เทียบวาทะ กรมพระยาดำรงฯ ชี้นิสัยชาวไทยแง่ผลประโยชน์ กับแนวคิดปราชญ์อิตาลียุคมุสโสลินี

วิลเฟร์โด ปาเรโต กรมพระยาดำรงฯ
[ซ้าย] วิลเฟรโด ปาเรโต (Vilfredo Pareto) ไฟล์ public domain [ขวา] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปฏิเสธได้ยากว่า “ผลประโยชน์” และ “อำนาจ” คือองค์ประกอบที่มีอิทธิพลสำคัญในการเมืองการปกครอง ทั้งสองปัจจัยล้วนปรากฏในแนวคิดของนักคิด นักปรัชญา นักการเมือง และอีกหลากหลายสายงานสายอาชีพ ในเรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือ กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวถึง “คุณธรรม” 3 อย่างอันเป็นอุปนิสัยประจำของชาติ (ไทย) โดยหนึ่งในนั้นมีเรื่อง “ฉลาดประสานผลประโยชน์” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของวิลเฟร์โด ปาเรโต (Vilfredo Pareto) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี

หัวข้อเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องผลประโยชน์นี้ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาที่ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวถึงระหว่างการเสวนา “เมืองไทย: หลังขิงแก่ 1” เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2550 สิ่งที่ดร.ชาญวิทย์ เอ่ยถึงนั้นอยู่ภายใต้หัวข้อ “เกี่ยเซียะ ประสานประโยชน์ อภิชนและชนชั้นนำไทย” 

การบรรยายตอนหนึ่ง ดร.ชาญวิทย์ ยกเนื้อหาตอนหนึ่งจากวาทะของบุคคลสำคัญของชนชั้นนำไทยอย่าง กรมพระยาดำรงฯ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ดร.ชาญวิทย์ ยกเนื้อหาที่ระบุว่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวเมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ว่า ชนชาติไทยมี “คุณธรรม” 3 อย่างอันเป็นอุปนิสัยประจำชาติ คือ

1.) ความจงรักอิสระของชาติ love of national independence 

2.) ความปราศจากวิหิงสา toleration

3.) ความฉลาดในการประสานประโยชน์ power of assimilation

ดร.ชาญวิทย์ อธิบายต่อว่า ท่าน(กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) บอกว่า คนไทยสามารถประสานประโยชน์กันได้ดีมาก ประนีประนอมกัน พร้อมยกตัวอย่างเนื้อหาในหนังสือชื่อ The Balancing Act แปลเป็นไทยแล้วคือ “สู่ดุลยภาพ” เขียนโดย Joseph J. Wright, Jr. แปลเป็นไทยโดยศุภนิติ พลางกูร ดวงกมลพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. 2536

หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์การเมืองไทยโดยใช้ทฤษฎีของ “ปาเรโต” นักเศรษฐศาสตร์การเมือง (ค.ศ. 1848-1923) หากสังเกตปีเกิดของปาเรโต จะพบว่า เกิดปีเดียวกับที่คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เขียน The Communist Manifesto แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์อันเป็นจุดเริ่มกระจายแนวคิดทางการเมืองที่ส่งอิทธิพลในเวลาต่อมา

วิลเฟรโด ปาเรโต (Vilfredo Pareto) ภาพจาก Wikimedia Commons ไฟล์ public domain

ดร. ชาญวิทย์ อธิบายว่า ปาเรโต จบปริญญาเอกด้านวิศวะ ทำงานทั้งด้านการรถไฟอิตาลี และเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ นานถึง 11 ปี เชี่ยวชาญทั้งสายสถิติ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ปาเรโต บุกเบิกวิชา econometrics

เมื่อปาเรโต พบว่า มีบางปัญหาไม่สามารถใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เข้าแก้ไขได้ เขาจึงหันไปมุ่งเน้นกับสายสังคมศาสตร์ เขียนหนังสือสำคัญอีกหลายเล่ม

และด้วยแนวคิดทางสังคมของปาเรโตว่าด้วยความเป็นเลิศกว่าของชนชั้นนำทำให้เขามักถูกมองเชื่อมโยงไปกับสายฟาสซิสต์ เขามองว่า ผู้คนที่มีศักยภาพเหนือกว่ามักจะพยายามหาหนทางรักษาความมั่นคงทางสังคมและยกระดับสถานะทางสังคมของตัวเอง

ปาเรโต เป็นผู้สร้าง “ทฤษฎีชนชั้นนำ” (theory of elites) ปาเรโต ยังบอกว่า “ประชากร 20 เปอร์เซ็นต์ในอิตาลี เป็นเจ้าของทรัพย์สินในประเทศ 80 เปอร์เซ็นต์” อย่างไรก็ตาม ดร.ชาญวิทย์ มองว่า ปาเรโต ไม่ได้มีแนวคิดแบบนักประชาธิปไตยเท่าใดนัก เพราะ ปาเรโต มองว่า ไม่ว่าจะเป็นมนุษยนิยม เสรีนิยม สังคมนิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิฟาสซิสต์ ต่างก็ same same คือเหมือนกันนั่นแหละ

แนวคิดของปาเรโต ซึ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวางที่สุดน่าจะเป็นเรื่องกฎ 80/20 หรือที่เรียกว่า Pareto principle ในภายหลัง แนวคิดนี้มองว่า “80 เปอร์เซ็นต์ของผลลัพธ์ทั้งหมด มาจากสิ่ง(ต้นทุน)ที่เราใส่ไปเพียง 20 เปอร์เซ็นต์จากสิ่งที่ใส่ไปทั้งหมด” ซึ่งคนยุคหลังนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในด้านการบริหารจัดการหรือในด้านการเงิน

กลับมาที่หัวข้อทางการเมือง ดร. ชาญวิทย์ อธิบายมุมมองของปาเรโต เพิ่มเติมว่า

“…กล่าวคือ ชนชั้นนำในทุกลัทธิการเมืองก็เป็น ‘อภิชน’ เป็นผู้มีอำนาจในการปกครองแย่งชิงอำนาจกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง เข้าทำนอง ‘เหลือบฝูงเก่าไป เหลือบฝูงใหม่มา’ ต่างก็ ‘ประชาสัมพันธ์’ หรือ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ฟูมฟายถึงความดี ความงาม ความอุตสาหะ วิริยะ เสียสละ อุทิศกายและใจของตนทั้งสิ้น”

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า ปาเรโต จึงไม่เชื่อระบบการเมืองใดทั้งสิ้น และมองว่า “รัฐ” เป็นอะไรที่อันตราย เพราะ “ผู้ที่เป็นผู้นำ ต้องการอภิสิทธิ์ เอกสิทธิ์ และก็ต้องการรักษาอำนาจกับผลประโยชน์” เอาไว้ให้อยู่ในมือตัวเองตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดการต่อสู้อะไรในอนาคต ดร. ชาญวิทย์ กล่าวถึงมุมมองของปาเรโต ว่า

“…ผลสุดท้าย ข้างบนชนชั้นนำจะประนีประนอมกันได้ และประสานประโยชน์กันได้ตลอดเวลา”

เชื่อว่าแนวคิดของปาเรโต คล้องจองกับ “การประสานประโยชน์” หรือ power of assimilation ของชนชั้นนำ (หรืออภิชน)

ปาเรโต ถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1923 เป็นช่วงสมัยมุสโสลินี และลัทธิอำนาจนิยม “ฟาสซิสต์” มีอำนาจ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เมืองไทย: หลังขิงแก่ 1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ. เอกสารวิชาการ โครงการตลาดวิชา มหาวิทยาลัยชาวบ้าน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550.

“Vilfredo Pareto” Italian economist and sociologist. The Editors of Encyclopaedia Britannica. Britannica. Online. Access 4 MAR 2021. <https://www.britannica.com/biography/Vilfredo-Pareto>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2564