“ฮิตเลอร์” เอาแนวคิดต่อต้านยิวมาจากไหน เจาะ 3 นักคิดทรงอิทธิพลต่อผู้นำนาซีเยอรมัน

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน
ภาพเขียนของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน, AFP PHOTO / INP

“อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” เอาแนวคิดต่อต้าน “ชาวยิว” มาจากไหน เจาะ 3 นักคิดทรงอิทธิพลต่อ “ผู้นำนาซีเยอรมัน”

โศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 นับเป็นฝันร้ายของมนุษยชาติ ที่เกิดขึ้นจากการปลูกฝังความเกลียดชังทางเชื้อชาติ อันนำไปสู่ความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์นับล้านชีวิต นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่า ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่ออย่างสุดโต่งของ ผู้นำนาซีเยอรมัน นั่นคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่เชื่อว่าจำเป็นต้องกำจัด “ชาวยิว” ให้หมดไปจากโลก

นอกเหนือจากบริบทเรื่องสภาพเศรษฐกิจ การครอบครองของนายทุนระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งฮิตเลอร์เชื่อว่าส่งผลต่อเยอรมนี และเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างคริสเตียนกับยูดาห์ (Judaism) หากจะกล่าวถึงแนวคิดของฮิตเลอร์ ที่ส่งอิทธิพลต่อนโยบายของนาซีในภายหลัง ส่วนหนึ่งอาจต้องย้อนไปถึงอิทธิพลทางความคิดอันมาจากความชื่นชอบอ่านหนังสือของฮิตเลอร์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งให้ข้อมูลว่า เขาชื่นชอบอ่านหนังสืออัตชีวประวัติบุคคล จุลสาร และแผ่นใบปลิวทางการเมือง เมื่อครั้งที่เขายังเป็นเพียงแค่ชายหนุ่มจิตรกรวาดรูปทิวทัศน์ขาย

ลันซ์ ฟอน ลีเบนเฟลส์ กับแนวคิดยกย่องเชื้อสายอารยัน

เมื่อพูดถึงอิทธิพลทางความคิดจากงานเขียนที่ส่งผลต่อฮิตเลอร์ จุดที่ถูกพูดถึงมากคืองานของ ลันซ์ ฟอน ลีเบนเฟลส์ (Lanz von Liebenfels) บรรณาธิการนิตยสาร Ostara เชื้อสายออสเตรียน ที่นำเสนอความคิดเรื่องความสูงส่งของเชื้อชาติอารยัน และต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะงานเขียนในช่วงก่อนก่อตั้งนิตยสาร Ostara ที่ชื่อว่า Theozoölogie oder die Kunde von den Sodoms-Äfflingen und dem Götter-Elektron (Theozoology, or the Science of the Sodomite-Apelings and the Divine Electron)

แม้หนังสือเล่มนี้อาจไม่มีเนื้อหาเชิงต่อต้าน “ชาวยิว” โดยตรง แต่เป็นหนังสือเชิงนัยวิเคราะห์ตีความพระคัมภีร์ และถูกมองว่า มีเนื้อหาสื่อสารเชิงยกเชื้อสายอารยันสูงกว่าเชื้อสายอื่นๆ อันต่อยอดจากพื้นฐานความเชื่อทางคัมภีร์ทางศาสนาว่าด้วยการสร้างมนุษย์ของพระเจ้า

งานเขียนของลีเบนฟลส์ ส่วนใหญ่มักจะนำแง่มุมด้านศาสนาและเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ อาทิ Zur Theologie der gotischen Bibel (“Regarding the Theology of the Gothic Bible”) ใน Vjschr. für Bibelkunde 1 ปี 1903/1904 หรือ Der Weltkrieg als Rassenkampf der Dunklen gegen die Blonden (“The World War as a Race Fight Between the Dark and the Blondes”) เมื่อปี 1927 เป็นต้น

ลีเบนเฟลส์เกิดเมื่อ ค.ศ. 1874 ที่เวียนนา ในครอบครัวชนชั้นกลาง ในปี 1893 เขาเป็นนักบวชในคณะนักบวช Cistercian ของนิกายคาทอลิก ปีต่อมามีบันทึกไว้ว่า เขาอ้างว่า “รู้แจ้ง” เมื่อค้นพบหลุมศพของอัศวินเทมพลาร์ และเริ่มพัฒนาทฤษฎีที่เรียกว่า “blue-blond Aryanism” และแนวคิดเรื่อง “เชื้อชาติชั้นล่าง” ซึ่งนาซีนำมาใช้อธิบายกลุ่มที่ไม่ใช่ชาวอารยันว่า เป็นพวกที่ด้อยกว่า

เขาก่อตั้งนิตยสาร Ostara เมื่อ ค.ศ. 1905 และอ้างว่ามีผู้รับนิตยสารของเขากว่า 1 แสนราย แต่เชื่อกันว่าตัวเลขนี้สูงเกินจริง ลีเบนเฟลส์ยังอ้างด้วยว่า ฮิตเลอร์ในวัยหนุ่มเคยมาพบเขาเมื่อปี 1909

ชาร์ลส์ ดาร์วิน กับทฤษฎีผู้แข็งแกร่งคือผู้อยู่รอด โดนใจ “ฮิตเลอร์” 

อีกหนึ่งแนวคิดของฮิตเลอร์ ย่อมได้มาจากทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ อันเป็นอีกแนวคิดที่ฮิตเลอร์ได้รับอิทธิพลมา โดยเฉพาะว่าด้วยวิธีการคัดเลือกทางธรรมชาติที่ว่า One general law, leading to the advancement of all organic beings, namely, multiply, vary, let the strongest live and the weakest die.” หรือสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด ซึ่งส่งอิทธิพลต่อความคิดของฮิตเลอร์

จอร์จ ฟอน เชิร์นเนอร์ เสนอความเกลียดชัง “ชาวยิว” 

คนที่ 3 คือ จอร์จ ฟอน เชิร์นเนอร์ (George von Schönerer) นักการเมืองชาวออสเตรีย ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ที่มีทัศนคติทางการเมืองสนับสนุนความเป็นเยอรมัน และมีความเป็นอนุรักษนิยมตามแบบฉบับนักการเมืองฝ่ายขวาจัด

เขามีแนวคิดต่อต้านชาวยิว โดยเสนอความคิดในแง่ว่า กำจัดชาวยิว เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเยอรมันกลายเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศตนเองในภายภาคหน้า

แนวคิดของลีเบนเฟลส์และเชิร์นเนอร์ มีลักษณะแบบเดียวกันคือ ความเกลียดชังในเชื้อสาย “ชาวยิว” และยกย่องเชื้อสายอารยัน ที่เป็นเชื้อสายของชาวยุโรปโดยแท้ นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้กับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน ในการหาเหตุผลของความเกลียด และเหยียดเชื้อสายที่คิดว่าต่ำกว่าตน ผนวกกับทฤษฎีของดาร์วิน ที่นำมาสนับสนุนแนวคิดของฮิตเลอร์ในการพัฒนากองทัพนาซีเยอรมันให้แข็งแกร่ง และกำจัดสิ่งที่คิดว่าทำให้ประเทศเกิดความเสื่อมถอยและอ่อนแอ ก็คือ ชาวยิว นั่นเอง

“ไมน์คัมพฟ์” โดย ฮิตเลอร์ ปลุกการต่อต้านยิว 

แนวคิดเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดความเกลียดชังต่อชาวยิว และความทะนงต่อเชื้อสายกำเนิด ช่วงที่ฮิตเลอร์ถูกจำคุกจากเหตุการณ์ “กบฏโรงเบียร์” (Beer Hall Putsch) ที่เมืองมิวนิก เมื่อปี 1923 ที่เขาเป็นผู้นำในเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาถูกตัดสินจำคุก 5 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ถูกจองจำในคุก Landsberg (จำคุกจริงตั้งแต่เมษายน ปี 1924 ถูกปล่อยตัวกลางเดือนธันวาคมปีเดียวกัน) ฮิตเลอร์ได้บันทึกเรื่องราวชีวิตและแนวคิดทางการเมืองของเขา ซึ่งต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ ไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf) ภายหลังจากที่เขาขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในฐานะผู้นำเยอรมนี ผลงานนี้เป็นหนังสือที่ส่งผลให้ประชาชนเยอรมันเริ่มเกลียดชังชาวยิว

หนังสือไมน์คัมพฟ์ ฉบับแปลไทย (การต่อสู้ของข้าพเจ้า แปลโดย ศ.ป.) สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของฮิตเลอร์ โดยเฉพาะจุดมุ่งหมายทางการเมืองทั้ง 25 ข้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายและนโยบายสำคัญของพรรคนาซี หนึ่งในนั้นก็สื่อได้อย่างชัดเจนในเรื่องความเกลียดชังที่มีต่อชาวยิว

ในจุดมุ่งหมายการเมืองข้อ 4 ระบุว่า “ไม่มีใครอื่นนอกจากชาวเยอรมันเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิเป็นพลเมืองของประเทศเราโดยสมบูรณ์, ไม่มีใครอื่นอีก นอกจากผู้ที่มีสายเลือดเยอรมันแท้ๆ ที่เราได้รับสิทธิเป็นสมาชิกแห่งชาติได้ เพราะฉะนั้น พวกยิวเป็นสมาชิกแห่งชาติไม่ได้

ในข้อ 24 ย่อหน้าที่ 2 ระบุว่า “คณะพรรคนี้จะยอมรับรองศาสนาคริสเตียน แต่ก็ไม่นับรวมกับทางการเมือง และเราจะต่อต้านลัทธิวัตถุนิยมของชาติยิว ทั้งภายนอกและภายในประเทศ…” เป็นเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงการกีดกันสิทธิพลเมืองภายในประเทศ  และการต่อต้านทางเชื้อชาติอย่างชัดเจน

หรือแม้แต่ในบรรพ 1 บทที่ 11 “ชาติและเชื้อชาติ” ที่ฮิตเลอร์ได้บรรยายถึงความเป็นมาของชาวอารยัน ก็ยังมีการกล่าวถึงยิวในฐานะ “กาฝาก” ที่พยายามแสวงหาประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นเชื้อชาติที่นับถือศาสนาที่ผิดแผก เป็นนักหลอกลวงชั้นยอดมีความเจ้าเล่ห์ ซึ่งนัjนคือภาพลักษณ์ที่ฮิตเลอร์ได้สร้างขึ้นให้ชาวยิว และเชื่อกันว่า เป็นอิทธิพลที่มาจากแนวคิดของบุคคลข้างต้น และฮิตเลอร์นำมาทำความเข้าใจต่อด้วยตนเอง

ความเกลียดชังที่ประสบพบเจอมาในอดีต ประกอบกับข้อมูลที่ได้รับ กลายเป็นความเชื่อที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อมนุษยชาติ และเป็นโศกนาฏกรรมแห่งการสังหารหมู่ที่โลกไม่ลืม

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, ศ.ป. แปล. การต่อสู้ของข้าพเจ้า Mein Kampf. พิมพ์ครั้งที่ 8 . กรุงเทพฯ : โฆษิต, 2558

https://en.wikipedia.org/wiki/J%C3%B6rg_Lanz_von_Liebenfels

https://en.wikipedia.org/wiki/Georg_Ritter_von_Sch%C3%B6nerer

https://www.bbc.com/timelines/zq8gcdm#z2wc9j6


ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 27 กรกฎาคม 2563