ผ่าปริศนาของ “วากเนอร์” คีตกวีดนตรีคลาสสิกที่ “ฮิตเลอร์” เทิดทูน นำไปใช้ในการเมืองนาซี

(ซ้าย) ริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวี นักประพันธ์เพลง (ขวา) อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

ในบรรดานักประพันธ์เพลงคลาสสิกที่ทั่วโลกยกย่องกันจนถึงวันนี้ ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) ติดอยู่ในรายชื่อเจ้าของผลงานซึ่งมีปมให้ถกเถียงมากที่สุดรายหนึ่ง ปมที่ว่าไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกังขาในศักยภาพการสร้างสรรค์เชิงดนตรี หากแต่เป็นเชิงแนวคิดของเขาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผลงานและแนวคิดของเขาได้รับการชื่นชมจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) และหยิบไปประยุกต์ใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อแนวคิดต่อต้านยิว

ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันคงจะหานักประพันธ์เพลงท่านใดที่มีแง่มุมชีวิตสองด้านสองฝั่งแบบริชาร์ด วากเนอร์ ได้ยากเสมอเหมือนอีก ด้านหนึ่งเป็นผู้สร้างผลงานคลาสสิกอันทรงอิทธิพลต่อคนยุคต่อมา แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานเชิงปรัชญาและแนวคิดของเขาก็ทำให้ผลงานเพลงของวากเนอร์ นักแต่งเพลงและเรียบเรียงเสียงประสานผู้ถือกำเนิดในไลป์ซิก (Leipzig) เมื่อ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1813 กลายเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสราเอล (แบบไม่เป็นทางการ) มาแล้วเช่นกัน

Advertisement

ผลงานการประพันธ์ที่เป็นอมตะของวากเนอร์ ดังเช่น Ride of the Valkyries และ Bridal March เมื่อทำนองดังขึ้นมา ผู้ฟังหลายท่านไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใดก็ตามน่าจะต้องร้องอ๋อกันได้เลย

แต่อีกด้านหนึ่งดังที่กล่าวแล้ว มลทินของวากเนอร์ที่ไม่มีวันลบเลือนได้ดังเช่นผลงานการประพันธ์ของเขาก็คือแนวคิดต่อต้านชาวยิวที่ปรากฏในผลงานหลายชิ้นของเขา และน่าเสียดายที่วากเนอร์ กลายมาเป็นบุคคลที่ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมันชื่นชม ฮิตเลอร์ใช้ผลงานและแนวคิดของเขาในกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการเหยียดชาวยิว

อันที่จริงแล้ว วากเนอร์ เป็นบุคคลมากความสามารถ เขาเกิดในเมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมืองไลป์ซิก ความสนใจในศิลปะด้านการละครของเขาอาจมาจากอิทธิพลของพ่อเลี้ยงของวากเนอร์ นามว่า Ludwig Geyer นักการละครและคนเขียนบทผู้เป็นเพื่อนของบิดาของเขา ภายหลังจากบิดาของวากเนอร์ เสียชีวิต วากเนอร์และมารดาอาศัยร่วมกับ Geyer ในช่วงเวลานั้น วากเนอร์ เล่าในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองชื่อ Mein Leben ว่าร่วมแสดงละครด้วย

ผลงานในช่วงแรกของเขาอาจไม่ประสบความสำเร็จนัก ผลงานอย่าง Das Liebesverbot (The Ban on Love) ที่เขียนขึ้นราวต้นปี 1836 ซึ่งอ้างอิงบทละครของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William shakespeare) อันเป็นบุคคลที่เขาชื่นชมผลงานอย่างมากและใช้เวลาศึกษาผลงานของกวีผู้นี้ เป็นผลงานที่น่าเสียดายเมื่อทำการแสดงไปได้รอบเดียวเท่านั้น ความล้มเหลวครั้งนี้เมื่อผนวกรวมเข้ากับปัญหาทางการเงินของบริษัทที่จ้างวากเนอร์ ทำให้เขามีปัญหาทางการเงินตามมาอีก แต่อย่าลืมว่าในช่วงเวลานั้นเขาประพันธ์ผลงานขึ้นขณะอายุราว 23 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วากเนอร์เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงเรื่องการเขียนอุปรากรอย่างมากจากผลงานที่ตามมาอย่าง Der fliegende Holländer (The Flying Dutchman, 1843), Tannhäuser (1845) และ Lohengrin (1850) ขณะที่ผลงานอุปรากรชุด Ring Cycles หรือ Der Ring des Nibelungen (The Ring of the Nibelung) ที่เขาเขียนขึ้นระหว่าง 1848-1874 อันประกอบไปด้วยอุปรากร 4 เรื่องย่อยคือ Das Rheingold (The Rhiengold) , Die Walküre (The Valkyrie), Siegfried (Siegfried) และ Götterdämmerung (Twilight of the Gods) เป็นอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นของเขาซึ่งมีโครงเนื้อหาอ้างอิงมาจากเทพปกรณัมเยอรมันอยู่บ้าง และส่วนหนึ่งมีโครงมาจากตำนานเทพนอร์ส (Norse)

อิทธิพลของวากเนอร์ ยังรวมไปถึงหลักการประพันธ์เพลงอย่างเรื่อง ไลท์โมทิฟ (leitmotif) หรือการใช้ทำนองแทนเหตุการณ์ หรือตัวละครในอุปรากร ซึ่งกลายมาเป็นหลักการประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ในยุคปัจจุบันด้วย

ถึงผลงานเพลงของเขาจะยอดเยี่ยมปานใด แต่สำหรับผู้ฟังที่รับทราบเรื่องแนวคิดและเส้นทางที่ฮิตเลอร์ ใช้ผลงานของเขาในกระบวนการทางการเมืองแล้ว หากเป็นผู้ที่มีเชื้อสายยิว อาจชะงักใจฉุกคิดว่าจะสะดวกใจรับฟังผลงานของวากเนอร์ ได้หรือไม่

งานเขียนของวากเนอร์ ที่ปรากฏแนวคิดเชิงลบต่อชาวยิวคือผลงาน Das Judentum in der Musik (Judaism in Music, 1850) ซึ่งวากเนอร์ บ่งชี้ถึงนักดนตรีชาวยิวว่ามีดนตรีที่ไร้แก่นสารและถูกประเมินคุณค่าผิดฝาผิดตัวในแง่เชิงศิลป์โดยรวม

ยังมีข้อถกเถียงว่า แนวคิดของวากเนอร์ อันเกี่ยวกับเชื้อชาติยิวถูกสะท้อนออกมาผ่านการเขียนงานเพลงด้วยหรือไม่ บางรายไม่เชื่ออย่างนั้น แต่บางสำนักก็เชื่อว่า งานเพลงของวากเนอร์ สะท้อนแนวคิดหยามเหยียดชาวยิวอยู่ ซึ่งในกรณีนี้หลังนี้เอง มันกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้วากเนอร์ เป็นหนึ่งในศิลปินคนโปรดที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เทิดทูน

วากเนอร์ เสียชีวิตในปี 1883 เวลานั้นฮิตเลอร์ ยังไม่ลืมตาดูโลกด้วยซ้ำ แต่อิทธิพลของวากเนอร์ ส่งผลต่อแนวคิดของฮิตเลอร์ ในเวลาต่อมา ดังที่ฮิตเลอร์ เล่าไว้ในหนังสือ Mein Kampf อัตชีวประวัติของผู้นำนาซีเยอรมันว่า เมื่ออายุได้ 12 ปี เขาได้ชมอุปรากร Lohengrin ฮิตเลอร์ บรรยายความรู้สึกว่า

“ชั่วขณะหนึ่ง ผมรู้สึกลุ่มหลงไปแล้ว ความสนใจในวัยหนุ่มของผมที่มีต่อผู้ยิ่งใหญ่แห่งไบรอยท์ (Bayreuth – เมืองที่วากเนอร์ อาศัยในช่วง 1871–1876 และมีจัดเทศกาลดนตรีซึ่งวากเนอร์ มีส่วนสำคัญในการริเริ่ม) ก็อยู่ในสภาพไร้ขอบเขต”

ฮิตเลอร์ เคยไปเยี่ยมชมไบรอยท์ หลายครั้งนับตั้งแต่ปี 1923 เป็นต้นไป เมืองไบรอยท์ แห่งนี้ก็เป็นที่รู้จักในสถานะฉากหน้าของวัฒนธรรมนาซี แต่ยังมีคำถามและข้อถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่า ผลงานประพันธ์ของวากเนอร์ ถูกพรรคนาซีไปใช้ดังก้องอยู่ในงานของฝ่ายนาซีด้วยหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

คำถามสำคัญกว่านั้นคือ แท้จริงแล้ว เป็นพวกนาซีที่ตีความผลงานของวากเนอร์ผิดไปเอง หรือจะเป็นฝ่ายนาซีที่นำผลงานของวากเนอร์ไปตีแผ่เนื้อแท้จริงๆ ออกมาสู่วงกว้างกันแน่

บางรายเชื่อว่า ดนตรี (เช่น คอร์ด หรือชุดของคอร์ดทางดนตรี) ไม่สามารถส่งสารถึงแนวคิดเหยียดชาวยิวได้ แต่ตัวบริบทของดนตรีมีแนวโน้มปรากฏลักษณะนั้นได้ สำหรับนักวิชาการอเมริกันเชื้อสายยิวอย่างมาร์ก ไวเนอร์ (Marc Weiner) เขาอ้างว่า จากการวิเคราะห์เชิงสัญญะที่ปรากฏในงานของวากเนอร์ อาทิ ตัวละครในชุด Ring Cycles ภายใต้บริบทภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดเชื้อชาติในยุคศตวรรษที่ 19 งานของวากเนอร์ มีร่องรอยว่าถูกสร้างมาจากผลผลิตของการเหยียดชาวยิวที่ถูกผลิตซ้ำในยุคของวากเนอร์

ในอีกด้าน ไวเนอร์ ก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงว่า แนวคิดเหยียดชาวยิวของวากเนอร์ นำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่ซับซ้อน รุ่มรวย เต็มไปด้วยตัวละครที่มีมิติ เช่นเดียวกับดนตรีนอกกรอบอันสวยงามของเขาซึ่งผู้ฟังบางรายอาจคิดว่าฟังดูหลอนชอบกล

ดูเหมือนว่าคำตอบของคำถามนี้ สำหรับนักวิชาการและผู้ที่ศึกษาข้อมูลย่อมไม่ใช่หาได้ง่ายดายอย่างแน่นอน ในมุมมองของคลีมอนซีย์ เบอร์ตัน ฮิลล์ (Clemency Burton-Hill) ผู้เขียนบทความ “Is Wagner’s Nazi stigma fair?” ในเว็บไซต์บีบีซี (BBC) มองว่า แม้วากเนอร์ จะเป็นมีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง ยกย่องชาวอารยัน และเหยียดชาวยิวอย่างรุนแรง แต่วากเนอร์ “ไม่ใช่นาซี” อย่างที่บางคนเข้าใจผิด เพราะวากเนอร์ เสียชีวิตก่อนฮิตเลอร์ ถือกำเนิดหลายปี

บทเพลงของวากเนอร์ อาจไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวยิว แต่ข้อเท็จจริงคือ นักดนตรีและวาทยากรชาวยิวจำนวนไม่น้อยก็เล่นและแสดงผลงานของวากเนอร์ ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1930s โดยวงดนตรีปาเลสไตน์ ฟิลฮาร์โมนิก (ปัจจุบันคืออิสราเอล ฟิลฮาร์โมนิก) แสดง Act 1 และ Act 3 ของชิ้นงาน Lohengrin และไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์วาทยากร ขณะเดียวกันนักดนตรีในวงก็ยินดีบรรเลงเพลง

Daniel Barenboim วาทยากรชาวยิวให้สัมภาษณ์กับคลีมอนซีย์ เบอร์ตัน ฮิลล์ ว่า ชาวยิวแบนงานเพลงของวากเนอร์ (แบบไม่เป็นทางการ) ใครที่นำผลงานของวากเนอร์ มาบรรเลงมักโดนกระแสสังคมโต้กลับอย่างรุนแรง ที่เป็นเช่นนี้ก็สืบเนื่องจากการมองฮิตเลอร์ ว่านำงานของวากเนอร์ ไปใช้ทั้งที่ใช้แบบปกติทั่วไป ใช้แบบผิดกาลเทศะ และใช้แบบละเมิดตัวผลงาน

ข้อถกเถียงเรื่องการบรรเพลงของวากเนอร์ โดยชาวยิวนี้ปรากฏขึ้นเมื่อปี 2013 ในวาระ 200 ปีชาตกาลของวากเนอร์ ซึ่งในขณะนั้น เมืองไลป์ซิก บ้านเกิดของวากเนอร์ ปรากฏงานเทศกาลดนตรีบรรเลงงานของวากเนอร์ และเปิดตัวอนุสาวรีย์วากเนอร์ ด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้น เหลนของวากเนอร์ ก็เขียนหนังสือที่มีเนื้อหาโจมตีริชาร์ด วากเนอร์ ว่า มีแนวคิดดูถูกชาวยิว เหยียดสตรีเพศ ขณะที่หลักฐานเช่นภาพถ่ายและจดหมายที่เขานำมาแสดงในหนังสือก็เป็นสิ่งที่พยายามบอกว่าตระกูลวากเนอร์ สนับสนุนนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

จนถึงทุกวันนี้ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์หลายรายยังมองว่า ผลงานของวากเนอร์ ไม่คู่ควรกับการให้อภัยจากชาวยิว แม้ว่าเวลาจะผ่านมานับร้อยปีแล้วก็ตาม แต่ใช่ว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ดนตรีของวากเนอร์ จะสามารถดังขึ้นในอิสราเอลได้โดยปราศจากความรู้สึกแสลงใจได้หรือไม่ คงขึ้นอยู่กับพวกเขาเอง และอาจจำเป็นต้องให้กาลเวลาช่วยตอบคำถามนั้นด้วย


อ้างอิง:

Clemency Burton-Hill. “Is Wagner’s Nazi stigma fair?”. BBC. Online. Published 21 OCT 2014. Access 18 AUG 2020. <https://www.bbc.com/culture/article/20130509-is-wagners-nazi-stigma-fair>

Deryck V. Cooke. “Richard Wagner”. Britannica. Online. Access 18 AUG 2020. <https://www.britannica.com/biography/Richard-Wagner-German-composer/Wagners-anti-Semitism>

“Can we forgive him?”. The Guardian. Online. Published 21 JUL 2000. Access 18 AUG 2020. <https://www.theguardian.com/friday_review/story/0,3605,345459,00.html>

https://en.wikipedia.org/wiki/Richard_Wagner


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2563