21 ก.พ. 1848 แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ของ คาร์ล มาร์กซ จุดเริ่มลัทธิมาร์กซ์เขย่าโลก

(ซ้าย) คาร์ล มาร์กซ (ขวา) หน้าปกแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (จาก www.marxists.org / Free Documentation License)

The Communist Manifesto หรือ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ คือผลิตผลที่ คาร์ล มาร์กซ และ ฟรีดริช เองเกลส์ ได้ร่างขึ้นภายหลังการประชุมใหญ่ขององค์การสันนิบาตคอมมิวนิสต์ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ ในเดือนธันวาคมปี 1847 ถึงเดือนมกราคมในปีต่อมา ณ กรุงลอนดอน ข้อมูลหลายแหล่งระบุว่า แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เผยแพร่ในลอนดอนครั้งแรกในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1848 (พ.ศ. 2391)

ทั้งคู่ได้รับมอบหมายจากสันนิบาตฯ ให้ร่างมันขึ้นมาด้วยภาษาที่เรียบง่าย และเข้าใจง่าย ซึ่งแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ จำนวน 23 หน้า เผยแพร่ออกสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1848

ในคำนำของ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” ครั้งแรกนั้น ได้กล่าวถึงที่มาของการร่างแถลงการณ์นี้ขึ้นว่า

“ในการประชุมสมัชชาผู้แทน ณ กรุงลอนดอนเมื่อเดือนพฤษจิกายน 1847 สันนิบาตชาวคอมมิวนิสต์——องค์การจัดตั้งสากลของกรรมกรซึ่งเป็นธรรมดาอยู่เองที่ตามเงื่อนไขในเวลานั้นจะเป็นได้แต่สมาคมลับ——ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าทั้งสองร่างหลักนโยบายของพรรคที่ละเอียดครบถ้วนทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเพื่อประกาศออกไป. ดังนั้นจึงได้เกิด ‘แถลงการณ์’ นี้ขึ้น…”

อาจกล่าวได้ว่าผลงานนี้เป็นแนวคิดที่กลายมาเป็นเค้าโครงแม่แบบแห่งทฤษฎีมาร์กซที่ส่งอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ ในช่วงศตวรรษที่ 20 หลายแห่ง ไม่ว่าจะในประเทศที่เป็นแผ่นดินใหญ่อย่างสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันคือรัสเซีย) จีน หรือประเทศเล็กๆ ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เช่น คิวบา

ภายหลังวลาดิมีร์ เลนิน ได้นำแนวคิดของมาร์กซ มาตีความเป็นนิพนธ์เรื่อง “รัฐกับการปฏิวัติ” ว่าด้วยการนำเอาแนวคิดของมาร์กซ์มาใช้ในการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ

แนวทางที่สะท้อนผ่านเนื้อหาใน “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” ไม่เพียงแค่ปลุกระดมทางความคิดของผู้คน (โดยเฉพาะเหล่ากรรมาชีพ) ซึ่งส่งอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์โลก แต่ยังเป็นงานเชิงวิเคราะห์อันเป็นแนวทางวิชาการที่มักถูกนำมาศึกษาวิเคราะห์เชิงสังคมศาสตร์ (รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา) และด้านมนุษยศาสตร์ (ปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณคดีศึกษา)

“ประวัติศาสตร์ของสังคมทุกแห่งหนจวบจนทุกวันนี้
เป็นเรื่องราวของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น”

แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์

21 กุมภาพันธ์ 1848 จึงอาจนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ ลัทธิมาร์กซ์ ของ คาร์ล มาร์กซ และ ฟรีดริช เองเกลส์ สั่นคลอนการเมืองการปกครองในหลายประเทศ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คาร์ล มาร์กซ และ เฟรเดอริค เองเกลส์, (ไม่ปรากฏผู้แปล). แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์. โลกทรรศน์,
1974

นพพร ประชากุล. (2543, พฤษภาคม) . “คาร์ล มาร์กซ์ นักวิพากษ์สังคม เพื่อความผาสุกของมนุษย์ใน
อนาคต,” สารคดี . 16 (183) : 156 – 161

ปีเตอร์ ซิงเกอร์, เกษียร เตชะพีระ แปล. มาร์กซ: ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง
เฮาส์, 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2562