ผู้เขียน | กัญญารัตน์ อรน้อม |
---|---|
เผยแพร่ |
1 ธันวาคม 2485 วันกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
“พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลังจากการก่อตั้งของ “พรรคคอมมิวนิสต์สยาม” โดยจุดประสงค์หลักของคอมมิวนิสต์แห่งสยามและคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคือ ต้องการให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันและมีความเสมอภาคในเรื่องชนชั้น โดยยึดหลักอุดมการณ์ลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน และลัทธิเหมา
ถึงแม้ชื่อพรรคจะมีคำว่า “สยาม” แต่ในช่วงแรกก่อตั้งพรรค สมาชิกทั้งหมดกลับเป็นคนเวียดนามและคนจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
โดยการกำเนินดพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยพอสรุปได้ ดังนี้
พ.ศ. 2468 ได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นปีที่เริ่มการจัดตั้ง “องค์กรสาขาของสันนิบาตเยาวชนปฏิวัติเวียดนาม” และองค์กรมวลชนในหลายที่ อาทิเช่น จังหวัดพิจิตร อุดรธานี สกลนคร นครพนม เป็นต้น องค์กรสาขาของสันนิบาตเยาวชนปฏิวัติเวียดนาม ได้ออกวารสาร, สร้างโรงเรียน และอบรมเยาวชนจากเวียดนาม หรือคนเชื้อสายเวียดนามที่เกิดในไทยให้เป็นนักปฏิวัติ
พ.ศ. 2470 เติ้งเสี่ยวผิง สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้ (ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ และเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการจัดตั้งพรรคอมมิวนิสต์ไทย) เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเคลื่อนไหวกิจกรรมในไทย โดยได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการพิเศษในสยามแห่งพรรคคอมมิวนิสต์สาขาทะเลใต้”
พ.ศ. 2471 คณะกรรมการชั่วคราวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้ ได้ส่งเลขาธิการให้มาประจำกลุ่มมาเพื่อชี้นำ เลขาธิการผู้นี้เสนอชื่อ “เติ้งเสี่ยวผิง” เป็นเลขาธิการกรรมการพิเศษในสยามฯ แต่บรรดาแกนนำไม่ยอมรับ จึงเกิดการแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย คือ กรรมการภายใต้บังคับบัญชาของคณะกรรมการชั่วคราวพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้ กับกรรมการที่ฟังคำสั่งของคณะกรรมการมณฑลกวางตุ้งแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนี้ยังมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่หลบหนีจากเมืองแต้จิ๋ว ที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มละอองเลือด” ซึ่งไม่ได้อยู่ในสังกัดใดของ 2 ฝ่ายข้างต้น
ซึ่งความวุ่นวายนี้จบลง เมื่อคณะกรรมการมณฑลกวางตุ้งฯ ส่งเจ้าหน้าที่มาไทย ก่อนจะตัดสินใจคืนอำนาจบริหารหน่วยคอมมิวนิสต์ในสยามให้คณะกรรมการชั่วคราวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้
กรกฎาคม พ.ศ. 2471-พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 โฮจิมินห์พำนักอยู่ที่ประเทศไทย และได้เริ่มชี้นำการเคลื่อนไหวทางการเมือง
9 ตุลาคม พ.ศ. 2472 คณะกรรมการพิเศษในสยามฯ เคลื่อนไหวให้มีสหภาพแรงงานโรงเลื่อย “นัดหยุดงาน” โดยกำหนดสถานที่คือ “โรงเลื่อยไฟลิ้มกงกี่” ตั้งอยู่ใกล้บริเวณวัดสระเกศ กรุงเทพฯ แต่การเคลื่อนไหวครั้งแรกนี้กลับล้มเหลว ทั้งที่เวลานั้นคณะกรรมการพิเศษในสยามฯ มีสมาชิกกว่า 200 คน และสหภาพแรงงานสีแดงก็เกิดแล้ว
7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 พรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้ “แจกใบปลิว” ที่มีทั้งภาษาจีน ภาษาไทย และอังกฤษ เพื่อรำลึกการปฏิวัติรัสเซียในเดือนตุลาคม และประชาสัมพันธ์การทำงานของพรรคฯ ที่เริ่มเกิดขึ้นในไทย โดยมีเนื้อหาใจความดังนี้ “คณะคอมมิวนิสต์ทะเลใต้เป็นสมาชิกพิเศษแห่งสยาม” นี่เป็นเหตุการณ์แรกที่พรรคคอมมิวนิสต์ปรากฎสู่สังคมสยามอย่างเปิดเผย เวลานั้นรัฐบาลสยามเองก็เฝ้าระวังและจับตาดูการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้อย่างเข้มงวด
22 ธันวาคม พ.ศ. 2472 คณะกรรมการพิเศษในสยามแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้กำหนดจัดการประชุมเลขาสาขาพรรคคอมมิวนิสต์ และประชุมกรรมกรโรงเลื่อย ที่โรงเรียน “จิ้นเต๊ก” ถนนพาดสาย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ แต่ข้อมูลรั่วไหลสมาชิกจึงถูกจับกุม 22 คน
ต่อภายหลังมีการจับกุมผู้คนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้จำนวนหนึ่ง ในจำนวนนั้นมี “ผ่งไบ๊เผ่ง” ผู้แทนคนสำคัญพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้องค์กรพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้นั้นมีการสั่นคลอนภายในองค์กร
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 สันนิบาตเยาวชนปฏิวัติเวียดนามได้ปรับเปลี่ยนองค์กรใหม่เป็น “พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม” จึงทำให้องค์กรของสันนิบาตเยาวชนปฏิวัติเวียดนามประจำสยามจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้โครงสร้างเดียวกันกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
จากนั้นในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2473 ได้มีการประชุมใหญ่ และมีการเปลี่ยนชื่อจาก “คณะกรรมการพิเศษในสยาม” เป็น “คณะกรรมการสยามแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้” เพื่อให้เคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางเดียวกัน และมีการจัดทำ “ร่างบทเศรษฐกิจการเมืองสยามและนโยบายการเคลื่อนไหวของพรรค” ภายหลังร่างดังกล่าวถูกตำรวจตรวจพบได้ยึดได้ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2473
20 เมษายน พ.ศ. 2473 การประชุมก่อตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์สยาม” (ศัพท์ในสมัยนั้นเรียก “คณะคอมมิวนิสต์สยาม”) โดย โฮจิมินห์ นักปฏิวัติชาวเวียดนาม ที่โรงแรมตุ้นกี่ หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง ผู้เข้าร่วมประชุมนอกจากโฮจิมินห์แล้วยังมีสมาชิกสำคัญอีก 3 คน คือ โงจิ๋งห์ก๊วก-คนเชื้อสายเวียดนามเกิดที่นครพนม เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก, เจิ่นวันเจิ๋น-ชาวเวียดนาม รับผิดชอบในเรื่องการจัดตั้ง และคนสุดท้ายคือ อู่จื้อจือ-ชาวจีนให้รับผิดชอบในเรื่องด้านการโฆษณา
หลังก่อตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์สยามก็เริ่มมีกิจกรรมเคลื่อนไหวให้เกิดการปฏิวัติในไทย เช่น การแจกใบปลิว, การผลิตเอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์, การประชุมและเผยแพร่อุดมการณ์ในโรงเรียนจีน
1 เมษายน พ.ศ. 2476 มีการออก พระราชบัญญัติเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์ฉบับแรก เพื่อใช้กล่าวหานายปรีดี พนมยงค์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เนื่องจากการเสนอ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ที่ใช้แนวคิดสังคมนิยมสหกรณ์ ที่ชนชั้นปกครองรับไม่ได้ ภายหลังใช้กฎหมายเล่นงานพรรคคอมมิวนิสต์สยาม
พ.ศ. 2480 สถานการณ์การเมืองในจีนรุนแรงมากขึ้น เมื่อจีน-ญี่ปุ่นเปิดฉากทำสงครามกัน พรรคคอมมิวนิสต์สยามเองก็มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น
พ.ศ. 2481 รัฐบาลไทยมีการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างหนัก เกิดผลกระทบกับพรรคคอมมิวนิสต์สยาม เนื่องจากสมาชิกถูกจับกุม และบางส่วนถูกเนรเทศ
1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 หลังการประชุมสมัชชาของพรรคได้มีการประกาศก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เเห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างเป็นทางการ ถือเป็น วันกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมี หลี่ฮวา เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ไทยคนแรก และมีมติให้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ หาก 2 สมาชิกสำคัญอย่าง เจริญ วรรณงาม (เลขาธิการพรรคคนที่ 3 ในเวลาต่อมา) และธง แจ่มศรี (เลขาธิการพรรคคนสุดท้าย) ก็ยังคงอยู่กับพรรค
ต่อมา พคท. ก็จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เวลานั้นราษฎรมีความยากจนมากที่สุดในประเทศ เเละพื้นที่ภาคเหนือที่เป็นพื้นที่ที่มีป่าเเละมีการเข้าถึงได้ยากปราบปราม ตลอดจนการดำเนินการยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “ป่าล้อมบ้าน บ้านล้อมเมือง”
อ่านเพิ่มเติม :
- สภาพความหวาดกลัว “คอมมิวนิสต์” ในไทยในอดีต กับตัวอย่างการกล่าวหากันโดยง่าย
- “หนังขายยา” ยุทธวิธีต่อสู้ “คอมมิวนิสต์” ยุคสงครามเย็นของอเมริกา ในไทย
อ้างอิง :
เออิจิ มูราชิมา.(2555). กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พ.ศ.2473-2479). (โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์,แปล). กรุงเทพฯ : มติชน. (พ.ศ.2555)
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. “ว่าด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ใน, วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 26 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2546-พฤษภาคม 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2565