เปิดวาระสุดท้ายของฮิตเลอร์ ชนวน “โกรธจัดเหมือนเป็นบ้า” ถึงห้วงปริศนาหลังลาโลก

(ขวา) ภาพเขียนของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน, AFP PHOTO / INP (ซ้าย) โมเดลจำลองห้องทำงานของฮิตเลอร์ ใน บังเกอร์ของผู้นำที่เบอร์ลิน ภาพจาก TOBIAS SCHWARZ / AFP

บุคคลผู้เป็นที่จดจำในหน้าประวัติศาสตร์โลกมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นชื่อของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำมากอำนาจของเยอรมนี ในยุคก่อนหน้าที่เขาจะกลายเป็นผู้นำซึ่งพาเยอรมนีไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งเพลี่ยงพล้ำจนนำมาสู่จุดจบในบังเกอร์ใต้ตึกบัญชาการในกรุงเบอร์ลิน ห้วงวาระสุดท้ายของผู้นำเยอรมันกลายเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์และคนทั่วไปสนใจมากที่สุด

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นเป็นผู้นำพรรคนาซีเมื่อ ค.ศ. 1921ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ ค.ศ. 1933 หลังจากที่ประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์กถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 87 ปีเมื่อค.ศ. 1934 ฮิตเลอร์ ประกาศรวมตำแหน่งประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีเข้าด้วยกันกลายเป็นตำแหน่งของ “ผู้นำ” (Führer) แห่งจักรวรรดิ อีก 5 ปีต่อมา เยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อค.ศ. 1939

สถานการณ์สงคราม

สงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงแรก เยอรมนีประสบความสำเร็จได้ชัยชนะอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในสภาพได้เปรียบอย่างมากในสงคราม ฝ่ายอักษะทวีกำลังมากยิ่งขึ้นในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป การรบหลายพื้นที่เริ่มปรากฏเค้าลางความพ่ายแพ้ ถึงเยอรมนีจะยึดครองดินแดนได้มากมาย อย่างไรก็ตาม เยอรมนีไม่บรรลุเป้าในการรบทางยุทธศาสตร์ในช่วงโจมตีสหภาพโซเวียต ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นทิ้งระเบิดโจมตีฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เข้าสู่ช่วงพลิกโฉม

ระหว่าง ค.ศ. 1942-1943 ฝ่ายอักษะที่มีเยอรมนีเริ่มพ่ายแพ้การรบสำคัญ 3 แห่งคือ ยุทธการนาวีที่เกาะมิดเวย์ ยุทธการเอล อาลาเมน และยุทธการที่สตาลินกราด เมื่อเข้าสู่ค.ศ. 1943 กองทัพเรือเยอรมนีสูญเสียอย่างหนัก ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีเกาะซิซิลี มุสโสลินี ถูกพระเจ้าเอมมานูเอล วิกเตอร์ที่ 3 ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญปลดออกจากตำแหน่ง อิตาลีหย่าศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการในปีเดียวกัน ขณะเดียวกันกองทัพสัมพันธมิตรทะลวงผ่านแนวป้องกันเยอรมนีมาจนถึงแนวป้องกันหลัก

ฮิตเลอร์ขณะอ่านหนังสือที่โต๊ะ ภาพถ่ายเมื่อตอนต้นศตวรรษ 1920

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกในปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด รุกคืบเข้าไปในยุโรป และปลดปล่อยปารีสจากกองทัพเยอรมันได้ในเดือนสิงหาคม กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรผลักดันกองทัพเยอรมันในยุโรปตะวันตกถอยร่นไปจนถึงแม่น้ำไรน์ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะที่จะปะทุขึ้นภายในเยอรมนี

ก่อนที่จะกล่าวถึงหายนะของฮิตเลอร์ ควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทการบริหารงานภายในของเยอรมนีกันด้วย ตัวอย่างความยุ่งเหยิงในการโครงสร้างการเมืองและการบริหารภายในเยอรมนีมาจากคำให้การของฟอน ริบเบนทรอพ จารชนที่ฮิตเลอร์ไว้ใจที่สุดอีกราย และเคยเป็นเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรีต่างประเทศ เขาให้การในศาลอาชญากรสงครามที่เมืองนูเรมเบิร์ก ว่า งานสืบราชการลับของนาซีไม่ได้อยู่ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ แต่อยู่ใต้การจัดการของหน่วยงาน 30 หน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยก็แข่งขันกันเอง

สภาพข้างต้นย่อมสะท้อนภาพตัวอย่างหนึ่งว่า การบริหารราชการไม่ได้มีฐานอันแข็งแกร่งแบบที่พวกเขาอวดอ้าง แต่กลับยุ่งเหยิงสับสนจากสภาพอาณาจักรส่วนตัว กองทัพส่วนตัว และกองสืบราชการลับส่วนตัว ภายใต้การบริหารที่ไม่แน่นอน ทุกคนก็หวาดกลัวอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงทางอันเกิดขึ้นตามอำเภอใจ หรือมาจากวาระแฝงอย่างการแก้แค้นกันเอง

การลอบสังหารเมื่อ 20 กรกฎาคม

เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี หลังจากนั้นไม่กี่เดือน จึงเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารฮิตเลอร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม (แต่ไม่สำเร็จ) ซึ่งแสดงให้เห็นอีกว่า กองทัพบกเยอรมัน คิดว่าสถานะพ่ายแพ้สงครามกำลังจะมาถึงจึงตัดสินใจแตกหักกับพรรคนาซี (เสนาธิการทหารบกเป็นฝ่ายที่ต่อต้านซึ่งฮิตเลอร์ หวังจะกำจัดแต่ทำไม่สำเร็จ ฮิตเลอร์ เคยชมเสนาธิการทหารเยอรมันว่า “ความยิ่งใหญ่ที่โลกไม่เคยพบมาก่อน” แต่เมื่อพวกเขาได้อำนาจแล้วกลับไม่ทำตามนโยบายของเขา และมีนโยบายของตัวเอง)

แต่ด้วยเหตุผลที่ไม่อาจอธิบายได้ชัดเจนทำให้แผนซ่อนระเบิดไว้ในกระเป๋าเอกสารและนำเข้าไปประชุมที่บ้านพักตากอากาศของฮิตเลอร์ ที่ราสเนบูร์ก ก็ล้มเหลว สิ่งที่พอจะกล่าวได้คือ ฮิตเลอร์ รอดมาได้เพราะโชคช่วย แต่ก็อยู่ในสภาพแก้วหูทะลุ แขนถลอก เครื่องแบบขาดกระจุย ส่วนคนรอบข้างเสียชีวิตหรือไม่ก็เจ็บปางตายไม่ต่ำกว่า 4 ราย

ฮิตเลอร์ รู้ว่าไม่สามารถไว้ใจกองทัพบกได้อีก จึงเลือกนายทหารกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ฮิตเลอร์ไว้ใจพวกนายพลไม่ได้อีก กลับกลายเป็นว่าไปอยู่กับพวกสอพลอ

ขณะที่บรรยากาศหลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบก เดือนสิงหาคม พ.ศ. 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรบุกผ่านเมืองอัฟวรองช์ในฝรั่งเศสเข้ามาได้ หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยข่าวร้ายอย่างการเสียที่มั่นใหญ่ๆ อย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงการรุกข้ามแม่น้ำสำคัญเข้ามา

5 เดือนสุดท้ายของฮิตเลอร์ จากเอกสารบันทึกคนสนิท

สภาพของฮิตเลอร์ นับตั้งแต่เกิดเหตุลอบสังหาร ฮิตเลอร์ เก็บตัวเงียบไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ แต่มีหลักฐานจากบันทึกของไฮนซ์ ลิงเงอ คนรับใช้ส่วนตัวของฮิตเลอร์ เอกสารนี้ถูกฮิวจ์ เทรเวอร์-โรเปอร์ นักเขียนหนังสือ “วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์” บรรยายว่า เป็นนายทหารอังกฤษเก็บบันทึกนี้ได้จากซากปรักหักพังของทำเนียบแห่งไรซ์ เมื่อ กันยายน ค.ศ. 1945

เอกสารนี้จดด้วยมือ บันทึกการนัดหมายประจำวันของฮิตเลอร์ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพชีวิตของผู้นำในช่วง 5 เดือนสุดท้ายระหว่าง ตุลาคม ค.ศ. 1944 ถึง เมษายน 1945 เอกสารระบุชื่อสถานที่ตั้งกองบัญชาการขณะนั้นจนถึง 20 พ.ย. คือโวล์ฟชันเซอ หรือ “ป้อมหมาป่า” ที่ราสเทนบูร์ก (สถานที่เกิดเหตุลอบสังหาร) และจากนั้นถึง 10 ธันวาคมคือที่เบอร์ลิน

จากวันที่ 11 ธันวาคมไปแล้วคือที่อัดเลอร์สโฮสต์ หรือ “รังอินทรี” ที่เมืองบาดเนาไฮม์ และช่วงสุดท้ายคือจาก 16 มกราคมเป็นต้นไปจนจบวาระ ฮิตเลอร์กลับมาอยู่ที่ทำเนียบแห่งไรช์ในเบอร์ลิน และเชื่อว่าไม่ได้ออกมาอีกเลย

บันทึกประจำวันนี้บรรยายไม่ยาวนัก แต่จะเห็นได้ว่ากำหนดการนัดหมายมากขึ้น ขณะที่สุขภาพของฮิตเลอร์ ทรุดลง โดยทุกวันจะมีกำหนดพบผู้คนยาวเหยียด อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ จะตื่นตอนเที่ยงวัน มักทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการออกไป และออกเดินเล่นในสวนสักครึ่งชั่วโมง งีบหลับตอนเย็น กำหนดการกิจกรรมมีไปต่อเนื่องจนถึงตี 2 ถึงตี 3 ครึ่งของวันใหม่ ถัดไปอีก 2 ชั่วโมงจะเป็นเวลาเลี้ยงน้ำชาในหมู่เพื่อน กระทั่งฟ้าสาง ฮิตเลอร์จึงหมดแรงและเข้านอน ด้วยกำหนดการแบบนี้เองทำให้คนอื่นก็ต้องอ่อนล้าไปตามกัน การปรึกษางานก็เลยมาถึงตีสามครึ่งของอีกวัน ยิ่งเมื่อเข้าช่วงท้ายของบันทึก ฮิตเลอร์ ลดเวลานอนของตัวเองเหลือวันละ 3 ชั่วโมง

ภาพเขียนของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน, AFP PHOTO / INP

อัลแบร์ต สเปียร์ รัฐมนตรีนาซีที่เชื่อว่าจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์ (แม้จะยอมรับว่าเคยคิดฆ่าฮิตเลอร์ เหมือนกับชาวเยอรมันแต่สุดท้ายก็ได้แต่ท้อแท้ผิดหวัง) และได้รับมอบหมายงานสำคัญหลายประการตั้งแต่วัย 36 ปี อาทิ ควบคุมการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อสร้าง-บำรุงการคมนาคม และปฏิรูปอุตสาหกรรม เล่าว่า เมื่อฮิตเลอร์ กลายเป็นผู้บัญชาการสงคราม แรงกดดันทำให้ฮิตเลอร์ ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีทางปลดปล่อยความเครียด ยิ่งเมื่อเริ่มเห็นแววแพ้สงครามก็ยิ่งหนักเข้า เขาไม่ไว้ใจใคร กลายเป็นโรคหวาดระแวงกลัวคนทรยศ ไม่มีใครกล้าพูดความจริงยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก

ผลที่ตามมาคือเขาไม่ค่อยออกจากกองบัญชาการใต้ดิน ใช้ชีวิตอยู่กับคนหน้าเดิม อาทิ หมอประจำตัว เลขานุการ และนายพลที่ยุส่งแต่ไม่มีความสามารถ ในช่วงสงครามเขาไม่เคยไปเยี่ยมเมืองที่ถูกทิ้งระเบิด สเปียร์ บอกว่า ในช่วงเดือนเมษายน 1945 ทุกคนที่พบฮิตเลอร์ ต่างบอกว่าเขาเหมือนซากเดินได้ และพูดกันว่าที่เป็นแบบนี้เพราะผลจากการลอบสังหารวันที่ 20 กรกฎาคม

ฮิตเลอร์ เคยเอ่ยว่า มีแต่อีวา เบราน์ กับเจ้าบลอนดี้ สุนัขอัลเซเชียนที่เลี้ยงไว้จะซื่อสัตย์ และเขาเอ่ยว่ามีเพื่อนเพียงคนเดียวที่จะอยู่เคียงข้างเขาจนถึงชั่วโมงสุดท้าย นั่นก็คืออีวา เบราน์ และก็เป็นจริงเช่นนั้น

อีวา เบราน์

อีวา เบราน์ รู้จักกับฮิตเลอร์ผ่านช่างภาพฮอฟมันน์ รูปร่างภายนอกก็ไม่ถึงกับสวย แต่จัดว่าน่ารัก นิสัยสงบเสงี่ยม เอาอกเอาใจผู้อื่นเป็น ไม่ชอบก้าวก่ายใคร ไม่ยุ่งการเมือง คอยกันนักการเมืองไม่ให้เข้ามาในช่วงพักของฮิตเลอร์ อีวา แตกต่างจาก “คนรัก” ของเหล่าทรราชรายอื่นอย่างสิ้นเชิง เธอไม่ได้มีประวัติความเป็นมาซึ่งเต็มไปด้วยสีสัน

แต่หากมองลงไปลึกๆ และพิจารณาจากข้อมูลการบอกเล่าของคนสนิท เบื้องลึกแล้ว ฮิตเลอร์ เองก็ไม่ต่างจากชนชั้นกลางธรรมดาที่รักบ้านช่อง กินอยู่ธรรมดา อาหารของฮิตเลอร์ขณะเกิดสงครามก็เป็นอาหารธรรมดา อาหารกลางวันมีซุปหนึ่งชาม มันฝรั่ง และผัก อาหารเย็นก็อาจมีไข่มาบ้าง ตามด้วยผลไม้เขาเคยเปรยว่าอยากใช้เวลาในช่วงเกษียณโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทั้งคู่ใช้ชีวิตส่วนตัวแบบชนชั้นกลางร่วมกันได้

เวลาที่ผ่านมาเธอยังเป็นบริวารผู้ช่วยฮิตเลอร์เลือกซื้องานศิลปะมาประดับบ้านพักที่เทือกเขาอัลไพน์ ฮิตเลอร์ ให้เธออาศัยในบ้านพักหลังนี้มาตลอด กระทั่ง 2 ปีสุดท้ายที่ให้เธอมาที่เบอร์ลิน ในเรื่องความรักแล้ว เชื่อกันว่า ฮิตเลอร์ มั่นคงเสมอมา

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครทราบสถานะความสัมพันธ์ที่แท้จริงของทั้งคู่ แพทย์ของฮิตเลอร์อย่างดร.โมเรลล์ เล่าว่า ทั้งสองนอนคนละเตียง ขณะที่ฮิตเลอร์ บรรยายถึงอีวา ในพินัยกรรมโดยใช้คำว่า “…มิตรภาพอันมั่นคงมาตลอดเวลาหลายปี” และยังให้อีวา มีรายได้เป็นของตัวเองป้องกันเรื่องครหาเกี่ยวกับเงินทอง โดยรวมแล้วสถานะยังกำกวมมาตลอด ไม่เชิงเป็นภรรยาหรือเมียลับ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า การที่ฮิตเลอร์ แต่งงานกับเธอก่อนตายเป็นแค่เรื่องสัญลักษณ์ ไม่เช่นนั้นเธอก็ไม่สามารถหรือไม่มีสิทธิตายร่วมกับท่านผู้นำได้ เรื่องราวของทั้งคู่ถูกปิดอย่างเงียบเชียบนานหลายปีกระทั่งทั้งสองเสียชีวิต

10 วันสุดท้าย

เมื่อถึงวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1945 เป็นวันเกิดของฮิตเลอร์ แต่สถานการณ์กลับมีแต่ข่าวร้าย กองกำลังทั้งอเมริกัน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส รุกคืบเข้ามา กองทัพอังกฤษกระจายตัวในใจกลางอาณาจักไรช์ นายพลแพตตัน แห่งกองทัพสหรัฐฯ ก็มีกำลังบุกลงมาจากใต้ รุกผ่านบาวาเรียอันเป็นแหล่งกำเนิดการเคลื่อนไหวของนาซี ขณะที่ฮิตเลอร์ ตั้งกองบัญชาการที่ทำเนียบแห่งไรช์ ซึ่งตั้งใจว่าจะสร้างเพื่อเป็นเกียรติแก่ตัวเอง เอาไว้ใช้ขู่ขวัญเจ้าเมืองขึ้นทั้งหลาย แต่ฮิตเลอร์ กลับต้องมาหลบอยู่ในบังเกอร์ลึกลงไปใต้ดิน 50 ฟุต

ทำเนียบแห่งไรช์ ประดับตกแต่งอย่างหรูหรา แต่ละห้องใหญ่โต ใช้วัสดุก่อสร้างมีค่า แต่ฮิตเลอร์ ไม่มีโอกาสใช้อาคารนี้ หลังจากที่ถูกระเบิดพังและไฟไหม้เสียหาย ฮิตเลอร์ ไปอยู่ใน “บังเกอร์ของท่านผู้นำ” เป็นบังเกอร์ที่ขุดขึ้นระหว่างสงคราม

ทางเข้าอยู่ในทำเนียบ มีประตูเหล็กนิรภัย 3 บาน กันอากาศและน้ำได้ ตัวบังเกอร์แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมี 12 ห้อง แบ่งเป็นทางเดินตรงกลาง แต่ละฟากมี 6 ห้อง เป็นส่วนของคนรับใช้และห้องเก็บของ และห้องครัวอาหารมังสวิรัติของฮิตเลอร์ ทางเดินกลางเป็นที่กินอาหารของคนรับใช้ สุดทางเดินจะเป็นบันไดโค้งลงไปที่ส่วนที่ 2 ซึ่งลึกและใหญ่กว่าส่วนแรกไม่มากนัก

อุโมงค์ส่วนที่กล่าวข้างต้นคือ Führerbunker หรือบังเกอร์ของท่านผู้นำ อันเป็นจุดจบของชีวิตผู้นำนาซี

บังเกอร์ของท่านผู้นำ มี 18 ห้อง และมีทางเดินกลาง แต่ละห้องมีขนาดไม่ใหญ่นัก ยิ่งเมื่อมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้ามาเฝ้ายิ่งดูอึดอัด ทางเดินกลางของบังเกอร์มีฉากกั้นเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าเป็นห้องรับรองทั่วไป ห้องชุมสายโทรศัพท์ฉุกเฉินและห้องผลิตไฟฟ้า ทางเดินกลางใช้เป็นห้องประชุม ด้านซ้ายของทางเดินมีประตู 3 บาน บานหนึ่งเปิดที่พักส่วนตัวของฮิตเลอร์ และอีวา เบราน์ ซึ่งแบ่งย่อยอีกเป็น 6 ห้อง อีวา มีห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ และห้องแต่งตัว ขณะที่ฮิตเลอร์ มีห้องนอนและห้องทำงาน ที่เหลือเป็นห้องนั่งคอย

ห้องที่เหลือเป็นห้องแผนที่ ซึ่งใช้เป็นห้องประชุมเล็ก และซอกเล็กๆ ที่เรียกกันว่า “บังเกอร์หมา” เป็นที่พักองครักษ์ส่วนตัวของฮิตเลอร์ ต่อจากบังเกอร์หมาเป็นบันไดขึ้นหอสังเกตการณ์คอนกรีตบนพื้นดิน (หอยังสร้างไม่เสร็จ)

ใต้ทำเนียบไม่ได้มีแค่ “บังเกอร์ของท่านผู้นำ” เท่านั้น ยังมีอุโมงค์ใต้ดินอื่นๆ อีกในบริเวณหมู่อาคารที่ทำการรัฐบาล มีบังเกอร์ที่ทำการพรรค ไปจนถึงห้องใต้ดินกระทรวงโฆษาการที่โยเซฟ เกอเบิลส์ นักจิตวิทยามวลชนและแกนนำฝ่ายพลเรือนของพรรคนาซีอันเป็นมือซ้ายของฮิตเลอร์ และพรรคพวกใช้อาศัย

กิจวัตรในช่วงอยู่ในบังเกอร์ผู้นำนั้น ฮิตเลอร์จะประชุมกับนายทหารและข้าราชการที่ทางเดินกลาง ขณะที่ช่วงวันเกิด เมื่อวันที่ 20 เมษายน เหล่าเจ้าหน้าที่ก็มาอวยพรกันอย่างเป็นทางการ เสร็จพิธีก็มีการประชุม หลังประชุมแล้วเริ่มอพยพคนไปโอเบอร์ซัลซแบร์ก มีผู้บัญชาการระดับสูงหลายราย รวมถึงอัลแบร์ต สเปียร์

ก่อนหน้าที่จะมาอวยพรวันเกิด สเปียร์ เดินทางไปทั่วเพื่อสั่งเจ้าของโรงงาน และหัวหน้าคนงานที่ต่างๆ ซึ่งไว้ใจได้ให้อยู่เฉยๆ ปล่อยให้ข้าศึกผ่านมาแต่โดยดี เพื่อให้ฟื้นฟูหรือสร้างใหม่หลังเหตุการณ์จบลงแล้วต่างจากนโยบายทำลายล้างของพรรค แนวทางของสเปียร์ ถูกยืนยันโดยคาร์ล คอฟมันน์ ผู้นำพรรคแห่งเมืองฮัมบูร์ก

วันที่ 22 เมษายน มีการประชุมเสนาธิการ รายงานสถานการณ์ทั่วไป แต่ตอนนี้เองที่ฮิตเลอร์ โกรธเป็นพายุเมื่อรับทราบว่าปฏิบัติการชไตเนอร์ (ฮิตเลอร์สั่งทหารทุกกองในเบอร์ลินรวมกำลังตีโต้กลับเป็นครั้งสุดท้าย ให้อยู่ภายใต้บัญชาของนายพลชไตเนอร์แห่งหน่วยเอสเอส ฮิตเลอร์ เคยสั่งว่าถ้าพบว่ามีผู้บัญชาการคนไหนเก็บทหารของตัวเองไว้ จะต้องรับโทษประหารภายใน 5 ชั่วโมง และสั่งให้ทหารทุกคนเข้าร่วมรบ) แต่ปฏิบัติการนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ฮิตเลอร์ ได้รับข่าวร้ายเรื่องการบุกปลอมๆ ตามมาด้วยข่าวร้ายจริงๆ ว่า กองทัพรัสเซียบุกมาทางชานเมืองด้านเหนือ รถถังกองหน้าของรัสเซียมาถึงเมืองเบอร์ลินแล้ว

การประชุมครั้งนี้เองถูกจดจำในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของวาระสุดท้ายของฮิตเลอร์ คำบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แตกต่างกันออกไปทั้งจากปากของคนอยู่ในที่ประชุม และจากนายทหารถึงเลขานุการที่รอด้านนอกฉากกั้นซึ่งต้องมาถามเรื่องจากคนที่ออกมา การประชุมใช้เวลา 3 ชั่วโมง รายละเอียดของเหตุการณ์ออกมาไม่ค่อยปะติดปะต่อกัน แต่ผลสรุปหลักสอดคล้องกัน

“วันนั้นฮิตเลอร์ เดือดดาลถึงขีดสุด เขากรีดร้องว่าทุกคนทิ้งเขาไปหมด เขาด่ากองทัพบก ประณามคนทรยศทุกคน ฮิตเลอร์พล่ามเรื่องกบฏ เรื่องทำงานล้มเหลว เรื่องโกงกิน และโกหก เมื่อด่าจนหมดแรง เขาก็ประกาศว่าจุดจบมาถึงแล้ว ที่เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ฮิตเลอร์สิ้นหวัง ทุกสิ่งทุกอย่างจบลงแล้ว อาณาจักรไรช์ที่สามคือความล้มเหลว คนที่สร้างมันขึ้นมาก็ไม่เหลืออะไรต้องทำอีกแล้วนอกจากตาย ฮิตเลอร์คิดตกแล้ว เขาจะไม่ไปทางใต้ ใครอยากจะไปก็ไป แต่เขาจะอยู่ที่เบอร์ลิน จะรอพบจุดจบอยู่ที่นี่” ฮิวจ์ เทรเวอร์-โรเปอร์ ผู้เขียนหนังสือ “วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์” บรรยายบรรยากาศช่วงเวลานั้นโดยประมวลจากคำบรรยายของผู้ใกล้ชิดในบังเกอร์

นายทหารหลายรายพยายามคัดค้านและชี้ว่าไม่มีเหตุผลที่จะยอมแพ้ก่อน แต่ฮิตเลอร์ ไม่สนใจ และประกาศว่าจะไม่ทิ้งเบอร์ลิน เริ่มวางแผนทำลายเอกสาร เขาอนุญาตให้คนรอบข้างไปจากบังเกอร์ได้ทั้งหมด อย่างน้อยก็ยังเป็นการแสดงความเป็นผู้นำไว้อีกประการหนึ่ง

หลังจากระเบิดอารมณ์ไปแล้ว ช่วงอาหารเย็นเวลาประมาณสองทุ่ม ฮิตเลอร์สั่งคนนำอาหารมา และเหมือนกับว่าเริ่มใจเย็นลง จัดแจงให้จอมพลมีของกินระหว่างเดินทาง ลูกน้องของฮิตเลอร์ ส่วนใหญ่ทำตาม โดยมุ่งหน้าไปทางใต้ เหลือเพียงลูกน้องส่วนหนึ่งอย่างมาร์ติน บอร์มันน์ เลขานุการส่วนตัวของฮิตเลอร์, ครอบครัวของเกอเบิลส์, องครักษ์จากกองทัพและจากหน่วยเอสเอส, อีวา เบราน์ และเลขานุการสองคนของฮิตเลอร์

วันที่ 23 เมษายน สเปียร์ เข้ามาพบฮิตเลอร์ เป็นครั้งสุดท้ายและสารภาพว่าไม่ได้ทำตามคำสั่งที่ให้ทำลายทุกอย่างในเยอรมนี ฮิตเลอร์ ไม่ได้แสดงอาการฉุนเฉียว แต่กลับฟังอย่างเงียบงัน ไม่ได้สั่งจับ หรือยิงเป้าสเปียร์ ตามที่เขาหวาดหวั่นแต่อย่างใด

ตั้งแต่วันที่ 23 ไปจนถึงวันที่ 26 เมษายน ฮิตเลอร์ ได้รับข่าวร้ายอย่างต่อเนื่อง ทั้งโทรเลขของเฮอร์มัน เกอริง ที่ไปถึงตอนใต้อย่างปลอดภัย ขออนุญาตเป็นผู้นำอาณาจักรไรช์ต่อ (เกอริงถูกจับกุมในภายหลัง) มาจนถึงวันที่ 26 ที่โดนปืนใหญ่กองทัพโซเวียตยิงโจมตีตึกบัญชาการเหนือบังเกอร์ของฮิตเลอร์

คืนวันที่ 26 เมษายน ฮิตเลอร์ เรียกตัวฮันนา ไรตช์ นักบินทดสอบหญิงที่อยู่ในบังเกอร์ระหว่าง 26-29 เมษายนเข้าไปพบ และแจ้งว่าสถานการณ์เหมือนจะสิ้นหวัง หากรัสเซียยึดเมืองได้ ฮิตเลอร์ กับอีวา เบราน์ จะฆ่าตัวตาย และร่างของเขาจะถูกเผา ฮิตเลอร์ ยังมอบขวดยาพิษให้ฮันนา ไว้และอีกขวดให้ริตเทอร์ ฟอน ไกรม์ นายพลประจำกองทัพอากาศซึ่งฮันนา ร่วมทางมาด้วย

วันที่ 27 เมษายน โซเวียตยังทิ้งระเบิดลงตึกกองบัญชาการอย่างหนักหน่วง หลายลูกโดนตึกอย่างจัง วันต่อมาคือวันที่พบฟางเส้นสุดท้ายเมื่อไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส พยายามเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรและจะให้กองทัพเยอรมันยอมแพ้

ฮันนา เล่าว่า คืนนั้นฮิตเลอร์ เรียกเหล่าข้าราชบริพาร (หมายถึง “บริวาร” แต่ในมุมมองของฮิวจ์ เทรเวอร์ ผู้ศึกษาเรื่องฮิตเลอร์ เปรียบเทียบการรวมตัวของผู้นำนาซีว่าเหมือน “ราชสำนัก” ที่มีอำนาจปกครองแท้จริงน้อย ต่างจาก “รัฐบาล”) มาประชุมลับว่าจะตายอย่างไร ทุกคนซ้อมแผนฆ่าตัวตาย

แต่เมื่อมีข่าวเรื่องฮิมม์เลอร์ เจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรมาบอก พยานหลายคนเล่าเหตุการณ์อาการของฮิตเลอร์ แตกต่างกันไป บ้างก็ว่า “ฮิตเลอร์โกรธจัดเหมือนคนบ้า” แต่ที่เหมือนกันคือ ฮิตเลอร์ แค้นใจจนหน้าซีด เพราะผู้ที่เขาคิดว่าซื่อสัตย์ทรยศเขาแล้ว หลังจากนั้นฮิตเลอร์ ออกมาพร้อมกับบอร์มันน์ และเกอเบิลส์ ปิดประตูประชุมลับกัน เรื่องราวในการประชุมไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่หลังจากนั้นบรรยากาศในบังเกอร์ก็เข้าถึงช่วงสุดท้ายแห่งการลงมือจัดการตัวเองแล้ว

พินัยกรรมและวาระสุดท้าย

วันที่ 28 เมษายน ฮิตเลอร์ เขียนพินัยกรรมของตัวเอง และเขียนคำสั่งเสียทางการเมืองแบ่งเป็นสองส่วน พินัยกรรมทางการเมืองนี้เป็นโฆษณาชิ้นสุดท้ายของนาซี ข้อความในนั้นมีเนื้อหาโอ้อวดเรื่องการใช้กำลัง ลัทธิทหารของการปฏิวัติทำลายล้าง และแก้ตัวว่าบริสุทธิ์ โยนความผิดให้ฝ่ายอื่น อาทิ ยิว

พินัยกรรมส่วนตัวของฮิตเลอร์ เขียนอย่างสั้น ไม่ได้เหมือนกับคำสั่งเสียของนักการเมือง แต่เป็นคำสั่งเสียของชนชั้นกลาง พูดถึงอีวา เบราน์ ยกทรัพย์สมบัติที่ยังพอมีค่าและหลงเหลืออยู่ให้พรรค หากพรรคไม่เหลือแล้วก็ยกให้รัฐ ให้ภาพที่สะสมไว้จัดแสดงในหอภาพในบ้านเกิดที่เมืองลินซ์ ริมแม่น้ำคานูบ แต่งตั้งมาร์ติน บอร์มันน์ เป็นผู้จัดการมรดก และรับอำนาจตัดสินใจ (บอร์มัน ถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อค.ศ. 1946)

ก่อนเที่ยงคืนในวันนั้นก็ได้แต่งงานกับอีวา จัดพิธีแบบพลเรือนสั้นๆ และฉลองงานแต่งงานในห้องของเขาเอง

บ่ายของวันที่ 28 เมษายน กองทัพโซเวียตรุกประชิดบังเกอร์แค่ไม่ถึงไมล์ คนในบังเกอร์ก็ทราบข่าวเรื่องมุสโสลินี อาชญากรโลกที่ว่าเป็นคู่หูของฮิตเลอร์ และนำลัทธิฟาสซิสต์เข้ามาถูกจับและยิงเป้า ศพถูกแขวนห้อยหัวกลางตลาดเมืองมิลาน ในอิตาลี ฮิตเลอร์ เริ่มทดลองยาพิษกับสุนัขตัวโปรดชื่อบลอนดี้ และมอบยาพิษให้เลขานุการหญิง พร้อมขอโทษว่าไม่สามารถให้ของขวัญการจากกันที่ดีกว่านี้ได้

เช้ามืดของวันที่ 30 เมษายน ฮิตเลอร์ ออกจากห้องมากล่าวอำลาลูกน้อง และจับมือกันด้วยคราบน้ำตาภายใต้บรรยากาศเงียบงัน (บางรายบอกว่าสายตาเหมือนคนติดยา แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน) ช่วงเที่ยงวัน ฮิตเลอร์ประชุมสถานการณ์ประจำวันเป็นครั้งสุดท้าย และทราบว่าโซเวียตห่างจากบังเกอร์แค่หนึ่งช่วงตึกเท่านั้น

ฮิตเลอร์ รับประทานอาหารกลางวันครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณบ่ายสอง โดยเมนูอาหารยังเป็นมังสวิรัติ ฮิตเลอร์และอีวา กล่าวคำอำลากับบอร์มันน์, เกอเบิลส์ และองครักษ์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเข้าห้องส่วนตัวไปแบบเงียบๆ คนอื่นยืนรอที่ทางเดิน

หลังจากนั้นมีเสียงปืนดังหนึ่งนัด ทั้งหมดรอสักครู่จึงเข้าไปในห้อง พบร่างฮิตเลอร์ นอนบนเก้าอี้โซฟาชุ่มเลือด ฮิตเลอร์ยิงกรอกปากตัวเอง ส่วนอีวา อยู่บนโซฟาและเสียชีวิตแล้วเช่นกัน มีปืนรีโวลเวอร์อยู่ข้างกาย แต่เธอไม่ได้ใช้ กลับเป็นเสียชีวิตจากการกลืนยาพิษ

หน่วยเอสเอสสองนายเข้ามาห่อศพฮิตเลอร์ด้วยผ้าเพื่อซ่อนรอยเลือดขนออกไปทางเดินกลาง และมาเผาที่ตึกบัญชาการ แต่ข้อมูลบางแห่งบอกว่าหลังจากราดน้ำมันบนศพทั้งสองแล้ว พอดีมีกระสุนปืนใหญ่ของรัสเซียตกเข้ามา คนร่วมพิธีเลยต้องหลบใต้หลังคาซุ้มประตู ผู้อยู่ในเหตุการณ์จุ่มเศษผ้าในน้ำมันจุดไฟและโยนไปที่ศพ

แม้มีข้อมูลจากการบันทึกหลายแหล่งเกี่ยวกับการเสียชีวิตของฮิตเลอร์ แต่เมื่อไม่มีใครได้พบศพของผู้นำนาซีจริงๆ จึงทำให้บางกลุ่มไม่เชื่อว่าฮิตเลอร์ เสียชีวิต และสันนิษฐานหรือเกิดทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานา บ้างก็ว่า เขากินยาพิษฆ่าตัวตาย บางกระแสก็ว่าเขาปลอมตัวและหลบหนีไปตลอดชีวิต

บุคคลที่เหลือบางรายร่วมกันวางแผนหลบหนีจากกรุงเบอร์ลิน นายทหารคนสำคัญอย่างเกอเบิลส์ และภรรยาวางยาพิษลูกทั้งหกคนจนเสียชีวิต และขอให้หน่วยเอสเอสยิงที่ท้ายทอย จากนั้นจึงทำการเผา แต่ยังเผาไหม้ไม่หมด ซากของทั้งคู่ถูกทหารโซเวียตพบเข้า หลังทหารโซเวียตเข้าถึงบังเกอร์ พวกเขาพบศพมากมาย แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าศพไหนเป็นร่างของฮิตเลอร์ ทำให้การสรุปข้อมูลเรื่องการเสียชีวิตของฮิตเลอร์ ยังคงคลุมเครือจนถึงวันนี้

วันที่ 7 พฤษภาคม จอมพลเรือ คาร์ล โดนิตซ์ ซึ่งฮิตเลอร์แต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งไรช์ และผู้บัญชาการสูงสุดทุกเหล่าทัพ ประกาศยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข ยุติสงครามในยุโรปที่ยาวนาน 6 ปี ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ฝั่งแปซิฟิกยุติลงเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปีเดียวกันหลังถูกสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ ถือเป็นการปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรวม

บทส่งท้าย : ปริศนาการตายของฮิตเลอร์ 

ในที่นี้จะเอ่ยถึงข้อสังเกตว่าด้วยการเสียชีวิตที่ถูกตั้งคำถามกัน ข้อมูลที่พบเกี่ยวกับการเผาศพนั้นมีพยานพบเห็นกันหลายราย อาทิ เอริช มันส์เฟลด์ ยามรักษาการณ์บังเกอร์ มันส์เฟลด์ ซึ่งเชื่อว่าให้การตรงกับข้อเท็จจริงที่สุดว่าศพถูกเผาเวลา 4 โมงเย็น และยังไหม้จนถึง 6 โมงครึ่ง ขณะที่การจัดการซากนั้นมีพูดถึงต่อว่า ช่วงดึกหลังการเผา รัตเทนฮูเบอร์ หัวหน้าตำรวจอารักขา เอ่ยกับนายทหารองครักษ์จากหน่วยเอสเอสว่า ให้ไปหาชีดเลอ ผู้บัญชาการหน่วยองครักษ์ เลือกคนที่ไว้ใจได้มาเตรียมฝังซากศพ

หลังจากนั้น มันส์เฟลด์ ที่กลับไปประจำการบนหอคอยในช่วงใกล้เที่ยงคืนก็สังเกตว่าหลุมระเบิดจากกระสุดปืนใหญ่ที่หน้าประตูทางออกฉุกเฉินเพิ่งถูกกลบใหม่ๆ และศพก็หายไป (คาดว่าถูกฝังตอนประมาณ 5 ทุ่ม)

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยว่า ลิงเงอ (อยู่ในพิธีอำลาครั้งสุดท้ายด้วย) บอกเลขานุการคนหนึ่งว่า ศพถูกเผาทำลายหมด “จนไม่มีเหลือ” ตามคำสั่งของฮิตเลอร์ แต่มีข้อสงสัยว่า การใช้น้ำมันประมาณ 180 ลิตร เผาศพช้าๆ บนพื้นทรายนั้น เนื้อหนังคงเผาเกรียมเป็นถ่านหมด เหลือแต่เศษซาก แต่กระดูกก็ยังทนความร้อน น่าจะเหลืออยู่บ้าง แต่ไม่มีใครพบเห็นกระดูกเลย

มีความเป็นไปได้ว่า อาจถูกทุบและปนไปกับกระดูกของศพอื่นที่ตายขณะป้องกันทำเนียบ แต่รัสเซียเคยขุดสวนดูบ้าง พบว่ามีศพมากมายฝังรวมกัน แต่การค้นหาของรัสเซีย ก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันเมื่อพิจารณาจากการพบสมุดบันทึกนัดหมายประจำวันของฮิตเลอร์ ที่ถูกวางไว้บนเก้าอี้ก็วางไว้อย่างนั้นนาน 5 เดือนก่อนจะมีผู้พบมัน

ขณะที่ปากคำของออตโท กึนเชอ อีกหนึ่งนายทหารคนสนิทของฮิตเลอร์ บอกอีกทางหนึ่งว่า เถ้ากระดูกถูกเก็บใส่กล่องและขนออกจากทำเนียบ

ข้อมูลเหล่านี้ไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยที่สุด คนทั่วไปพอทราบกันว่าฮิตเลอร์ บรรลุความปรารถนาครั้งสุดท้ายของเขา

อัปเดตข้อมูลเพิ่ม ณ 15 ก.พ. 2022 : ภายหลังยังมีกระแสข่าวที่สร้างความสับสนเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาพิสูจน์หลักฐานการตายของผู้นำนาซีเยอรมันอย่างหลากหลาย

หลักฐานหนึ่งที่ถูกอ้างอิงบ่อยคือการเปิดเผยข้อมูลที่อ้างว่าเป็นการศึกษาข้อมูลฟันของฮิตเลอร์ เทียบกับซากที่เหลืออยู่ซึ่งเป็นข้อมูลที่เก็บในหอจดหมายเหตุรัสเซีย (Russian State Archive) ผลการศึกษาเผยแพร่ในวารสาร European Journal of Internal Medicine เมื่อปี 2018 ว่าข้อมูล จากการศึกษาซากฟันที่กองทัพแดงจัดเก็บไว้มายาวนานหลายสิบปีพบว่า สอดคล้องกับประวัติฟันของฮิตเลอร์

นั่นทำให้คนส่วนใหญ่มองข้อมูลนี้ว่ายืนยันสันนิษฐานเรื่องฮิตเลอร์ เสียชีวิตในบังเกอร์ เมื่อปี 1945 แล้ว


อ้างอิง:

เทรเวอร์-โรเปอร์, ฮิวจ์. วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555

วีระชัย โชคมุกดา. อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กับสงครามโลกครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2560

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560

Jefferson Chase. “Hitler teeth test dispels myths of Nazi leader’s survival”. DW. Online. Published 20 MAY 2018. Access 15 FEB 2022. <https://www.dw.com/en/hitler-teeth-test-dispels-myths-of-nazi-leaders-survival/a-43861719>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2562