“โจเซฟ เมนเกเลอ” หมอนาซี แพทย์โหดแห่งค่ายเอาช์วิตซ์ เสียชีวิตโดยไม่เคยรับโทษ

หมอ นายแพทย์ กองทัพ นาซี โจเซฟ เมนเกเลอ
โจเซฟ เมนเกเลอ (ลำดับที่ 2 จากซ้าย) พร้อมเจ้าหน้าที่นาซีคนอื่นๆ ในพื้นที่พักผ่อนนอกค่ายเอาช์วิตซ์ เมื่อปี 1944 (พ.ศ. 2487) ภาพจาก AFP PHOTO/Holocaust Memorial Museum

ในประวัติศาสตร์มีแพทย์ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการรักษาผู้คน คิดค้นนวัตกรรมและวิธีช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์กันมากมาย และหลายคนได้รับผลกระทบจากการทำงานส่งผลต่อสุขภาพของพวกเขาเอง ในทางตรงกันข้าม ประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็ปรากฏแพทย์ที่ทดลองอันโหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ในช่วงสงคราม ชื่อของ โจเซฟ เมนเกเลอ (Josef Mengele) ปรากฏในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีการสังหารชาวยิวจำนวนมาก เขาคือเจ้าของฉายา “เทวฑูตแห่งความตาย” (Angel of Death) เป็นแพทย์นาซี แห่งค่ายเอาช์วิตซ์ (Auschwitz) ค่ายกักกันและพื้นที่สังหารหมู่ชาวยิวของนาซีในโปแลนด์

เขาเกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ในเมืองกุนซ์เบิร์ก แคว้นบาวาเรีย โจเซฟ เมนเกเลอ เริ่มเรียนด้านปรัชญาในช่วงทศวรรษที่ 1920s ซึ่งทำให้เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดด้านเชื้อชาติจากอัลเฟรด โรเซนเบิร์ก (Alfred Rosenberg) ผู้วางรากฐานอุดมคติทางเชื้อชาติของนาซี จากนั้น เมนเกเลอ เข้าศึกษาต่อด้านแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย “University of Frankfurt am Main”

เมนเกเลอ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในกองกำลัง Sturmabteilung (SA-ฝ่ายจู่โจมของนาซี) ในปี ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) จากนั้นจึงได้ร่วมทีมวิจัยของสถาบันชีววิทยาพันธุกรรม และการรักษาอนามัยทางเชื้อชาติที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ (Institute for Hereditary Biology and Racial Hygiene) เมื่อปีค.ศ.  1934 (.. 2477)

เมื่อสงครามเริ่มขึ้นเขาจึงได้เป็นเจ้าหน้าที่แพทย์ประจำ Schutzstaffel (SS-กองกำลังติดอาวุธของนาซีที่ขึ้นมาแทนที่ SA) ก่อนได้รับหน้าที่ให้เป็นหัวหน้าคณะแพทย์ประจำค่ายเอาช์วิตซ์ในปีค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486)

นักโทษชาวยิวภายในค่ายเอาช์วิตซ์ หลังได้รับการปลดปล่อยแล้ว ภาพถ่ายเมื่อปี 1945 (พ.ศ. 2488) ภาพจาก AFP PHOTO / Elizaveta Svilova

ที่เอาช์วิตซ์ เมนเกเลอ คือผู้ที่คัดเลือกนักโทษชาวยิวที่ถูกส่งตัวมาว่าจะให้นำไปใช้แรงงาน หรือจะให้นำไปรมแก๊สเพื่อสังหารในทันที

มีผู้อ้างว่าเขาทำหน้าที่ที่น่าจะสร้างปมซับซ้อนทางจิตใจเช่นนี้อย่างเต็มใจโดยไม่มีความรู้สึกกดดันใดๆ และด้วยความทะเยอทะยานที่จะสร้างงานวิจัยที่นำไปสู่การค้นพบครั้งใหญ่ เขาจึงเริ่มทำการทดลองกับนักโทษชาวยิวที่ยังมีชีวิตด้วยการฉีดสารอันตรายต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย ทั้งสารปิโตรเลียม ไปจนถึงคลอโรฟอร์ม เพื่อดูการทำปฏิกริยาของสารดังกล่าวต่อร่างกาย และทำการทดลองที่โหดร้ายอีกหลายอย่างโดยเฉพาะกับนักโทษแฝด ซึ่งเขาให้ความสนใจเป็นพิเศษ

หลังสงครามจบลงเขาสามารถหลบหนีการจับกุมไปได้ มีข้อมูลว่า เขาไปเริ่มทำงานในคอกปศุสัตว์ในบาวาเรีย ก่อนหลบหนีไปยังอเมริกาใต้ในปีค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492)

อดีตแพทย์รายนี้แต่งงานใหม่ที่อุรุกวัย ในปีค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) จากนั้นจึงได้รับสัญชาติปารากวัยในปีค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) ภายหลังได้อพยพไปยังบราซิลในปีค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) และได้รู้จักกับ โวล์ฟกัง เกร์ฮาร์ด (Wolfgang Gerhard) นาซีเก่าเชื้อสายฮังการี

สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์สงครามหรือเกี่ยวกับการเมืองของกลุ่มนาซีอาจคุ้นเคยกับเรื่องหน่วยมอสสาด (Mossad) หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอลติดตามจับกุมตัวอดอล์ฟ ไอค์มานน์ ( Adolf Eichmann) อดีตทหารหน่วยเอสเอส (SS) ของนาซีซึ่งหนีไปกบดานที่อาร์เจนติน่า ในกรณีของเมนเกเลอ ก็มีความพยายามติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถติดตามตัวได้สำเร็จ เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่เบาะแสไม่เพียงพอ เมื่อดำเนินการสืบต่อ ในภายหลังก็ติดขัดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญจากบราซิล เยอรมนีตะวันตก และสหรัฐฯ ชี้ว่า เมนเกเลอ ปลอมตัวและใช้อัตลักษณ์ของ เกร์ฮาร์ด สืบมา หลังจากนั้นก็เสียชีวิตลงด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกขณะว่ายน้ำ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) และถูกฝังร่างในนามของเกร์ฮาร์ด

แต่เมื่อมีการพิสูจน์ประวัติทางทันตกรรม ก็ยืนยันได้ว่าร่างดังกล่าวเป็นของ เมนเกเลอ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ: เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทความ 7 กุมภาพันธ์ 1979: หมอโหดแห่งค่ายเอาช์วิตซ์ เสียชีวิตโดยไม่เคยต้องโทษในบราซิล


อ้างอิง :

“The Angel of Death Dies”. History. <http://www.history.com/this-day-in-history/the-angel-of-death-dies>

“Josef Mengele”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/biography/Josef-Mengele>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2560