่าย และปี 1929 ตัวเลขดอกเบี้ยเงินกู้ก็ไม่ปรากฏในรายงานการเงิน แม้ว่ารายได้ของฮิตเลอร์ในปี 1929 จะน้อยกว่าตัวเลขรายได้ในปี 1925-1926 ก็ตาม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด สถานะเป็นหนี้ของฮิตเลอร์ ถูกลบล้างหายไปเรียบร้อย
ตามความคิดเห็นของ Oran James Hale ที่ได้สำรวจข้อมูล เขามองว่า การกล่าวอ้างเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการประกอบอาชีพของฮิตเลอร์ หากพิจารณาเรื่อง “จำนวนเงิน” และ “ปริมาณ” การใช้ ค่อนข้างเป็นเหตุเป็นผลฟังขึ้นอยู่บ้าง จนถึงในปี 1930 ซึ่งเลขาฯ ของเขาได้เงินเดือน 300 ไรซ์มาร์ค ผู้ช่วยได้ 200 ไรซ์มาร์ค คนขับรถได้ 200 ไรซ์มาร์ค
ตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมประมาณ 800 ไรซ์มาร์คต่อปี ประกันรถและภาษีประมาณ 2,000 ไรซ์มาร์ค ตัวเลขค่าใช้จ่ายที่มากสุดคือค่าใช้จ่ายสำหรับเดินทาง
ในปี 1930 เขาเพิ่มตัวเลขค่าใช้จ่ายในการเดินทางส่วนที่จะหักเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับประกอบอาชีพมากเป็นพิเศษ โดยอ้างค่าใช้จ่ายด้านคมนาคมขนส่ง (transportation) อยู่ที่ 4,980 ไรซ์มาร์ค และค่าใช้จ่ายเดินทางทั่วไปที่ 12,000 ไรซ์มาร์ค
ปี 1930 นี้เองที่ฮิตเลอร์ และพรรคนาซี ก้าวขึ้นมาโด่งดังในระดับชาติ ฮิตเลอร์ กลายเป็นนักการเมืองแถวหน้าในยุโรปกลาง หนังสืออัตชีวประวัติของเขาขึ้นแท่นหนังสือขายดีที่สุดในร้านหนังสือที่เยอรมนี
ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า เอกสารชุดที่ยังหลงเหลือและเก็บรักษาในมิวนิกบ่งชี้แหล่งรายได้ของฮิตเลอร์ ว่ามีทางเดียวคือ รายได้จากงานเขียน ซึ่งทำให้เกิดคำถามมากมายตามมาว่า เขานำเงินจากไหนชดใช้หนี้ธนาคารระหว่าง 1925-28 ตามรายงานภาษีของฮิตเลอร์? สิ่งของต่างๆ ที่ฮิตเลอร์ ได้รับเป็นการส่วนตัวถูกส่งมอบเป็นทรัพย์สินของพรรคการเมืองหรือไม่? ฮิตเลอร์ มีรายได้หรือผลประโยชน์อื่นจากพรรคการเมืองหรือไม่?
Oran James Hale บรรยายว่า “…ทัศนคติของฮิตเลอร์ ที่มีต่อหน่วยงานด้านภาษีอันเป็นเรื่องที่รับรู้กันทั่วไป บ่งชี้ว่า รายได้อื่นๆ ไม่ปรากฏในรายงาน เพราะข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกบันทึกใดๆ”
ภายหลังเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 1933
ฮิตเลอร์ จ่ายภาษีในส่วนรายได้ที่ได้รับหนังสือ Mein Kampf บางส่วน กระทั่งถึงปี 1933 ในปีนี้เอง ฮิตเลอร์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประกาศต่อชาวเยอรมันว่า เขาบริจาคเงินรายได้จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นทุนช่วยเหลือครอบครัวตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุจลาจล
การบริจาครายได้ส่วนนี้เองที่ทำให้กระทรวงการคลัง (Ministry of Finance) ต้องประสบปัญหาการตีความทางการเงิน เนื่องด้วยข้อเท็จจริงแล้ว เขายังมีรายได้เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะเงินรายได้ส่วนตัวจากการขายหนังสืออัตชีวประวัติในขณะที่เขายังเป็นผู้นำเยอรมนี
ปลายเดือนมีนาคม สำนักงานการเงินของมิวนิกตะวันออก (Finance Office Munich-East) ทำหนังสือหารือไปถึงสำนักงานการเงิน(การคลัง)แห่งรัฐ (State Finance Office) ปรึกษาถึงคำถามที่ว่า รายได้ของนายกรัฐมนตรีนั้นจะเก็บภาษีได้หรือไม่ในฐานะรายได้(จากค่าตอบแทน)ที่เพิ่มมาจากรายได้เดิม
เนื้อหาในหนังสือส่วนหนึ่งมีว่า
“บัดนี้เกิดคำถามขึ้นว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยรวม, … จะทำให้สัดส่วนรายได้ประเมินภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความยากลำบากอันไม่เป็นธรรมสืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีตั้งใจมอบค่าตอบแทนในตำแหน่งเพื่อการกุศล”
เมื่อมาถึงปี 1933 ยอดขายหนังสือพุ่งสูงอย่างมาก รายได้รวมของฮิตเลอร์ ขยับขึ้นไปถึง 1,232,335 ไรซ์มาร์ค ทำให้ภาษีที่ถูกประเมินว่าต้องจ่ายอยู่ที่ 297,005 ไรซ์มาร์ค เมื่อมาถึงช่วงต้องส่งรายงานประจำปีของปี 1933 จึงปรากฏคำร้องขอต่อกระทรวงการคลัง
คำร้องขอคือ ให้ช่วยหักเงินครึ่งหนึ่งของรายได้รวมให้เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนการประกอบอาชีพ ไม่ปรากฏหลักฐานพอจะบอกได้ว่า เป็นคำขอจากฮิตเลอร์ เอง หรือคนรอบข้าง แต่ฟริตซ์ ไรน์ฮาร์ดต์ (Fritz Reinhardt) ผู้ดำรงตำแหน่ง State Secretary และดูแลกระทรวงการคลังเป็นผู้เห็นชอบ ปรากฏในจดหมายที่ส่งถึงฮิตเลอร์ ระบุว่า
“สืบเนื่องจากค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นกับคุณในฐานะดำรงตำแหน่งผู้นำของชาติ ผมขอประกาศข้อตกลงหักเงินรายได้รวมในสัดส่วน50 เปอร์เซ็นต์ไปสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพสำหรับช่วงภาษีปี 1933”
เอกสารการเงินในมิวนิกที่หลงเหลือมาแสดงให้เห็นว่า ฮิตเลอร์ ไม่ได้จ่ายภาษีรอบสุดท้ายในปี 1933 และภาษีล่วงหน้าราย 3 เดือนสำหรับปี 1934 เป็นเงิน 405,494 ไรซ์มาร์ค ฮิตเลอร์ ไม่ได้เสียภาษีนับตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยกเว้นแค่การจ่ายเล็กๆ น้อยๆ เป็นภาษีในรอบ 3 เดือนอันสืบเนื่องมาจากรายได้เมื่อ 1932
อันที่จริงแล้ว พฤติกรรมลักษณะนี้จะถูกส่งเรื่องไปยังแผนกจัดเก็บเพื่อดำเนินการต่อ แต่ปรากฏการส่งหนังสือกันภายในผู้เกี่ยวข้อง เดินเรื่องขอให้ชะลอการเคลื่อนไหว ขณะที่ Ludwog Mirre ประธานสำนักงานการเงิน (การคลัง) แห่งรัฐ ในมิวนิก (State Finance Office) ทำหนังสือถึงเพื่อนร่วมสายงานเกี่ยวกับการเงินการภาษี แสดงท่าทีตีความ(รัฐธรรมนูญ)การจัดเก็บภาษีผู้นำในแง่มุมว่า “ไม่ต้อง” เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นจะพูดไปถึงเรื่องเสนอผ่านกฎหมายเพื่อยกเว้นภาษีให้ฮิตเลอร์
ภายหลังการสื่อสารภายในระหว่างฮิตเลอร์, ไรน์ฮาร์ดต์ และปธ.สำนักงานการเงินฯ (Ludwog Mirre) ที่ได้ข้อสรุปว่า ฮิตเลอร์ ไม่อยู่ในข่ายความรับผิดชอบในแง่การจัดเก็บภาษีตามรัฐธรรมนูญ ผู้นำและนายกฯ ไรซ์ จึงไม่ต้องจ่ายภาษีรายได้จากหนังสือในฐานะนักเขียนทางการเมือง
อ่านเพิ่มเติม :
- “ฮิตเลอร์” เอาแนวคิดต่อต้านยิวมาจากไหน เจาะ 3 นักคิดทรงอิทธิพลต่อผู้นำนาซีเยอรมัน
- เปิดวาระสุดท้ายของฮิตเลอร์ ชนวน “โกรธจัดเหมือนเป็นบ้า” ถึงห้วงปริศนาหลังลาโลก
อ้างอิง :
Oron James Hale. “Adolf Hitler: Taxpayer”. The American Historical Review. Vol. 60, No. 4 (Jul., 1955), pp. 830-842. Online. Access 6 JAN 2021. <https://www.jstor.org/stable/1844922?seq=1>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม 2564