วังไกลกังวล สมัยรัชกาลที่ 7 ขณะเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 และ กบฏบวรเดช 2476

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

วังไกลกังวล สถานที่แปรพระราชฐาน ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สร้างสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  จากความพอพระราชหฤทัยส่วนพระองค์ เพราะทรงโปรดหัวหินเป็นทุนเดิม เช่นนี้จึงเสด็จแปรพระราชฐานอยู่หลายครั้ง ซึ่งมีอยู่ 2 คราว ขณะที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของประเทศขึ้นขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่ไกลกังวล นั่นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเหตุการณ์กบฏบวรเดช 2476

เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรนำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นำกำลังชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และอ่านคำแถลงการณ์ของคณะราษฎร อันมีเจตนาคือสถาปนาประชาธิปไตย

ในวันเดียวกันนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ สวนไกลกังวล ทรงทราบความเมื่อพระยาอิศราธิราชกราบบังคมทูลเรื่องเหตุจลาจลในกรุงเทพฯ ว่า “เมื่อทรงทราบข้อความในโทรเลขฉบับนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ‘ฉันก็รู้อยู่เหมือนกันว่าจะมีผู้ก่อการจลาจล แต่ไม่นึกจะเร็วอย่างนี้’ ”

เจ้าพระยามหิธรผู้ทำหน้าที่ราชเลขาธิการ และเสนาบดีมุรธาธร อยู่ในเหตุการณ์ได้เล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกเจ้านายผู้ใหญ่และเสนาบดีซึ่งอยู่ที่หัวหินไปประชุมพร้อมกันที่พระราชวังไกลกังวล เพื่อทรงหารือว่าจะยอมตามคำเรียกร้องของคณะราษฎรหรือจะต่อสู้” ในการหารือ ความคิดเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย “ฝ่ายข้างมากเห็นว่าควรสู้เพื่อรักษาพระเกียรติ ส่วนฝ่ายที่ประชุมข้างน้อยเห็นว่าไม่ควรสู้ เพราะคณะราษฎรไม่ได้ตั้งใจกำจัดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากพระราชบัลลังก์

ขณะที่การหารือดำเนินอยู่ เรือรบหลวง “สุโขทัย” เข้าเทียบท่าทิ้งสมอ เพื่อให้นาวาตรีหลวงศุภชลาศัยนำสาสน์ของคณะราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย โดยมีใจความสำคัญคือ

คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้แล้ว และได้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้นไว้เป็นประกัน คณะราษฎรไม่ประสงค์ที่จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนคร และทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรหนังสือของคณะราษฎรแล้ว ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบแก่คณะราษฎร โดยมีใจความสำคัญคือ “คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ภายใต้พระรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ และความจริงข้าพเจ้าก็คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก”

เวลา 18.00 นาฬิกา วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475  พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ

พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 )

คณะกู้บ้านกู้เมืองนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ขั้วตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงาน และอุดมการณ์ของคณะราษฎร จึงมีความพยายามที่จะนำระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมา โดยรวบรวมกำลังพลจากหัวเมืองและกรุงเทพฯ เพื่อก่อการ ท้ายที่สุดถูกปราบปรามลงโดยรัฐบาลและเรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “กบฏบวรเดช”

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชนั้นเป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์  ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดพระองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดว่า พระองค์ทรงสนับสนุนเพื่อนำการปกครองกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พระองค์ทรงเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ด้วยสถานการณ์ที่สับสนและไม่สู้ดีนัก ทำให้พระองค์ต้องตัดสินพระทัยเสด็จออกจากวังไกลกังวล ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2476

การเดินทางในครั้งนั้นหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล สะท้อนภาพเหตุการณ์วันนั้นไว้ผ่านเรื่อง “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

“ข้าพเจ้าจะไม่ลืมภาพที่ในหลวงเสด็จออกจากหัวหินคืนนั้นได้เป็นอันขาด! ไฟปิดมืดครึ้มครือ มีแต่เสียงพึมพำเคลื่อนไหวของคนทุกพวกทุกเหล่าที่อยู่ในวังเวลานั้น จนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ผู้ใดมีอาวุธอย่างใดก็ติดตัวไปหมด ทหาร 2 คนเดินผ่านข้าพเจ้ามา เขาเปิดไฟฉายออกให้ดูทางที่ถนนแล้วกระซิบว่า- “อย่ากลัว, กระหม่อมถวายชีวิตวันนี้” แล้วตบซองปืนที่อยู่กับตัวสองข้าง ข้าพเจ้าเงยหน้าดูจึงเห็นว่า-หลวงอภิบาลฯ และหลวงประเสริฐฯ ราชองครักษ์ในหลวง เราจับมือกันด้วยความรู้สึกว่า คราวนี้จะสู้ตายด้วยกัน ไม่มีจับกันอีก !

ลมมรสุมในเดือนตุลา ซึ่งเคยมีอยู่ซู่ซ่าทุกวันหยุดนิ่งเงียบสงัด ไม่มีเสียงอันใดนอกจากเสียงเครื่องยนตร์เรือพระที่นั่ง ซึ่งโตกว่าเรือธรรมดาเพียงนิดเดียว  พวกทหารห้อมล้อมในหลวงให้เสด็จไปลงเรือที่ชายหาด แล้วทุกคนก็ยืนถวายความคำนับอยู่ในความมืดขมุกขมัวนั้น ต่างคนต่างยืนตะลึงดูเรือลำนั้น ว่าจะไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ?…”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จไปประทับที่จังหวัดสงขลาเป็นเวลาหนึ่งเดือนเศษเพื่อหนีเหตุการณ์ความวุ่นวายกรณีกบฏบวรเดช  และเสด็จกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เพื่อเป็นประธานเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน


อ้างอิง

กรรณิการ์ ตันประเสริฐ.  จดหมายเหตุวังไกลกังวล สมัยรัชกาลที่ 7,กรุงเทพฯ:  มติชน, 2546.

ณัฐพล ใจจริง. เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 กบฏวรเดช, กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.

ปรามินทร์ เครือทอง.  หัวหิน,  กรุงเทพฯ:  มติชน.

ส. พลายน้อย. ตามรอยเบื้องพระยุคคลบาท พระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ: มติชน, 2550.

นายสุจินดา. พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ: สยาม, 2519.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มกราคม 2562