รถไฟ-ชาววัง-ไฮโซ ปัจจัยสำคัญสร้าง “หัวหิน” เป็นเมืองตากอากาศ

หัวหิน เมืองตากอากาศ จาก เส้น ทางรถไฟ นักท่องเที่ยว รุ่นบุกเบิก เรือฉลอม จ้าง ไปเที่ยว เกาะต่าง ๆ
หัวหิน กับนักท่องเที่ยวรุ่นบุกเบิก ในภาพมีเรือฉลอมจ้างไปเที่ยวเกาะต่างๆ (ภาพจาก หอสมุดกรมดำรงราชานุภาพ)

เมื่อเส้นทางรถไฟสายใต้ตัดมาถึงเมืองเพชรบุรี (ปี 2446) ได้มีการสำรวจเส้นทางต่อไปทางใต้ ในปี 2449 นายเฮนรี กิตตินส์ นายช่างชาวอังกฤษรายงานว่า พบชายหาดขาวสะอาดของ “หัวหิน” ต่อมาปี 2454 ทางรถไฟก็มาถึง ซึ่งเวลานั้นเป็นเส้นทางเดียวที่สามารถเดินทางมาหัวหินได้สะดวก

หัวหินกลายเป็น “เมืองตากอากาศ” ที่ใคร ๆ ก็อยากมาเช็กอิน

Advertisement
รถนอนรุ่นแรก บริการผู้โดยสารระยะไกลระหว่างกรุงเทพฯ-มลายู (ภาพจาก หอสมุดดำรงราชานุภาพ)

คนกรุงเทพฯ คนแรกที่บุกเบิกสร้าง “สถานพักตากอากาศ” ที่หัวหิน คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ทรงสร้างตำหนักหลังแรกของหัวหิน ที่ชายหาดด้านใต้ของบ้านแหลมหิน ให้ชื่อว่า “แสนสำราญสุขเวศน์” ภายหลังสร้างเพิ่มอีกหลัง จึงแยกนามตำหนักเป็นสำราญ และสุขเวศน์

มีแขกคนสำคัญที่ทรงมาประทับเป็นประจำ คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเจ้านายอื่นๆ

ไม่นาน หัวหินก็มีชื่อเสียงเป็นเมืองตากอากาศที่นิยมแพร่หลายของชนชั้นนำของไทย

สมเด็จพระพันปีหลวงรับสั่งให้สร้างพระตำหนักทางทิศเหนือของบังกะโลสุขเวศน์ เมื่อเสด็จมาประทับครั้งแรกนั้น มีถนนตัดจากสถานีรถไฟเลียบด้านข้างพระตำหนักทางทิศใต้ เพื่อรับส่งเสด็จฯ ปัจจุบันคือ ถนนดำเนินเกษม ติดกับพระตำหนักของสมเด็จพระพันปีหลวง เป็นพระตำหนักของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เรียกว่า “บ้านจักรพงษ์” (ปัจจุบันคือที่ตั้งโรงแรมฮิลตัน)

ถัดจากบ้านจักรพงษ์มาทางด้านเหนือ ก็มีตำหนักอีกหลายหลัง เช่น ตำหนักดิศกุล-สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำหนักเพลินสุข-พระองค์เจ้าหญิงอัพภันตรีปรีชา, ตำหนักของพระองค์เจ้าหญิงจุฑารัตนราชกุมารี ฯลฯ

ส่วนชายหาดทางทิศใต้ต่อจากบังกะโลสุขเวศน์ ก็มีตำหนักต่างๆ เช่น บ้านพลับป่า ก.-สมเด็จฯ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ, บ้านพลับป่า ข.-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ, บ้านกินนอน-พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล, บ้านสมประสงค์-หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร ที่กล่าวมานั้นยังไม่ได้นับบ้านของข้าราชการ และคหบดี อีกหลายหลัง

ในการเสด็จมาพักผ่อนที่หัวหินแต่ละครั้ง เจ้านายจากกรุงเทพฯ จะมากันเป็นขบวนใหญ่ เช่น ครั้งที่สมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จมาหัวหิน และประทับแรมที่พระตำหนักใหญ่ มีเจ้านายฝ่ายในตามเสด็จจำนวนมาก เช่น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์, พระองค์เจ้าหญิงพวงสร้อยสอางค์, พระองค์เจ้าหญิงอาทรทิพยนิภา ฯลฯ ยังไม่รวมถึงพนักงานข้าหลวงประจำพระองค์ ที่ต้องตามเสด็จอีกหลายสิบคน แบบที่เรียกว่า “ยกวัง”

นั่นทำให้หัวหินคึกคักและมีสีสัน จนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางของชนชั้นสูงในไทย

เมื่อมี “ชาววัง” มาเยือน เมืองหัวหินที่เคยเงียบเหงา ก็เจริญเติบโตมีชื่อเสียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังไปทั่วประเทศ ที่หลายๆ คนหวังจะมาเยือนสักครั้งในชีวิต

เมื่อกรมรถไฟหลวงสร้างทางเพิ่มต่อจากหัวหินลงไปทางใต้ และเปิดเดินรถในวันที่ 1 มกราคม ปี 2456 ความเจริญของหัวหินก็ขยายตัวตามจนถึง “เขาเต่า” อันเป็นสุดเขตของหัวหิน ความเจริญยังขยายจากบริเวณชายหาดเข้าสู่ตัวเมืองในปี 2460 จากการสร้างถนน และห้องแถวไม้สองฝั่งถนนที่กรมรถไฟปลูกให้เช่า

ต่อมา ทางรถไฟสายใต้ขยายเส้นทางเชื่อมต่อมลายู สิงคโปร์ ปีนัง เริ่มปี 2464 ทำให้ชาวไทยและต่างชาติเดินทางไปมาได้สะดวกกว่าเดิมที่ใช้เรือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาหัวหินก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก เส้นทางรถไฟระยะยาวจำเป็นต้องมีการหยุดพักระหว่างทาง แม้จะมีบริการตู้นอนโดยไม่ต้องหยุดพัก แต่รถไฟบางขบวนก็ต้องหยุดพักในเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากสัตว์ป่าที่มาขวางเส้นทางเดินรถและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ยุคแรกของโฮเต็ลหัวหิน (ภาพจาก หอสมุดดำรงราชานุภาพ)

หัวหิน ที่อยู่กึ่งกลางเส้นทางกรุงเทพฯ-มลายู จึงเป็นจุดแวะพักยอดนิยม

ปี 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้กรมรถไฟหลวงจัดสร้างโรงแรมที่พักขึ้น ชื่อ “โฮเต็ลหัวหิน” ตั้งอยู่ระหว่างพระตำหนักของสมเด็จพระพันปีหลวง และตำหนักสุขเวศน์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ โดยกำหนดให้เป็นโรงแรมตากอากาศ (Resort Hotel) ระดับสี่ดาว มาตรฐานยุโรป ค่าห้องพักประมาณคืนละ 20 บาท ซึ่งนับว่าสูงทีเดียว (เวลานั้นเงินเดือนทหารยศร้อยตรี คือ 60 บาท)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ปรามินทร์ เครือทอง, หัวหิน, สำนักพิมพ์มติชน, ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564