ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
นักท่องเที่ยวคนแรกของ “หัวหิน” คือคณะของเจ้าชายวิลเลียมแห่งสวีเดนและสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ในการเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พ.ศ. 2454 เมื่อเจ้าชายวิลเลียมในฐานะราชอาคันตุกะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2454)
เมื่อเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว เจ้าชายวิลเลียม และแกรนดัชเชสมารีพระชายา ไม่ได้เสด็จกลับประเทศทันที แต่ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้พร้อมด้วยพระสหายคือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และหม่อมคัทริน พระชายา คณะของเจ้าชายวิลเลียมเสด็จหัวหิน โดยรถไฟจากชะอำไปหัวหินที่เพิ่งเปิดเดินรถครั้งแรกได้ประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น คือในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454
หัวหินเมื่อ 100 กว่าปีนั้นเป็นอย่างไร เจ้าฟ้าวิลเลียมและพระชายาทรงประทับใจหัวหินมากน้อยเพียงใด ปรามินทร์ เครือทอง ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ หัวหิน (สนพ.มติชน, ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์) เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้
เจ้าชายวิลเลียม (Prince William) แห่งสวีเดน บรรยายความงดงามของหัวหินเมื่อแรกพบไว้อย่างอัศจรรย์ในหนังสือชื่อ In the Land of Sun พิมพ์ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2458 ว่า
“หัวหินคือชื่อของสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่บนกอไผ่โค้งงอ ข้างทางเต็มไปด้วยขบวนคาราวานของชาวสยามที่นำทั้งม้าพร้อมอาน และควายเทียมเกวียนอันงดงามมารอคอยต้อนรับพวกเราอยู่ และในไม่ช้าขบวนนี้ก็นำเราโดยสารไปบนผืนทรายเพื่อไปยังชายหาดอย่างลำบากยากเข็ญนำเราไปสู่ชายหาดอันงดงามด้วยทรายสีขาวละเอียดยิบที่เหยียดยาว ไปสู่น้ำทะเลที่ใสราวผลึกแก้ว ลมทะเลอันสดชื่นพัดโชยมาขจัดปัดเป่าความร้อน ทำให้เราสดชื่นขึ้น หลังจากการเดินทางอันยาวนานและเต็มไปด้วยฝุ่นจากการเดินทางโดยรถไฟ”
ส่วนแกรนดัชเชสมารี (Grand Duchess Marie) แห่งรัสเซีย พระชายาเจ้าชายวิลเลียม เขียนหนังสือไว้ 2 เล่ม เล่มหนึ่งคือ L’Education d’une Princess หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Education of a Princess a Memoir by Marie Grand Duchess of Russia พิมพ์ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2473 กล่าวถึงการเดินทางไปหัวหินในคราวเดียวกับเจ้าชายวิลเลียมพระสวามีว่า
“บนชายฝั่ง มีเต้นท์ขนาดใหญ่กางรอเราหลายหลัง ตกแต่งด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่างเท่าที่จะพึงมีได้ เราพักกันที่นี่อยู่หลายวัน ลงเล่นน้ำในทะเลที่ใสบริสุทธิ์ให้ความสดชื่นกันทุกวัน ในขณะที่พวกผู้ชายต่างพากันออกป่าล่าสัตว์”
สิ่งที่น่าสนใจในคำบรรยายเหล่านี้คือ หัวหินที่เจ้าชายวิลเลียมและแกรนดัชเชสมารีทรงบรรยายไว้ในหนังสือทั้ง 2 เล่ม คือหลักฐาน “คำให้การ” ที่อาจจะเก่าที่สุดในการบรรยายภาพชายหาดหัวหินยุคบุกเบิกอย่างแท้จริง ในช่วงเวลาที่หัวหินยัง “บริสุทธิ์” ปราศจากสิ่งก่อสร้าง บ้านพักตากอากาศ หรือตำหนักใดๆ…
วันที่คณะของเจ้าชายวิลเลียมเสด็จมาหัวหิน การเสด็จประพาสของเจ้านายยังไม่คึกคักเหมือนในเวลาต่อมา ยังไม่มีการสร้างตำหนักพักแรมใดๆ การเสด็จไปครั้งนั้นจึงต้องประทับค้างในเต็นท์ที่จัดถวาย
“ห่างจากลูกคลื่นที่กําลังซัดสาดแตกซ่านประมาณ 10 หลา มีแคมป์เล็กๆ ตั้งกระโจมอยู่ เต็นท์แต่ละหลังมีขนาดใหญ่และงดงาม ณ ที่นี้ก็ใช้กฎเกณฑ์เดียวกันนั่นก็คือ ทุกคนล้วนมีเต็นท์เป็นของตนเอง แต่น่าสังเกตตรงที่ว่าเมื่อสองวันก่อนที่พวกเราจะเดินทางมาถึงนั้น บริเวณนี้ยังเป็นที่เปลี่ยวปกคลุมด้วยสุมทุมพุ่มไม้ ไม่เคยปรากฏสิ่งอันเป็นความทันสมัยใดๆ ที่จับต้องได้มาก่อน แต่แล้วที่นี่ก็ได้มีการลงมือลงแรงสร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ ก็เชื่อแน่ว่าต้องใช้เวลาสร้างไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์เป็นแน่”
ภาพของหัวหินยุคบุกเบิกตามคำบรรยายของเจ้าชายวิลเลียมและแกรนดัชเชสมารี แสดงถึงความบริสุทธิ์ งดงาม และน่าหลงใหล แก่สายตาของผู้พบเห็น นับตั้งแต่วันแรกๆ ที่ชายหาดแห่งนี้ต้อนรับผู้มาเยือนกลุ่มแรกจากแดนไกล
ตั้งแต่วันนั้น หัวหินก็เริ่มเปลี่ยนแปลงจากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จักและจดจำได้ กลายมาเป็น “ริเวียร่าแห่งตะวันออก” ในชั่วข้ามคืน
อ่านเพิ่มเติม :
- รถไฟ-ชาววัง-ไฮโซ ปัจจัยสำคัญสร้าง “หัวหิน” เป็นเมืองตากอากาศ
- “หัวหิน” เมื่อชนชั้นสูงฮิต ทำไม ร. 6 ทรงไม่เสด็จฯ ทรงพอพระราชหฤทัย “หาดเจ้าสำราญ”
- ต้นเค้าแห่งนาม “วังไกลกังวล” ที่พักผ่อนสำราญพระราชอิริยาบถ ณ ชายทะเลหัวหิน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2564