“ศาลพระภูมิ” ในวังไกลกังวล เป็นเทพองค์ใด?

พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้ตั้งศาลพระภูมิในวังไกลกังวล พระยาโหราธิบดีเลือกค้นหาตามคัมภีร์ฎีกาโหราศาสตร์นิยม กราบบังคมทูลว่า ให้ตั้งทิศบุรพาเป็นเกณฑ์ที่ 1 ทิศอีศานเป็นเกณฑ์ที่ 2 นอกจาก 2 ทิศนี้ ห้ามตั้งศาลพระภูมิ [1] โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศาลพระภูมิทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระตำหนักเปี่ยมสุข ในที่ดินริมชายหาดทราย… โดยก่อสร้างขึ้นในช่วงเตรียมการพิธีก่อพระฤกษ์รากพระตำหนักเปี่ยมสุขในเดือนกันยายน พ.ศ. 2470

ศาลพระภูมิตั้งอยู่ยอดใจกลางบนฐานกลมประดับหินก้อนใหญ่ มีบันไดเวียนขวาแบบก้นหอย กลมกลืนกับบรรยากาศชายทะเล หม่อมเจ้าการวิกทบทวนความจำในช่วง พ.ศ. 2471-2472 ว่า “ศาลพระภูมินี้ตอนแรกดูเหมือนมีโครงสร้างสถาปัตยกรรม แต่ยังไม่มีองค์พระภูมิ”

ศาลพระภูมิทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล (ภาพจากหนังสือ จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7)

มีผู้เรียกขานนามศาลพระภูมิหลังนี้แตกต่างกันไป อาทิ ศาลพระชัยมงคล ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าแม่กัลยาเทวี ศาลพระนางสรัสวดี เป็นต้น จึงเห็นว่าควรสืบค้นที่มาแห่งองค์พระภูมิ เพื่อนำไปสู่การเรียกขานนามและการบูชาที่ถูกต้อง

มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ วังไกลกังวลเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2471 ทรงพระสุบินว่ามีหญิงผู้หนึ่งชื่อทับทิม เป็นเจ้าที่รักษาพื้นที่วังไกลกังวล ขอพระราชทานปวารณาจะปกป้องคุ้มครอง ทั้ง 2 พระองค์ให้ทรงพระเกษมสำราญตลอดไป เรื่องนี้ถึงกับมีผู้พยายามผูกพันเข้ากับ “เจ้าแม่ทับทิม” ซึ่งหมายถึงเทพธิดาจุยโบยเบี้ยว ตามคติความเชื่อของจีนไหหลำ หรือที่ต่อมาขยายการสื่อความหมายไปสู่รูปเคารพอื่น ๆ ของชาวจีนด้วย อาทิ เทียนโฮ่ว หรือมาโจ๊ว เมื่อทูลถามเรื่องนี้ หม่อมเจ้าการวิกกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “ไม่เคยได้ยิน”

รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ณ พระราชวังไกลกังวล (ภาพจากหนังสือ จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7)

การค้นคว้าเพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ได้พบหลักฐานที่สำคัญยืนยันว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบองค์พระภูมินี้ ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือที่ทรงมีถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเกี่ยวด้วยเรื่อง “บาตร” อันเชื่อมโยงถึงการออกแบบองค์พระภูมิ หรือที่ทรงเรียกว่า “เจว็ด”

มีตั้งใจจะกราบทูลทักอย่างหนึ่งแต่แล้วก็ลืม สิ่งที่จะกราบทูลทักนั้นคือบาตรแบน ทางเขาควรเป็นเช่นนั้นจึงสมกับที่ว่าเลย นึกถึงว่าได้เคยทำแบบเจว็ด พระภูมิสำหรับวังไกลกังวลไปให้เขาสลักหิน ทักเอาพระภูมิเป็นพระธรณีตามคำบูชาที่ว่า “โอมพระภูมะธรณี” จึงค้นตำราหาพระธรณี ได้ความว่าถือบาตรใส่อะไรต่ออะไร อันเป็นทรัพย์ในดิน สังเกตคำว่าบาตรดูเป็นภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นอะไรก็ได้ [2]

ศาลพระภูมิ พระราชวังไกลกังวล (ภาพจากหนังสือ จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7)

องค์พระภูมิรูปพระธรณีที่ประทับอยู่ในศาลพระภูมิปัจจุบันนี้แกะสลักงดงามบนแผ่นหินอ่อนสีขาว ขนาด 53.5 x 23.5 เซนติเมตร เป็นรูปเทพทรงยืนบนฐานรูปช้าง มี 4 กร กรหนึ่งถือดอกบัว อีก 3 กรถือภาชนะซึ่งน่าจะหมายถึง “บาตร” มีอักษรขอมโบราณจารึกอยู่เบื้องล่าง

ภุมฺมา อาคจฺฉรา เทวนราสาย อตารยา

เมตฺํ สมปฎฐฺเปตา นรินฺเท สห เทวิยา

แปลความว่า ภุมมเทวาเป็นนางฟ้าผู้มั่นคง ไม่หมุนไปตามความปรารถนา (โลภ) ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอ แล้วซึ่งความเมตตาในพระราชาและพระเทวี

น่าสนใจว่าพระธรณีในที่นี้มิใช่พระธรณีบีบมวยผมดังที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่เป็นพระธรณีที่กรหนึ่งถือดอกบัว ส่วนอีก 3 กรถือสิ่งที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงกล่าวว่า “ถือบาตรใส่อะไรต่ออะไร อันเป็นทรัพย์ในดิน” เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณ์องค์นี้กับรูปเคารพในศาสนาฮินดูองค์อื่น ๆ ได้พบว่ามีความละม้ายเหมือนกับพระภูม หรือภูเทวี เทพีแห่งปฐพี

ซึ่งผาสุข อินทราวุธ บรรยายไว้ว่า “เมื่อประทับเดี่ยวจะมี 4 กร ถือภาชนะบรรจุเพชรพลอย ภาชนะบรรจุพืชผัก ภาชนะบรรจุว่านที่เป็นยา และดอกบัว ประทับนั่งบนหลังช้าง 4 เชือก จัดเป็นเทพแห่งปฐพีผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร” [3]

คําว่า “ธรณี” หรือ “ปฐพี” ต่างมีความหมายถึง “แผ่นดิน” ส่วนข้อแตกต่างมีอยู่ว่า พระธรณีที่ทรงออกแบบไว้นี้ ทรงยืนบนฐานช้าง 3 เศียร แต่พระภูมหรือภูเทวีประทับบนช้าง 4 เชือก เหตุแห่งความ แตกต่างอาจเกิดจากการออกแบบศิลปกรรมให้งดงามเหมาะสมกับลักษณะสถาปัตยกรรมของศาลก็เป็นได้ นอกจากนั้น ความเชื่อทางศาสนาฮินดูยังมีข้อปลีกย่อยอีกหลายประการ อาทิ เทพีเมื่อทรงยืนเดี่ยวจะมี 4 กร ถ้าประทับเคียงข้างพระวิษณุจะมีเพียง 2 กร จะยืนหรือนั่งก็ได้ ดังนั้นเห็นว่าข้อแตกต่างนี้ไม่น่าจะมีความสำคัญมากนัก จึงมีความเห็นว่า องค์พระภูมิในสวนไกลกังวลคือ “พระธรณี” และน่าจะเป็นองค์เดียวกับพระภูมหรือภูเทวี เทพีแห่งปฐพีนั่นเอง

พระภูมิธรณี ศาลพระภูมิ พระราชวังไกลกังวล (ภาพจากหนังสือ จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7)

ในความพยายามสืบค้นถึงแหล่งผลิตศิลปกรรมองค์พระธรณีรูปนี้พบว่า หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ได้จัดส่ง “รูปพระภูมิหินอ่อนสีขาว 1 รูป” จากราชบัณฑิตยสภามายังวังไกลกังวล โดยฝากมากับนายยู่ซุน ผู้รับเหมารายหนึ่ง ภายหลังจากพระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข โดยได้รับหนังสือยืนยันตอบรับจากกองอำนวยการรักษาวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2472 [4] ไม่พบหลักฐานงานสลักหินชิ้นนี้ในแผนกช่างหัตถศิลป์ของราชบัณฑิตยสภาแต่อย่างใด

แต่พบหลักฐานการจ่ายเงินค่า “พระภูมิหินอ่อน” จำนวน 2,200 ลีร์ ให้แก่ห้างโมรันดีและบัชซี ในประเทศอิตาลี ผ่านทางแบงก์เครดิโตอิตาเลียโน เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2472 [5] จึงสันนิษฐานว่าการแกะสลักองค์พระภูมิหรือพระธรณีตามแบบที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบไว้นั้น น่าจะทำการแกะสลักที่ประเทศอิตาลี

ไม่พบหลักฐานว่ามีการทำบุญบวงสรวงหรือจัดพิธีประทับศาลหรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะยังไม่ได้จัดพิธีดังกล่าวในขณะนั้น เพราะประจวบกับเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จประพาสชวา ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม ถึงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2472 และมิได้เสด็จฯ มาประทับที่หัวหินจนเริ่มศักราชใหม่ ไม่มีบันทึกเรื่องนี้ไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันแต่อย่างใด

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] หจช.​ (4) ศธ.2.1.2.1.1/1 เรื่องการกะการสร้างวังใหม่ที่ตำบลหัวหินและสร้างสถานที่เพิ่มเติ่ม, พ.ศ. 2469-2470.

[2] สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 23. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2504) หน้า 16-17.

[3] ผาสุข อินทราวุธ. รูปเคารพในศาสนาฮินดู. (กรุงเทพฯ : หอสมุดวังท่าพระ, พ.ศ. 2522) หน้า 68.

[4] หจช. ศธ.0701.7.3.1.2/26 เรื่องศิลปกรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ส่งมอบตึกต่าง ๆ ให้พนักงานฝ่ายกระทรวงวังรับไปพิทักษ์รักษา, พ.ศ. 2471-2474

[5] หจช. (4) ศธ.2.1.2.1.1/4 เรื่องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งและสิ่งของต่าง ๆ สำหรับใช้ที่พระราชวังไกลกังวล, พ.ศ. 2469-2475.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบท “ศาลพระภูมิในวังไกลกังวล” ในหนังสือ จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7 เขียนโดย แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ (สำนักพิมพ์มติชน, 2552)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2563