ต้นเค้าแห่งนาม “วังไกลกังวล” ที่พักผ่อนสำราญพระราชอิริยาบถ ณ ชายทะเลหัวหิน

พระตำหนักเปี่ยมสุข หรือพระตำหนักใหญ่ วังไกลกังวล (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, อ้างใน แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ. "จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7". พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์มติชน, 2548)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพอพระราชหฤทัยในสถานที่ที่จะก่อสร้างวังแห่งใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้เริ่มต้นการก่อสร้างแล้ว แต่ก็ยังมิได้พระราชทานนามวังแห่งใหม่นี้ ดังจะเห็นได้จากหนังสือกราบบังคมทูลของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2470 ทูลขอตราและนามพระราชวังเพื่อสั่งซื้อสิ่งของเครื่องใช้ มีพระราชกระแสว่า “เวลานี้ยังนึกไม่ออก” [1]

นาม สวนไกลกังวล ปรากฏใน “จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน รัชกาลที่ 7” เป็นครั้งแรก ดังข้อความว่า “3 กันยายน 2470 เสด็จฯ หัวหิน พักที่ตำหนักแสนสำราญ เสด็จทอดพระเนตรการก่อสร้างสวนไกลกังวล” แสดงว่านาม “สวนไกลกังวล” ได้รับพระราชทานมาในช่วงเวลาระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน พ.ศ. 2470 ก่อนพิธีก่อพระฤกษ์รากพระตำหนักใหญ่ ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 21 กันยายน ปีเดียวกันนั้น

ไกลกังวล เป็นนามที่สื่อความหมายในตัวเองอย่างลึกซึ้ง และมีสัมผัสกล้ำสละสลวยงดงาม หม่อมเจ้าการวิกเล่าว่า “ทรงได้ชื่อมาจากเยอรมัน กษัตริย์เยอรมันให้ซื้อที่ดินแห่งหนึ่งว่า SANS SOUCI ‘ซองซูซี’ เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า Without Care ไม่มีกังวล พระเจ้าอยู่หัวทรงคิดจะไปสบายที่ไกลกังวล แต่ท่านกลับต้องไปปวดพระเศียรเวียนเกล้ากับที่นี่มาก เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง”

รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ณ วังไกลกังวล (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, อ้างใน แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ. “จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7”. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์มติชน, 2548)

คำบอกเล่าต่อไปสะท้อนว่าทรงทอดอาลัยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังที่ตั้งชื่อพระตำหนักที่ประทับในประเทศอังกฤษ “เมื่อทรงสละราชสมบัติแล้ว พระราชทานชื่อพระตำหนักที่อังกฤษว่า Glen Pammant ในภาษาอังกฤษไม่มีความหมายอะไร แต่ความหมายที่ลึกซึ่งอยู่ที่การกลับตัวอักษรเสียใหม่เป็น Tam Pleng Man ‘ตามเพลงมัน’ ”

พระราชวังซองซูซีอยู่ในเมืองป๊อดสดัม (Potsdam) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของนครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี สร้างใน พ.ศ. 2288 โดยพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 หรือเฟรเดอริคมหาราช กษัตริย์ปรัสเซีย ผู้สืบทอดราชวงศ์โฮเฮนโซลเลิร์น (Hohenzollerns) ทรงเป็นทั้งนักรบและนักปราชญ์ โปรดปรานดนตรี ศิลปะ และวรรณกรรม ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2283-2329 หรือตอนปลายสมัยอยุธยาต่อเนื่องถึงสมัยธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ ทรงสร้างพระราชวังซองซูซีขนาดเล็กชั้นเดียวเพียง 12 ห้อง เพื่อเป็นพระราชวังฤดูร้อน ท่ามกลางอุทยาน ซองซูซีที่มีพื้นที่ถึง 1,750 ไร่

พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชผูกพันกับพระราชวังนี้อย่างลึกซึ้งและประทับอยู่จนสวรรคต “The king clearly loved this palace, as his final wishes were that he should be buried here, near the tomb of his Italian greyhounds. He was actually interred in the Garnisonkirche, Potsdam, but his final wishes were carried out in 1991…” [2]

ในปัจจุบัน พระราชวังซองซูซี่ได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ ตั้งอยู่เหนือระเบียงลานองุ่นที่ลดหลั่นงดงาม ป๊อดสดัมและเบอร์ลินเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ควบคู่กันมายาวนาน

พระราชวังซองซูซี ประเทศเยอรมนี

หนังสือ “ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้า” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวไว้ว่า ณ เมืองป๊อดสดัมแห่งนี้ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เคยเสด็จมาประทับระหว่างมกราคม พ.ศ. 2450 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2452 ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ [3] เพื่อเตรียมเข้ารับการศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมนี

โดยเข้าศึกษาเตรียมการเบื้องต้นที่โรงเรียนคะเด๊ตป๊อดสดัม และประทับที่บ้านนายร้อยเอก เอ๊ก ซึ่งจักรพรรดิวิลเฮล์มแห่งเยอรมนีจัดมาเป็นพระอภิบาล ทรงส่งไปรษณียบัตรภาพพระราชวังซองซูซี ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ไปยังสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระอนุชาต่างพระมารดา ซึ่งประทับอยู่ที่เวสต์เบอร์รี่ ประเทศอังกฤษ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนอีตัน ประเทศอังกฤษ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับกับพระเชษฐาที่สถานทูตเบอร์ลิน ในช่วงโรงเรียนหยุดคริสต์มาส-ปีใหม่ พ.ศ. 2451 ในครั้งนั้นทรงต่อรูปจำลองอาคารต่าง ๆ ด้วยกัน ดังลายพระหัตถ์ในไปรษณียบัตรที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ส่งจากป๊อดสดัมไปยังโรงเรียนอีตัน สืบทอดความเรื่องนี้

23 มกราคม พ.ศ. 2451 ข้อความตอนหนึ่งว่า “วังทำใหม่ ดีมาก ง่ายดี คิดถึง มหิดล”

26 มกราคม พ.ศ. 2451 ข้อความตอนหนึ่งว่า “วังใหม่สำเร็จแล้ว จะทำวัง Hohenzollern อีกอันหนึ่ง แต่ยากมาก” [4]

ภายในพระตำหนักเปี่ยมสุข หรือพระตำหนักใหญ่ วังไกลกังวล (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, อ้างใน แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ. “จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7”. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์มติชน, 2548)

โดยที่ในแถบนี้มีพระราชวังอีกหลายแห่งของราชวงศ์ Hohenzollerns อาทิ พระราชวังชาลอตเตนเบอร์ก และพระราชวังใหม่ จึงไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทรงหมายถึงพระราชวังซองซูซี หรือพระราชวังแห่งใด

น่าจะมีความเป็นไปได้ที่ต้นเค้าแห่งนามไกลกังวล จะมาจากความหมายของพระราชวังซองซูซีแห่งนี้ แต่เป็นแรงบันดาลพระทัยในเชิงนามธรรม มิใช่รูปธรรม เห็นได้ว่ารูปลักษณ์สถาปัตยกรรมหลักมิได้มีความละม้ายกันแต่อย่างใด การค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุ ไม่พบว่าหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ สถาปนิกที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส มีบทบาทในการกราบบังคมทูลเสนอเรื่องนี้แต่อย่างใด


อ้างอิง :

[1] หจช. (4) ศธ.2.1.2.1.1/1 เรื่องการกะการสร้างวังใหม่ที่ตำบลหัวหินและสร้างสถานที่เพิ่มเติม, พ.ศ. 2469-2470.

[2] Dorling Kindersley Travel Guide, Printed in Italy, BERLIN, (ม.ท.) หน้า 192.

[3] พระนามสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ สะกดตามพระนามเดิมที่ได้รับพระราชทานเมื่อประสูติว่า “อดุลเดชฯ” ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น “อดุลยเดชฯ”

[4] สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้า. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ, 2535) หน้า 168-198.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7” เขียนโดย แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ (พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์มติชน, 2548)

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2564